ฮีตเดือนเจ็ด
ประเพณีบุญเดือนเจ็ด หรือบุญซำฮะ เป็นงานบุญที่ชาวลาวและชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีจุดประสงค์เพื่อปัดรังควานและขับไล่เสนียดจัญไร ตลอดถึงเหล่าภูตผีปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน
คำว่า ซำฮะ (ชำฮะ) หมายถึง การชำระล้างสิ่งที่เป็นความชั่วร้าย หรือสิ่งเลวร้ายที่เกิดจากนํ้ามือของมนุษย์ การทำบุญซำฮะเป็นงานบุญที่นิยมทำกันในเดือน ๗ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม เรียกว่า บุญซำฮะบ๋าเบิก๑ วัตถุประสงค์ของการทำบุญเดือนนี้ก็เพื่อการชำระสะสางสิ่งสกปรกโสโครกให้ออกไปให้สะอาดปราศจากมลทินโทษหรือความมัวหมอง โดยเมื่อถึงฤดูเดือน ๗ แล้วทั้งในเมืองและนอกเมืองจะทำพิธีเลี้ยงบูชาเทพารักษ์ มเหศักดิ์เมือง หูเมือง ตาเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ตามคอง ๑๔ แล้วเชิญเทวดาอารักษ์ มเหศักดิ์เข้ามาชำระบ้านเมืองป้องกันอันตรายฝ่ายมิจฉาทิฏฐิคิดไม่ดีต่อบ้านเมืองเพื่อไม่ให้เกิดภัยอันตรายด้วยสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ได้การนับถือผี นับถือบรรพบุรุษ และบูชาแถน (ผีฟ้าหรือเสื้อเมือง)๒ เป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวอีสาน โดยมีนิทานสืบสานฮีตเรื่องเหตุการณ์ร้ายในเมืองเวสาลี และต้นความเชื่อการเกิดฮีตเรื่องผีร้ายเข้าทำร้ายมนุษย์ ดังนี้
๑ ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ, อีสาน เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๔), หน้า ๔๕.
๒ สุเทพ ไชยพันธุ์, ผู้ไทลูกแถน, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ตถาตา, ๒๕๕๖), หน้า ๓๐๘.
ประวัติภัยร้ายเมืองเวสาลี
ในสมัยก่อนพุทธกาล ในเขตชมพูทวีป ยังมีเมืองหนึ่งชื่อว่า พาราณสี (Varanasi) เจ้าผู้ปกครองเมืองมีอัครมเหสีพระองค์หนึ่ง อยู่มาไม่นานพระนางก็ได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกแต่ไม่รู้เพศ ด้วยว่าสิ่งที่นางคลอดออกมานั้นไม่ใช่ร่างทารกธรรมทั่วไปแต่กลับเป็นก้อนเนื้อ มีลักษณะสีแดงสดเหมือนกับนํ้าครั่งหรือสีดอกทองกวาว
ต่อมาพระนางจึงให้คนรับใช้นำเอาก้อนเนื้อนั้นใส่ภาชนะปิดฝาไว้อย่างดีและตีตราพระธำมรงค์ไว้แล้วนำไปใส่แพที่จัดทำไว้อย่างแน่นหนาทนทานต่อการกระแสนํ้าและการหล่นตกนํ้าได้ โดยให้ไปลอยที่แม่นํ้าคงคาชึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก จากการกระทำนี้เทวดาในเขตแม่นํ้าได้เห็นก็เข้าไปปกปักรักษาไว้ไม่ให้เกิดอันตรายใด ๆ แพได้ลอยไปตามกระแสลำนํ้าคงคาอย่างปลอดภัย
ในครั้งนั้นยังมีฤๅษีตนหนึ่งสร้างอาศรมบำเพ็ญธรรมอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าคงคา โดยมีตระกูลของนายโคบาลเจ้าของไร่เลี้ยงวัวนมและวัวเนื้อเป็นผู้อุปัฏฐากประจำ ในเวลาเช้าวันนั้นท่านฤๅษีได้ลงไปท่าแม่นํ้าคงคาได้พบแพก้อนเนื้อลอยเข้ามา ต่อมาอีก ๑๕ วันก้อนเนื้อก็ได้พัฒนากลายเป็นทารกน้อยมีลักษณะรูปร่างสมบูรณ์ดีผิวพรรณดีเหมือนกับมะพลับทอง ก้อนหนึ่งเป็นทารกชายอีกก้อนหนึ่งเป็นทารกหญิง เมื่อกลายเป็นมนุษย์แล้วก็ยิ่งเพิ่มความรักความเอ็นดูให้กับท่านฤๅษี มีความรักใคร่ให้เหมือนกับลูกในไส้ของตนเอง ท่านฤๅษีให้ดูดกินนํ้านมจากนิ้วของตนเองแทนนมมารดา นํ้านมนั้นก็ไหลออกมาจริงด้วยบุญญาบารมีของทารกทั้งสองนั้น แต่ว่าทารกทั้งสองมีผิวหนังห่อหุ้มร่างกายที่บอบบางมาก จนสามารถมองทะลุเข้าไปข้างในได้จึงได้ชื่อว่า ลิจฉวี (เพราะไม่มีผิวหนังหรือผิวหนังหายไป และได้เป็นชื่อ ราชวงศ์ลิจฉวี ในเวลาต่อมา) มีลักษณะโปร่งใสเหมือนแก้ว เพราะมีผิวหนังไม่เหมือนกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไป เวลากินสิ่งใดลงไปในท้องก็จะมองเห็นสิ่งนั้นเลย๓
๓ ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม. พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔๗. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘), หน้า ๓๑๕-๓๒๒.
