สาระวิพากษ์…คนแห่งลุ่มน้ำโขง
๑. แม่น้ำโขง…มหานทีแห่งมูลมังอารยะ
…แม่น้ำโขง…แม่น้ำนานาชาติ ที่มีความสำคัญเป็น ๑ ใน ๑๐ ของแม่น้ำสำคัญของโลก ต้นกำเนิดของสายน้ำ เริ่มจากบริเวณเทือกเขา แทงกูล่า ในที่ราบสูงธิเบตในประเทศจีน มีความยาวจากต้นน้ำถึงปากแม่น้ำที่ประเทศเวียดนามถึง ๔,๙๐๙ กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มแม่นำช้ำที่ไหลพาดผ่านทั้ง ๖ ประเทศ คือ จีน, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ถึง ๗๘๐,๐๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร มีผู้คนอาศัยอยู่ตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำถึง ๖๕ ล้านคน ไหลจากความสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง ๕,๓๐๐ เมตร มีลุ่มน้ำสาขาหลัก ๆ ถึง ๒๕๑ ลุ่มน้ำ
จากข้อมูลและภาพสถิติที่องค์กรความร่วมมือ MRC. หรือ Mekong – River Commission ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือของ ๔ ประเทศ แม่โขงตอนล่าง คือ ไทย-ลาว-เขมร-เวียดนาม ได้จำแนกปริมาณน้ำท่าของแม่น้ำโขงจากทั้ง ๖ ประเทศ มีดังนั้นคือ
ประเทศจีนซึ่งอยู่ตอนบนสุด มีปริมาณน้ำท่า ๑๔ เปอร์เซ็นต์ แยกเป็นน้ำที่ละลายจากหิมะถึง ๘ เปอร์เซ็นต์ และอีก ๖ เปอร์เซ็นต์ เป็นปริมาณน้ำท่าลงสู่แม่น้ำโขงในจีน
ประเทศพม่า มีปริมาณน้ำท่าลงสู่แม่น้ำโขง เพียง ๒ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยที่สุดในทั้ง ๖ ประเทศ เนื่องจากลักษณะของภูมิประเทศ และลักษณะทางกายภาพ เป็นตะเข็บเขาที่ลาดเอียงลงสู่แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิระวดีเป็นส่วนใหญ่ จึงมีปริมาณน้ำท่าที่ตกลงสู่แม่น้ำโขงไม่กี่สาย
ประเทศไทยของเราผลิตน้ำท่าลงสู่แม่น้ำโขง ๑๘ เปอร์เซ็นต์ จากลำน้ำสาขาที่ไหลสู่แม่น้ำโขง ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือ แม่กก, แม่น้ำอิง, แม่ลาว, แม่น้ำแม่จีน, แม่คำ ส่วนภาคอีสานก็ไล่มตั้งแต่ แม่น้ำเหือง, แม่น้ำเลย ห้วยปากชม, ห้วยโมง, ห้วยหลวง, ลำน้ำก่ำ, ลำน้ำสงคราม, ห้วยมุก, แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล
สปป.ลาว เป็นประเทศเดียวที่ผลิตปริมาณน้ำท่าลงสู่แม่น้ำโขงมากที่สุดคือ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังมีพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ยังอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสาขาหลัก ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงไล่มาตั้งแต่ แม่น้ำก๊ก, แม่น้ำมอม, แม่น้ำเบ็ง, แม่น้ำอู, แม่น้ำคาน, น้ำซอง, น้ำหลีก, น้ำงึม, น้ำซัน, น้ำเทิน, น้ำกระดิง, เซบั้งไฟ, เซบังเหียน, เซโดน, เซเสร็จ, เซกอง และเซเปียน ลำน้ำสาขาหลัก ๆ ของลาวดเหล่านี้มีปริมาณน้ำท่ามหาศาล ลาวจึงมองเป็นโอกาสในการกั้นเป็นเขื่อนพลังน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้กล่าวเอาไว้อีกตอนหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ประเทศเขมร