“หมอลำโคตรซิ่ง” ยุคอีสานสร้างสรรค์มันต้องรอด

“หมอลำโคตรซิ่ง” ยุคอีสานสร้างสรรค์มันต้องรอด

ภูมิภาคอีสานบ้านเฮามหรสพที่บันเทิงเริงใจ และปลุกเร้าพลังให้ลุกขึ้นเต้นฟ้อนอยู่ได้ตลอดทุกยุคสมัยนั่นก็คือหมอลำ หมอลำคือศิลปะการแสดงที่อยู่คู่กับคนอีสานมาช้านาน จนมีคำพูดบอกว่า “ถ้าใครได้ยินเสียงแคนแล้วไม่ลุกขึ้นฟ้อนรำนั่นไม่ใช่คนอีสาน”

แต่ในยุคไวรัสร้ายโควิดทำลายทุกสรรพสิ่งแบบนี้ พ่อแม่พี่น้องชาวศิลปินหมอลำล้วนลำบากเดือดร้อนกันหมด เพราะไม่สามารถออกไปแสดงเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวคณะได้ ทำให้หลายวงต้องแยกย้ายกันไปทำมาหากิน บางวงลูกวงก็ขออาศัยอยู่ที่คณะ แต่ต้องออกไปรับจ้างหาเงินมาเลี้ยงตัวเองค่าจ้างได้วันละ ๓๐๐ บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำ บางคนตัดสินใจหอบผ้าหอบผ่อนกลับบ้านเพื่อหวังไปอาศัยข้าวพ่อแม่กิน แต่นั่นก็คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะคงไม่สามารถไปเป็นภาระให้กับครอบครัวที่ถึงแม้จะมีข้าวอยู่ในเล้า มีปลาอยู่ในหนอง มีเห็ด มีผักอยู่ในป่าธรรมชาติ แต่ด้วยวิถีของศิลปินที่เคยโลดแล่นอยู่บนเวทีแสงสีก็อดทนไม่ไหวที่จะกลับมาสู่เวทีเหมือนเดิม

หลายคณะแก้ปัญหาวิกฤติด้วยการจัดแสดงแบบ “ไลฟ์สด” ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเก็บเงินจากคนดูในระบบปิด หรือระบบเป็นสมาชิก ซื้อตั๋วจ่ายเงินก่อนถึงจะมีสิทธิ์ได้ลิงค์เข้าดู บางคณะจัดไลฟ์สดขายผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อความอยู่รอด ภาระไม่ได้ตกอยู่ที่ครอบครัวของสมาชิกในวงอย่างเดียว แต่ภาระหนักตกอยู่ที่หัวหน้าวงหรือผู้บริหารคณะที่จะต้องคิด แก้ปัญหา และบริหารจัดการ เพราะหากไม่มีรายได้ วงก็แตก  หากไม่มีเงิน ทรัพย์สินที่มีอยู่และรอการชำระค่างวดก็อาจจะหายไป รวมไปถึงหากไม่มีงานมาป้อนลูกน้อง ลูกน้องก็หนีไปหมด เวลามีงานแสดงก็หาทีมงานได้ยาก

เพราะปัญหาและวิกฤติที่เกิดขึ้นนี่เอง ทำให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ขอนแก่น ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะจากสินทรัพย์ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในแผ่นดินอีสาน จึงจำเป็นจะต้องเข้ามาหนุนเสริม โดยใช้หลัก “สร้างสรรค์” หรือ Creative เข้ามาช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องชาวศิลปินหมอลำ คณะเล็กใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ ได้ร่วมกันคิด สร้างสรรค์ ออกแบบ วางแผน ร่วมกับนักออกแบบ ดีไซเนอร์ นักดนตรี ผู้กำกับ ศิลปินหมอลำ คอนวอย นักละครสั้น นักวิชาการ ฯลฯ ร่วมคิดร่วมออกแบบในชื่อว่า “หมอลำโคตรซิ่ง” ( Molam Crossing)

