หมอลำ และวาดลำ

หมอลำ หมายถึงผู้มีความเชี่ยวชาญในการลำ จนสามารถใช้ศิลปะการลำเป็นอาชีพสำหรับทำมาหากินเลี้ยงตนเองได้ วาดลำ หมายถึงลำนำหรือทำนองลำ ซึ่งเกิดจากฉันทลักษณ์และเสียงสูงต่ำ สั้นยาว ของถ้อยคำที่ประกอบขึ้นเป็นบทกลอนที่เรียกว่า กลอนลำ วาดแคน คือทำนองแคนที่หมอแคนใช้เป่าประสานเสียงลำที่ทำให้กล่อมกันกับเสียงลำ พาให้เกิดความม่วนชื่นยิ่งขึ้น

หมอลำมี ๒ ประเภท คือ หมอลำที่ใช้ประกอบพิธีกรรม และหมอลำที่ใช้เพื่อความบันเทิง หมอลำที่ใช้ประกอบพิธีกรรม มีชื่อเรียกกันหลากหลาย เช่นหมอลำผีฟ้า หมอลำผีแถน หมอลำทรง หมอลำไทเทิง หมอลำเสี่ยง หมอเหยา ส่วนหมอลำที่ใช้เพื่อความบันเทิง ได้แก่ หมอลำพื้น (สมัยก่อนเรียกหมอลำเรื่อง หรือหมอลำนิทาน) หมอลำกลอน (หรือหมอลำคู่ก็เรียก) หมอลำชิงชู้ หมอลำหมู่ (หรือหมอลำเวียง หรือหมอลำเรื่องต่อกลอนก็เรียก) หมอลำเพลิน และหมอลำซิ่ง หมอลำแต่ละประเภทก็มีทำนองลำหรือวาดลำแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้

หมอลำผีฟ้า ใช้วาดลำทางยาวเป็นหลักผสมผสานกับการพูดและเจรจากับญาติพี่น้องของคนป่วย และเชิญชวนให้คนป่วยลุกขึ้นมาฟ้อนรำด้วย ปัจจุบัน หมอลำผีฟ้านิยมใช้วาดลำหรือทำนองลำเต้ยด้วย ทำให้การลำการฟ้อนสนุกสนานยิ่งขึ้น ส่วนวาดแคนหรือทำนองแคนที่ใช้เป่าประกอบ ในสมัยโบราณนิยมใช้แคนลายโป้ซ้ายหรือลายผีฟ้าก็เรียก ปัจจุบัน นิยมใช้ลายใหญ่หรือลายน้อยบรรเลงประกอบ วาดลำทางยาวและวาดลำเต้ย ทั้งนี้ขึ้นกับระดับเสียงของหมอลำ

หมอลำพื้น มีวาดลำหลากหลาย ทั้งลำทางสั้น ลำทางยาว ลำย่าว ลำเดิน ลำเพลิน เป็นราก
เหง้าของทำนองลำทั้งหลาย ส่วนวาดแคนหรือลายแคนที่ใช้เป่าประกอบ เดิมทีเดียวนิยมใช้ลายเซ ต่อมานิยมใช้แคนลายใหญ่และลายน้อย ซึ่งมีเสียงและลีลาเป็นเอกลักษณ์ ว่า “ถ้ง เท่ ถ้ง เท้ถ้ง เถ้” (ลาที ลาเร ลาที ลาลา) หรือ “ตุ้มพี่ ตุ้มน้อง” (ลาที ลาลา) หรือ “ตุ้ม ถี่ถี่ ตุ้มพี่ ตุ้มน้อง” (ลา เรเร ลาที ลาลา) ในการลำเพื่อเดินเรื่องให้รวดเร็ว หมอลำพื้นจะใช้วาดลำทางสั้นหรือลำเดิน ถ้าต้องการพรรณนาที่แสดงความเศร้าสลดก็ใช้ทำนองลำทางยาว ถ้าต้องการทำเป็นเสียงฆ้องเสียงกลอง ก็จะทำเสียงเลียนเสียงนั้น ๆ ไป

แคนที่ใช้เป่าประกอบนิยมใช้แคนลายเซ ใช้นิ้วกลางมือขวากดที่รูนับลูกที่ ๔ คือเสียง ลา เป็นลูกยั้งแทนการติดสูด เมื่อฟังดูบางทีจะคล้ายกับเสียงแคนลายใหญ่ บางทีจะคล้ายเสียงแคนลายสุดสะแนน ทั้งนี้ขึ้นกับวาดลำว่าหมอลำจะลำทำนองลำทางยาวหรือลำทางสั้น หรือลำเดิน

หมอลำกลอน ใช้วาดลำทางสั้น ลำทางยาวและลำเต้ย วาดลำทางสั้นเป็นการลำแบบเนื้อเต็ม ไม่มีการเอื้อนเสียง ใช้แคนลายสุดสะแนนหรือลายโป้ซ้าย เป่าประกอบ ไม่นิยมใช้ลายสร้อย ส่วนวาดลำทางยาวเป็นการลำที่มีเสียงสะอึกสะอื้น หรือที่เรียกว่าการเอื้อนเสียง ซึ่งในวงการหมอลำเรียกว่า “การฮ่อนเสียง” แคนที่ใช้เป่าประกอบใช้แคนลายใหญ่หรือลายน้อย

