‘น้าสนับ’ เพื่อนทุกข์ยามยาก ตอนที่ ๔

‘น้าสนับ’ เพื่อนทุกข์ยามยาก ตอนที่ ๔

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: หอมดอกผักกะแญง
Column: Sweet Smelling Vegetables
อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา


 

สายน้ำมูลแม้ราบเรียบ แต่เมื่อถูกเรือลากจูงพุ่งแหวกเพื่อนำพาผู้โดยสารให้ถึงจุดหมาย สายน้ำมูลก็ป่วนปั่น

ผมนั่งมองสายน้ำที่ถูกใบจักรปั่นเพื่อให้เกิดแรงผลักดันแล้วนึกย้อนดูภายในใจของตัวเอง พบว่า จิตใจของผมขณะนั้นมันปั่นป่วนยิ่งกว่าสายน้ำมูลเสียอีก บางครั้งกระแสแห่งความคิดมันป่วนปั่นจนตาลาย แล้วก็สงบลง แต่แล้วก็ป่วนปั่นขึ้นอีกยิ่งเรือแล่นใกล้จุดหมาย จิตใจของผมก็ยิ่งปั่นป่วนเป็นทบทวี

ในที่สุด เรือก็ไปถึงท่าเรือเมืองอุบล เมื่อขึ้นจากเรือ ผมก็ตัดสินใจเดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีวารินชำราบ… มุ่งสู่กรุงเทพฯ แทนที่จะตรงไปรายงานตัวลงทะเบียนเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูทั้ง ๆ ที่ไม่เคยไปกรุงเทพฯ และไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน

จุดมุ่งหมายคือ เข้าสู่วงการเพลง

รถไฟขบวนนั้นลากจูงด้วยหัวรถจักรไอน้ำต้องเสียเวลาเพื่อหยุดเติมฟืนระหว่างทางถึงนครราชสีมาราว ๔-๕ โมงเย็น ผู้โดยสารต้องพักค้างคืนที่โคราชคืนหนึ่ง

ผมเข้าพักที่ “โรงแรมนายจ่า” ค่าที่พักเขาคิดคืนละ ๕ บาทต่อหัว คือ ที่พักเป็นห้องโถง ต้องนอนเรียงกันเป็นแถว จึงต้องคิดค่าที่พักเป็นรายหัว

ที่นี่ ผมได้รู้จักกับเพื่อนร่วมห้องเป็นผัวเมียคู่หนึ่ง ผู้สามีชื่อ “น้าสนับ” ที่เรียกว่าน้า เพราะวัยของแกร่วม ๔๐ แล้ว ส่วนเมียแกอายุเกือบจะคราวลูก คือรุ่น ๆ เดียวกับผม น้าสนับมีอาชีพขายเครื่องรางของขลัง จำพวกพระเครื่อง ผ้ายันต์ตะกรุด และว่านนานาชนิด

น้าสนับเป็นคนพูดจาโผงผาง แต่ใจดี พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ ออกตระเวนขายเครื่องรางของขลังของแกไปเรื่อย

“เห็นหน้าเอ็งแล้วทำให้ข้าคิดถึงลูก ถ้ายังอยู่ก็รุ่น ๆ เดียวกับเอ็งนี่แหละวะ ไปกะกูนี่แหละไอ้หนูถึงกรุงเทพฯ จะฝากเพื่อน ๆ ให้”

พอได้พูดคุย และรู้ว่าผมจะไปเสี่ยงดวงที่กรุงเทพฯ แกก็ขันอาสาจะช่วยฝากฝังพรรคพวกของแกที่กรุงเทพฯ แกบอกแกมีพรรคพวกเป็นลิเกและวงดนตรี จะช่วยฝากฝังเขาให้ แกว่าดีกว่าจะไปแบบเสี่ยงไม่มีจุดหมายปลายทาง

