สิงหา-กันยา : สองศรีพี่น้องเพลงพิณ

สิงหา-กันยา : สองศรีพี่น้องเพลงพิณ

เสียงเพลงพิณได้ยินมาแต่ไกล ให้นึกถึงเพลงพิณของ มงคล อุทก

“ชีวิตเหมือนพิณกรีดสาย เล่นไปตามลายตามสายเสียงเพลง คนนี้ใจนี้มือนี้ ชีวิตเขามีแต่ดนตรีบรรเลง…”

เด็กหญิงแต่งชุดพลศึกษาสีเขียวกำลังดีดพิณและมีเด็กชายในชุดนักเรียนยืนอยู่ใกล้ ๆ ที่หน้าเครื่องเสียงมีตะข้องใส่เงินรับบริจาคช่วยเหลือให้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนน้อยตามแต่จะศรัทธา ผู้คนเดินผ่านได้ยินเสียงพิณ ยิ่งได้เห็นเป็นเด็กนักเรียนเป็นผู้เล่นในใจคิดสนับสนุนเด็ก ๆ เขาก็ควักเงินใส่ตะข้องให้กับนักพิณนักเรียนสองคนนั้น

“พ่อหนูสอนให้เล่นพิณ พอเล่นได้เป็นเพลง เมื่อมีเวลาก็ลองออกมาหาประสบการณ์และเปิดหมวกเป็นทุนการศึกษาเลี้ยงชีวิตไปด้วย” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ เบา ๆ ต้องเงี่ยหูฟัง ขณะที่เพลงพิณที่ดีดนั้นสนุกนัก

 

***

พ่อสายทอง คานฮุย เล่าให้ฟังว่า พ่อเป็นคนสุรินทร์ อยู่ที่อำเภอปราสาท มาทำมาหากินที่กรุงเทพฯ แล้ววันหนึ่งชีวิตก็เปลี่ยนผัน เมื่อประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ขยับตัวแทบไม่ได้ หนทางที่จะมีรายได้ก็ไม่มีคิดถึงครอบครัวและลูก ๆ จะลำบาก จึงคิดหาวิธีที่ต้องอาศัยศิลปะแสดงออกเพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นกับครอบครัวบ้าง ตอนแรก ๆ ลูกสาว เด็กหญิงเซียงไฮ คานฮุย ก็ไปร้องเพลงที่ตลาดนัดสุวรรณภูมิ พอมีรายได้จากการร้องเพลงเปิดหมวกบ้าง ซึ่งก็หนักและเหนื่อยสำหรับเด็ก ๆ ที่อายุเพียงสิบเอ็ดปี อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สาม ของโรงเรียนสุเหร่าคลองหนึ่ง ถ้าไม่เป็นนักร้องจะทำอย่างอื่นได้อีกไหม

คิดถึงพิณ เสียงพิณที่มีมนต์เสน่ห์ไม่แพ้เสียงแคน พิณของคนอีสานที่ดีดแล้วไพเราะมีความสุขสนุกที่ได้ฟัง นึกถึงบรรยากาศบ้าน ๆ ที่สุรินทร์ จึงสั่งซื้อพิณจากครูเพลงครูพิณที่สุรินทร์ จากนั้นก็ฝึกหัดเล่นพิณจนตัวเองเล่นได้หลาย ๆ เพลงพอสมควรแล้ว จึงได้คิดว่าสอนเพลงพิณให้ลูก ๆ น่าจะดี อย่างน้อยก็มีวิชาเพลงพิณติดตัว ช่วยอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านเอาไว้ จึงพยายามสอนลูกสาวลูกชายให้เล่นพิณให้ได้เด็ก ๆ หัดง่ายจำเก่งเรียนรู้ได้เร็ว ไม่นานก็เล่นพิณได้

จากนักร้องเปิดหมวกที่ตลาดนัดจึงเปลี่ยนมาเป็นเล่นพิณแทนการร้องเพลง เริ่มเล่นที่ตลาดนัดไม่ไกลจากบ้านพักนัก ไปเล่นที่ตลาดนัดสุวรรณภูมิ ตลาดนัดมีนบุรี ตลาดนัดพระยาสุเรนทร์ ซึ่งก็มีคนที่มาตลาดนัดเห็นในความตั้งใจความสามารถของนักพิณหัดใหม่ก็ให้เงินเป็นทุนการศึกษาบ้างตามสมควร

เซียงไฮ หรือกันยา คานฮุย เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สาม ของโรงเรียนสุเหร่าคลองหนึ่ง บอกว่า หัดเพลงเต้ยโขงก่อนจากพ่อและก็มีอีกหลายเพลง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงลูกทุ่งเมดเล่ย์ ต่อเนื่องกันไป ตอนที่หัดตอนแรก ๆ อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สอง แรก ๆ ที่หัดก็ยากเหมือนกัน แต่ตามที่พ่อบอกหัดให้เป็นเล่นให้ได้จะได้มีวิชาติดตัวไปใช้ในชีวิต ช่วยเหลือตัวเราได้และยังเป็นการอนุรักษ์เพลงและดนตรีพื้นบ้านอีสานของเราไว้ด้วย เข้าใจในสิ่งที่พ่อบอกก็พยายามฝึก จนเล่นเพลงได้ ทุกวันนี้ก็ยังฝึกหัดและเรียนรู้เพลงให้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

***

เล่นพิณแล้วมีความสุข เพลงสนุก ๆ เวลาไปเล่นไม่ได้คิดว่าจะได้เงินมากหรือจะน้อยขอบคุณทุกคนที่เมตตาสงสารเรา ให้ก็ดีใจที่สุดแล้ว เล่นพิณดีกว่าร้องเพลง ร้องเพลงจะเหนื่อยใช้เสียงมากกว่า ตอนร้องเพลงก็ร้องเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ตั๊กแตน ชลดา สาวอีสานรอรัก ของอรอุมา สิงห์ศิริ เล่นกับพิณก็เหมาะสมดี การเล่นพิณจะดีที่ไม่ต้องใช้เสียงร้อง ยืนแล้วก็ดีดพิณสนุกมากกว่า

เมื่อเล่นเพลงพิณได้เวลาพอสมควรแล้วน้องสิงหา ในชุดนักเรียนก็มาเล่นสลับให้พี่สาวได้พักบ้าง ทั้งสองคนเรียนโรงเรียนเดียวกัน ห่างกันคนละชั้น สิงหาเล่าว่าก็ชอบเล่นพิณ มันเหมือนกีตาร์ของคนอีสาน เพลงจากเสียงพิณสนุกเพราะดี ผมก็หัดจากพ่อ พ่อสอนให้ เพิ่งหัดได้ไม่นาน ฝึกหัดมาได้สามเดือนแล้ว หัดเล่นเพลงแรก เต้ยโขง ก็เล่นได้ และเพลงลูกทุ่งวนไปก็พอเล่นได้ มีความสุขที่ได้มาเล่น ไปกับพี่สาวพ่อกับแม่มาส่งไปไหนไปด้วยกัน มีความสุขดี

อ่านเรื่อง สิงหา-กันยา : สองศรีพี่น้องเพลงพิณ ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ ไผว่าอีศานฮ้าง  

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๕ เดือนมกราคม ๒๕๖๔

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 105
“เมืองเลยฉันรักเธอ” เสียงแผ่นดิน สื่อสารสุขไทเลย
ปลดปล่อยจากอำนาจที่ครอบงำ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com