สองอาจารย์ศิลปะแห่ง มข.
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: ศิลปะนำชีวิต
Column: Art Will Lead The Way
ผู้เขียน: ครูเบิ้ม เติมศิลป์
ศิลปะนำชีวิตขอนำเสนอบุคคลที่เป็นอาจารย์และศิลปิน ซึ่งเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะคล้าย ๆ กัน เพราะทั้งสองท่านมาจากรั้วจามจุรีหรือจุฬาฯ คือ อาจารย์เอรุ่นพี่ อาจารย์บีรุ่นน้องชื่อเล่นจริง ๆ ที่ไม่ใช่นามสมมุติไม่ใช่นามแฝง ทั้งสองเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญด้านการศึกษาวิชาศิลปะ สิ่งที่เหมือนกันคือการเข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอเริ่มต้นที่อาจารย์เอ ผศ.ดร.ปริญญ์ ทนันชัยบุตร
ผศ.ดร.ปริญญ์ ทนันชัยบุตร อายุ ๔๕ ปี การศึกษา ศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต (เทคโนโลยีทางการศึกษา) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน) คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกียรติประวัติ ชนะเลิศนิทรรศการศิลปกรรมเยาวชนแห่งประเทศไทยครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๗ และ พ.ศ.๒๕๒๘ และมีผลงานแสดงนิทรรศการหลายครั้งปัจจุบัน อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ครูเบิ้ม : ความภูมิใจในการทำงานศิลปะหรือกิจกรรมที่ผ่านมามีอะไรบ้างครับ ?
อ.ปริญญ์ : สอนศิลปะให้ผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวาง เป็นวิทยากรสอนศิลปะค่าย Art for All และยังมีนิทรรศการเดี่ยวจิตรกรรมนามธรรม Color-Feel ณ หอศิลป์หลักเมือง จ.ขอนแก่น
ครูเบิ้ม : แนวความคิดหรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของอาจารย์เป็นอย่างไรครับ ?
อ.ปริญญ์ : ผลงานจิตรกรรมนามธรรมของผมได้รับแรงบันดาลใจจากสภาวะแวดล้อมบรรยากาศรอบตัว รวมทั้งสีสันของผ้าพื้นเมืองและความงดงามของดอกไม้นานาพรรณ โดยใช้เส้น สี รูปร่าง รูปทรง ผ่านประสบการณ์ แล้วนำมาประยุกต์เป็นลักษณะเฉพาะตัวในรูปแบบของผลงานนามธรรม
ครูเบิ้ม : การเรียนการสอนศิลปะที่คณะศึกษาศาสตร์มีระบบแบบแผนอย่างไรบ้างครับ ?
อ.ปริญญ์ : จุดมุ่งหมายเพื่อผลิตครูที่เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการเรียนการสอนศิลปะดังนั้นการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้จึงประกอบด้วย
๑. วิชาชีพครู เช่น หลักสูตรและการสอน การวิจัยทางการศึกษา จิตวิทยาการศึกษา เน้นให้ผู้เรียนค้นคว้า สืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง โดยการไปสังเกตชั้นเรียนและทดลองสอนในสถานที่จริง
๒. การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาศิลปะปฏิบัติ เช่น การวาดเส้น จิตรกรรม
๓. การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีศิลป์ เช่น ประวัติศาสตร์ศิลป์ สุนทรียศาสตร์ ศิลปวิจารณ์ ศิลปะไทย ศิลปะท้องถิ่น โดยจะเน้นให้ผู้เรียนค้นคว้า สืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง เช่นการให้หัวข้อหรือชื่อผลงานศิลปะแล้วให้ผู้เรียนออกไปศึกษารูปแบบจากสถานที่จริง เช่น หอศิลป์พิพิธภัณฑ์ วัด หรือสิมอีสาน แล้วนำข้อมูลมานำเสนอในชั้นเรียน
๔. การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาศิลปศึกษา เช่น หลักสูตรการสอน จิตวิทยา การจัดการชั้นเรียน การวิจัยศิลปศึกษา
การจัดการเรียนรู้ในสาขาวิชา หากเป็นวิชาปฏิบัติก็จะเรียนเหมือนกับทางคณะศิลปกรรม คือมีการจัดหุ่น การเขียนภาพนอกสถานที่ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะตน
ครูเบิ้ม : เป้าหมายในอนาคตของเส้นทางศิลปะมีมากน้อยเพียงไรครับ ?