โครงการนี้ต้องการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมดนตรีอีสาน เน้นหมอลำให้มีทักษะที่หลากหลายเพื่อขยายฐานผู้ชมให้เพิ่มขึ้น ยกระดับผลงานให้มีความสร้างสรรค์โดยยกคงมรดกภูมิปัญญาเอาไว้ เชื่อมโยงเครือข่ายหมอลำและอุตสาหกรรมอื่นในอีสาน และเปิดช่องทางเผยแพร่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

การเชิญชวนเครือข่ายมาร่วมพูดคุย ระดมสมองในช่วงกลางปี ๒๕๖๔  บอกถึงวัตถุประสงค์และสิ่งที่ต้องทำเพื่อผลผลิตที่ต้องการ ได้รับการตอบรับจากเครือข่ายศิลปินอีสาน นักวิชาการด้านดนตรี และนักสร้างสรรค์ออกแบบอย่างล้นหลาม จนกระทั่งได้แนวคิดที่จะทำให้วงการธุรกิจหมอลำอยู่รอดในยุคโควิด-19 ด้วยแนวทางการสร้างสรรค์ประกอบด้วย 

กลุ่มผู้กำกับอยากจะทำหมอลำให้เป็น “หมอลำโฮโลแกรม”  (Hologram) นำเสนอแนวคิด หมอลำ ผสมผสานกับศิลปะเทคโนโลยีการแสดง หรือ performance 

กลุ่มนักดนตรีนักทำเพลงแนวอีสานคลาสสิก เสนอแนวคิดทำดนตรีแบบอีสานร่วมสมัย ที่ไม่ใช้เครื่องดนตรีอีสาน เเต่จะใช้รูปแบบเทคนิคการเล่นของดนตรีอีสานมานำเสนอเพลงเเบบใหม่

กลุ่มนักวิชาการด้านดนตรี เสนอแนวคิด “หมอลำทดลอง” ด้วยการเล่นดนตรีด้วยเป้าหมายว่าต้องมีความสุข โดยการนำดนตรี ผสานกลอนลำ ผ่านการทดลองดนตรีเเนวใหม่ ที่อาจจะไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีดั้งเดิม ผสมกับเเนวการร้องเเบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการทดลองและทางเลือกให้กับผู้ฟัง

กลุ่มตลกหมอลำ เสนอแนวคิด ตลกหมอลำออนไลน์ ที่จะเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน ผ่านกลอนร้องกลอนลำ สร้างความบันเทิงแบบใหม่ ไม่จำกัดต้องมานั่งดูหน้าเวที แต่สามารถหัวเราะผ่านหน้าจอได้

นักร้องหมอลำ เสนอแนวคิด ยกระดับหมอลำ ด้วยการประยุกต์เป็น Symphony & orchestra ผ่านชีวิตของคนอีสาน เพื่อให้หมอลำดูอินเตอร์และอลังการได้ แต่ดนตรีและทำนองแบบอีสาน

กลุ่มนักออกเเบบเสื้อผ้า เสนอแนวคิดอยากทำชุดเเดนเซอร์ ให้หรูหรา ทันสมัย ด้วยการใช้เทคนิคไฟ LED บนผ้าพื้นเมือง ที่สวมใส่เเละเต้นได้จริง ใช้ได้จริง หวังดึงดูดความสนใจผู้ชมให้มากกว่าชุดแดนเซอร์แบบเดิม ๆ

ในขณะที่ครูสอนดนตรี และสนใจการกำกับภาพยนตร์ กลับมองว่า “หมอลำเหมือนซุปเปอร์ฮีโร่” อยากให้หมอลำเป็น หมอลำเพาเวอร์แรงเจอร์ ที่สามารถบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนในช่วงยากลำบากยุคโควิด-19 นี้

ฑิฑัมพร ภูพันนา หรือ “พิณ ภูพาน”

