สำหรับประเทศอุตสาหกรรมยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอย่างไร
ในด้านหนึ่ง บทวิเคราะห์จำนวนมากชี้ว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนแรงงานในทุกระดับ ซึ่งจะนำพาสังคมไปสู่สังคมไร้งาน (jobless economy) และไร้รายได้ในที่สุด
แต่อีกด้านหนึ่งเชื่อว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้แตกต่างจากเทคโนโลยีที่เคยพัฒนามาในอดีต หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนแรงงานได้เพียงแค่ภาคการผลิตบางภาคเท่านั้น และแรงงานก็จะถูกผลักให้ย้ายไปสู่ภาคการผลิตอื่นที่ดีกว่า
ความเห็นจากสองด้านต่างก็มีงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนด้วยกันทั้งคู่
นอกจากข้อถกเถียงเรื่องหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแย่งงานคนแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะทำให้เกิดการแบ่งขั้วของกำลังแรงงานอย่างรุนแรง (polarization of workforce)
ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้อธิบายว่า โลกในอนาคตจะเหลือเพียงแค่แรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำเท่านั้น ในขณะที่แรงงานทักษะปานกลางจะหายไป เนื่องจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทดแทนแรงงานทักษะสูงได้ ส่วนแรงงานทักษะต่ำนั้น ภาคธุรกิจคิดว่าไม่คุ้มค่าที่จะใช้หุ่นยนต์มาทำงานแทน
ในแง่นี้ แรงงานทักษะสูงคือผู้ชนะที่ได้รับดอกผลจากเทคโนโลยี ในขณะที่แรงงานทักษะปานกลางและต่ำจะเป็นผู้แพ้ แรงงานระดับกลางจะลงไปแย่งงานกับแรงงานทักษะต่ำ ส่งผลให้ค่าจ้างยิ่งถูกกดให้ต่ำลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ หรือทำงานร่วมกับมนุษย์ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ กระบวนการทำงานและวิธีการทำงานของมนุษย์ มนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีทักษะที่สูงขึ้นและทักษะใหม่ เพื่อที่จะอยู่รอดในเศรษฐกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา Marc Saxer ชี้ให้เห็นว่า แรงงานในภาคเศรษฐกิจในระบบที่เชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานโลก จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เพราะเทคโนโลยีส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เฉพาะในส่วนนี้ ส่วนแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีต่ำจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่แท้จริงของประเทศกำลังพัฒนา คือ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศพัฒนาแล้ว เพราะหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีความได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยที่นักลงทุนเคยมองข้าม อาทิ แรงงานคุณภาพต่ำ ระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอ โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขัน ท่ามกลางกระแสย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่
ขอบคุณภาพจาก http://www.ebongeek.com