๐๐๐ สนั่น ชูสกุล
นักรบวัฒนธรรมผู้พลีชีพกลางสนามรบ
๓.
นักรบผู้เปี่ยมด้วยความใฝ่ฝัน
~~~~~~~~~~~~~~~
สนั่นหวนคิดถึงรากเหง้าของตนเสมอ แม้ได้ใช้ชีวิตอยู่ภาคอีสานมากกว่าที่บ้านเกิดของตน มาอยู่อีสานจนส่องซอดถึงระบบนิเวศบุ่ง ทาม มาอยู่จนตั้งสร้างครอบครัว มีลูกสองคน นายนาคร ชูสกุล และนางสาววรรณลีลา ชูสกุล
“ผมคิดถึงสายสะดือของผม ได้ยินเสียงแม่ ได้ยินเสียงไม้พายจ้วงน้ำที่ปากคลองกลาย คิดถึงน้าที่ช่วยแม่เลี้ยงดูเรามา คิดถึงทิวมะพร้าว ทะลายลูกจาก ฝูงปลากระบอก เสียงร้องโฮของน้องที่ถูกปลาดุกทะเลตัวที่เราตกมาได้แทงเอา คิดถึงเจ้าของกระดูกทุกคนในบัว…. ผมเป็นคนพรากบ้าน แต่ก็มีคนอีสานมากมายไปมีเมียภาคใต้ ไปตายที่ภาคใต้…”
จาก พ.ศ.๒๕๒๕ ที่เขาใช้ชีวิตปักหลักอยู่ภาคอีสานจนถึงวาระสุดท้าย พ.ศ.๒๕๕๙ นับเป็นเวลา ๓๔ ปี จากสิริอายุ ๕๖ ปี ตัวเขานั้นถือว่าผู้รู้แจ้งในสังคมพหุวัฒนธรรม ส่วนลูกทั้งสองแม้เขาจะพูดเสมอว่าลูกเกิดเป็นคนภาคอีสาน แต่วันเวลาอนาคตของโลกยุคโลกาภิวัตน์อีกยาวนาน เธอและเขาต้องได้เดินทางภายนอกและภายในชีวิตอีกกว้างไกลในสังคมอนันตวัฒนธรรม
ประกอบกับภรรยาของสนั่น ~ วิจิตรา ชูสกุล หญิงแกร่ง ทรงภูมิปัญญา คู่คิดคู่ชีวิตผู้เป็นส่วนหนึ่งที่ลิขิตคติพจน์ประจำตระกูลว่า ‘มีความใฝ่ฝัน จึงมีความพยายาม’ ย่อมเป็นแรงกำลังบันดาลใจให้ลูกเติบใหญ่เป็นอภิชาตบุตรแห่งเผ่าพันธุ์อุดมการณ์
จากบทความชิ้นท้าย ๆ ของชีวิต สนั่นยกกวีชื่อ ‘พลังประชาชน’ ของนักประพันธ์นามอุโฆษ/สามัญชนคนสำคัญของโลก ~ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (“ศรีบูรพา”) ที่เขียนสดุดีวีรกรรมวีรชน ‘๑๔ ตุลา ๒๕๑๖’ ขึ้นมาประคองเสนอความคิดฝันของตน
“หยดฝนย้อยหยาดฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่
แผดเสียงซัดปฐพีอึงมี่ไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน
อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน”
แม้ ณ วันนี้ แผ่นดินแห่งอารยธรรมที่ราบสูงยังถูกอำนาจรัฐรวมศูนย์กดทับ ยังถูกอำนาจทุนนิยมกดขี่กินรวบ แผ่นดินแห่งเทือกเขาหลวงต้นกำเนิดคลองกลายที่ฝังรกรากของเขา และกระดูกบรรพชนที่บรรจุในบัวห่างจากท่าเรือบรรษัทครอบโลก ‘เชฟร่อน’ เพียง ๓๐๐ เมตร ซึ่งบรรษัทฯจ้องขยายอาณาจักรตนในอ่าวทะเลไทยอยู่ตลอดเวลา แต่เขายังเชื่อมั่นพลังอำนาจประชาชนที่แท้จริง อำนาจประชาชนต้องเกิดจากการจัดตั้งด้วยตัวของตัวเองจึงจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นได้ รัฐไม่เคยหนุนสร้างให้ประชาชนเติบโตเข้มแข็ง มีเพียงกิจกรรมใช้ชาวบ้านให้มาประกอบฉากเพื่อบรรลุอุบายตามคำสั่งจากเบื้องบน หรืออาศัยกลุ่มกำลังคนรากหญ้าเพื่อเอาชนะคะคานกันทางการเมือง
สนั่น ชูสกุล มีความสุขที่สุดเวลาได้อ่าน-เขียน เขาได้ประมวลสรุปจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของตนไว้ในบทความชิ้นนั้น ดังนี้
“พลังที่แท้จริงของประชาชนนั้นเป็นพลังของการรวมตัว การรวมพลังต้องเกิดขึ้นอย่างมีอิสระและต้องเป็นการรวมตัวที่มีระเบียบแบบแผน มีความสามารถด้านการบริหารจัดการ การต่อรองเจรจา ถ้าเป็นองค์กรที่ดำเนินการทางเศรษฐกิจ เช่น วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ ก็ต้องมีความสามารถเชิงธุรกิจด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากพอสมควร เพราะประชาชนเราถูกกำหนดให้เป็นชาวนาเพื่อขายข้าวเปลือกมาทั้งชีวิต หรือไม่ก็เคยเป็นเพียงลูกจ้างที่หูได้ยินแต่คำสั่งการ ไม่อาจจะเป็นผู้ประกอบการเองได้ นี่คือข้อจำกัดที่ประชาชนไม่สามารถ ‘สามัคคีมีจัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล’ ได้โดยง่าย
“อย่างไรก็ดี บนกฎเกณฑ์ของอำนาจ บนกฎเกณฑ์แห่งประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องมีสิทธิมีอำนาจ การหยิบยื่นสิทธิอำนาจให้โดยรัฐ หรือชนชั้นปกครองนั้น เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ มีแต่การลุกขึ้นมาจัดตั้งตัวเอง สร้างระบบการจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพ รู้จังหวะจะโคนที่จะเคลื่อนไหวสู่การเปลี่ยนแปลง สู่การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกับรัฐเสียใหม่ให้ประชาชนมีอำนาจที่แท้จริงเท่านั้น
“การมอบอำนาจของประชาชนให้แก่ผู้แทนไปใช้อำนาจนั้น เป็นไปตามกระบวนการที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยทางอ้อม’ ซึ่งประสบการณ์ที่แล้วมาเป็นการสูญเสียพลังของเราเองไปอย่างน่าเสียดาย ต่อไปนี้กระบวนการ ‘ประชาธิปไตยทางตรง’ คือการลุกขึ้นมาใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนจะต้องเกิดให้มากขึ้น มากขึ้น
“นี่คือหนทางที่เราต้องเรียนรู้จากธรรมชาติ ‘หยดฝน…’ หยดน้ำไม่เคยเลือกใครให้ไปไหลแทน แต่พาตัวเอง ‘ย้อยหยาดจากฟ้ามาสู่ดิน…’ รวมกับหยดน้ำอื่น ‘ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่ แผดเสียงซัดปฐพีอึงมี่ไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน!’”.