สำหรับ ฑิฑัมพร ภูพันนา หรือ “พิณ ภูพาน”  นักสร้างสรรค์ ตัวเเทนนักสร้างสรรค์ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท ผู้กำกับ  จากกลุ่ม Molam Hologram  มองว่า การใช้หมอลำโฮโลแกรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาวงการหมอลำ  โดยนำเอาเทคโนโลยี การแสดงแบบผสมผสาน พร้อมทั้งเครื่องมือแบบใหม่เข้ามาใช้เพื่อลดขนาดหมอลำให้เล็กลง มีลูกเล่นมากขึ้น โดยเฉพาะหมอลำโฮโลแกรมจะเป็นลูกเล่นที่ทำให้คนดูสนุก ดูได้ทั้งครอบครัว มีเครื่องมือมาประกอบการดู

ส่วนหมอลำจะรอดได้อย่างไรในยุคนี้นั้น จะต้องหาความแปลกใหม่มาใส่ในการแสดงหมอลำ ที่ไม่จำเป็นจะต้องแสดงบนเวที แต่ใช้วิธีเอาเทคโนโลยีมาผสมผสาน โฮโลแกรมจะสามารถนำเอาหมอลำแบบเก่ามาผสมกับแบบใหม่เพื่อให้เข้าถึงคนดูหมอลำในทุกกลุ่ม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่จะสามารถขยายฐานผู้ชมได้ทั่วโลก

โฮโลแกรมเป็นหนึ่งเครื่องมือในการรับมือในยุคโควิดช่องทางหนึ่งที่จะทำให้หมอลำรอดได้ คือการทำหมอลำออนไลน์  โฮโลแกรมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้หมอลำเล็ก ๆ สร้างสรรค์ผลงานได้ เราทำน้อยให้ได้มาก โฮโลแกรมจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างสรรค์แม้จะต้องใช้คน ใช้เครื่องมือ แต่มีผลลัพธ์ในการเผยแพร่หลากหลายช่องทาง เป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ด้วย

“บอย ศิริชัย”

ในขณะที่ บอย ศิริชัย หมอลำดาวรุ่งชื่อดัง เจ้าของคณะหมอลำใจเกินร้อย ตัวเเทนจากหมอลำที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ที่จะต้องรับผิดชอบชีวิตของสมาชิกในวงกว่า ๓๐๐ ชีวิต บอกว่า  โควิดมาช่วงแรกหนักอยู่ ตั้งวงปี ๒๕๕๙  ยาวมาถึง ๒๕๖๓  ทุกอย่างราบรื่นดีมีงานทั้งปีมีงานทุกวัน แม้แต่หน้าฝนก็มีงานโชว์ในผับและไปต่างประเทศตลอด มันอยู่ในช่วงที่ลงทุนและเริ่มต้น บางอย่างต้องเอาเครดิตมา ทั้งรถ อุปกรณ์ต่าง ๆ ตอนแรกเช่า แต่พอเช่าก็อยากได้เป็นของตนเอง เลยมีภาระ วงบูมรายได้พอมี หาเงินปีสองปีก็คืนทุนแล้ว เพราะตอนอยู่ระเบียบมีเงินเก็บ หาเงินได้ก็ซื้อนาซื้อที่ไว้ พอมาทำวงก็ต้องลงทุน เจอโควิด ค่าผ่อนชำระต่าง ๆ เดือนละ ๓ แสน แต่รายได้ไม่มีเลย งานมีล่วงหน้าสัญญาไว้ปีสองปีก็ไม่มีปัญญาไปเอาเงิน ตอนนั้นให้เวลาตัวเองสองวันทำใจ ลูกน้องสะพายกระเป๋าขอกลับบ้าน เราเริ่มจิตตกว่าจะอยู่ได้ไหม เพราะเราทำคนเดียว แต่เราต้องรีบตั้งหลัก และดูข่าวต่างประเทศว่าทุกอย่างต้องหยุด เลยเริ่มเคลียร์ว่าอะไรต้องเคลียร์ออก ของที่ไม่จำเป็นก็ตัดออก แต่เราต้องรักษาวงเอาไว้ เพราะงานในอนาคตมีอยู่ เราต้องรักษาชื่อเสียงไว้ อันไหนที่เป็นสิ่งสลัดหลุดทิ้งได้ 

