ฮานอย (Hanoi) เธอมิใช่เวียดนามในความทรงจำ
ฮานอย จากย่านเดือยต๋าว (Dien Thoai) ไม่ไกลจากสนามบินฮานอย รถประจำทางกำลังพาฉันเข้าเมืองฮานอย นี่เป็นการมาเยือนฮานอยครั้งแรกของฉัน แต่เป็นครั้งที่ 3 สำหรับเวียดนาม ฉันรู้จักเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 2536 จากการเดินทางไปไซ่ง่อน (Saigon) ญาจาง (Nha Trang) และดาลัต (Da Lat) จำได้ว่าตอนนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า (embargo) กับเวียดนาม ต่อมาได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับเวียดนามอย่างเป็นทางการ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
เมื่อ 25 ปีที่แล้ว สงครามเวียดนามหรือสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2498 – 2518 ได้ทิ้งร่องร่อยความเจ็บปวดไว้ให้เวียดนามอย่างแสนสาหัส เมืองต่าง ๆ ที่ฉันเคยเดินทางผ่านไป ล้วนเต็มไปด้วยภาพแห่งความโศกเศร้าหมองหม่น โรงแรมเล็ก ๆ ที่ญาจางซึ่งฉันเคยพักนอนคืนหนึ่ง ก่อนจะขึ้นรถต่อไปที่เมืองดาลัตนั้น ยังปรากฏรอยกระสุนให้เห็นในห้องพัก นี่ยังไม่นับโรงเรียนเล็ก ๆ อีกหลายแห่งแถบชานเมืองและแถบชนบท ที่ดูอย่างไรก็แทบจะไม่ต่างจากค่ายทหารเก่า ๆ เวียดนามในความหลังของฉัน จึงเป็น “เวียดนามสีเทา” เวียดนาม – ที่จิตรกรผู้รอดชีวิตหลังสงคราม วาดบ้านเมืองที่เขาเห็นด้วยภาพของทหารทุพพลภาพ พลเมืองชายหญิงที่มีใบหน้าทุกข์ยาก และเด็ก ๆเวียดนามที่เติบโตขึ้นมาอย่างพิกลพิการ
หากปฏิบัติการทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบิน บี – 52 ของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มบริเวณมุยา (Mu Gia) ในจังหวัดกว๋างบี่ง (Quang Binh) เมื่อปี 2509 จากนั้นขยายไปยังเมืองวีงลีง (Vinh Linh ) จังหวัดกว๋างจิ (Quang Tri ) ก่อนจะจบลงที่กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 18-29 ธ.ค. 2515 คือบาดแผลใหญ่ที่จักรวรรดินิยมอเมริกาในเวลานั้นเลือกใช้ลงโทษเวียดนามเหนือ ประเทศเล็ก ๆ ที่กล้าหาญประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส และเลือกใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ในการปกครองตนเอง กรุงฮานอยที่ฉันเห็นในวันนี้ จึงไม่อาจเป็นสิ่งใดได้เลย นอกจากเด็กน้อยคนหนึ่งซึ่งกำลังเติบโตบนบาดแผลของตนเองเพื่อเป็นผู้ใหญ่อย่างสง่างาม
ฮานอย เมืองหลวงของเวียดนามอาจจะไม่มีบรรยากาศอึกทึกครึกโครม จ๊อกแจ๊กจอแจด้วยเสียงดังลั่นของการติดต่อธุรกิจเหมือนไซ่ง่อนหรือกรุงเทพฯ แต่ฮานอยกลับสวยงามด้วยท่าทีที่เคร่งขรึม มีท่วงทำนองชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ตัดขาดอย่างไร้รากจากประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของเมือง
สุสานโฮจิมินห์
กิโยตินที่ฝรั่งเศสใช้ในการประหารนักปฏิวัติที่กลายเป็นนักโทษการเมืองในเวียดนาม
