อ.ราชภัฏร้อยเอ็ด จี้หน่วยงานรัฐเลิกยัดเยียด-ผลิตซ้ำ ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ใช้ภาษีเผยแพร่ข้อมูลไร้หลักฐานรองรับ

อ.ราชภัฏร้อยเอ็ด จี้หน่วยงานรัฐเลิกยัดเยียด-ผลิตซ้ำ ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ใช้ภาษีเผยแพร่ข้อมูลไร้หลักฐานรองรับ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญ รสจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เผยแพร่แถลงการณ์ ในฐานะผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด เรียกร้องให้หน่วยงานราชการยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด กรณี ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ซึ่งถูกหักล้างไปนานกว่า 10 ปีด้วยข้อมูลทางวิชาการของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากร แต่กลับยังคงมีการใช้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน

ความดังนี้

จากการที่มีหน่วยงานราชการบางแห่งทำการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงว่านามร้อยเอ็ดมาจากคำว่าสิบเอ็ดประตู ทั้งยังมีการใช้อำนาจทำการผลิตซ้ำข้อสันนิษฐานอันล้าหลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายทางวิชาการแล้วยังเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่สาธารณชนในวงกว้าง ในนามของผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด จึงขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้

นามเมืองร้อยเอ็ด เป็นชื่อที่มาจากตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงเมืองสาเกตนครที่มีอำนาจมากจนท้าวพญาร้อยเอ็ดหัวเมืองต่างอ่อนน้อมในอำนาจเมืองแห่งนี้จึงได้สมญานามว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู (หมายความว่ามีอำนาจแผ่ไปทุกทิศไม่ได้หมายความว่ามีประตูเป็นจำนวนร้อยเอ็ดประตูจริง ๆ) อันมีความหมายสอดคล้องกับคำว่าทวารวดี แปลว่าเมืองที่ประกอบด้วยประตูและรั้ว

อย่างไรก็ดี หลายสิบปีที่ผ่านมามีผู้สันนิษฐานว่า เมืองนี้มีเพียงสิบเอ็ดประตู เนื่องจากการเขียนตัวเลขสิบเอ็ดของคนอีสานนั้นเขียนว่า ๑๐๑ ต่อมาคนภายนอกไม่เข้าใจวิธีการเขียนการอ่านของคนอีสาน จึงอ่านผิดเป็นร้อยเอ็ดประตู

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ได้ถูกกรมศิลปากรหักล้างไปเป็นที่เรียบร้อยมาราว 10 ปีมาแล้วจากการตรวจสอบของนักภาษาโบราณของกรมศิลปากรไม่พบว่าในตำนานอุรังคธาตุมีการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูด้วยตัวเลข หากแต่เขียนเป็นตัวอักษรทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอเรื่องสิบเอ็ดประตูจึงเป็นอันต้องยุติ เนื่องจากไม่มีหลักฐานใด ๆ รองรับ

ทั้งที่เรื่องสิบเอ็ดประตูเป็นเพียงข้อเสนอที่ล้าหลังทั้งยังถูกหักล้างไปแล้ว ยังมีหน่วยงานราชการบางแห่งพยายามยัดเยียดข้อมูลดังกล่าวแก่สังคมอย่างต่อเนื่องผ่านงานเทศกาล และกิจกรรมทางการศึกษา ทั้งที่งบประมาณของกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีของประชาชน ซึ่งควรนำมาใช้ศึกษาหาความรู้บนหลักฐานอย่างมีเหตุผลแล้วเผยแพร่ความรู้ที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง

ในนามของผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานเหล่านั้นหยุดเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ได้มีหลักฐานรองรับ และหยุดความพยายามในการใช้อำนาจบิดเบือนให้ยอมรับเรื่องเมืองสิบเอ็ดประตู โดยมีทางออกคือให้ศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการจากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ทางปัญญาแก่ชาวร้อยเอ็ดอย่างแท้จริง.

[จาก “มติชนออนไลน์” วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566. ขออนุญาตและขอบคุณเจ้าของภาพประกอบมา ณ ที่นี้]

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com