เริ่มสนใจเรื่องออนไลน์ แต่จริง ๆ ทำตั้งแต่ปี ๒๕๕๙  ทำกราฟฟิค ออนไลน์ ยูทูป สร้างรายได้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙  แต่ไม่ได้สนใจมากนัก แต่พอแสดงไม่ได้เลยสนใจทำออนไลน์ ทำยูทูปมากขั้น มีการไลฟ์สด ทำห้องอัดเอง สตูดิโอไลฟ์สดเอง ห้องบันทึกเสียงเอง และมีกลุ่มไลฟ์สดเพื่อให้แฟนคลับได้ดูเดือนละ ๔ รอบ แม้ก่อนมีภาระเดือนละ ๓ แสนตอนนี้สามารถประคองไปได้แล้ว และสามารถผ่านวิกฤตินี้ได้แล้ว การทำออนไลน์เป็นทางที่ถูก

การทำออนไลน์ยากกว่าการทำแสดงสดหน้าเวที เพราะออนไลน์มีรายละเอียดมากกว่า เหมือนการดูหน้าเวที การทำอะไรต้องละเอียด การขายบัตรเพื่อให้คนเข้าดูนี้ก็ต้องมีอะไรดึงดูดใจมากกว่าแสดงคอนเสิร์ตธรรมดา

ส่วนหมอลำจะอยู่รอดได้หรือไม่นั้น บอยบอกว่า การพัฒนาสู้กับวิกฤติตอนนี้ ตอนนี้บอกว่า “รอด” แต่โลกหมุนไปตลอด เราก็ต้องพัฒนาไปตลอด คน ๆ เดียวคิดอาจจะสู้คนหลายคนไม่ได้ โดยเฉพาะหมอลำบางครั้งจะให้ทันสมัยแบบไหน แบบของคนอื่นก็ไม่ใช่ ผมยังต้องศึกษาว่าทำอย่างไรคนอยากจะทำแบบเรา ร้องแบบเรา ถ้าเราจะนำสมัยแบบเขาคือเราตามเขา ไม่ใช่ล้ำสมัย

ทุกวันนี้ระดมความคิดจากน้อง ๆ แต่ละคนได้ลองคิดและลองหาทางออกเพื่อช่วยเหลือกัน แล้วผมจะนำไปวางแผนและเตรียมนำเสนอ ในเรื่องของสื่อออนไลน์ในอนาคตไม่รู้จะเป็นอย่างไร การให้เงินจะยังเป็นแบบนี้ไหม เพราะตอนนี้สามารถสร้างรายได้ได้ แต่อนาคตไม่รู้จะเป็นเช่นไร ก็ต้องปรับตัวต่อไป

ในขณะที่นักวิชาการอย่าง อาจารย์อาทิตย์ คำหงส์ศา ตัวเเทนฝั่งนักวิชาการเเละศิลปิน จากกลุ่ม หมอลำทดลอง  ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศิลป์พื้นบ้าน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสามารถด้านดนตรีอีสานและประพันธ์กลอนลำ