เมืองพาราณสี เป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสี อยู่ริมแม่นํ้าคงคา ปัจจุบันเรียก พานารัส (Banaras) ขึ้นกับรัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ในอดีตเคยเป็นนิวาสสถานเดิมของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลิจฉวี
ต่อมาเมื่อเด็กทั้งสองโตขึ้น มีอยู่วันหนึ่งท่านฤๅษีได้เข้าไปรับบิณฑบาตในหมู่บ้าน เด็กทั้งสองได้เดินตามไปด้วย ครั้นไปถึงบ้านตระกูลอุปัฏฐาก นายโคบาลได้เห็นเด็กทั้งสองก็เกิดความเมตตารักใคร่อยากได้ไปเป็นลูกของตนเอง พระฤๅษีก็ยินดียกเด็กทั้งสองคนให้ไปดูแล โดยยํ้าว่าเมื่อได้รับเด็กไปแล้วก็ขอให้เลี้ยงดูเป็นอย่างดีเหมือนลูกในไส้ของตน เมื่อเด็กทั้งสองเจริญวัยขึ้นร่างกายก็กลับเข้าสู่ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่มีนิสัยไม่ดีอย่างหนึ่งมักจะไปรังแก่ลูก ๆ หลาน ๆ ของนายโคบาลเมื่อสามีเห็นเชน่ นั้นก็รู้สึกไม่ดีกับความรู้สึกของภรรยา แต่ก็มีความเกรงใจต่อพระคุณเจ้าพระฤๅษีอยู่ จึงนึกถึงคำสั่งของพระฤๅษีได้ นายโคบาลจึงเดินทางเข้าพระราชวังกราบทูลเรื่องราวให้พระราชาฟังพร้อมขอสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ให้เด็กทั้งสองนั้นพระราชาก็ให้ตามที่ขอมา แล้วจัดการบริหารบ้านเมืองใหม่นั้นให้เป็นไปตามความถูกต้องและชอบธรรมต่อไป เมืองที่สร้างขึ้นใหม่นั้นได้ชื่อว่า วัชชี (แปลว่า ขับไล่ เพราะถูกภรรยาของนายโคบาลขับไล่ออกจากบ้านมา) แล้วอภิเษกเด็กทั้งสองขึ้นปกครองเมือง พร้อมทั้งให้โยมอุปัฏฐากของท่านฤๅษีเป็นผู้สำเร็จราชการก่อน เมื่อเด็กทั้งสองเจริญวัยแล้วจึงให้ว่าราชการเอง เมื่อทั้งสองมีอายุได้ ๑๖ ปีบริบูรณ์ จึงให้อภิเษกสมรสกันเอง กระทั่งเป็นต้นตระกูลลิจฉวีต่อมา
เมื่อวันเวลาผ่านไปทั้งสองก็ให้กำเนิดบุตรและธิดาอย่างละคน เจริญวัยโตเป็นหนุ่มสาวอายุได้ ๑๖ ปีแล้ว ก็ได้แต่งงานอยู่กินกันเป็นสามีภรรยาเป็นการภายในเลย หลังจากนั้นก็ขยายเผ่าพันธุ์มากขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งผู้คนทั้งหลายก็มีมากขึ้น บ้านเมืองก็พัฒนามาตามกาลเวลาที่ล่วงเลยมา จากเมืองเล็กจนกลายเป็นมหานครเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครอง จนกลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี ชื่อ เวสาลี
ในสมัยพุทธกาล เมืองเวสาลีเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี มีกษัตริย์ลิจฉวีเป็นเจ้าผู้ปกครองเมือง มีอยู่ครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อประสบกับทุพภิกขภัย ผู้คนทั้งหลายเกิดความขัดสนยากจน มีความเดือดร้อนทุกข์ยากไปทุกหย่อมหญ้า จึงพากันอดอยากล้มตายลงเป็นจำนวนมาก จนซากศพเกลื่อนแผ่นดินส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพระนคร
ในครั้งนั้นไดมี้หมู่อมนุษย์ทั้งหลาย มีผีและสัตว์ร้ายที่ชอบกินซากศพ ได้ก็เข้ามาแทะกินซากศพกันอย่างมาก ต่างก็พากันมุ่งตรงมาสู่เขตพระนครแห่งนี้ เมื่อกินซากศพแล้วก็เข้าไปปะปนกับชาวบ้าน จึงเป็นเหตุให้ชนผู้คนในพระนครได้ติดโรคระบาดไปทั่วมีอหิวาตกโรคและโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคติดต่อกันอย่างแพร่หลาย จนผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคราวนั้นพากันล้มตายจำนวนมาก
เมื่อเหตุการณ์ร้ายดังกล่าวเข้าคุกคามอย่างหนัก ผู้คนในพระนครต่างได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า จึงจับกลุ่มชักชวนกันเข้าไปร้องทุกข์ต่อสภากษัตริย์ลิจฉวีว่า “ข้าแต่มหาราชเหตุร้ายได้เกิดในพระนครแล้ว แต่ก่อนแต่ไรมาหากนับย้อนหลังไปตั้งแต่เจ็ดชั่วระยะกษัตริย์ผู้นำที่ผ่านมา ยังไม่เคยพบเคยเห็นภัยอย่างนี้เลย เหตุไรจึงมาเกิดภัยเช่นนี้ได้พระเจ้าข้า…! หรือว่า อาจจะมาจากเหตุที่ราชสภาและพระราชาไม่ได้ตั้งอยู่ในคุณธรรม หรือว่าอาจจะเป็นเพราะผู้คนทั้งหลายในเวสาลีนครนี้ ไม่ได้สนใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษเห็นชั่วเป็นดี มีพฤติกรรมหมกมุ่นใส่ใจในกามคุณ มัวเมาประมาทขาดสติไม่ยึดมั่นในธรรมแล้ว หรือว่าอาจจะมาจากสาเหตุที่นักบวชต่าง ๆ ในศาสนาไม่ได้ทรงศีลสิกขา สนใจในลาภยศสรรเสริญจนเกินไป มีพฤติกรรมเหมือนชาวบ้านไปแล้ว เอาบุญบาปมาหลอกขายหาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดกาลกิณีขึ้นในบ้านนี้เมืองแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงไตร่ตรองด้วยเถิด พระเจ้าข้า…!”
ฝ่ายสภากษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็ไม่อาจที่จะจับต้นชนปลายถึงสาเหตุการเกิดภัยร้ายในครั้งนี้ได้ ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันไปมาในที่สุดแล้วในที่ประชุมราชสภาต่างเห็นพ้องต้องกันถ้วนหน้าว่า ต้องไปทูลเสด็จให้พระพุทธเจ้ามาโปรดและก็รู้ว่าตอนนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์๔ (Rajgir) ครั้งนั้นมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นเจ้าผู้ปกครองเมือง พร้อมทั้งชาวเมืองเป็นผู้อุปัฏฐากท่านอยู่ ในที่ประชุมมีแผนการให้เข้าไปหาพระเจ้าพิมพิสารให้มีพระบรมราชานุญาตก่อน แล้วจึงค่อยเข้าไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเป็นลำดับมา ในที่สภาจึงได้มอบหมายให้เจ้าลิจฉวี ๒ พระองค์ พร้อมไพร่พลเป็นบริวารนำเครื่องบรรณาการต่าง ๆ ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอให้พระองค์ทรงอนุญาตให้ทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้ามายังนครเวสาลีเมื่อไปถึงแล้วจึงได้กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ได้โปรดส่งพระพุทธเจ้าไปโปรดบ้านเมืองของพวกข้าพเจ้า เพื่อดับทุกข์ภัยที่มีให้หายไปด้วยเถิดพระเจ้าข้า…!”