อ.ปริญญ์ : ด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะก็คงจะสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรมต่อไปแต่ก็จะพยายามให้เป็นงานจิตรกรรมนามธรรมที่มีความเป็นอีสาน
ครูเบิ้ม : ฝากข้อคิดในฐานะอาจารย์สอนศิลปะสักหน่อยครับ
อ.ปริญญ์ : ทุกวันนี้โลกของศิลปะเล็กลง ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านศิลปะในแขนงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ที่ทำงานศิลปะหรือผู้ที่ศึกษาศิลปะควรจะมีความรู้ และรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวในวงการศิลปะ และควรมีความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในผลงานศิลปะของตนอีกทั้งควรตระหนักถึงความเหมาะสม กาละเทศะบริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานศิลปะของตนด้วย ส่วนผู้ที่สอนศิลปะหรือผู้ที่เรียนศิลปะศึกษาก็ควรมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์การสอนวิชาศิลปะไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตร กิจกรรม ความสามารถด้านทักษะ รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะ และควรชี้แนะให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความลึกซึ้งแห่งคุณค่าของความงามอย่างมีความสุข
อาจารย์-บี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี การศึกษา วิทยาลัย อาชีวศึกษาอุบลราชธานี, ปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น, เป็นบรรณาธิการสารมิตรภาพไทย – ลาว และเลขานุการศูนย์ข้อมูลลาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ครูเบิ้ม : หลักการเรียนการสอนศิลปะที่สถาบันแห่งนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ?
อ.ทรงวิทย์ : คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ๔ สายวิชา ประกอบด้วย สายวิชาทัศนศิลป์ สายวิชานิเทศศิลป์ สายวิชาดนตรี และสายวิชาศิลปะการแสดง ปัจจุบันมีหลักสูตรวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งหลักสูตร เพื่อให้บริการด้านการศึกษาศิลปะกับเยาวชนลูกหลานในท้องถิ่นเป็นหลัก วิธีการเข้าศึกษาทำได้ ๓ แบบ คือ การจัดสอบโดยส่วนกลางที่เรียกว่าระบบแอ็ดมิชชั่น และรับตรงโดยมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง ส่วนอีกวิธีคือรับผู้มีความสามารถพิเศษ หรือที่เรียกว่า โควต้า ตัวผมเองเป็นอาจารย์สอนด้านจิตรกรรม (สายทัศนศิลป์) ก็พยายามเน้นให้นักศึกษาได้เข้าใจพื้นฐานสังคมวัฒนธรรมของตนเองควบคู่ไปด้วย โดยศึกษาจากมรดกภูมิปัญญา เรื่องเล่า ตำนาน และศิลปะในแบบท้องถิ่นที่เคยสืบเนื่องสัมพันธ์กับชุมชนในอดีตมาช้านาน นำมาบูรณาการกับแนวทางตามสมัยนิยม เช่น การศึกษาฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรมบนผนังสิม) หรือวรรณกรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับฮูปแต้ม อย่างเรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือสังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ โดยศึกษาจากพื้นฐานให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งว่าคนในอดีตเขาคิดเขาทำกันอย่างไร อันนี้เราจะได้เรื่องความกตัญญู (สำนึกในความเป็นท้องถิ่น) ด้วย จากนั้นจึงนำมาทดลองประยุกต์ใช้กับรูปแบบ เทคนิควิธีสมัยใหม่ ให้เกิดความพอเหมาะพอดี เป้าหมายก็เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง อันเป็นการเรียนรู้ “เรา” ในมิติใกล้ตัวที่สุด ซึ่งเราเคยมองข้าม แต่เมื่อเราเห็นตัวเราชัดเจนดีแล้ว อย่างอื่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะโลกาภิวัตน์ทำให้เรารับรู้เรื่อง “เขา” อันเป็นเรื่องไกลตัวทุกวี่วันอยู่แล้ว
ครูเบิ้ม : แนวทางหรือแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะของอาจารย์เป็นอย่างไรบ้างครับ ?