อาจารย์อาทิตย์ คำหงษ์ศา

อาจารย์อาทิตย์ คำหงษ์ศา  บอกว่า    การทำหมอลำทดลอง เราได้มานั่งคุยกันกับสมาชิกในกลุ่มว่าจะทำอย่างไร มีนักวิชาการหลายคนที่ปรึกษากัน เรามาคิดกันว่าหมอลำทดลองคืออะไร โดยคำตอบคือเราเอาตัวตนของนักดนตรีมาคุยกัน ใช้เวลาน้อยในการทำงาน โดยให้ชื่อผลงานว่า “หมอลำล้ำสมัย” พยายามเชิญชวนเพื่อนที่สามารถติดต่อกันได้ ว่าทำอย่างไรเราจะสามารถทำผลงานนี้ได้ มีอาจารย์จากหลายที่มาช่วยกัน มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง ลูกศิษย์ และเอามาเขียนกลอนลำและเลยได้หยิบเอาทำนองทางสั้นเอกลักษณ์ของหมอลำทำนองฟังง่าย เข้าถึงง่าย และเนื้อหาเป็นแนวทันสมัย ทันเหตุการณ์ เหตุการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องอะไร เลยได้ทันเหตุการณ์สถานการณ์โควิด การเรียนออนไลน์ และอัดเสียงส่งมา เอาสิ่งที่ได้มาวางโครงสร้างร่วมกันและแต่ละคนเล่นดนตรีประกอบ โดยขอความคิดเห็นจากนักดนตรีและสมาชิกที่ร่วมกันสร้างสรรค์จนออกมาเป็นหมอลำทดลอง

ส่วนหมอลำจะอยู่รอดอย่างไร อาจารย์อาทิตย์ บอกว่า ต้องมองกลับมาดูหมอลำบ้านเราว่าเราเจอวิกฤติมากี่ครั้งแล้ว และเราผ่านมาได้อย่างไร อย่าง วงสายัณห์ สัญญา มีวิกฤติการทำเพลง ที่ได้ใช้นักดนตรีช่วยกันคิด ไม่ต้องอาศัยนักอเรนจ์ ซึ่งไพเราะมาก มันจะออกมาจากวิธีการเล่นของเขาเลย อีกวงคือ วงเพชรพิณทอง ที่อัดเพลงเองที่บ้านแล้วค่อยส่งเพลงไปทำแผ่น ซึ่งจะออกมาจากจิตวิญญาณของวงนั้นจริง ๆ และเมื่อเราไปดูสดในการทำของวงนั้นจริง ๆ ยิ่งจะชอบ เพราะหาดูที่อื่นไม่ได้

ต้องยอมรับว่าหมอลำในอดีตและปัจจุบันสามารถแก้วิกฤติได้ เพราะหมอลำคือปราชญ์ และต้องปรับตัวตลอดตามความนิยมของผู้ชมผู้ฟัง เมื่อเราไม่สามารถไปแสดงได้แต่เราต้องเลี้ยงดูคน ตรงนั้นแหละที่จะทำให้วงดนตรีของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะ คือหมอลำทุกวงที่เล่นตอนนี้เล่นเพลงเดียวกัน โชว์แบบเดียวกัน ทำให้ดูวงไหนก็ไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่เราจะทำได้เป็นเอกลักษณ์คือ ต้องเป็นแบรนด์ของเรา เอกลักษณ์ของเรา

ปรัชญา นันธะชัย (“ซัน นันธะชัย”)

ในขณะที่ ปรัชญา นันธะชัย (“ซัน นันธะชัย”)  ในฐานะนักดนตรี บอกว่า ที่เลือกทำ “หมอลำเดิร์น” เพราะมองว่าจะพัฒนาวงการดนตรีหมอลำอีสานได้ แต่การจะโมเดิร์นหรือไม่จะต้องมองจากตัวเองว่ามีอะไร ลุ่มน้ำโขงดินแดนหมอลำมีอะไร เราต้องรู้สึกเป็นสมบัติร่วมกันทั้งตัวผู้ถ่ายทอดและตัวผู้รับฟัง มีมุมมองที่จะเอาปัจจุบันมามีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้ในกลุ่มได้ถกเถียงกันพูดคุยกัน จริง ๆ เสียงดนตรีอีสานมีเสน่ห์มีเรื่องราวในตัว ทำอย่างไรเราจะมาจัดวางมากกว่า การแสดงบนสถานที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นจะต้องอยู่บนเวทีเท่านั้น พิณ แคน ไม่ควรจะเป็นของไกลตัวของคนเสพ มันต้องสามารถจับต้องได้ ทำอย่างไรจะทำให้วัยรุ่นคนทุกยุคมองว่าเป็นสมบัติของตนเองสามารถเล่นได้