ส่วนทำนองลำเต้ยมี ๒ ประเภท คือทำนองลำเต้ยของอีสานและทำนองลำเต้ยที่ได้มาจากภาคกลาง ลำเต้ยที่เป็นของอีสานคือ ลำเต้ยธรรมดาและลำเต้ยหัวโนนตาล (หรือลำเต้ยหัวดอนตาลก็เรียก) ส่วนลำเต้ยที่มาจากภาคกลาง ได้แก่ เต้ยโขงและเต้ยพม่า ซึ่งมีบทร้องเป็นภาษาไทยกลาง

ทำนองลำเต้ยธรรมดา เป็นทำนองดั้งเดิมที่ใช้เป็นหลักในการลำกลอน ซึ่งเป็นการยักเยื้องทำนองมาจากการลำทางยาวนั้นเอง แต่ปรับทำนองให้มีจังหวะกระชับและกระฉับกระเฉงเข้าส่วนทำนองแคนก็ใช้แคนลายใหญ่หรือลายน้อย

ทำนองลำเต้ยหัวโนนตาล สันนิษฐานว่าจะได้มาจากทำนองลำผญาของอำเภอดอนตาลและเมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ทำนองลำเต้ยหัวโนนตาล ก็คือ ทำนองลำที่ปรับมาจากทำนองลำทางสั้นนั้นเอง เพียงแต่ปรับให้โยกตามจังหวะลีลาของการฟ้อนที่แช่มช้อยและอ่อนหวาน จนกลายเป็นวาดลำหัวโนนตาล

ทำนองลำเต้ยโขง เป็นทำนองแบบเพลงเนื้อเต็ม ที่ได้มาจากส่วนหนึ่งของเพลงลาวแพนและเพิ่มเติมทำนองวรรคท้ายโดยหมอลำ ที่ว่า “โอ้ละนอ อ้ายเอย” หรือ “โอ้ละนอ น้องเอย” ซึ่งกลายเป็นทำนองตอนจบ “โด เรมี เรโดซอลลา โด เรมี เรโด ซอลลา” ในปัจจุบัน ต่อมา ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้นำทำนองลำนี้ไปแต่งและขับร้องอัดแผ่นเสียง ที่ขึ้นต้นว่า “โขงไหลเย็น” ทำให้เต้ยนี้มีชื่อว่า “เต้ยโขง”

ทำนองเต้ยพม่า ได้มาจากเพลงพม่ารำขวาน ที่นิยมร้องและรำกันในโรงเรียนประถมศึกษาในสมัยก่อน หมอลำนำมาใช้ลำ และเรียกว่า “เต้ยพม่า”

หมอลำกลอนนิยมนำทำนองลำเต้ยธรรมดา เต้ยโขง และเต้ยพม่ามาร้อยเรียงเข้าเป็นชุด เรียกว่า “เต้ยพวง” หรือ “เต้ยสามจังหวะ” นิยมขึ้นต้นด้วยเต้ยธรรมดาและจบด้วยเต้ยธรรมดา ส่วนเต้ยหัวโนนตาล ไม่นิยมนำมาลำเป็นชุดเดียวกัน เข้าใจว่าเป็นเพราะเต้ยหัวโนนตาลใช้แคนลายสุดสะแนนหรือลายโป้ซ้ายแต่เต้ยพวงใช้แคนลายใหญ่หรือลายน้อย

หมอลำหมู่ คือหมอลำที่แสดงเป็นคณะคล้ายกับการแสดงลิเก เดิมเรียกว่า หมอลำเวียงเพราะได้ทำนองลำและวิธีการแสดงมาจากเวียงจัน ทำนองลำใช้ทำนองลำทางยาวในการดำเนินเรื่อง และมีการใช้ทำนองลำเต้ยต่าง ๆ ในบางฉากบางตอนของตัวประกอบตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความไพเราะสนุกสนานตามท้องเรื่อง

หมอลำเพลิน ก็ถือว่าเป็นหมอลำหมู่อีกประเภทหนึ่ง แต่ใช้ทำนองลำในการดำเนินเรื่องต่างจากหมอลำหมู่ เชื่อว่าเกิดในเวลาใกล้เคียงกับหมอลำหมู่ หมอลำเพลินใช้ทำนองลำเพลินในการดำเนินเรื่อง ทำนองลำเพลินก็คือทำนองลำทางยาวแต่ปรับจังหวะลีลาให้ผิดแผกออกไปเชื่อว่าทำนองลำเพลินคงได้มาจากทำนองที่ใช้ในหมอลำพื้นนั่นเอง หมอลำเพลิน มีบางคนเรียก “หมอลำเปิดผ้ากั้ง” เพราะเริ่มแสดงจะได้ยินเสียงลำอยู่หลังผ้าฉากหรือผ้าม่าน ว่า “พอแต่เปิดผ้าม่าน เห็นปลายไผ่สีซอนลอน อย่าฟ้าวหนีเมือนอน ก่อนพี่ชายเดอ นางน้อ” แล้วดนตรีพิณ แคน กลองก็จะประโคม แล้วหมอลำก็จะฟ้อนพร้อมลำออกมาปรากฏตัวที่หน้าฉากให้ผู้ชมได้เห็น ส่วนแคนที่ใช้ ก็ใช้ทำนองลายใหญ่หรือลายน้อย ประสานเสียงลำในวาดลำเพลิน

