หนี้ที่มีทางออก
ทางอีศาน ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: ส่องเมือง
Column: Focusing on the City
ผู้เขียน: เสรี พงศ์พิศ

Eshan is a vast land. There may be shortage of water but it can be dealt with by selecting those kinds of plants requiring less watering or finding ways to save more water for a longer period. Many have succeeded in doing so and gained good crop and good income. The problem here is lack of knowledge, lack of information, not knowing what to grow, how to cultivate them and where to sell the produce. There are also those blokes trying to sell pesticides, fertilizers, nutrients etc. to the farmers, who have been fooled so many times by these products that they get paranoid and cannot really tell good from bad.

ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อประมาณ ๓๐ – ๔๐ ปีที่ผ่านมา และดูเหมือนจะไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ยิ่งมีกองทุนหมู่บ้านและกองทุนต่าง ๆ ลงมาแบบประชานิยม รวมทั้งบัตรเครดิตชาวนา หนี้สินก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น นึกไม่ออกว่าถึงปลายปีที่จะต้องใช้หนี้ จะยังมีบัตรเครดิตที่ใช้ได้อยู่อีกกี่ใบ

ชีวิตเหมือนไม่มีการวางแผน ไม่มีเป้าหมายไม่มีแบบไม่มีแผน อยู่กันไปตามบุญตามกรรมที่สุดก็ออกจากบ้านไปขายแรงงาน หารับจ้างรายวันรายเดือนเท่าที่จะหาได้ หาได้เท่าไรก็ใช้หมด ไม่เหลือไว้ใช้หนี้ที่ปล่อยให้เน่าไปเรื่อย ๆ ที่สุดอาจถูกสถาบันการเงินยึดที่ดินที่ค้ำประกันไป

ที่โชคร้ายกว่านั้นคือชาวบ้านที่ไปกู้เงินนอกระบบ โดยเฉพาะจากนายทุนที่ให้ง่าย แต่จ่ายดอกแพง และตามทวงหนี้แบบเอาชีวิตถ้าหากผิดนัดร้อยละ ๒๐ หรือเท่าไรก็ต้องหาใช้เขา

อีสานมีที่ดินมาก ส่วนหนึ่งอาจมีปัญหาเรื่องน้ำ แต่ถ้าคิดให้ดีน่าจะมีทางจัดการได้ โดยการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือหาทางกักเก็บน้ำให้พอใช้ได้บ้าง เพราะมีคนจำนวนมากที่ทำเช่นนี้ และจัดการเรื่องการปลูกพืชต่าง ๆ ได้ผลดี มีรายได้ดี

ปัญหาอยู่ที่การขาดความรู้ ขาดข้อมูล ไม่รู้จะปลูกอะไร ปลูกอย่างไร ปลูกแล้วจะเอาไปขายที่ไหน ด้านหนึ่งก็มีพวกขายยา ขายปุ๋ย ขายอาหาร พืช อาหารสัตว์ ที่โฆษณาชวนเชื่อสารพัด ทำไปแล้วก็ไม่ได้ผลจริง ชาวบ้านถูกหลอกแล้วหลอกอีกจนระแวงไปหมด แยกไม่ออกว่าอะไรดีอะไรไม่ดี

อย่างการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่และวิธีใหม่ที่ใช้อินทรีย์ชีวภาพ ได้ผลระหว่าง ๒๐ – ๔๐ ตันต่อไร่ ทำได้จริง และพิสูจน์มาแล้วหลายแปลงหลายจังหวัด พ่อค้าหัวใสได้โอกาสก็ไปสวมรอยไปโปรโมตสินค้าอาหารพืชของตนเอง ซึ่งถ้าชาวบ้านหลงเชื่อก็ต้องลงทุนสูงกว่าที่อื่นที่เขาทำโดยไม่ซื้อสินค้าพวกนั้น

มีการทดลองปลูกที่ชัยภูมิแบบเทวดาเลี้ยงเองไม่ได้ให้น้ำ ได้ผลไร่ละประมาณ ๒๕ ตัน วันนี้ที่อุตรดิตถ์กำลังมีการทดลองว่า ถ้าดูแลอย่างดี ไม่ใช้สารเคมี ลงทุนไม่สูง แต่เอาใจใส่สูง ดูแลโรค ศัตรูพืช วัชพืชและอื่น ๆ ให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ ดูว่าจะได้ถึง ๑๐๐ ตันหรือไม่

ที่ได้ทำการทดลองในแปลงเล็ก ๆ ไม่กี่ต้นก่อนนี้ ปรากฏว่าทำได้ ๑๐๐ ตันต่อไร่จริง (ได้ต้นหนึ่งมากกว่า ๑๐๐ กิโล) วันนี้จึงมีการขยายผลไปหลายไร่ ปลูกไร่ละ ๑๐๐ ต้นเท่านั้น เพื่อให้พื้นที่หัวเติบโต

พืชอีกชนิดหนึ่งที่ทนแล้งได้ดีคือ มะขามเปรี้ยว โดยเฉพาะมีพันธุ์มะขามยักษ์ประเภท ๕ – ๖ ฝักกิโลฯ ต้นก็โตเร็ว ราคามะขามเปียกในตลาดวันนี้กิโลฯเป็นร้อย ถ้าปลูกแล้วแกะเมล็ดออกได้ราคาจริง ๆ ประมาณ ๔๐ บาทต่อกิโล ถือว่าไม่เลวเพราะไม่ต้องดูแลอะไรนัก มะขามเปรี้ยวแพงเพราะมีการส่งออก และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และของใช้ในครัวเรือน

ไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว หน่อไม้ก็ขายดี มีมากมายหลายชนิด หลายรสชาติ เอามาแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้เปรี้ยว (หน่อไม้ส้ม) หน่อไม้ปี๊บที่ต้มแล้วอัดปี๊บ ได้ราคาดีมาก ปีนี้หน่อไม้ขาดตลาด ฤดูกาลที่เพิ่งผ่านไป (ตุลาคม) ทางภาคเหนือที่ผลิตหน่อไม้มากที่สุดทำได้ไม่ถึงครึ่งของปีกลาย ส่วนหนึ่งเพราะมีการถางป่าไผ่เพื่อไปปลูกยางพารา ส่วนหนึ่งตัดไผ่ไปใช้งานอื่น ๆ

นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตที่ทำหน่อไม้อัดปี๊บที่ภาคเหนือบอกว่า ปกติเขาผลิตในครัวเรือนได้ปีละ ๗๐,๐๐๐ ปี๊บ ปีนี้ได้ไม่ถึง ๔๐,๐๐๐ มีออร์เดอร์มา ๒๐๐,๐๐๐ ปี๊บ แต่ส่งไม่ได้ เขายืนยันว่าหน่อไม้มีตลาด และเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งหน่อไม้ดองหน่อไม้เปรี้ยว หน่อไม้ต้ม ที่มีการส่งออก ความต้องการในประเทศเองก็สูง แต่วัตถุดิบน้อย เพราะส่วนใหญ่ไปเก็บเอาจากป่า วันนี้ป่ากำลังจะหมด

แล้วทำไมทางอีสานเราไม่ปลูกไผ่กันให้มาก มีให้เลือกได้มากมาย ไผ่ตง ไผ่รวกที่ทำหน่อไม้ปี๊บหน่อไม้ต้มได้ดี เป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก มีหน่อไม้กิมซุงที่ออกหน่อตลอดปี ราคาสูง น้ำท่วมไม่ตาย นอกนั้นยังมีหน่อไม้เป๊าะยักษ์หรือแม่ตะวอที่มาจากพม่า และแพร่หลายตามจังหวัดชายแดนแต่วันนี้กำลังแพร่ไปทั่วประเทศ ความที่ให้หน่อมาก ลำต้นใหญ่ ทำประโยชน์ได้มากมาย

ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีข่าวการขาดแคลนไม้ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้นในตลาดทั่วประเทศ จนคนขายผลไม้รถเข็นต้องใช้ส้อมพลาสติกเล็ก ๆ แทนไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ทำตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้จิ้มฟันได้ดี นี่ยังไม่ได้นับถ่านไม้ไผ่ที่มีมูลค่าสูง เป็นที่ต้องการของตลาดในและต่างประเทศเพราะถ่านไผ่ดูดซับความชื้น เชื้อโรคเชื้อรา รวมทั้งกัมมันตภาพรังสีได้ คนญี่ปุ่นใช้ปูพื้นก่อนสร้างบ้านสร้างตึก

นอกนั้น ยังใช้ถ่านไม้ไผ่ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆของใช้ในครัวเรือน สบู่สุขภาพ แชมพูสุขภาพหมอนสุขภาพ รวมทั้งเย็บถุงเล็ก ๆ สวย ๆ ใส่ถ่านแขวนในรถ ในบ้าน ในห้องทำงาน ห้องนอน ดูดพิษดูดกลิ่นได้ดีและยังมีถ่านผงที่ใช้ล้างผักผลไม้ขจัดพิษที่ตกค้างได้ดีอีกด้วย

วันนี้ โลกสนใจเรื่องสุขภาพกันมาก อาหารสุขภาพอย่างผักผลไม้ต่าง ๆ ก็ปลูกได้ดี อย่างฟักข้าวที่มีสารต้านมะเร็งต่อมลูกหมากสูงสุด (ไลโคปีน) มีสารบำรุงตา ป้องกันต้อกระจก (เซซันทีน) มีเบต้าแคโรทีน สารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็งมากกว่าแครอท ๒๐ เท่า มีวิตามินซีสูงมาก ๆ อีกด้วย

ฟักข้าวขึ้นได้ดีในภาคอีสาน ไม่ต้องการน้ำมาก เลื้อยไปบนต้นไม้หรือร้านที่สร้างให้คล้ายกับเสาวรส ซึ่งเป็นผลไม้ที่ขึ้นได้ดีในที่แห้งแล้ง มีราคาสูง และมีสารอาหารสูงมากโดยเฉพาะวิตามินซี

มีคนอีสานจำนวนหนึ่งที่ปลูกพืชเหล่านี้ ทำได้ดี มีรายได้ดี ไม่ต้องไปทำงานกรุงเทพฯ ก็มีรายได้เพียงพอเพื่อเลี้ยงครอบครัว หนี้สินก็หมดไปนานแล้ว เพราะจัดการชีวิตอย่างมีแบบมีแผน จัดการเรื่องการกินการอยู่ และการใช้ทรัพยากรอย่างดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น่าจะพอกันทีกับการหาหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าลองถอยไปตั้งหลักกันใหม่ เพราะที่รัฐบาลพักหนี้ให้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่เป็นหนี้หยุดตั้งหลักแต่ปรากฏว่าส่วนใหญ่เลือกเดินหน้าต่อไป จะไปตายเอาดาบหน้า และอาจจะตายสมใจอยากแน่ ๆ ถ้ายังคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม.

Related Posts

สังคมระบบบุญนิยม
ขอโทษ…พ่อบ่เห็นอีหลี !
เมื่อคนอาเซียนเปลี่ยนการกิน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com