อีศานในสถานการณ์ไวรัส“โควิด-19” ลามระบาดทั่วโลก “ให้พี่น้องป้องปาย ซำบายดี ทุกผู่ทุกคน” – ไทลาว “บองปะโอน เซราะซะบาย คเนียนิจ” – ไทเขมร “เห้อพี้น้องป้องป๋าย ซ่ำบ๋ายดี๋ คู้คนเด้อ” – ไทผู้ไท “ให้อ้ายน้องป้องปาย สะบายดี สุคู่สุคนเด้อ” – ไทญ้อ ( 40 )
แง่คิด มุมมอง จาก รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ
# เสรีภาพกับสุขภาพ
“…………………………
โควิด-19 มาให้บทเรียนประชาธิปไตยแก่โลก ทำให้คนต้องทบทวนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความสมดุลระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพ ระหว่างเศรษฐกิจกับชีวิตของประชาชน ว่าจุดลงตัว จุดสมดุลอยู่ตรงไหน โดยไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารให้ผู้คนกลัว ครอบงำเพื่อผลทางการเมืองและการใช้อำนาจ อย่างที่จีน รัสเซีย อิหร่านและอีกบางประเทศถูกวิจารณ์
ประเด็นคงไม่ใช่ “เสรีภาพหรือสุขภาพ” แต่ “เสรีภาพกับสุขภาพ” ไม่ใช่ “เศรษฐกิจหรือชีวิตประชาชน” แต่ “เศรษฐกิจกับชีวิตประชาชน”
ที่สำคัญ โควิด-19 มาเตือนให้ผู้นำและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ว่า การแก้ปัญหาที่ถูกต้องมาจากความร่วมมือของประชาชน ซึ่งอยู่ที่การกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายและมาตรการสำคัญที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของตน
นายกรัฐมนตรีแมร์เกิลกล่าววานนี้ที่มีการคลายล็อคดาวน์ที่เยอรมนีว่า เราผ่านจุดวิกฤติมาด้วยกัน ถึงเวลาที่เราจะให้แต่ละรัฐตัดสินใจเองว่า มาตรการต่าง ๆ มีรายละเอียดอย่างไร ประชาธิปไตยคือความไว้ใจกัน เธอเชื่อว่า แต่ละรัฐจะทำหน้าที่ได้ดีอย่างแน่นอน
ที่เยอรมนีหรือที่ไหน สถานการณ์ภายในประเทศไม่เหมือนกัน แต่ละรัฐ แต่ละแคว้น แต่ละจังหวัด มีคนติดคนตายไม่เท่ากัน ทำไมต้องมีมาตรการเหมือนกันหมด จึงเกิดปัญหาอย่างในสหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมนี ที่ “ท้องถิ่น” ออกมาตรการบางอย่างแตกต่างหรือขัดกับมาตรการของรัฐบาลกลาง และเห็นว่าได้ผลดีกว่า
รัฐบาลฝรั่งเศสที่ปกครองแบบรวมศูนย์ได้รับการวิจารณ์ว่า ไม่มีประสิทธิภาพเพราะไม่กระจายอำนาจการตัดสินใจให้ “ท้องถิ่น” ตามโควิด-19 ไม่ทัน ประเทศไทยก็มีการปกครองรวมศูนย์คล้ายฝรั่งเศส แต่ให้อำนาจการตัดสินใจผู้ว่าราชการจังหวัดมาก ทำให้แต่ละคนแสดงได้เต็มที่ ตามแนวทางหลักที่มาจาก “กรุงทพฯ”
เช่นเดียวกับเกาหลี ไต้หวัน ที่มีแนวทางคล้ายกันนี้ ที่นักวิชาการ นักการเมืองควรนำไปสรุปบทเรียนว่า “วิถีชีวิตใหม่” หรือ new normal ทางการเมืองการปกครองควรกระจายอำนาจได้หรือยัง เชื่อหรือเปล่าว่า “ประชาธิปไตยคือความไว้วางใจ”
กระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ บ้านเมืองจะได้พัฒนาตามศักยภาพของแต่ละท้องถิ่นที่มีสูงมาก แต่ถูกครอบงำจากอำนาจการรวมศูนย์ เป็นไม้ในกระถางที่ต้องรดน้ำตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ถ้าลงดินจะพึ่งตนเองได้.”