สีสะเกด – ศรีสระเกด – ศีรสระเกษ – ศรีสะเกษ

สีสะเกด – ศรีสระเกด – ศีรสระเกษ – ศรีสะเกษ

ทางอีศาน ฉบับที่ ๙ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: บ้านเมืองเรื่องของเรา
Column: Khmer dialect
“เขาบังภู” : เรื่องและภาพ

ถกถามชื่อจังหวัดศรีสะเกษมาหลายวาระเชื่อว่าหลายคนยังคาใจต่อคำตอบเชิงสันนิษฐานผมจึงเห็นเหมาะจะนำเสนอให้พิจารณาบ้าง

สันนิษฐาน ๓ ข้อหลักต่อเรื่องนี้คือ
(๑) ผู้ก่อตั้งเมืองศรีสะเกษส่วนหนึ่งมีเชื้อสายลาวจากคุ้มวัดสีสะเกด เวียงจัน ประเทศลาว
(๒) อ้างถึงเจ้าหญิงเขมรโบราณ (พระเทวีศรี) เล่าเป็นนิทานว่าสระพระเกศา ณ สระกำแพง และ
(๓) ต้นเกดจำนวนมากรอบสระน้ำ เรียกรวม“สระเกด”

ครูวีระ สุดสังข์ นักกวี คอลัมนิสต์ “ทางอีศาน” ชาวกวยศรีสะเกษไม่เชื่อ ๒ สมมติฐานแรกเพราะเป็นลาวจากแขวงสาละวันมาที่นี่ อีกทั้ง “จิตร ภูมิศักดิ์” ระบุราว พ.ศ.๒๔๕๐ ถอยหลังไปคนแถบนี้พูดภาษากวย, ภาษาเขมรมาก กลุ่มลาวมีเล็กน้อยจึงไม่มีอิทธิพลการตั้งชื่อ และไม่น่ายกนิทาน “แม่ศรีสระผม” มาเป็นสาระ๑

ครูวีระเชื่อว่า ต้นเกดล้อมรอบสระน้ำซึ่งหลังศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษยังมีอยู่ น่าเป็นที่มาให้เรียก “สระเกด” เมื่อเติม “ศรี” คำหน้าควรเป็น “ศรีสระเกด”

ผมเห็นด้วยกับครูวีระในประเด็นชาวกูย ชาวเญอ เป็นชนกลุ่มใหญ่ รองลงมาเป็นชาวเขมร และชาวลาว๒ ส่วนวัดสีสะเกด นครเวียงจัน (ชื่อทางการ วัดสตสหัสสาราม หรือวัดแสน) เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ลาวสร้างเมื่อพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๓ ปีขาล พ.ศ.๒๓๖๑ – ๒๓๖๗ ตรงกับรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนศรีสะเกษฝั่งไทย หลักฐานโบราณคดีบ่งชี้มีคนอยู่แถบนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคเหล็ก (๔,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีก่อน) เช่นภาพสลักผาจันทน์แดง (อ.ขุนหาญ), โครงกระดูกคนฝังรวมเครื่องมือเหล็กภาชนะดินเผา ลุ่มแม่น้ำมูลเขต (อ.ราษีไศล) ถึงสมัยประวัติศาสตร์ แรกเริ่มวัฒนธรรมทวารวดี พุทธศตวรรษ ๑๒ – ๑๖ (๑,๔๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ชุมชนยุคเหล็กก็พัฒนาเป็นชุมชนพุทธศาสนานิกายเถรวาท (หินยาน) เช่นพบจารึกโบราณและคูเมือง เช่น ราษีไศล, ขุขันธ์ ๓

ไล่เลี่ยกัน วัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษ ๑๓ – ๑๗) ชนอีกกลุ่มตั้งถิ่นอยู่ตอนกลางและตอนล่างของศรีสะเกษ ถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน อยู่ตามศาสนสถาน เช่นปราสาทหินสระกำแพงใหญ่, ปราสาทหินสระกำแพงน้อย (อ.อุทุมพรพิสัย), ปราสาทบ้านปราสาท (อ.ห้วยทับทัน)

กล่าวได้ว่ากลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์มาถึงยุคเหล็ก (ยังไม่บันทึกชื่อชนเผ่า) อยู่ที่นี่มากว่าสามพันปี คือ บรรพชนของคนที่นี่ก่อนชนเผ่าอื่นจะมาอยู่รวมผสมผสาน

รวบรัดมา พ.ศ.๒๒๓๒ ลาวแตกเป็น ๓ อาณาจักร คือ หลวงพระบาง เวียงจัน และ จำปาสัก ส่วนหนึ่งข้ามมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงเข้ามาตามแม่น้ำมูลสู่ภาคอีสานของไทย ชนเผ่ากูย (กวย) ๖ กลุ่มจากอัตปือแสนแป (จำปาสัก) มาตั้งถิ่นแถบศรีสะเกษ, สุรินทร์ ๔ นอกจากนี้ชื่อศรีสะเกษปรากฏในตำราประวัติศาสตร์ลาวระบุสมัยเจ้าสร้อยสีสมุทพุทธางกูรเจ้านครจำปาสัก (พ.ศ.๒๒๕๖ – ๒๒๘๑) แต่งตั้งคนมาเป็นเจ้าเมืองศรีนครเขต ระบุด้วยว่าอยู่ที่เดียวกับศรีสะเกษปัจจุบัน