ถ้าฮานอยเป็นคน บุคลิกภาพของฮานอยก็คือ นักปฏิวัติ นักวิชาการ ผู้คงแก่เรียน ศิลปิน และกวี ! เป็นบุคลิกภาพของ โฮจิมินห์ ! หรือ ลุงโฮ (ลุงโฮของสหายพี่น้องทั้งหลาย ที่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2471 เคยเดินทางมายังประเทศไทยและเคยพำนักอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี นครพนม หนองคาย และอีกหลายจังหวัดที่ริมฝั่งโขงของภาคอีสาน ลุงโฮมาที่อีสานเพื่อจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม และใช้เป็นฐานในการติดต่อและฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการกู้ชาติชาวเวียดนามจากฝรั่งเศส)
คุณฌอง (Jean) นักภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์วรรณนา ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สนับสนุนความเห็นนี้ของฉัน เขาบอกฉันว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างฮานอย เมืองหลวงของเวียดนามที่อยู่ในเวียดนามเหนือ กับไซ่ง่อน ศูนย์กลางทางธุรกิจของเวียดนาม ที่อยู่ในเวียดนามใต้ เขาประทับใจฮานอยมากกว่า เขาให้เหตุผลว่า แม้คนรุ่นใหม่ที่ฮานอยจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกเช่นเดียวกับคนที่เมืองหลวงอื่น ๆ ทั่วโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ กลับทำลายจิตวิญญาณเก่าแก่และบรรยากาศพื้นเมืองอันสวยงามของฮานอยได้เพียงน้อยนิด ฮานอยยังคงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมโบราณ มีประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นเมืองหลวงที่ยังคงความเขียวขจีของต้นไม้และสวนพรรณพฤกษายืนยันถึงปรัชญาการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ดังที่โฮจิมินห์หรือลุงโฮเคยย้ำไว้เสมอสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ (ลุงโฮกล่าวถึงสิ่งนี้ ตั้งแต่ก่อนจะปฏิวัติเวียดนามสำเร็จ ตอนที่ท่านเคลื่อนไหวในภาคอีสานนั้น นอกเหนือจากการแนะนำให้ชาวเวียดนามที่อยู่ในอีสานปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพื่อพึ่งตนเองแล้ว ท่านยังได้ชักชวนให้พวกเขาปลูกต้นไม้ เช่น ต้นมะม่วง มะขาม และมะพร้าว เพื่อเป็นอนุสรณ์อีกด้วย) ซึ่งเมืองที่รักษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเหนียวแน่นเช่นฮานอยนี้ หาได้ยากยิ่งในโลกปัจจุบัน
คุณฌอง มิได้กล่าวเกินจริงแม้แต่น้อย ตึกสีเหลืองไข่ไก่สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมและวัดวาอารามแบบจีน ทั้งที่ตั้งตระหง่านใจกลางเมืองและซ่อนตัวอยู่ใต้ความร่มรื่นของต้นไม้ริมถนน ดูเหมือนจะสอดรับกับข้อเท็จจริงนี้ ตึกและวัดเหล่านี้ เผยให้เห็นโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ฮานอยนับตั้งแต่ยุคศักดินาโบราณ ยุคปลดปล่อยเวียดนามจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและอเมริกา จนกระทั่งถึงยุคใหม่ซึ่งหมายถึงปัจจุบัน สำหรับฉันแล้ว มากไปกว่าอาคารเก่าแก่และวัดโบราณ ใบหน้าของพลเมืองชายหญิงที่นั่งจิบชา กาแฟ หรือเบียร์ตรงร้านเล็ก ๆ ริมถนน ขี่มอเตอร์ไซค์ขนส่งสินค้าทุกชนิด นั่งอยู่บนรถโดยสาร ปั่นจักรยานขายของ หรือง่วนกับการทำสวนทำนา ล้วนคือใบหน้าสำคัญที่ประกอบสร้างฮานอยให้เป็นเมืองหลวงที่มีประวัติศาสตร์อันน่าสนใจอย่างยิ่ง