กรุงเทพฯ สำหรับผม เป็นที่ใฝ่ฝันและวาดภาพไว้อย่างเลิศหรูงดงามก็จริง แต่ลึก ๆ ก็อดประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ ด้วยยังมองไม่ออกว่าจะไปพักที่ไหน ทำอย่างไรจึงจะพบช่องทางเข้าไปอยู่กับวงดนตรีได้ เมื่อน้าสนับเสนอทางออกให้ ผมจึงตัดสินใจไปกับน้าสนับ ซึ่งต้องเสียเวลาราว ๆ ๓ เดือน เพราะแกยังมีกำหนดเดินสายขายของขลังของแกอีก ๓ เดือน ถึงจะล่องลงกรุงเทพฯ

แล้วแผนที่เดินทางของชีวิตก็ถูกเขียนขึ้นใหม่แทนที่จะขีดตรงลงกรุงเทพฯ กลับลบแล้วลากเส้นจากโคราชไปชัยภูมิ ต้องเปลี่ยนที่นอนจากโรงแรมนายจ่า โคราช ไปนอนที่ตลาดสดเมืองชัยภูมิ ดูเหมือนน้าสนับแกจะเคยมาประจำทุกปี เพราะดูแกค่อนข้างจะกว้างขวางพอสมควรกับผู้คนแถวนี้

ความมีเสน่ห์ของน้าสนับคงจะอยู่ที่ความเป็นคนจริงของแก คำพูดที่โผงผาง ตรงไปตรงมา คิดอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น แม้ไม่ถึงกับนุ่มนวล แต่ก็ไม่หยาบคาย เข้าตำราปากร้ายใจดี ด้วยเหตุนี้แกจึงมีเพื่อนในตลาดมาก

เวลาแกขายสินค้า ในมือจะถือมีดปลายแหลมที่แกนั่งลับทุกคืน จนมีดคมกริบ ส่วนปากก็เคี้ยวว่าน จากนั้นก็ใช้มีดเชือดแขนตัวเองให้ลูกค้าได้เห็นกันจะ ๆ จึงมีขาเครื่องรางของขลังมุงดูและซื้อหากันแน่น

ผมเป็นคนแพ้ของมีคม หวาดเสียวทุกครั้งที่เห็นน้าแกกรีดเชือดแขนตัวเอง ยอมรับว่าขี้ขลาดกับเรื่องตีรันฟันแทง ถึงน้าสนับแกจะพร่ำสอนเรื่องความเป็นลูกผู้ชาย

“เป็นชายชาตรีต้องเรียนรู้วิชาพวกนี้เอาไว้”

แต่ถึงผมจะพยายามทำใจแข็ง สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าไปไม่รอด

แม้จะซาบซึ้งในความรักความเมตตาของน้าแก แต่ผมก็คิดว่า นี่ไม่ใช่ทางที่จะเดินของผมอย่างแน่นอน อีกอย่างที่สำคัญกว่านั้นคือ เมียของน้าสนับยังอยู่ในวัยกำดัด ส่วนผมหรือก็เพิ่งผ่านวัยแตกพาน ความเป็นหนุ่มมันเตือนให้รู้ว่า ขืนอยู่ต่อไปคงไม่ดีแน่ แม้เราจะไม่คิด… ยังสำนึกในบุญคุณของน้าแก แต่ในวันข้างหน้า… ใครจะรู้ได้ คมมีดที่วาบวับอยู่ทุกคืนมันเร่งให้ตัดสินใจ

วันหนึ่ง…

เป็นวันที่คณะขายเครื่องรางเตรียมย้ายจากตลาดสดเมืองชัยภูมิเพื่อไปตลาดบัวใหญ่นครราชสีมา ผมจึงสบโอกาส ผมเอ่ยปากขอแยกทางกับน้าสนับ แกมองหน้าผมอยู่เป็นนาน ก่อนจะพูดว่า

“เออวะไอ้หนู ถึงจะรู้จักกันชั่วครู่ กูก็รักมึงเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่เมื่อมึงจะไป กูก็คงห้ามไม่ได้ ขอให้มึงโชคดี ให้พบความสำเร็จตามที่ปรารถนา วันหน้าถ้าได้ดีมีชื่อเสียงก็อย่าลืมกูนะกูจะจำมึงไว้”

ผมน้ำตาซึม กลั้นใจพูดกับน้าสนับ

“ขอให้โชคดีครับ ผมจะจดจำน้าไว้ตลอดไป”

ถึงจะเป็นคำพูดที่ค่อนข้างสั้นและสั่นเครือ แต่ก็เป็นคำพูดที่ออกมาจากความจริงใจ

หลังจากกันในวันนั้นก็ไม่ได้พบกันอีกเลย ถ้าน้าสนับยังมีชีวิตอยู่ คงมีอายุเข้าหลักเก้า และน้าดวงก็คงอยู่รุ่น ๆ ผม คือ ๗๐ ต้น ๆ

“น้าสนับ” และ “น้าดวง” เป็นความทรงจำที่ดีงาม เกือบ ๖๐ ปีแล้ว ภาพของคนทั้งสองและเหตุการณ์ในตลาดสดและรายทางยังสดใสเหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

เด็กศาล – เด็กซ่อง

‘…ต้องหางานทำ’

‘แล้วจะทำอะไร… ทำอะไรเป็น’

ความคิดเวลานั้นถกกันอึงคะนึงขณะที่ผมนั่งสำรวจดูตัวเองว่าจะเอาอย่างไรดี ความคิดที่จะล่องกรุงเทพฯ ต้องสะดุดลง เพราะเงินที่มีในกระเป๋าเหลือไม่พอเดินทาง

ความคิดที่จะหางานทำแวบเข้ามา

“อะไรก็ได้ที่พอจะต่อทุนในการเดินทางไปให้ถึงกรุงเทพฯ ตามที่มุ่งหวัง”

ขณะที่บ่าสะพายกระเป๋าเสื่อจันทบูรบรรจุเสื้อผ้า ผมเดินเรื่อยเปื่อยไปตามถนนที่ทอดจากตลาดชัยภูมิไปทางทิศเหนือ จนมาถึงบ้านพักนายอำเภอ

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ท่านนายอำเภออยู่ในชุดลำลอง นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ที่เก้าอี้สนามข้างบ้าน ผมหยุดยืนลังเลกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่พักหนึ่งพอดีกับที่ท่านลดหนังสือพิมพ์ลง เหลือบมาเห็น

“อ้าว ว่าไงหนุ่ม มีธุระอะไรเหรอ เข้ามาซี”

ท่านทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแบบผู้ใหญ่ใจดี เมื่อได้เรียนให้ท่านทราบตามตรง ท่านก็เมตตารับไว้ โดยให้อยู่ช่วยทำงานบ้านไปก่อน ถ้ามีจังหวะสอบเสมียนจะได้สอบแข่งขัน อย่างน้อยก็ได้มีหลักยึด ไม่เลื่อนลอยเหมือนที่ผ่านมา

ท่านนายอำเภอมีลูกที่กำลังเรียนอยู่ ๓ คน คนโตเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กรุงเทพฯ ชื่อ คุณโต้ง ส่วนคนกลางเป็นหญิงชื่อ คุณแมว เรียน ม. ๖ ที่โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนเดียวกันกับ คุณเปี๊ยก น้องชายคนเล็กที่เรียนอยู่ ม.๔ ผมจึงมีโอกาสพบคุณโต้งก็เฉพาะเวลาปิดเทอม ท่านและภริยาใจดี ผมใช้คำเรียกท่านว่าคุณพ่อคุณแม่ คุณแม่หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “คุณนาย นายอำเภอ” เป็นคนเจ้าระเบียบ แต่ทว่าก็ใจดี ผมจึงได้อาศัยอยู่ในบ้านที่อบอุ่นในฐานะผู้อาศัย ผมทำตัวขยันขันแข็ง รับใช้ทุกคนอย่างเต็มที่ คุณแมวคุณเปี๊ยกก็ให้ความสนิทสนมเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง

ต่อมา ท่านนายอำเภอให้ผมไปฝึกเป็นเสมียนฝึกหัด โดยให้เดินหนังสือบ้าง หัดงานเสมียน พิมพ์ดีดตามงานที่ท่านมอบหมายบ้าง บางครั้งปลัดอำเภอก็เรียกใช้งาน ผมต้องแต่งตัวชุดเท่ กางเกงขายาวสีกากี เสื้อเชิ้ตสีขาว พร้อมถุงน่องรองเท้าอย่างดีที่ท่านอนุเคราะห์หาให้ เจ้าหน้าที่ที่อำเภอก็ให้ความรักใคร่เอ็นดู ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ผมเป็นเด็กนายอำเภอ เป็นเด็กเส้น และอีกส่วนหนึ่งคงมาจากความอ่อนน้อมถ่อมตนของผม ที่ถูกฝึกมาแต่สมัยเป็นเด็กวัด

แต่…ถึงอย่างไร ลึก ๆ ในใจของผมก็ยังไม่ลืมความมุ่งหวังเดิม ความมุ่งหวังที่พาตัวเองหนีออกจากบ้านเกิด ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงให้รู้สึกตลอดเวลาว่า ไปยังไม่ถึงจุดที่อยากจะไป สิ่งที่หวังไว้ยังไม่แล้วเสร็จ ชีวิตยังพร่อง แต่พยายามไม่ทำให้ท่านนายอำเภอและครอบครัวผิดหวังในตัวผม

ขณะที่ผมทำทั้งงานบ้านและงานอำเภอไม่บกพร่อง… แล้วคืนนั้นก็มาถึง…

สถานบันเทิงในสมัยนั้นมีไม่มากนัก นอกจากโรงหนังแล้วมีเพียงโรงลิเก และลิเกก็เป็นมหรสพยอดนิยมอย่างหนึ่ง คณะสมพงษ์ ภิญโญ จากลพบุรี เป็นอีกคณะที่ได้รับความนิยมจากแฟน ๆ มาทีไรก็แน่นตึง เสียงเพลงจากโรงลิเกลอยยั่วเย้าใจผมอยู่หลายค่ำคืน เสียงจากโรงลิเกทุกคืนบอกให้รู้ว่า มีการร้องเพลงสลับฉากประกอบรีวิว ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลง ใจผมเต้นระริก อยากขึ้นเวทีไปโชว์มั่ง จนที่สุด ผมอดที่จะดอดออกไปดูไม่ได้

หลังจากตีสนิทจนรู้จักกับพระเอกของคณะคือ พี่สนั่น ซึ่งแกรักผมเหมือนน้อง นี่ก็ถือเป็นมงคลชีวิตอย่างหนึ่งของผม คือ มักจะเป็นที่เมตตารักใคร่จากผู้คนที่คบหาเสมอ คืนนั้น หลังจากที่ผมรบเร้าอ้อนวอนขอขึ้นร้องเพลงสลับฉากอยู่หลายครั้ง พี่สนั่นจึงไปขอหัวหน้าให้ผมขึ้นร้องในเพลง ชายสามโบสถ์ เพลงของ คำรณ สัมปุณณานนท์ ปรากฏว่าสอบผ่าน และได้รับรางวัล พร้อม
เสียงปรบมือ

เสียงปรบมือจากแฟนเพลงห่างหายไปนานวันแต่รสชาติบนเวทีลิเกคืนนั้นช่างหอมหวานเหลือเกิน และมันก็กระตุ้นเตือนผมให้รีบตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่คณะลิเก “พี่หนั่น” จะลาโรง

จนวันหนึ่ง…

“ฉันก็คงได้แต่เป็นห่วง เพราะมองไม่ออกว่าจะไปยังไง มันอยู่ที่ใจของเธอ ห้ามไม่ได้ ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ถ้ารักทางนี้ก็ทำให้จริง ๆ อย่าเหลาะแหละโลเล ทำอะไรทำจริงแต่สิ่งเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล อย่าทิ้งกลางทางอีกล่ะ” ท่านนายอำเภอยกภาษิตขึ้นเตือนใจผมหลังจากที่ผมเข้าไปกราบลาท่านและคุณนาย เพื่อตามคณะลิเกที่จะล่องลงไปเล่นที่ลพบุรี

ผมก้มลงกราบด้วยความเคารพและซาบซึ้งใจท่านทั้งสองอีกครั้ง ก่อนหิ้วกระเป๋าออกเดินทางไปตามฝัน

ท่านนายอำเภอ เป็นผู้มีพระคุณอีกท่านหนึ่งที่ผมระลึกอยู่เสมอ ท่านชื่อ นายต่วน ไกรสีห์วรรธนะ ซึ่งทราบภายหลังอีกหลายปีว่าท่านเกษียณราชการและเสียชีวิตไปแล้ว ผมทราบข่าวท่านขณะที่ผมเป็นนักพากย์หนัง ได้พบกับคุณแมวซึ่งรับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดเลยผมไปพากย์หนังที่นั่น ได้ไปเยี่ยมคุณแมวและครอบครัวหลายครั้ง ส่วนคุณโต้ง และคุณเปี๊ยกไม่ได้พบกันอีกเลย ทราบจากคุณแมวว่า ทั้งสองทำงานตั้งรกรากอยู่ในกรุงเทพฯ ผมก็ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานถึงทุกคน หลังจากสวดมนต์ไหว้พระทุกครั้ง ขอให้ทุกคนมีแต่ความสุขความเจริญ

ผมออกติดตามคณะลิเกลงไปที่จังหวัดลพบุรีขณะนั้นถ้านับเวลาที่หนีออกจากบ้านก็ร่วม ๖ เดือนกว่าแล้ว เมื่อถึงลพบุรี พี่หนั่นกับพี่
แดง นางเอกลิเกและเมียของพี่หนั่นตกลงกันว่าจะให้ผมอยู่ช่วยงาน ‘เตี่ย’ กับ ‘แม่’ ดีกว่าจะตะลอนไปกับพวกลิเก นัยว่าจะได้เรียนพิมพ์ดีดจะได้ทำงานกับบริษัท หรืองานที่เป็นหลักเป็นแหล่ง

ในสายตาผู้ใหญ่สมัยก่อน มองว่าการเต้นกินรำกินเป็นงานที่หาความมั่นคงไม่ได้ สู้งานราชการ บริษัท ห้างร้านไม่ได้ แม้แต่พี่หนั่น พี่แดงพระเอก-นางเอกลิเกแท้ ๆ ก็ยังไม่อยากให้ผมเดินตามเส้นทางของ ‘พวกเต้นกินรำกิน’ แม้ผมอ้อนวอนขอตามไปร้องเพลงสลับฉาก หรือเล่นเป็นเสนาหน้าพาทย์บ้าง แต่ก็ไม่เป็นผล ผมต้องยอมรับความหวังดีของพี่ทั้งสองด้วยการช่วยงานเตี่ย

ที่ผมและทุกคนเรียกว่าเตี่ย ก็เพราะเตี่ยแกเป็นคนจีน มีเมียเป็นคนไทย คือ แม่หวาน ซึ่งพี่แดงเป็นลูกสาวของท่าน และเป็นนางเอกลิเกเพราะใจรัก เตี่ยและแม่เลยได้ลูกเขยเป็นลิเก คือพี่หนั่น

‘เตี่ยเถ๊า’ (ต้องสะกดแบบผิดหลักภาษาเพราะถ้าสะกดให้ถูกต้องจะเป็น ‘เท้า’ ดูไม่สมควร) เป็นคนประมูลขายดอกไม้ธูปเทียนของศาลพระกาฬฯ ที่เป็นที่เคารพสักการะของคนเมืองลพบุรีและคนทั่วไป ซึ่งผู้ศรัทธาจะไปสักการะศาลกันเป็นประจำ ผมได้รับความไว้วางใจจากเตี่ยและแม่หวานให้ช่วยขายดอกไม้ธูปเทียนในตอนกลางวัน ตกกลางคืนก็กลับไปนอนที่บ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก

‘ที่บ้าน’ เราเรียกกันอย่างนั้น ความจริงก็คือซ่องโสเภณีที่เตี่ยและแม่หวานเปิดไว้ต้อนรับหนุ่มกลัดมัน ที่นี่มี ‘พี่ ๆ’ คือ ผู้หญิงหากินกว่า ๒๐ คน และทุกคนจะถูกกำชับจากแม่หวาน

“คนนี้อย่ายุ่ง ลูกกู ใครไม่เชื่อก็คอยดู”

ลับหลังแม่หวาน ‘พี่ ๆ’ ก็ทำตาถลึงใส่ผมพลางพูดทีเล่นทีจริง

“อย่าเผลอก็แล้วกัน…ฮื่อ”

จนแล้วจนรอด ผมก็ยังรักษาพรหมจรรย์ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แม้จะอยู่ท่ามกลางคนที่เกี่ยวข้องกับการค้ากามก็ตาม

แม่หวานก็เหมือนเตี่ยเถ๊า ที่แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมแหล่งอบาย แต่ท่ามกลางกลิ่นคาวกามกลับแฝงและอบอวลด้วยปรัชญา แม่หวานมักพร่ำสอน ‘พี่’ เสมอว่า

“พวกมึง คนเขามองว่าต่ำ ต้องทำตัวให้มันดีมึงไม่ได้ขอใครแดก มึงมาเพื่อหาเงินส่งพ่อแม่ เพื่อเลี้ยงครอบครัว ถ้ามึงไม่ทำตัวชั่ว มันไม่ใช่เรื่องชั่วหรอก”

หากคืนไหนอยู่เวรศาลก็นอนที่ศาลร่วมกับเพื่อนที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘เด็กศาล’ ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีที่มาต่างกัน ทุกคนมาขอพึ่งบารมีของเจ้าพ่อพระกาฬฯ และพึ่งใบบุญของเตี่ยเถ๊าเหมือนกัน
ทำให้มีที่อยู่ที่กิน

เตี่ยเป็นคนดุ เด็กทุกคนจะทำตัวเกะกะเกเรไม่ได้

“ถึงจะเป็นเด็กศาลก็อย่าให้ใครเขามาดูถูกได้คนเขามองเราไม่ดี เราต้องทำตัวให้มันดี”

เตี่ยมักพร่ำสอนอย่างนี้เป็นประจำ จนเด็กศาลเป็นเด็กเรียบร้อย พูดจาครับ ๆ ผม ๆ เป็นที่ชมเชยของคนทั่วไป แต่อีกทางหนึ่งเตี่ยก็สอนว่า

“เราต้องไม่รังแกใคร แต่อย่าให้ใครรังแก หลีกเลี่ยงคนพาล ถ้าหลีกไม่พ้นก็ชนมันเลย”

คำสอนนี้ถือเป็นคติประจำใจของเด็กศาลพระกาฬฯ

ในบรรดาเด็กศาลด้วยกัน มีผมเพียงคนเดียวที่จบ ม. ๖ นอกนั้นจบ ป. ๔ บ้าง ไม่ได้เรียนหนังสือบ้าง ผมจึงได้รับโอกาสจากเตี่ย โดยส่งไปเรียนพิมพ์ดีดเพื่อหาความก้าวหน้า ตกบ่ายทุกวัน เว้นเสาร์-อาทิตย์ ผมจึงต้องนั่งรถรางจากศาลไปเรียนพิมพ์ดีดที่ตลาดสระแก้ว หน้ากรมทหาร เตี่ยเองก็มองทางชีวิตให้ผมเหมือนที่ท่านนายอำเภอท่านมอง แม้ผมจะบอกเตี่ยให้ทราบว่าผมชอบวงการเพลงมากกว่า เตี่ยก็ทำเฉยเสีย แล้วบอกว่า

“เรียนไว้เถอะ จะได้เป็นความรู้ติดตัว ไม่เสียหายอะไร เผื่อทางที่ชอบมันไปไม่รอด ก็ยังมีทางไป”

ความรู้ด้านพิมพ์ดีดที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่ครั้งนั้น แม้จะไม่จบ ‘คอร์ส’ เพราะดวงต้องพเนจรแต่ภายหลังก็ได้ใช้ในการแต่งเพลง และงานที่ต้องพิมพ์อีกหลายอย่าง จึงเป็นคุณูปการจากเตี่ย ผู้ปากร้ายแต่ใจดี ผู้เป็นที่เคารพรักของเด็กศาลรวมทั้งผมด้วย

หน้าศาลเป็นทางรถไฟ ที่ขบวนรถสายเหนือแล่นขึ้น-ล่องทุกวัน ทุกครั้งที่มองขบวนรถ ทำให้รู้สึกได้ว่า ชีวิตของผมล่องลงมาใกล้กรุงเทพฯ เข้าไปทุกที คำว่า ‘กรุงเทพฯ’ ยังเป็นเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึงให้ได้ เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง โดยเฉพาะด้านศิลปิน เป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับผู้แสวงหาสิ่งที่มุ่งหวัง ทุกครั้งที่รถไฟขบวนล่อง ล่องลงกรุงเทพฯ ใจของผมก็ล่องตามไปด้วย

ผมสู้เก็บหอมรอมริบเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จากเตี่ยบ้าง แม่หวานบ้าง เตรียมไว้สำหรับล่องลงกรุงเทพฯ จนมีเงินจำนวนหนึ่ง แล้วผมก็ตัดสินใจลาเตี่ย-แม่หวานเข้ากรุงเทพฯ

“เอ็งคิดดีแล้วหรือไอ้หนู” เตี่ยพูดเชิงทักท้วง

ผมยืนยัน พร้อมก้มลงกราบทั้งสองคน แม่หวานลูบหัวให้พร

“ไอ้หนูเอ๊ย ถึงเอ็งจะไม่ใช่ลูก ข้าก็รักเหมือนลูก ไปแล้วไม่ไหวก็กลับมาหาแม่ก็แล้วกันนะ”

ผมซาบซึ้งความรักความห่วงใยของท่านทั้งสองจนน้ำตาซึม

“ขอบพระคุณเตี่ยกับแม่ที่เมตตาผม ผมจะไม่ลืมบุญคุณของเตี่ยกับแม่จนวันตาย” ผมก้มลงกราบอีกครั้งหนึ่ง

ในชีวิตนี้ ผมได้กลับไปหาเตี่ยเถ๊าและแม่หวานอีก ๓ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อผมเข้ากรุงเทพฯ ได้ ๓ เดือน ครั้งที่ ๒ เมื่อเวลาผ่านไปอีก ๒ ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผมตามไปกับ “วงดนตรีบางกอก ชะชะช่า” และครั้งสุดท้าย เมื่อเข้าสู่วงการเพลงเต็มตัว หลังจากเพลง สาระวันรำวง ดังระเบิด ซึ่งตอนนั้น ทั้งเตี่ยและแม่หวานได้จากโลกนี้ไปแล้ว ส่วนพี่หนั่น-พี่แดงไม่ได้เจอกัน และไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย

“ขอบพระคุณเตี่ยกับแม่ที่เมตตาผม ผมจะไม่ลืมบุญคุณของเตี่ยกับแม่จนวันตาย”

ผมอยากพูดประโยคที่เคยบอกกับท่านทั้งสอง เมื่อตอนที่ผมกราบลาท่านอีกสักครั้ง ณ ที่นี้

Related Posts

บทร้อยกรองของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ๒๕-๒๘
พระมงคลวัฒนคุณ (“หลวงพ่อเพิ่มบารมี”)
บทกวี: จุดบั้งไฟยังไล่ล่า…

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com