อ.ทรงวิทย์ : ข้อคิดสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อกลับมาอยู่อีสานคือ การได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ เหมือนว่าเราเป็นคนต่างด้าว หรือ “คนนอก” ท้องถิ่นของตัวตนเองมานาน แต่สิ่งที่รับรู้ใหม่คือสิ่งพิเศษที่ทำให้เกิดความตระหนักว่ามันมีความหมายและสำคัญ ก็คือมรดกภูมิปัญญาที่อยู่ในวิถีชนคนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมในยุคต่าง ๆ วิถีวัฒนธรรมประเพณีในแบบต่าง ๆ อาทิได้เห็นว่าหมอลำเป็นมหรสพที่มากกว่าแค่ศิลปะการแสดงเท่านั้น มันยังเป็นอัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของอีสาน มีปรัชญา ศิลปะ มีระบบความสัมพันธ์กับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ ไม่ต่างจากวรรณกรรมอย่างเรื่องสินไซ ที่เคยได้รับความนิยมมาในอดีต หรือวัฒนธรรมการกินของชาวอีสาน การแต่งกาย และอื่น ๆ ซึ่งล้วนเกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และอาจจะรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
ครูเบิ้ม : มีความภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะมากน้อยแค่ไหนครับ ?
อ.ทรงวิทย์ : ผลงานชุด “เปิดผ้าม่านกั้ง” เป็นงานที่ผมภูมิใจนำเสนอ เป็นผลงานที่ทำขึ้นในช่วงที่กลับมาอยู่อีสาน ด้วยเทคนิคสื่อหลากหลายติดตั้งจัดวาง เป็นการสะท้อนแง่มุมของคนอีสานสังคมอีสาน ผ่านค่านิยม รสนิยมแบบอีสานสมัยใหม่ โดยใช้ “หมอลำซิ่ง” คือหมอลำประยุกต์รูปแบบหนึ่งที่พัฒนาจากหมอลำกลอนในอดีต มาเป็นบริบทในการสะท้อนแง่มุมความคิด ผลงานชุดนี้บูรณาการระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะพื้นบ้านที่ชาวบ้านรู้จักกันเป็นอย่างดี นำมาพิจารณาหาความลงตัวทั้งเนื้อหาและรูปแบบ นอกจากนั้นยังหยิบยกวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องสังข์ศิลป์ชัยหรือสินไซ ที่ชาวบ้านอีสานและชาวลาวรู้จักและนิยมมาเป็นประเด็นในการทำกิจกรรมเชิงฟื้นฟูและอนุรักษ์ เพื่อนำไปสู่กระบวนการเชิงพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นทุนในการพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กับชุมชนที่ร่วมกระบวนการคือ ชุมชนมหาวิทยาลัยชุมชนเมือง ชุมชนหมู่บ้าน ทำให้สังคมได้รับประสบการณ์ใหม่ และเกิดทัศนะที่ดีต่อศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของตน บางส่วนก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนนำไปสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ตามมาอีกมาก
ครูเบิ้ม : เป้าหมายในอนาคตของเส้นทางศิลปะมีทิศทางอย่างไรบ้างครับ ?
อ.ทรงวิทย์ : คิดว่า “ศิลปะ” ยังเป็นเครื่องมือที่มีพลังต่อการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติดังนั้นการศึกษาศิลปะจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามเรายังต้องมาทบทวนกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับพื้นที่และกาลเวลา ว่าจะดำเนินไปในรูปแบบหรือแนวทางอย่างไร เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างแท้จริงทั้งในด้านของวัตถุและจิตใจ ซึ่งต้องเอื้อประโยชน์ร่วมกันทุกภาคส่วน โดยไม่ทำให้สูญเสียหรือลดทอนคุณค่าในอดีตลงไป และยิ่งต้องทำให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
ครูเบิ้ม : อาจารย์ฝากข้อคิดในเรื่องศิลปะสักหน่อยครับ
อ.ทรงวิทย์ : ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ศิลปะคือสิ่งที่ประณีต ละเอียดอ่อน และลึกซึ้ง” ซึ่งคงสะท้อนข้อคิดว่า อะไรก็ตามถ้าทำอย่างประณีตละเอียด และลึกซึ้งแล้วก็ล้วนเป็นศิลปะได้ ไม่ใช่เพียงศิลปะในแบบที่เราคุ้นเคยเท่านั้น การสร้างศิลปะโดยแท้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่มีใจ
บุคลากรทางการศึกษาวิชาศิลปะทั้งสองท่าน ต่างกันที่รูปแบบการทำงานและการสอนแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือศาสตร์แห่งศิลป์และความสุนทรี ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายเดียวกันนั่นเอง