ผลิตปริมาณน้ำท่าลงสู่แม่น้ำโขง เท่ากันกับประเทศคือ ๑๘ เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน เขมรโชคดีมีพื้นที่ชุ่มน้ำหรือแก้มลิงขนาดใหญ่ คือ โตนเลสาบ ที่เป็นชามอ่างยักษ์อยู่ตอนกลางประเทศ ลำน้ำสาขาที่อยู่รอบ ๆ ต่างไหลมารวมกันที่โตนเลสาบทั้งหมด เมื่อล้นขอบอ่างก็จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่กรุงพนมเปญทั้งหมด
ประเทศสุดท้ายคือเวียดนามที่อยู่ปลายสุด ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ นับเป็นประเทศที่ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงมากที่สุด แม้จะผลิตประมาณน้ำท่าให้แม่น้ำโขง เพียง ๑๓ เปอร์เซ็นต์ ความโชคดีของประเทศเวียดนามอีกอย่างคือ แม่น้ำโขง เมื่อไหลเข้าสู่ประเทศเวียดนามแล้ว ได้แตกกิ่งสาขาออกเป็นอีก ๙ สาย ซึ่งเวียดนามเรียกว่า แม่น้ำเกาลอง แปลว่าหางมังกร ๙ หาง ทำให้อาณาบริเวณดินดอนปากแม่น้ำทั้ง ๙ สาย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญที่สุดของประเทศ จนผลิตข้าวแซงหน้าประเทศไทยแล้วในวันนี้
แม่น้ำโขง มหานทีที่หล่อเลี้ยงผู้คนทั้ง ๖ ประเทศ ได้อาศัยพึ่งพิงทั้งการอุปโภค บริโภค ปลูกพืชผัก เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งพลังงาน เป็นเส้นทางสัญจร เป็นรั้วกั้นเขตแดน และเป็นอะไรต่อมิอะไรเกินกว่าที่จะพรรณนาได้ มาบัดนี้ แม่โขงสายมหานทีที่เป็นมูนมังอารยะของกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๖๕ ล้านคน กำลังถูกท้าทายกับบริบทการพัฒนาที่ถาโถมแย่งยื้ออย่างหนัก เพื่อแปรสินทรัพย์ทุกอย่างของแม่น้ำโขงให้เป็นทุน เป็นกำไร เป็นเงินปันผล ในทุกช่วง ทุกตอนตลอดสายน้ำทั้ง ๔,๙๐๙ กิโลเมตร
โอ้!…แม่โขงถึงเจ้าจะยิ่งใหญ่…หนักแน่น…ทรนง แค่ไหนก็ตาม เจ้าอาจจะต้องอ่อนแรง…เหนื่อยล้า…และแพ้ภัยทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ปรวนแปรอย่างหนัก เกร็ดหิมะที่เป็นแหล่งต้นน้ำ หยดย้อยละลายลงมาหล่อเลี้ยงผู้คนก็ค่อย ๆ หายไปในแต่ละปี…หนักที่สุด เจ้าจะต้องเผชิญกับอาสวะกิเลส ความอยากของมนุษย์…เผอิญกับระบบระบอบทุนนิยมสามานย์ที่จะรัดเอาทุกอย่างของเจ้าอย่างกระหาย…บ้าคลั่ง…จงหนักแน่น…และอดทน เอาไว้นะ แม่โขง!
๒. อีสาน : ตำนานความแห้งแล้ง
ปี ๒๕๐๓ ข้าพเจ้าอายุสัก ๗ ขวบ จำได้ว่าได้ยินผู้ใหญ่คุยกันว่าจะมีการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ที่อำเภอปากชม จังหวัดเลย เพื่อเป็นเขื่อนพลังน้ำแห่งแรกของแม่น้ำโขง ส่วนหนึ่งเขื่อนนี้จะช่วยยกระดับน้ำ เพื่อผันเข้ามาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งให้ภาคอีสานได้อีกด้วย ผู้ใหญ่ที่คุย ๆ กันอยู่พากันร้องไชโย “อีสานเฮาสิบ่แล้งอีกแล้ว”…“ไชโย! สิได้ใช้น้ำโขงแล้ว”