ทำนองลำซิ่ง เป็นการผสมผสานระหว่างทำนองลำกับเพลงลูกทุ่ง ทำนองหลักของลำซิ่งคือ ทำนองลำย่าว คำว่าย่าว หรือลำย่าว นี้มีต้นตอมาจากการลำชมธรรมชาติ ที่เรียกกันว่าลำเดินดง ชมนกชมไม้ พบกับความวังเวงในป่าได้ฟังเสียงสัตว์ป่านานาชนิด การเดินทางต้องเดินไปอย่างรีบเร่งเพื่อให้พ้นจากป่าจึงเกิดจินตนาการในการเดินทาง บวกกับจินตนาการในบรรยากาศที่วังเวงในป่า เป็นเสียง “ย่าว ย่าว” ซึ่งจะได้ยินหมอลำเวลาจะเริ่มลำ ย่าวนี้ ขึ้นว่า “เอ้า ย่าว ย่าว ย่าว” แล้วก็จะลำเดินดงชมนกชมไม้ ต่อไป การลำย่าวเป็นการลำวาดทางสั้นแต่ใช้แคนลายน้อย

การลำย่าวนี้ ปัจจุบันมีเฉพาะการลำในวาดขอนแก่น ไม่นิยมลำย่าวในการลำวาดอุบล การลำวาดอุบลนิยมลำเดินดงธรรมดา คำว่า ลำย่าว หรือลำเดินดงนี้ ปัจจุบันเหลือเพียงคำว่า ลำเดิน ซึ่งแบ่งเป็นหลายวาด เช่น ลำเดินวาดขอนแก่น และลำเดินวาดกาฬสินธุ์ เป็นต้น

การลำซิ่ง นอกจากทำนองลำย่าวแล้ว ก็อาจใช้ทำนองลำทางสั้น ทำนองลำทางยาว ทำนองลำเดิน และเพลงสมัยนิยมตามคำขอของผู้ฟัง

กลอนลำ เป็นองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดทำนองลำและทำให้หมอลำมีชื่อเสียง เพราะกลอนลำที่ดี มีเนื้อหาไพเราะกินใจประกอบกับน้ำเสียงและศิลปะในการลำ ทำให้ผู้ฟังประทับใจและลุ่มหลงในเสน่ห์ของเสียงลำ

กลอนลำแบ่งเป็นสองประเภทคือ กลอนตัดและกลอนเยิ้น กลอนตัดคือกลอนกาพย์ อันเดียวกับกาพย์ที่ใช้เซิ้งบั้งไฟ มีวรรคเดียว และมีสัมผัสเกาะก่ายกันระหว่างวรรคไปเรื่อย ๆ จะมีกี่วรรคและจะจบที่วรรคใดก็ได้ จึงเรียกกันว่ากลอนตัดหรือกลอนกาพย์

กลอนเยิ้นคือกลอนที่มีกำหนดตำแหน่งเสียงเอกโท กำหนดสัมผัสระหว่างวรรค บทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคแรกกำหนดจบด้วยวรรณยุกต์สามัญ วรรคที่สองกำหนดจบด้วยวรรณยุกต์โท วรรคที่สามกำหนดจบด้วยวรรณยุกต์เอกหรือคำที่เป็นเสียงเอก และวรรคสุดท้ายมีกำหนดจบด้วยเสียงเอกและเสียงสามัญในสองพยางค์ท้ายวรรค เสียงเอกโทและเสียงสั้นยาวในบทกลอน ก่อให้เกิดทำนองเพลง ส่วนฉันทลักษณ์ของบทกลอน ก่อให้เกิดรูปแบบหรือโครงสร้างของบทเพลง

กลอนลำดี เนื้อหาดี มีสุนทรียภาพ เสียงลำดี วาดลำดี เสียงแคนดี วาดแคนดี ก่อให้เกิดสุนทรียภาพ สร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเกิดความรื่นเริงบันเทิงใจตลอดทั้งคืนโดยไม่เบื่อหน่าย นับได้ว่า ศิลปะการแสดงของหมอลำเป็นศิลปะที่มีคุณค่าต่อสังคมอีสานมายาวนานและจะเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป ตราบใดที่คนอีสานยังคงใช้ภาษาและเข้าใจภาษาอีสานในหมู่คนอีสาน

***

คอลัมน์ คองอีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๑ | กรกฎาคม ๒๕๖๒

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

“ลูกทุ่งอีสาน” เพลงไทยหรือเพลงลาว
“คนตง” มังกรไห่หนาน : จากตงซิคิวถึงประสาท ตงศิริ ตอนที่ ๑ ย้อนรอยบรรพชนแต๊ต๋ง
ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com