กูยกลุ่ม “ตากะจะ” กับ “เชียงขัน” ตั้งหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน (ปัจจุบันบ้านดวนใหญ่ อ.วังหิน) ตก พ.ศ.๒๓๐๒ ช้างเผือกพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา แตกโรงหนีเข้าป่าพนมดองเร็ก กูยกลุ่มนี้จับส่งคืน “ตากะจะ” จึงได้รับบรรดาศักดิ์ “หลวงแก้วสุวรรณ” และให้ยกบ้านเป็น “เมืองศรีนครลำดวน” ต่อมาย้ายไปหนองแตระ เรียก “เมืองคูขัณฑ์” ต่อมา พ.ศ. ๒๓๐๖ นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายได้เลื่อนเป็น “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน”.

สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๙ – ๒๓๒๐) พระไกรภักดีฯ และหลวงปราบ (เชียงขัน) นำกำลังคนไปช่วยสมเด็จพระยาจักรี ปราบเวียงจัน ได้เลื่อนเป็น “พระยาไกรภักดีฯ”

ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้แยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงออกจากเมืองคูขัณฑ์ ตั้งเป็นเมือง “ศีร์ษะเกษ” ปรากฏชื่อเป็นทางการครั้งแรก (หมายถึงมีชื่อนี้นานแล้ว)

ดังนั้น วัดสีสะเกด นครเวียงจัน จึงมาพ้องเสียง ศีร์ษะเกษ สยามประเทศ ต่างหาก !

แต่รูปศัพท์ซ้อนความหมาย “ศีรษะ+เกษ” จึงถูกแปลเอาสนุกเชิงเหยียดหยันเป็นจังหวัด “สองหัว” มีจินตภาพโยงกบฏผีบุญ (กบฏผู้มีบุญอีศาน) และการทะเลาะใส่ความกันของผู้นำถิ่นในอดีต ยากที่รัฐบาลกลางกรุงเทพฯต้องมาปราบหรือตัดสินหลายคดี

ยังมีวลี “บักสี (ศรี) หาเหตุ” ผมได้ยินมาแต่เด็ก อาจจะเกี่ยวเนื่องเรื่องข้างต้น ? ใครชอบก่อเรื่องวุ่นวายไม่หยุดหย่อนจะถูกล้อเป็น บักสีหาเหตุ !

มาดูศัพท์ “ศรีสะเกษ” ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ๕ อธิบายไว้ สรุปได้ดังนี้… ศีรษะ (สระอีบน ศ ศาลา) คือ “หัว” แต่มักเขียนผิดเป็น “ศรีษะ” ซึ่ง “ศีรฺษ” คำสันสกฤต อ่าน สี-ระ-สะ ออกครึ่งเสียง แต่เราออกเสียงอย่างแขกไม่ได้จึงเป็น “สี-สะ”

ส่วน “เกษ” บาลีก็ไม่ใช่ สันสกฤตก็ไม่เชิงบาลีเขียน “เกส” สันสกฤตเขียน “เกศ”

“เกษ” ษ ฤษี จึงเป็นเขียนแบบไทย ๆ คล้ายแขก เช่นเดียวกับ “เกสร” คนเก่านิยมเขียน “เกษร”

“ศรีสะเกษ” ไม่น่าจะหมายความว่า “หัว” ท่านจึงเขียนเป็น “ศรีสะเกษ”

ความเห็นของ ศ.จำนงค์ ละเลยพระราชโองการรัชกาลที่ ๑ แรกตั้งจังหวัดซึ่งเขียน “ศีร์สะเกษ” แต่ผมก็ไม่มุ่งจะหมายถึง “หัว” เสมอไป

ส่วนไวยากรณ์ลาว คำบาลี สันสกฤต จะถูกลดรูปลดเสียง สะกดตรง ๆ อย่างเรียบง่าย ไม่มีควบกล้ำ ไม่มีการันต์ เช่น พระมหากษัตริย์ไชยเชษฐาธิราช แบบลาวเขียน พะมหากะสัดไชยเชดถาทิราช, เวียงจัน(จันทน์), อาทิด(ทิตย์), อัดสะจัน(อัศจรรย์) ดังนั้น ศีรสะเกษ เป็น “สีสะเกด” จึงไม่แปลก

น่าสืบค้น วัดสีสะเกด เวียงจัน ลดรูปจาก ศีร(ศรี)+การะเกด, ศรี+สระเกศ หรือจากคำใด !

มาดูต้นเกดหรือการะเกด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ การะเกด น. ชื่อไม้พุ่มเพศผู้ ชนิด Pandanus tectorius Blume ในวงศ์ Pandanaceae มักขึ้นที่ชื้นแฉะและริมน้ำ ใบแคบและยาว ขอบใบมีหนามห่าง ๆ ดอกสีเหลืองกลิ่นหอม, ลำเจียกหนู ก็เรียก.