หมอลำเดิร์น มีโครงสร้างจากเอาเสียงหมอลำมาทำเป็นดนตรี โดยเอาทำนองดนตรีมาล้อ โดยทิ้งช่วงให้ใครเล่นก็ได้ เอาทำนองหมอลำเก่ามาใส่ บวกกับเอาหลุมเสียงของเสียงฆ้อง เสียงกลอง ของคนอีสานไม่ขาดหาย จะให้มิติเรื่องความอยากลำ อยากร้อง เราสามารถลำใส่กลอง ใส่ฆ้องได้ จะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง แต่ในเรื่องราวมีคุณค่าและสะท้อนสังคมในมุมต่าง ๆ ได้

ส่วนเรื่องการอยู่รอดของหมอลำนั้น ปรัชญา กล่าวว่า จริง ๆ นักดนตรีกับนักร้องหมอลำก็ต้องพึ่งพากัน ทีมนักดนตรีหาเส้นเสียงลักษณะนี้จะไปเสริมไปหนุนกับหมอลำได้อย่างไร ทุกครั้งที่มีวิกฤติมันจะมีโอกาสเสมอ และการทำการแสดงทางออนไลน์มันทำให้เราต้องละเอียดมากยิ่งขึ้น และต้องทำอะไรให้ล้ำสมัยมากขึ้น  หากนักดนตรีมีมุมมองตรงนี้จะสามารถทำให้วงการดนตรีหมอลำหรือดนตรีของเราก้าวหน้าได้ 

เจษฎาวุฒิ รักษากุล (“กีตาร์”)

ที่น่าสนใจที่สุด เห็นจะเป็น เจษฎาวุฒิ รักษากุล (“กีตาร์”) ศิลปินตลกของวงดนตรีโปงลางสินไซ ของมหาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอ มุมตลกรุ่นใหม่  “กีตาร์” หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในชื่อ “ยายหาฟ้าสะท้าน” นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาดนตรีพื้นเมือง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ ๔  ที่มีใจรักในหมอลำเเละการเล่นตลกหมอลำ ตัวเเทนจากกลุ่มตลกหมอลำ บอกว่า สาเหตุที่เลือกทำตลกหมอลำออนไลน์ เพราะหากเราจะทำสิ่งใหม่เราก็ต้องศึกษาของเก่าก่อน หากคนไม่ได้ไปดูหมอลำหน้าเวทีก็จะต้องซื้อแผ่นซีดีดู แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีดีขึ้น เราไม่ต้องไปหน้าเวทีก็สามารถดูตลกได้ เราเลยคิดว่าทำอย่างไรจะอยู่รอดได้

