สายแนน กกแนน จากตำนานขูลูนางอั้ว

สายแนน กกแนน จากตำนานขูลูนางอั้ว

“สายแนน” ภาษาในวรรณคดีจากตำนานรัก ขูลูนางอั้ว ในตอนที่ว่า..

“เมื่อจนหนทางมารดาท้าวขูลูจึงอ้อนวอนขอให้ทำพิธีเสี่ยงสายแนน (แนน หมายถึงรกห่อหุ้มทารกแรกเกิด) ว่าเป็นเนื้อคู่กันหรือไม่ ผลการเสี่ยงทายว่า สายแนนของทั้งสองคนนั้นเกี่ยวพันกันดีอยู่ในตอนต้น แต่ตอนปลายยอดด้วนและแยกออกจากกัน ซึ่งแสดงว่าเป็นเนื้อคู่กันแต่จะอยู่กันไม่ยืดยาว ต้องพลัดพรากจากกันในที่สุด โดยบอกว่าทั้งสองต้องตายจากกัน ฝ่ายท้าวขูลูจึงจำใจยกทัพกลับเมือง”

.

สายแนน –  สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ในบทความ สายแนนแขวนฟ้า วาสนาสุดสายแนน ว่า…

แนน เป็นคำเก่าแก่มาก แล้วมีความหมายต่างกันหลายกระแสจนอธิบายยาก จนถึงบัดนี้หาคำอธิบายให้เหมาะใจยังไม่ได้

(มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพุธที่ 02 มีนาคม 2554 โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ)

 

มหาปรีชา พิณทอง ปราชญ์อีสาน อธิบายไว้ในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 หน้า 451) ว่า

แนน น. คู่ครอง อย่างว่า อันที่แนนปุนป้อง บูฮาน นำน้าวจ่อง (กา) ฮู้ว่าแนนนำเกี้ยวกันลงมาเกิดนั้นรือ (สังข์) ดูแนนน้องยังสมสวรรค์มิ่ง แนนเพื่อนบ้างหลายแท้โทษมี (ฮุ่ง). Spouse

แต่เมื่อได้อ่านคำอธิบายของ จตุพร แพงทองดี ในงานประพันธ์เชิงมานุษยวิทยา แล้วเห็นว่าขยายให้ง่ายขึ้นดังนี้

สายแนนนั้นคือกก (ต้น) ซึ่งอยู่บนฟ้าที่แถนมัดไว้เป็นคู่ๆ ว่าให้ใครคู่กับใคร

เหมือนในหมอลำเรื่องขูลู นางอั้ว ที่หมอเสี่ยงทายลองเสี่ยงดูสายแนนของท้าวขูลู กับนางอั้ว แล้วพบว่าต้นติดกันแต่ส่วนปลายแยกออก ซึ่งหมายความถึงการพลัดพราก สองคนนั้นจึงต้องตายจากกันในที่สุด (โสกไผ่ใบข้าว หน้า 261)

“สุดสะแนน” มาจาก “สุดสายแนน” หมายถึง ไม่มีวาสนาที่จะได้รักหรือเกี่ยวข้องกัน

เพราะสายแนน หรือสายที่พญาแถนบนท้องฟ้าจับให้ใครคู่กับใครมันยาวขึ้นไปเทียบอีกฝ่ายไม่ถึง

แต่ว่าบางทีมันอาจจะหมายถึงเสียงหรือจังหวะสิ้นสุดของลูกสะแนนของแคน ก็ได้ (ลมแล้งเริงระบำ หน้า 30)

แนน หมายถึงขวัญได้ไหม?

ขวัญ มีหน่วยเดียว แต่สิงอยู่ทั่วทุกแห่งของร่างกายคนตั้งแต่เกิดมา เช่น ขวัญ หัว, ขวัญตา, ขวัญมือ, ขวัญแขน, ขวัญขา, ฯลฯ และมีความสำคัญมากเท่าๆกับตัวตนหรือร่างกายของคน

ทั้งมีความเชื่อว่าถ้าขวัญอยู่คู่ร่างกาย เจ้าของขวัญจะอยู่สุขสบาย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายก็ไม่เป็นปกติ

แสดงว่าขวัญสัมพันธ์กับร่างกายตัวตนจนแยกจากกันไม่ได้ พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ขวัญเป็นตัวแทนของตัวตนร่างกายของคน

ผมเขียนถามอย่างไม่มั่นใจว่า แนน หมายถึงขวัญได้ไหม? จึงอยากได้คำอธิบายความเห็นต่างไป จะได้ช่วยให้เข้าใจอย่างจุใจ

………………

“กกแนน” จากตำนานท้าวคูลูนางอั้ว ฉบับมหาวิทยาลัยมหิดล ในตอนที่ว่า..

“ผู้ประกอบพิธีคือแม่ม้อน (นางทรง) ซึ่งมีอยู่หลายคน ทุกนางล้วนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับอันสวยสดงดงามยิ่ง แม่ม้อนเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนหมอเหยา หมอไท้ หมอแถน คือเป็นผู้ติดต่อกับผี เทวดา แถน เพื่อถามสิ่งที่คนธรรมดาไม่สามารถล่วงรู้ เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี เสียงดนตรี ปี่ แคน ฆ้อง กลองบรรเลงขึ้น แม่ม้อนก็จะเข้าทรงบอกผีให้ไปถามแถนถึงกกมิ่งกกแนน ของท้าวขูลูกับนางอั้วว่าเป็นอยู่อย่างไร หากแม้นว่ากก (ต้น, ลำต้น, โคนต้น) มิ่งกกแนนของทั้งสองคนเฝือฟั่น (ใกล้ชิด, กลมเกลียว) พันกันอยู่ย่อม แสดงว่าเป็นเนื้อคู่กัน”

และดังกลอนว่า…

กกแนนเกี่ยวพันกันจึงนำจ่อง ปลายหากเนิ้งหนีเว้นจากกัน มียอดด้วนกุดขาดตายใบ หนองวังบกขาดลงเขินท้าง อันหนึ่งน้ำบ่อแก้วเหลือตลิ่งหนองหลวง กลายเป็นแหนหนามจอกขาวตันท้าง” (เนิ้ง = เอน, เอียง)

กกแนน – ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายไว้ในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษว่า หมายถึงคู่ครองที่เคยอยู่กินกันมาหลายภพหลายชาติที่โบราณเรียกว่าบุพเพสันนิวาส

………………..

อ่านตำนานรัก ขูลูนางอั้ว ทางอีศาน คลิก…


Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com