ผู้เสนอให้มีการสร้างเขื่อนผามองคือท่าน ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ขณะนั้นตำรวจตำแหน่งเป็นประธานกรรมาธิการแม่น้ำโขงคนแรก ต่อมาหลังสงครามเย็นสงบลง คณะกรรมาธิการชุดนี้ก็พัฒนาการมาเป็นกรอบความร่วมมือ ของกลุ่มประเทศในแม่น้ำโขงตอนล่าง ๔ ประเทศ คือ ไทย, ลาว, เขมร และเวียดนาม นั่นคือกรอบ MRC. หรือ Mekong River Commission ซึ่งมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่กำแพงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว มีเป้าหมายสูงสุดขององค์กร คือ จะร่วมกันบริหาร-จัดการลุ่มแม่น้ำโขงอย่างสมดุลและยั่งยืน เน้นการรักษาระบบนิเวศน์ลุ่มแม่น้ำให้เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนทั้ง ๔ ประเทศ เรื่องราวข่าวที่จะสร้างเขื่อนผามองต่อมาก็ค่อย ๆ จางหายไปกับกาลเวลาเหลือเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกันต่อ ๆ มา จนถึงทุกวันนี้
บุคคลท่านที่สองที่มาปลุกกระแสชาตินิยมอีสานอีกคนหนึ่งที่กล่าวว่าอีสานจะต้องไม่แล้ง คือ ท่านนายพลผ้าขาวม้าแดง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้วิสัยทัศน์ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ท่านมีบัญชาการให้วางแผนและจัดทำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เป็นกรอบนำร่องการพัฒนา หรือแผนฯชาติเป็นฉบับแรกของประเทศไทย มีระยะเวลาของแผน ๕ ปี คือ เริ่มจาก ปี ๒๕๐๔ ถึง ๒๕๐๘ และมีบัญชาให้จัดตั้ง กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เป็นหน่วยติดตามและดำเนินการตามแผน
สำหรับภาคอีสานแล้วท่านมีความตั้งใจที่จะต้องเร่งรัดการพัฒนาทั้งต้นเศรษฐกิจและสังคมอย่างเร่งด่วน เช่น การวางผังเมืองขอนแก่น เพื่อให้เป็นเมืองเอกหรือเป็นเมืองหลวงของภาค ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น วางแผนก่อสร้างสนามบินใหม่อนุมัติจัดสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและเพื่อเป็นอ่างกักเก็บน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานตอนกลาง
ผู้เขียนเคยเห็นภาพสเก็ตช์ลายมือของท่าน ซึ่งเป็นจินตนาการที่ท่านได้วาดฝันเอาไว้ ว่าจะต้องสานงานต่อ ภาพสเก็ตช์ที่เห็นไม่แน่ใจว่า พิมพ์อยู่ในวารสารของสำนักงาน กรป.-กลาง หรือ อาจจะเป็นวารสารของสำนักงาน รพช. เคยเห็นและอ่านตั้งแต่ผู้เขียนเริ่มทำงานที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๒๐
ภาพสเก็ตช์ฟรีแฮนด์ ซึ่งเป็นจินตนาการหรือจินตภาพของท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แผ่นนั้น ท่านได้วาดถนนมิตรภาพ ที่เริ่มจากจังหวัดสระบุรี ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย ระยะทาง ๕๑๐ กิโลเมตร จะต้องลาดยาง ๔ เลนจราจร ด้านตะวันตกถนนมิตรภาพ ท่านได้วาดรางรถไฟรางคู่วิ่งสวนกันได้ ตั้งแต่ชุมทางบ้านภาชีถึงหนองคาย ส่วนด้านตะวันออกคู่ขนานกับถนนมิตรภาพ ท่านก็ได้วาดคลองส่งน้ำโขงตั้งแต่ จ.หนองคาย ไปลงแม่น้ำมูลที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