เราต้องให้กำลังใจตัวเองและให้ความสุขตนเองก่อน ก่อนจะไปให้กำลังคนอื่น สมาชิกของเรามีตั้งแต่อาวุโสและเยาวชน เราได้นำมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนและปรึกษากัน  ถือว่าหากได้ไปดูใครคนนั้นก็เป็นครูของเรา อีสานเรามีเรื่องตลกเยอะ เราก็ต้องเลือกที่จะหยิบยกเอาเรื่องที่สำคัญสักเรื่องมานำเสนอ การเข้าถึงหมอเข้าถึงยา  คนเฒ่าแก่ก็กลัวหมอเลยคิดจะเอามุขเรื่อง คนแก่ไปหาหมอมาเล่า เป็นเรื่องตลกหมอลำและนำมาแสดงในโครงการนี้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปยังไม่รู้ว่าจะมีอะไร แต่อย่างน้อยก็อยากให้คนจดจำเราได้ในยุคนี้ ความพิเศษของตลกหมอลำโคตรซิ่งเราคือ อิงของเก่าสมัยอัดแผ่นสมัยทำแผ่นวิดีโอ ซีดี ฉากหมอลำก็เป็นฉากเก่า ไฟไม่สว่างเท่าไหร่ เราจำลองขึ้นมา แต่ทุกตัวแสดงมีบุคลิกท่าทางการต่อมุขกัน  กลุ่มนี้ได้ลุงจิ๋วที่เป็นตลกของระเบียบวาทะศิลป์ และการรวมกลุ่มของคนรุ่นเก่าและใหม่ทำให้งานออกมาสามารถเข้าถึงคนทั้ง  ๒ วัย เป็นการแสดงที่ซ้อมแล้วเอาเลย โดยซ้อมจริงเล่นจริง

ส่วนเรื่องหมอลำจะรอดได้อย่างไร ตลกกับหมอลำ ส่วนใหญ่ตลกจะต้องเป็นหมอลำมาก่อน นี่คือการปรับตัว หมอลำวงใหญ่ ๆ จะมีทุกวง มีตัวเด่น ตัวฮา เราจะต้องทำให้ประทับใจทั้งในโลกออนไลน์ การสร้างงาน ผลิตงาน แบบรายการทีวีก็ได้ ทำเป็นตอน ๆ เหมือนรายการทีวีที่ทำออกมาให้คนดูในโลกออนไลน์  ผมเองก็ทำผ่านสื่อออนไลน์ออกมา เราหว่านเมล็ดพันธุ์เอาไว้ พอเป็นกล้าเป็นต้นแล้วใครจะเอาไปปลูกต่ออันนี้เราก็ต้องฝากไว้

การคิดค้นและร่วมวางแผนเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๔  และผลงานทั้งหมดของทุกกลุ่มได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ไปทั้งหมดแล้ว ส่วนใครสนใจอยากจะชมแบบออนไซต์คงต้องรอในช่วง เทศกาลงานอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ถึง ๖ มีนาคม ๒๕๖๕ นี้ โดยมีสถานที่ในเมืองขอนแก่น ทั้งที่สำนักงาน TCDC ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ย่านกังสดาล และในเมืองขอนแก่นย่านศรีจันทร์ แล้วจะได้มาดูว่า ความสร้างสรรค์ของคนอีสานและต่อยอดจากภูมิปัญญาที่มีอยู่นั้นมันไม่ธรรมดา รวมถึงการจะชม “หมอลำโคตรซิ่ง” ที่ได้เตรียมพร้อมเพื่อแสดงในงานครั้งนี้ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน

ใครสนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานขอนแก่น หมายเลข ๐๔๓-๐๐๙-๓๙๘ หรือ เข้าไปดูได้ที่เพจ TCDC ขอนแก่น แล้วจะรู้ว่า “อีสานโคตรซิ่งอีหลี”

การเสวนาผ่านระบบออนไลน์หัวข้อ หมอลำต้องรอด

ต้องยอมรับว่าหมอลำในอดีตและปัจจุบันสามารถแก้วิกฤติได้ เพราะหมอลำคือปราชญ์ และต้องปรับตัวตลอดตามความนิยมของผู้ชมผู้ฟัง เมื่อเราไม่สามารถไปแสดงได้แต่เราต้องเลี้ยงดูคน ตรงนั้นแหละที่จะทำให้วงดนตรีของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะ คือหมอลำทุกวงที่เล่นตอนนี้เล่นเพลงเดียวกัน โชว์แบบเดียวกัน ทำให้ดูวงไหนก็ไม่ต่างกัน

****

คอลัมน์ เมืองออกแสง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๙ | มีนาคม ๒๕๖๕

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 119
ว่าด้วยเรื่อง “การท่องเที่ยว”
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 119
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com