ลำเจียก น. ชื่อเรียกต้นตัวผู้ของเตยทะเล (PandanusodoratissimusL.) วงศ์ Pandanaceae ขอบใบและกาบหุ้มดอกมีหนามดอกกลิ่นหอม, ปาหนัน ก็เรียก, พายัพเรียก เกี๋ยงคำ. ลำเจียกหนู (ดูการะเกด)

สรุปคือชนิดเดียวกันในตระกูลเตย อธิบายให้ชัดว่า การะเกด ต้นสูงได้ ๓ – ๗ เมตร รากงอกจากลำต้นหยั่งถึงพื้ช่วยค้ำ ช่อดอกออกกลางยอดกาบสีเหลืองนวลหุ้มเกสรมิดชิด กลิ่นหอมเย็น ติดผลคล้ายสับปะรด แก่จัดผลสีแดงกินได้ ไทยมุสลิมเรียก “เตยทะเล” (มะกูแวปาตา – มะกู เตย / ปาตา ทะเล) ดอกเพศผู้กลิ่นหอมแรง ชาวมลายูและไทยมุสลิมใช้ประทินผิว อบเสื้อผ้า

อ่านนานาสันนิษฐานแล้ว อยากชวนพูดถึงจารึกบนปราสาทพระวิหารมีคำว่า “ศีรศิขเรศวร” (อิศวรผู้เป็นใหญ่แห่งขุนเขา) เทวาลัยสำคัญที่กษัตริย์จะทำพิธีกัลปนาถวายแรงงานรับใช้เทพศิวะ กับตั้งชุมชนอยู่ใกล้ ๆ คนสมัยนั้นอ่านจารึกได้แน่ ๆ และใช้คำนี้เรียกโบราณสถานแห่งนี้

เมื่อเนิ่นนานไปลัทธิเสื่อมลง คนรุ่นถัดมาสำเนียงไม่มีควบกล้ำเรียกเป็น “สีสิขะเรดสวน” กร่อนเหลือ “สีสิขะเกรด, สีสิกะเรด” ภาษาปากนี้ถ่ายทอดหลายชั่วคนซึ่งอ่านจารึกไม่ได้แล้ว จึงกร่อนเป็น“สีสะเกด” ครั้นรัฐสยามเขียนเลียนเสียงในรูปแบบสันสกฤตจึงเพี้ยนเป็น “ศรีสะเกษ”

แนววิเคราะห์นี้ผมอธิบายให้ชัดเพิ่มจากทฤษฎีของ ไมเคิล ไรท์ ๖ ฝรั่งคลั่งไทยที่มีพื้นรู้ภาษามคธอินเดียใต้ เพื่อชาวศรีสะเกษได้พิจารณาด้วย

ลองชั่งใจดูเถิด นิทานพระเทวีศรีสระเกศา, ต้นการะเกดล้อมรอบสระน้ำ กับชื่อเรียกเทวาลัยแห่งอิศวร ณ ปราสาทเขาพระวิหาร อันใดจะสำคัญกว่ากัน !

อย่าลืมตราจังหวัดศรีสะเกษเดิมเป็นรูปปราสาทเขาพระวิหาร แต่เปลี่ยนเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒เพราะศาลโลกตัดสินให้ตกเป็นของกัมพูชา พ.ศ. ๒๕๐๕ ปัจจุบันกำลังจะเสียท่าอีกเมื่อกัมพูชาร้องต่อศาลโลกให้ตีความจะเอาบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารอีก แนวโน้มน่าอันตรายจะตกแก่กัมพูชาอีกหน เพราะกลุ่มธุรกิจการเมืองไทยไม่นำพาเกียรติยศศักดิ์ศรีและความเดือดร้อนของคนไทยeshann9_khmer_dialect4


๑ เรื่องสระผมหรือเกศา (ศ ศาลา) ก็เป็นที่มาของชื่อวัดสระเกศ ที่กรุงเทพฯ (เดิมชื่อวัดสะแก) พงศาวดารว่าสมเด็จเจ้าพระยาจักรี ลงสระสรงเกศาบริเวณนี้จึงได้ชื่อ สระเกศ
๒ เสาวภา พรสิริพงษ์. แผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา : เครื่องมือจัดการทรัพยากรโดยชุมชน. บทความประกอบประชุมเชิงวิชาการและนิทรรศการเรื่อง “กลุ่มชาติพันธุ์กับการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง. อุบลราชธานี : คณะศิลปศาสตร์ และศูนย์วิจัยอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ๒๕๔๙.
๓ กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดศรีสะเกษ. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔.
๔ พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน พ.ศ.๒๒๖๐
๕ จำนงค์ ทองประเสริฐ. ภาษาไทยไขขาน. สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๑๖๖−๑๖๗.
๖ ไมเคิล ไรท์. ฝรั่งหายคลั่ง (หรือยัง). ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. พ.ศ.๒๕๕๑, หน้า ๙๖−๙๗.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com