ในสามจินตนาการใหญ่ของท่าน มีเพียงถนนมิตรภาพที่ขยายกว้างใหญ่เกินที่ท่านจินตนาการไว้ เพราะบางช่วงของถนน เป็นช่วงผ่านกลางเมืองขอนแก่น บางช่วงกว้างถึง ๑๒ เลนจราจร และที่ท่านนึกไม่ถึงเลยก็คือ จะมีถนนมอร์เตอร์เวย์ลอยฟ้า จากประตูน้ำพระอินทร์ มาถึง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะเปิดใช้ในเร็ว ๆ นี้
จินตนาการที่หลุดหายไปนานมากถึงกว่า ๕๐ ปี ก็คือรถไฟรางคู่และโครงการนำแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ ก็เคยมีการทำโครงการโขง, ชี, มูล เมื่อปี ๒๕๓๑ โดยการสูบน้ำโขงจากอำเภอโพนพิสัย จ.หนองคาย มาเติมที่ฝาย อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี และสูบส่งต่อไปเติมลงแม่น้ำชี และมูล โครงการนี้สูญเงินและเสียค่าโง่ไปเยอะเหมือนกัน มีคนคาดการณ์ว่าใช้เงินไปกว่า ๘ – ๙ หมื่นล้านบาท
สิ่งก่อสร้างของโครงการฯ ที่เป็นเหมือนอนุสาวรีย์ นั่นคือเขื่อนปากมูล, เขื่อนหัวนา, เขื่อนราศีไศล และฝ่านเขื่อนยางอีกมากมาย เขื่อนปากมูล, ฝายหัวนา, เขื่อนราศีไศล ในปัจจุบันก็ยังแก้ปัญหาค่าชดเชยไปแล้วเสร็จ ตำนานอีกท่านหนึ่งคือท่านอดีต สส.บุญเติม ช่างหล่อ สส.จังหวัดนครราชสีมา ได้นำคณะมาสำรวจ เมื่อปี ๒๕๑๓ โดยสำรวจเส้นทางระหว่างแม่น้ำโขงมาที่ภูหลวงจังหวัดเลย เพื่อเสมอให้สูบแม่น้ำโขง ขึ้นไปที่ภูหลวง จังหวัดเลย เพื่อเสนอให้สูบแม่น้ำโขงขึ้นไปที่ภูหลวง แล้วต่อท่อไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากในเวลานั้น
นอกจากบุคคลทั้งสามท่านที่ผูกพันกับตำนานอีสานแล้งแล้ว หากจะย้อนอดีตขึ้นไปมากกว่านั้นก็ต้องมาดูผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อน เช่น สมัยการอพยพโยกย้ายเพื่อสร้างบ้านแปงเมืองอีสานยุคแรก ๆ ในช่วงอยุธยาตอนกลางของพระวอพระตา ก็เคยกล่าวและบันทึกเอาไว้ว่า
“เฮาคือซุมโคตรเหง่าลาวลุ่มซุมแซง
แตกแขนงหากินไปทำฮิมน้ำ
ตามหนอง ห่วย ดินดำน้ำซุ่ม
เฮาคือซุมโคตรเหง่าลาวก้ำหมู่หลาย”
ยุคหลังต่อ ๆ มาอีก ผู้เฒ่าผู้แก่อีสาน ก็พยายามพร่ำบอกสอนลูกหลานให้รู้จักการบริหารจัดการน้ำ ด้วยคำสอน, คำเตือน ผ่านคำกลอน, บทผะหยา, บทโตงโตย, กลอนลำ เอาไว้อย่างมากมาย เช่น หมอลำวัง หมอลำกลอนชื่อดังเมื่อ ๖๐ ปีก่อน ก็สอดแทรกคำเตือนไว้ในกลอนลำว่า “โอ่…ภูกระดึงสิเป็นบ้าน…ดงลานสิเป็นท่ง…ภูเขาวงสิถืกยาดปันน้ำแบ่งดิน”
กลอนผะหยาเตือนของปราชญ์โบราณอีกหลายท่าน ก็กล่าวเตือนว่า
“พระยาแถนปันน้ำ ตกลงทามตามอู๋ แอ่ง
คั่นบ่แพง คั่นบ่แปงบาดไซ้ เดือนห้าสิท่าวตาย”
“ฟ้าฮ้องตึ้ง เทวดาฮ้องป่าว ฟ้าเหลี่ยมฟ่าวไห่เก็บท้อนไฮ่นา
ปลาสิหาหม่องซ้นไห่เกียมเฮอะลงหนอง ห้วย เหมือง คอง ไห่ฟ่าวเจียมฝายกั้น”
หรือแม้แต่ปราชญ์รุ่นใหม่ ๆ ร่วมสมัย ก็พยายามสอดแทรกอารมณ์ และความรู้สึกที่สนุก ไม่อยากให้คนจมอยู่กับความแห้งแล้งว่า
“เมืองอีสานเฮาสิแล้ง กะแล้งแต่ลมฝน
น้ำใจคนอีสาน แม่นบ่มีวันแล้ง
เสียงพิณ แคน โปงลางห่าว เสียงกลองยาวดังตุ้มเติ่น
ฟ้อนละเพลินล้วนค้วน ม่วนแท้แม่นหมู่เฮา”