หากป้อมปราการจักรพรรดิแห่งทังลอง (The imperial Citadel of Thang Long – Hanoi) ที่ตั้งของพระราชวังทังลอง พระราชวังหินที่มีอายุราวกว่า 1,000 ปี, วิหารวรรณกรรม (Temple of Literature) โรงเรียนของพวกขุนนางและสถานที่สอบจอหงวน, วัดหง็อกเซิน (Ngoc Son) เจดีย์เตริ่นกว็อก (Tran Quoc Pagoda) ริมทะเลสาบโฮไต (West Lake) และทะเลสาบฮวานเกี๋ยม (Ho Hoan Kiem) หรือทะเลสาบคืนดาบ (Lake of Restored Sword) สะท้อนอิทธิพลของจีนที่มีต่อแคว้นตังเกี๋ยหรือเวียดนามเหนือยุคศักดินา ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและความเชื่อในลัทธิขงจื๊อ พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Museum) สุสานโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Mausoleum) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม (National Museum of Vietnamese History) พิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนาม (Vietnamese Women’s Museum) รวมถึงพิพิธภัณฑ์คุกหัวลอ (Hoa Lo Prison Museum) ดูเหมือนจะบอกถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม ถ้าอย่างแรกหมายถึงความรุ่งโรจน์ของชนชั้นสูง อย่างหลังมิอาจเป็นสิ่งใดได้ เว้นเสียแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ยากของคนสามัญชนชั้นล่าง คนเหล่านี้นี่เองที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้ปลดปล่อยเวียดนามจากการกดขี่ครอบงำของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและอเมริกา อย่างองอาจและทระนง
จากทางเท้าและถนนเรียบทะเลสาบโฮไต เมื่อฉันเดินและนั่งรถโดยสารผ่าน ฉันค้นพบว่า ฮานอยที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าฉัน สวยงามยิ่งกว่าคำบรรยายจากหนังสือเล่มใดในโลก เจดีย์เตริ่นกว๊อกและวิหารวรรณกรรมซึ่งอวลด้วยกลิ่นธูปของศาลเจ้า มีจารึกชื่อของจอหงวน และรูปปั้นของเทพเจ้าจีน ช่างเต็มไปด้วยเสน่ห์อย่างน่าประหลาด ภาพเอ็กโซติกของวัฒนธรรมเวียดนามโบราณดังกล่าวนี้ ดูเหมือนจะขัดแย้งหรือตัดกันอย่างรุนแรงกับภาพที่ฉันเห็นในพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ สุสานโฮจิมินห์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม และพิพิธภัณฑ์คุกหัวลอ ที่พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ ฉันได้เรียนรู้ว่าในยุคปลดปล่อยนั้น สงครามไม่เพียงแต่เป็นความยากลำบาก แต่มันคือความทุกข์ทรมานเกินขีดความอดทนของมนุษย์ผู้หนึ่ง คนเวียดนามคนแล้วคนเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า ต้องสังเวยความโหดร้ายของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและอเมริกาด้วยความตายและความพิกลพิการ เสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชาติเล็ก ๆ เช่นเวียดนามในหน้าประวัติศาสตร์ จึงเป็นเสรีภาพที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและวิญญาณ คุกมืดหัวลอแท้จริงแล้ว ก็คืออนุสรณ์สถานที่บอกลูกหลานชาวเวียดนามผู้เกิดมาภายหลังว่า การปฏิวัติคือการหลอมรวมใจของคนทั้งชาติเพื่ออดทนต่อความทุกข์ทรมานทั้งปวงและเพื่อที่จะผ่านมันไปให้ได้ การปฏิวัติไม่มีอะไรโรแมนติก จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่และกิโยตินในการปราบปราม ในขณะที่ชาวเวียดนามใช้เพียงมีดพร้า และปืนเล็ก ๆ ที่ผลิตกันเองตามหมู่บ้านผู้ร่วมการปฏิวัติ ชัยชนะของเวียดนามเหนือฝรั่งเศสที่สมรภูมิรบเดียนเบียนฟู ในสงครามอินโดจีน จึงเป็นชัยชนะที่ลอยอยู่บนทะเลเลือดและน้ำตา
วัดของเจดีย์เตริ่นกว๊อกริมทะเลสาบโฮไต แวดล้อมด้วยทัศนียภาพสวยงาม
บรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ที่วิหารวรรณกรรม
เมื่อมองรอบ ๆ ทะเลสาบโฮไตในวันนี้ ฉันรู้สึกว่าท้องฟ้าสีฟ้าที่โอบอุ้มก้อนเมฆสีขาวเหนือตึกในฮานอยนั้นสะอาด หมดจด และใสกระจ่างกว่าวันอื่น ฉันเชื่อว่าความสวยงามของมันคือสัญลักษณ์ที่บอกฉันว่า บาดแผลของสงครามที่ชาวเวียดนามได้เผชิญมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สงครามอินโดจีน พ.ศ. 2489 กำลังจะหายสนิท ภาพเก่า ๆ ชวนสลดใจของเวียดนามใน พ.ศ. 2536 ที่ฉันเคยเห็นครั้งแรกในไซ่ง่อน ญาจาง หรือดาลัต เช่น ภาพเด็กน้อยเนื้อตัวมอมแมมขณะกำลังคุ้ยขยะ หญิงสาวหอบลูกน้อยแบมือขอเงินนักท่องเที่ยว กวียากจนที่อาศัยอยู่ในบ้านดิน คนหนุ่มสาวหลังค่อมพิกลพิการ หรือทหารผ่านศึกแขนขาขาด แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ยุคโลกาภิวัตน์ ระบอบทุนนิยมได้บุกยึดไปทั่วทุกมุม รวมถึงเวียดนามด้วย แม้ว่าไซ่ง่อนได้เปิดรับความเป็นตะวันตกค่อนข้างมากจนมีคำกล่าวว่า ไซ่ง่อนในปัจจุบันไม่ต่างจากกรุงเทพฯ แต่ฮานอยกลับรักษาเกียรติภูมิของตนเองด้วยการสงวนท่าทีต่อการเปลี่ยนแปลง
เป็นความจริงที่ว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ การพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการประมงในเวียดนามทำให้เศรษฐกิจของฮานอยเจริญเติบโตขึ้นมาก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ฮานอยละทิ้งภาพเมืองหลวงของนักปฏิวัติ หรือกวีผู้ยืนหยัดในการถนอมรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเวียดนามเลย ข้อเท็จจริงนี้สังเกตได้จากการที่ฮานอยไม่มีตึกสูงระฟ้า ไม่มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ของทุนผูกขาด ไม่มีอาหารจานด่วนเฟรนไชน์จากต่างประเทศ หรือถ้ามีก็ยังนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก คนฮานอยยังนิยมทำอาหารกินเองที่บ้าน และร้านขายสินค้าประเภทต่าง ๆ เช่นร้านขายเสื้อกันฝน ร้านขายเสื้อผ้าธรรมดา ร้านขายของชำ ร้านขายอะไหล่มอเตอร์ไซค์และจักรยาน รวมถึงข้าวของที่จำเป็นอื่น ๆ ยังคงกระจัดกระจายให้เห็นทั่วตัวเมืองและชานเมืองฮานอย
