สายธาร นิทานอีสาน
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: ใจอีศาน
ผู้เขียน: จารุวรรณ ธรรมวัตร
นิทานเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนชีวิต ค่านิยม และความเชื่อของผู้คนในสังคม เป็นเรื่องราวที่ผู้คนบอกเล่าสืบต่อกัน จากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน สืบสานกันไปเรื่อย ๆ แฝงคำสอนใจ แฝงบทเรียนเป็นเสมือนมรดกตกทอดของแต่ละสังคม ภาคอีสานมีนิทาน ตำนานมากมายหลากหลายประเภททั้งนิทานชาดก นิทานกลอนลำ นิทานก้อม ซึ่งส่วนมากเล่ากันมาแบบปากต่อปาก (มุขปาฐะ)
นวัตกรรมที่มีส่วนให้นิทานพื้นบ้านอีสานแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง คือ การเกิดโรงพิมพ์ท้องถิ่น ในจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและการค้าขาย เช่น ขอนแก่นและอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ร้านพระธรรมขันธ์โอสถตั้งโรงพิมพ์พระธรรมขันธ์โอสถ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ร้านคลังนานาธรรมตั้งโรงพิมพ์คลังนานาวิทยา โดยมีจุดประสงค์เพื่อพิมพ์หนังสือจำหน่าย หนังสือที่พิมพ์มีสามประเภท คือ นิทานพื้นบ้านอีสาน ได้แก่เรื่อง ท้าวจักรษิณะพรหมริน กลอนลำประวัติพระธาตุพนมนิทานท้าวหมาหยุย นิทานท้าวนกคุ่ม นิทานท้าวหอมฮู นิทานท้าวบัวฮม-บัวฮอง-บัวเฮียว นิทานเซียงเมี่ยง นิทานกำพร้าผีน้อย นิทานขูลู-นางอั้ว นิทานนางผมหอม เป็นต้น
หนังสือธรรมทั้งภาษาอีสานและภาษากลางเป็นหนังสือที่พิมพ์จำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ เรื่องกฐินเทศนา อริยทรัพย์เทศนา เทศนาแผนใหม่ยามเว่าปัญหา ยามส่วงนักเทศน์ คู่มืออุบาสกอุบาสิกา หลักเทศน์เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย พระมาลัยสูตร เทศน์ปุจฉา-วิสัชนา สรภัญญ์ทันสมัย ขับร้องสรภัญญ์ แหล่ประชันกลอน แหล่อวยพร เป็นต้น
นิทานไทยภาคอื่นสำนวนภาษาอีสาน หนังสือในกลุ่มนี้ผู้จัดการโรงพิมพ์มีความเห็นว่าควรนำมาแต่งเป็นคำกลอนภาคอีสานให้เหมาะสมกับชนชาวอีสาน จึงจ้างผู้มีความรู้ความสามารถด้านศิลปการประพันธ์เป็นนักเขียนประจำสร้างสรรค์งานเขียนทั้งสามแนว เช่น กรม กิ่งแก้ว (ก. กิ่งแก้ว ป.) อินตา กวีวงศ์ (อ. กวีวงศ์) ช่วง แสงนา (ช. ศิษย์นักประพันธ์) และทองใบ อัครฮาด บุคคลเหล่านี้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนปริยัติธรรมวัดธาตุกุดกว้าง โดยมี พระมหากรมกิ่งแก้ว เป็นครูใหญ่และเป็นครูกวี สอนการแต่งคำกลอนภาคอีสาน มีการฝึกหัดแต่ง มีการตรวจแก้ส่งเสริมพัฒนาการเขียนอย่างสม่ำเสมอจริงจัง ส่งผลให้ลูกศิษย์มีความสามารถในศิลปการประพันธ์สามารถใช้ประโยชน์ประกอบอาชีพเป็นนักประพันธ์เอกประจำโรงพิมพ์คลังนานาวิทยา ส่งผลให้วรรณกรรมอีสาน โดยเฉพาะนิทานพื้นบ้านได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดกิจการขายหนังสือหาบและรถขายหนังสือเร่ ตระเวนขายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในภาคอีสาน ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและพัฒนาการอ่านอย่างมาก ประกอบกับรายได้จากการเร่ขายหนังสือมีกำไรดีจึงมีผู้นิยมขายหนังสือหาบ
ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนส่งเสริมการอ่านนิทานพื้นบ้านเป็นอย่างมาก คือ รูปเล่มและราคาหนังสือที่ผลิตพอเหมาะพอควร โดยมีรูปเล่มกะทัดรัดมีขนาดเล็ก ยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๕ นิ้ว จำนวนหน้าโดยเฉลี่ยประมาณ ๓๐ หน้า การที่หนังสือเล่มเล็กจำนวนหน้าไม่มากเกินไป ทำให้ผู้อ่านไม่เบื่อเพราะอ่านจบรวดเร็วไม่เสียเวลา ส่วนราคาหนังสือไม่แพง หนังสือพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๑๒ เช่น นิทานท้าวไกรทอง นิทานปลาบู่ทอง ขุนช้าง-ขุนแผน กฤษณาสอนน้อง และ พระอภัยมณี ราคาขายเล่มละ ๒.๕๐ บาท แต่เวลาหาบเร่ไปขายตามหมู่บ้านขายเพียง ๑-๑.๕๐ บาท เรื่องที่พิมพ์รวมเล่มราคา ๕๐ บาท จากเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถซื้ออ่านได้ ทำให้หนังสือที่ผลิตโดยโรงพิมพ์คลังนานาวิทยามีส่วนส่งเสริมการแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้านและวรรณคดีไทยสำนวนอีสานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๒ เป็นช่วงที่การแสดงหมอลำหมู่หรือลำเรื่องต่อกลอนได้รับความนิยมในจังหวัดขอนแก่น อินตา กวีวงศ์ จึงแต่งกลอนลำขายให้กับหมอลำหลายคณะ เช่น คณะประถมบันเทิงศิลป์ คณะเลิศแก่นนคร คณะบ้านแดงใหญ่วรรณกรรมอีสานที่แต่งเป็นกลอนลำเรื่อง ได้แก่ท้าวสุริยวงศ์ พระศรีอาริย์เป็นเจ้าโลก ท้าวดาวเรือง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณีศรีสุวรรณ ไกรทอง และ กุหลาบทอง เป็นต้น
ส่วนในจังหวัดอุบลราชธานี ปรีชา พิณทอง ได้ตั้งโรงพิมพ์ศิริธรรม เพื่อจัดพิมพ์วรรณคดีอีสานจำหน่าย โดยปริวรรตวรรณคดีอีสานจากหนังสือผูกเป็นภาษาไทยปัจจุบัน ผลงานที่จัดพิมพ์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวรรณกรรมผลงานบางส่วนได้แก่ ประเพณีไทยโบราณอีสานภาษิตโบราณอีสาน รวมวรรณคดีอีสานเล่ม ๑ เล่ม ๒ ขูลู-นางอั้ว ผาแดง-นางไอ่ เวสสันดรคำโคลง สังข์ศิลป์ชัย กาพย์ปู่สอนหลาน-หลานสอนปู่ สิริจันโทวาทยอดคำสอน นกจอกน้อย ท้าวก่ำกาดำ ไขภาษิตโบราณอีสาน ท้าวฮุ่งท้าวเจือง เป็นต้น
หนังสือวรรณคดีอีสานของโรงพิมพ์ศิริธรรมส่วนใหญ่เป็นวรรณคดีเอก ส่งผลให้วงการศึกษาสนใจนำไปศึกษาค้นคว้าขั้นสูง นับได้ว่านายทุนท้องถิ่นผู้ประกอบธุรกิจการพิมพ์หนังสือสร้างโอกาสด้านอีสานศึกษา ที่มีส่วนอนุรักษ์และพัฒนาภาษาถิ่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคในหลายจังหวัดมีส่วนให้การเผยแพร่หมอลำเรื่องและนิทานพื้นบ้านแพร่กระจายอย่างกว้างไกลอีกด้านหนึ่ง ภายหลังสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางมีเครื่องมือที่คุณภาพสูงกว่า ทำให้คนในท้องถิ่นเลือกดูรายการที่มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมใหม่มากกว่าวัฒนธรรมท้องถิ่น นับได้ว่านวัตกรรมได้ส่งผลสองด้านต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง