อาหรับยิวรบกันสามพันปี (2) ร้อยปีที่รบหนัก

อาหรับยิวรบกันสามพันปี (2) ร้อยปีที่รบหนัก


ดินแดนภายใต้ฝรั่งเศสและอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) อังกฤษได้ขอให้ขบวนการไซโอนิสต์ของยิวช่วยรบเพื่อจัดการกับจักรวรรดิ์ออตโตมาน โดยสัญญาว่าเสร็จสงครามจะหาบ้านเมืองให้อยู่ถาวรในถิ่นที่ของปาเลสไตน์ หลังสงคราม อังกฤษและฝรั่งเศสได้ครอบครองตะวันออกใกล้ ด้านเหนือ มีซีเรียและเลบานอนที่เป็นของฝรั่งเศส ตอนใต้มีปาเลสไตน์ อีรักและจอร์แดน เป็นของอังกฤษ

อังกฤษอีกด้านหนึ่งก็ไปขอให้กองกำลังอาหรับท้องถิ่นที่กำลังต้องการปลดปล่อยจากการถูกครอบครองโดยออตโตมานให้มาร่วมรบ อันเป็นที่มาของ “ตำนาน” เรื่องจริงอิงนิยายที่ทำเป็นภาพยนต์ เรื่องลอร์แรนซ์แห่งอาเรเบีย โดยสัญญาเช่นกันว่า เมื่อเสร็จสงครามจะยกดินแดนนั้นให้อาหรับ

เสร็จสงครามชาวอาหรับพบว่าตนเองถูกหักหลังหรือถูกหลอกใช้ เพราะอังกฤษได้เข้ายึดครองดินแดนเหล่านั้น พวกเขาจึงต้องอยู่ภายใต้อังกฤษและฝรั่งเศส อำนาจใหม่มาแทนออตโตมาน และอังกฤษปล่อยให้ชาวยิวจากยุโรปอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่มากขึ้นตามที่ได้สัญญาไว้ เตรียมตั้ง “รัฐชาติ” แต่ไม่ได้ทำอะไรให้ชาวอาหรับ

ขณะนั้น ที่ปาเลสไตน์มีชาวยิวอยู่ไม่มาก และเริ่มอพยพเข้าไปอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างปี 1920-1940 มีประชากรยิวอยู่ร้อยละ 10 และเมื่อความตึงเครียดในยุโรปเริ่มเกิดพร้อมกับวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก มีการเบียดเบียนชาวยิวมากขึ้น การอพยพครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นก่อน ระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทวีความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับยิวมากขึ้นตามลำดับ

สงครามโลกครั้งที่สองคนตาย 60 ล้านคน ชาวยิวตายไป 6 ล้าน ชาวยิวและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่า คงต้องหาที่ให้พวกเขาอยู่ถาวรเป็นประเทศชาติของตนเอง ไม่เช่นนั้นการเข่นฆ่าก็คงมีอยู่ต่อไป โดยลืมไปว่า แก้ที่หนึ่งก็ไปผูกอีกที่หนึ่ง แก้ปัญหาเก่าเกิดปัญหาใหม่ สร้างความขัดแย้งรุนแรงจนถึงวันนี้

ปี 1947 อังกฤษถอนตัวออกจากพื้นที่ ให้ยูเอ็นเข้ามาทำหน้าที่แทน สหประชาชาติลงมติให้แบ่งดินแดนนี้ออกเป็นสองส่วน ส่วหนึ่งให้ปาเลสไตน์ (43%) ส่วนหนึ่งให้อิสราแอล (56%) ให้เยรุซาเล็มเป็นเมื่องนานาชาติเป็นกลาง ชาวยิวรับได้ แต่อาหรับรับไม่ได้ เกิดสงครามกลางมือง ปาเลสไตน์และ 7 พันธมิตร หรือลีกอาหรับ ได้แก่อิยิปต์ ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน อีรัก เยเมน ซาอุดีอาเรเบีย รวมตัวกันประกาศสงคราม แต่รบไปมาก็แพ้ยิว ซึ่งได้ทีก็ขยายอาณาเขตออกไปอีก

ยิวประกาศเป็นประเทศอิสราแอลในปี 1948 สงครามกลางเมืองทำให้ชาวปาเลสไตน์อพยพลี้ภัยสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลายแสนคน รวมกับหลังสงคราม 6 วันเมื่อปี 1967 เป็น 750,000 คน อยู่ในค่ายผู้อพยพผู้ลี้ภัย โดยประเทศซีเรีย เลบานอน อียิปต์ จอร์แดน ไม่ยอมรับเป็นพลเมืองของตน และยิวเองก็ไม่ยอมรับกลับประเทศจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นอีกเรื่องคาราคาซังไม่มีทางออก

ที่เลื่องลือความโหดเหี้ยม คือ การไล่ล่าฆ่าหมู่ปาเลสไตน์ทำให้คนตายจำนวนมาก แล้วแต่การบันทึกของฝ่ายไหน ฝ่ายอิสราแอลบอกว่า 800 คน ฝ่ายอาหรับบอกหลายหมื่น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ถูกฆ่าอย่างทารุณ สร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนอพยพหนีเอาตัวรอด ประหนึ่งเป็นความตั้งใจของชาวยิวที่ต้องการได้ดินแดนแห่งนี้

ในปี 1964 ปาเลสไตน์ตั้งขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO Palestine Liberation Organization) มีนายยัสเซอร์ อาราฟัตเป็นผู้นำ เพื่อต้องการรบสู้ก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ “ที่เป็นธรรม” ไม่ใช่อย่างที่ยูเอ็นเสนอ เพราะพวกเขาถือว่านั่นเป็นเพียงการขยายอาณานิคมยุคใหม่ของยุโรปเท่านั้น

ปี 1967 ระเบิดสงคราม 6 วัน ระหว่างอิสราแอลกับลีกอาหรับ คือ อิยิปต์ จอร์แดน ซีเรีย ซึ่งอิสราแอลเอาชนะได้ทุกด้าน ทางใต้ บุกไปยึดทะเลทรายซีนายจากอิยิปต์ ทางเหนือ ที่ราบโกลานของซีเรีย และเวสท์แบ้งค์ของจอร์แดน เข้าไปครอบครองดินแดนของปาเลสไตน์

อย่างไรก็ดี 6 ปีให้หลัง อียิปต์ตีโต้กลับ โดยมีสหภาพโซเวียตและหลายประเทศอาหรับหนุนหลัง ขณะที่สหรัฐส่งอาวุธไปช่วยอิสราแอล สงครามน้ำมันเกิดขึ้นช่วงนี้เอง เมื่อประเทศอาหรับที่ผลิตน้ำมันประกาศลดการผลิตลงและขึ้นราคาน้ำมันถึง 70% ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันทั่วโลกในปี 1973

ในการเจรจานานาชาติโดย 4 ภาคี คือ สหรัฐ รัสเซีย อียู ยูเอ็น ทำให้อิสราแอลคืนซีนายให้อิยิปต์ โกลานบางส่วนให้ซีเรีย แต่ไม่คืนเวสท์แบ้งค์ให้จอร์แดน เอาไว้เป็นกันชนกับจอร์แดน เช่นเดียวกับฉนวนกาซ่า กันชนกับอียิปต์ รวมทั้งรักษาเยรุซาเล็มตะวันออกไว้

ในปี 1980 อิสราแอลประกาศให้เยรุซาเล็มเป็นเมืองหลวงที่แบ่งแยกมิได้ ทั้งๆ ที่ถูกประณามจากยูเอ็นและนานาประเทศ และเกิดการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์หลายครั้ง ทำให้คนตายจำนวนไม่น้อย เพราะยิวก็ปราบแบบไม่ยั้งมือ ถูกประณามความรุนแรงไปทั่วก็ไม่สนใจ

ปี 1988 PLO ก็ประกาศให้เยรุซาเล็มเป็นเมืองหลวงในอนาคตของรัฐปาเลสไตน์บ้าง แต่ถึงอย่างไร ปาเลสไตน์ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เพราะไม่เป็น “รัฐชาติ” ยังเป็นแต่ “ผู้สังเกตุการณ์” เท่านั้น

ในบริบทนี้เองที่เกิดขบวนการ Hamas อาหรับหัวรุนแรงใน PLO ซึ่งแตกออกเป็นสองฝ่าย จนรบกันเอง ฝ่ายพิราบ (Fatah) ฝ่ายเหยี่ยว (Hamas) ฝ่ายหลังนี้สหรัฐ ยุโรปและหลายประเทศเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” ที่ต้องการล้มล้างอิสราแอลแบบไล่ให้ตกทะเลไปเลยเท่านั้น และต้องการแก้ปัญหาแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ซึ่งวันนี้ก็เห็นกันอยู่ที่ยิงจรวดถล่มกันไปมา

มีความพยายามไกล่เกลี่ย เจรจาสันติภาพโดยอเมริกาออกหน้า มีประธานาธิบดีคาร์เตอร์และคลินตัน ซึ่งก็สรุปได้ว่า ให้ฉนวนกาซา (Gaza strip) เป็นเขตปกครองอิสระ ให้เวสท์แบ้งค์ เป็น 3 ส่วน อิสราแอล ปาเลสไตน์ และของผสมทั้งสองฝ่าย แต่ก็ตกลงสถานภาพของเยรุซาเล็มไม่ได้ รวมไปถึงสถานภาพของผู้อพยพว่าจะทำอย่างไร

นอกนั้น ขบวนการหัวรุนแรงแบบ “คลั่งชาติ” ของทั้งสองฝ่ายก็ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาประนีประนอมใดๆ หลังการเจรจาและข้อตกลงที่สหรัฐ (1978) นายอันวาร์ ซาดัด นายกรัฐมนตรีอียิปต์ ตัวแทนฝ่ายอาหรับก็ถูกฆาตกรรม หลังข้อตกลงออสโล (1993) นายยิสฮัก ราบิน นากรัฐมนตรีของอิสราแอลก็ถูกยิงเสียชีวิตที่เทลลาวีพ โดยกลุ่มหัวรุนแรงที่ไม่ยอมรับข้อตกลงและไม่เห็นด้วยกับการเจรจา

ความตึงเครียดทำให้ในปี 2005 รัฐบาลยิวอพยพชาวยิวออกจากฉนวนกาซา และสร้างกำแพงกั้นเวสท์แบ้งค์จากเขตของอิสราแอล แต่ก็ตั้งกำแพงกินแดนเวสท์แบ้งค์เข้าไป ขณะเดียวกัน ฮามาสก็มีอำนาจที่กาซ่า ไม่สามารถทำงานร่วมกับฟาตาห์ได้ ฟาตาห์ก็ไปมีอำนาจดูแลเวสท์แบ้งค์

การแบ่งแยกเช่นนี้ “เข้าทาง” อิสราแอล ซึ่งไม่ต้องการให้ปาเลสไตน์หัวรุนแรงที่กาซ่าและกลุ่มประนีประนอมที่เวสท์แบ้งค์ผนึกพลังกัน ดินแดนก็อยู่ห่างกันด้วย แบ่งแยกแล้วควบคุมได้ง่ายกว่า ฮามาสหัวรุนแรงอยู่ที่กาซ่า แต่พื้นที่เล็กมาก ดินแดนริ้วแคบยาว ไม่ยากต่อการ “จัดการ” ถ้าหากมีการรบกัน

อิสราแอล-กาซ่า-เวสท์แบ้งค์

อิสราแอลมีพลเมือง 9 ล้านคน มีพื้นที่ 22,145 ตร.กม. กาซ่าภายใต้ฮามาส มีประชากร 2 ล้านคน 365 ตร.กม.(ประมาณจังหวัดสมุทรสงคราม) เวสท์แบ้งค์ภายใต้ฟาตาห์มี 3 ล้านคน 5,640 ตร.กม.

อิสราแอลเหมือนกับต้องการผนวกเวสท์แบ้งค์ เข้าไปสร้าง “นิคม” “หมู่บ้านจัดสรร” 130 แห่งอย่างเป็นทางการ (รัฐบาลรับรอง) และอีกประมาณ 100 ไม่เป็นทางการ รัฐบาลเชิญชวนชาวยิวเข้าไปอยู่ถึง 600,000 คนใน 50 ปี ที่ผ่านมา ที่เวสท์แบ้งค์จำนวน 400,000 คนและ 200,000 คนในเยรุซาเล็มตะวันออก ซึ่งอยู่ติดเขตเวสท์แบ้งค์

ปี 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐประกาศให้เยรุซาเล็มเป็นเมืองหลวงและย้ายสถานทูตอเมริกันไปที่นั่น ถูกประท้วงและประณามจากยูเอ็นและทั่วโลก ทุกฝ่ายเชื่อว่า ไม่นานนายทรัมป์คงสนับสนุนให้อิสราแอลผนวกเวสท์แบ้งค์เป็นของอิสราแอลทั้งหมด แต่เขาไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

อย่างไรก็ดี ชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในเวสท์แบ้งค์ถึง 3 ล้านคน รวมกันเป็น “เกาะ” น้อยใหญ่ 167 กลุ่ม และยังคงเหมือนถูกควบคุมทางทหารของอิสราแอลอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะถูกประณามและคัดค้านจาก “สี่ภาคี” อเมริกา รัสเซีย อียู ยูเอ็น ที่ประกาศว่า การเข้าไปตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเวสท์แบ้งค์เช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราแอลก็ไม่สนใจ

Intifada คือคำอาหรับที่หมายถึงการลุกฮือของปาเลสไตน์ที่สำคัญๆ สองครั้งในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนตายหลายพันคน ในปี 2014 อิสราแอลถล่มกาซ่า ทำลายบ้านเรือนไป 50,000 หลัง โรงเรียน โรงพยาบาลก็ไม่เว้น สถานีไฟฟ้าแห่งเดียวก็ถูกทำลาย กาซ่าวิกฤติหนัก ต้องให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือด้วยมนุษยธรรม ทั่วโลกประณามอิสราแอลที่บอกว่า ทำไปเพื่อป้องกันตัว

ความจริง ถ้าพิจารณาสถานการณ์ที่กาซ่าก็น่าจะพอเข้าใจว่า ทำไมชาวปาเลสไตน์ถึงต้องรบ เพราะเหมือน “หมาจนตรอก” เนื่องจากถูกอิสราแอลปิดล้อม ตัดเรื่องน้ำ เรื่องไฟ การค้าขาย อาหาร ยารักษาโรค ซึ่งถึงขั้นที่กาซ่าอาจล่มสลายเพราะถูกสหรัฐบอยคอตทางเศรษฐกิจด้วย เพราะถือว่า Hamas เป็นขบวนการก่อการร้าย แม้เมื่อมีอำนาจปกครองกาซ่าก็ยังไม่อาจยอมรับได้ แต่ผู้ที่รับเคราะห์คือประชาชนคนปาเลสไตน์

ครั้งนี้ก็เช่นกัน กลางเดือนเมษายน 2021 จนถึงปลายเดือนพฤษภาคมที่เขียนบทความนี้ สงครามระหว่างฮามาสกับอิสราแอลกำลังระเบิด แบบไม่มีทางลดราวาศอก ไม่ว่าใครจะหาทางยับยั้งไกล่เกลี่ยอย่างไรก็ไม่ฟัง จนถึง 16 พฤษภาคม อิสราแอลอ้างว่า ฮามาสยิงจรวดกว่า 3,000 ลูกไปที่เขตอิสราแอล รวมทั้งเทลลาวีพ ซึ่งอิสราแอลก็ตอบโต้ ทั้งยิ่งจรวดขึ้นไปดักทำลายจรวดของฮามาสเป็นส่วนใหญ่

และใช้กำลังทางอากาศยิงขีปนาวุธไปทำลายบ้านเรือนในฮามาส ถล่มตึกใหญ่สำนักงานข่าว AP และอัลจาซีรา บอกว่าต้องการตามล่าหัวหน้าฮามาส และหาทางกำจัดคลังอาวุธในอุโมงค์ใต้ดินของฮามาส

อิสราแอลขู่ว่า ถ้าถึงที่สุด กำลังเตรียมพร้อมที่จะรุกภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเท่ากับว่า อิสราแอลจะเข้าไปกวาดล้างแบบปูพรมให้ถึงที่สุด เพื่อกำจัดขุมกำลังของฮามาส

ทั้งนี้โดยไม่มีใครต้องการให้ขยายเป็นสงครามใหญ่กว่านี้ นำเอาชาติอาหรับอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งในทางทฤษฎีอิสราแอลไม่มี แต่ในทางปฏิบัติรับรู้กัน และอาจนำมาใช้ถ้าหาก “จนตรอก” หรือถูกรุม อย่างที่มีการยิ่งจรวดจากเลบานอนเข้าทางอิสราแอลทางเหนือ และอิหร่านเริ่มมาหารือกับซีเรีย แม้ระยะหลังสมาพันธ์อาหรับอ่อนลงไปมาก แต่คาดคะเนไม่ถูกว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ความจริง อิสราแอลยังครอบครองหรือมีอำนาจเหนือกาซ่าและเวสท์แบ้งค์ เหมือนจะบีบก็ตายจะคลายก็รอด เพราะเป็นคนคุมน้ำ ไฟ และทางเข้าออกทั้งสองพื้นที่นี้ด้วยด่านตรวจเข้มของทหารอิสราแอลเอง จึงยากที่ผู้อพยพจะย้ายกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ยิวอ้างว่า “เพื่อความมั่นคงของชาติ” ไม่อยากให้ผู้อพยพไปแล้วกลับมาเป็นภัยคุกคามแก้แค้นเอาคืน หรือหอกข้างแคร่ของตน

นี่คือภาพที่แปลกแต่จริง (paradox) ที่ขัดแย้งกันเองของ “ชาวยิว” ที่ด้านหนึ่งก็เป็นชนชาติอัจฉริยะ เก่งกาจไปเสียแทบทุกเรื่อง แต่อีกด้านหนึ่งก็ลึกลับ เลว โลภ และโหดเหี้ยม จากการกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ การกลับไป “แย่งดินแดน” ที่ตนเองจากไปหลายพันปี กลับมาอ้างว่าเป็น “มาตุภูมิ” และ “แผ่นดินแห่งพระสัญญา”

นี่คงเป็นภาพพจน์และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย “เกลียดยิว” ขบวนการ “ต่อต้านยิว” (antisemitism) ที่เติบโตขึ้นทุกวันในยุโรปและอเมริกา การฟื้นนาซีใหม่ ขบวนการขวาจัดหัวรุนแรงในหลายประเทศในยุโรป การทำร้ายและฆาตกรรมชาวยิวมีมากขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นการเหยียดหรือรังเกียจเชื้อชาติ (racism) ที่เหมารวมอย่างน่ากลัว

ความจริง ชาวยิวส่วนใหญ่ก็เหมือนกับคนทั่วโลก ไม่ได้เป็นคนเลว คนโลภหรือโหดเหี้ยมแต่อย่างไร ส่วนหนึ่งยังออกจากอิสราแอลไปอยู่ที่อเมริกาและยุโรป จำนวนไม่น้อยกลับไปเยอรมัน ไปอยู่เบอร์ลิน เมืองที่เป็นศูนย์กลางนโยบายนาซีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวนั่นเอง

ที่สำคัญ เราได้เห็นอัจฉริยภาพของยิวในแทบทุกวงการ ไม่ได้มีแต่ไอน์สไตน์ และนักวิทยาศาสตร์นามกระเดื่อง แต่มีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ศิลปิน นักดนตรี นักการเมือง นักธุรกิจ นักการเงินการธนาคาร และบรรดามหาเศรษฐี ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นยิว และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการเมืองของสหรัฐอเมริกาและของโลก ยิว 5.7 ล้านคนอยู่ในสหรัฐอเมริกา อีกหลายล้านคนกระจายอยู่ในยุโรปและทั่วโลก

ที่อิสราแอลเอง เราก็ได้เห็นอัจฉริยภาพของยิวในการพัฒนาประเทศ เปลี่ยนทะเลทรายเป็นป่าเป็นสวน เป็นพื้นที่การเกษตรที่มีผลผลิตจนส่งออก จัดการน้ำจืดที่มีฝนตกปีละเพียง 500 มม. แต่ส่งออกน้ำจืดไปประเทศเพื่อนบ้านได้และการพัฒนาคิบบุด ชุมชนต้นแบบของการพัฒนาที่ทั่วโลกไปศึกษาเรียนรู้ดูงาน

แม้วันนี้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะหยุดสงครามระหว่างอิสราแอลกับปาเลสไตน์ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เห็นความหวังอะไรนัก ขณะที่ “ชาวบ้าน” “ประชาชน” คนส่วนใหญ่ ทั้งยิวและอาหรับต่างก็อยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง เพราะหลายพันปีมานี้ ส่วนหนึ่งเกิดประชากรผสมเผ่าพันธุ์ มีทั้งอาหรับ-ยิว และยิว-อาหรับ จนแทบแยกไม่ออก มีอาหรับที่เป็นคริสต์เป็นยิว มียิวที่เป็นคริสต์เป็นมุสลิม

การรบสู้กันเอาเป็นเอาตายจึงดูเหมือน “ไร้เหตุผล” สิ้นดี ( absurd !)

เสรี พพ 19 พฤษภาคม 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com