คุณเฮือง ศิลปินสาว ผู้กำกับหนังอาร์ตชาวเวียดนามคนหนึ่งที่ฉันพบ ได้แสดงทัศนะต่อฮานอยเมืองที่เธออยู่ว่า ฮานอยมีจิตวิญญาณบางอย่าง ที่นักธุรกิจหรือคนที่หวังผลตอบแทนทางการเงินไม่มีวันเข้าใจ ศิลปิน คนทำหนัง และกวีส่วนใหญ่หลงรักฮานอยเพราะว่าฮานอยมีความเป็นมนุษย์ พวกเขาสร้างงานศิลปะ ทำหนัง และเขียนกวี เพียงเพราะว่ามันตอบโจทย์ในหัวใจ หนังที่ถูกสร้างในฮานอยไม่ใช่หนังโรแมนติกตามกระแสที่ทำเงินได้สูงเหมือนกับหนังที่ถูกสร้างในไซ่ง่อน แต่เป็นหนังที่ทำให้เราในฐานะผู้ชมต้องขบคิด
ตอนที่แท็กซี่พาฉันออกจากเดือยต๋าว มุ่งหน้าไปยังสนามบินฮานอยนั้น ฉันลอบมองบ้านเรือนหลังน้อยใหญ่ ตามตรอกซอกซอยที่แท็กซี่พาฉันผ่านไป บ้านเรือนเหล่านี้แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในแง่ของความเก่าใหม่และความใหญ่โต แต่ความแตกต่างนั้นกลับไม่ได้ชัดเจนเหมือนภาพตึกระฟ้าและสลัมในกรุงเทพฯเลย เท่าที่ฉันสังเกตดู แทบทุกบ้านในฮานอยใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลักเหมือนกัน ใช้รถยนต์น้อยมาก ครอบครัวส่วนใหญ่ก็ยังเป็นครอบครัวขยายที่มี ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่น้อง อยู่รวมกัน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความอัศจรรย์ใจแก่ฉันเป็นพิเศษก็คือ การได้เห็นภาพของ โฮจิมินห์ ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเวียดนาม ปรากฏบนหิ้งของบ้านทุกหลัง ลุงโฮนักปฏิวัติผู้มีหัวใจกวี และลุงโฮมนุษย์เดินดินผู้รักชาติและประชาชน บัดนี้ได้กลายเป็นเทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจของชาวเวียดนามในปัจจุบันไปเสียแล้ว
หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อ้างอิง
อาณัติ อนันตภาค, ประวัติศาสตร์เวียดนาม ใต้เงามหาอำนาจสู่เอกราชแห่งแผ่นดิน, ยิปซี สำนักพิมพ์, 2558
ดุษฎี ปัญญา และ วรดุลย์ ตุลารักษ์, สารคดี รอยยิ้มใต้ธงแดง โลกสีฟ้า, หนังสือพิมพ์สยามโพสต์, วันที่ 4 กรกฎาคม 2536
ศุขปรีดา พนมยงค์, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, มิ่งมิตร พิมพ์เผยแพร่, พิมพ์ครั้งที่ 4 2553
Administration Board of Hao Lo Prison Historical Relic, Hao Lo Prison Historical Relic, 2013
ขุนทอง ลอเสรีวานิช, การยกเลิกเอ็มบาร์โกเวียดนามของสหรัฐกับผลกระทบต่อไทย, นิตยสารผู้จัดการ, กุมภาพันธ์ 2537
เวียดนามฉลองใหญ่ 40 ปี “ยุทธการ 12 วัน 12 คืน”, MGR Online, 20 ธันวาคม 2555
ข้อมูลบางส่วนจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติเวียดนามและพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์
สวนพรรณพฤกษาใจกลางฮานอย
ผู้หญิงเวียดนามขยันขันแข็งมาก รถจักรยาน เล็ก ๆ ของพวกเธอสามารถขายของได้ทุกอย่าง นับตั้งแต่ของกินจนกระทั่งกิ๊บติดผม
ในเวียดนาม รถมอเตอร์ไซค์เพียงหนึ่งคันสามารถพาทั้งผู้คนและข้าวของไปถึงที่หมายได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
บรรยากาศตลาดเช้าที่ชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชานเมืองฮานอย
ป้ายที่หน่วยงานแห่งหนึ่งของรัฐบาลเวียดนาม