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้ทรงสดับเช่นนั้นและทราบถึงความทุกข์ร้อนของชาวนครเวสาลี อีกทั้งยังเป็นความต้องการของพระเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจึงตรัสขึ้นว่า “เราไม่ได้มีความเป็นใหญ่เหนือกว่าพระพุทธเจ้าหรอก… จงพากันเข้าไปวัดโน้นแล้วกราบทูลอาราธนาเอาเองเถิด” แล้วจึงทรงอนุญาตให้ชาวนครเวสาลีไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าตามประสงค์ เมื่อเดินทางมาถึงวัดเวฬุวันมหาวิหารแล้วเข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีเหตุเภทภัยหลายอย่างเกิดขึ้นในบ้านในเมืองของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายมาขอพึ่งบุญบารมีให้เสด็จไปโปรด ความเลวร้ายเหล่านั้นจะได้หายไปความสุขความสวัสดีจะได้กลับมาเหมือนเดิมพระเจ้าข้า…!”
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นเช่นนี้จึงได้ตัดสินใจรับคำอาราธนา ในการเสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจในคราวครั้งนี้ ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบการรับคำอาราธนาของพระพุทธเจ้าจึงให้ผู้คนออกประกาศข่าวให้ประชาชนให้รู้ทั่วกัน แล้วเสด็จเข้ากราบทูลให้พระพุทธเจ้าชะลอการเดินทางไว้ก่อนให้สร้างถนนจากกรุงราชคฤห์ไปจนถึงริมฝั่งแม่นํ้าคงคาก่อน มีระยะทางยาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร และได้สร้างศาลาที่พักไว้ริมทางด้วยมีทุกระยะ ๑๖กิโลเมตร มีจำนวน ๕ หลังด้วยกัน พร้อมทั้งให้ตั้งนํ้าดื่มนํ้าฉันและปลูกไม้ดอกไม้ประดับด้วย แล้วสั่งให้ประดับตกแต่งทั้งสองข้างทางด้วยการปักธง และปักต้นกล้วยต้นอ้อยตามรายทางอย่างสวยงาม
เมื่อเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สามเณรประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จพระดำเนินไปสู่นครเวสาลี ในเวลาที่เสด็จนั้นพระราชาลิจฉวีและหมู่เสนาอำมาตย์ พร้อมทั้งชาวพระนครองค์อินทรเทวพรหมมินทร์ทั้งหลาย ได้พากันเฝ้ารับเสด็จในระหว่างทางไป ด้วยการโปรยทรายดอกไม้ของหอม พร้อมยกฉัตรกางกั้นแสงอาทิตย์ ให้กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สามเณรอันละรูป จัดตั้งแถวเกียรติยศเสนาอำมาตย์และทหารทั้งหลาย ต่างก็พากันยืนเป็นแถวถวายพระเกียรติ ในขณะเดินทางพระเจ้าพิมพิสารก็เดินตามส่งเสด็จ หากมีการหยุดพักระหว่างทางพระราชาและหมู่ชน ต่างก็พากันจัดหาภัตตาหารที่ดีรสเลิศที่สุด น้อมนำมาถวายแด่พระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์สามเณร ในระยะที่ ๑ ใช้เวลา ๕ วันในการเดินทางจากกรุงราชคฤห์ถึงแม่นํ้าคงคา เมื่อพระเจ้าพิมพิสารมาส่งที่ท่าริมฝั่งแม่คงคานั้น แล้วก็รอการเสด็จกลับมาของพระพุทธเจ้าพร้อมคณะด้วย
ครั้นเสด็จพระดำเนินมาถึงริมฝั่งแม่นํ้าคงคาพญานาคราชผู้สถิตอยู่ในแม่นํ้าคงคา ก็ขึ้นมาถวายเครื่องสักการะแล้วเนรมิตวงกายให้เป็นเรือใหญ่แล้วทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าขึ้นประทับบนอาสนะที่นั่ง พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่ติดตามมารูปละลำเรือ พร้อมกางกั้นเศวตฉัตรซ้อน ๆ กัน ถวายพระพระพุทธเจ้า ๔ คัน ถวายพระสงฆ์สามเณรรูปละ ๒ คัน ส่วนเจ้าลิจฉวีและชาวพระนครก็ให้ขึ้นเรือแพที่จัดเตรียมมา แล้วเรือก็แล่นตรงไปยังนครเวสาลี ในระยะที่ ๒ เดินทางอยู่ประมาณ ๔๘ กิโลเมตร กินเวลา ๓ วัน จึงถึงท่าริมฝั่งแม่นํ้าเมืองเวสาลี
ในระหว่างการเดินทางพญานาคราชและบริวารได้ถวายการรักษาความปลอดภัยพระพุทธเจ้า และหมู่พระสงฆ์สามเณร ไม่ให้เกิดอาการสะเทือนตกใจใด ๆ จากคลื่นซัดลมพัดหรือนํ้าไหลเชี่ยวแรง เรือพญานาคราชนั้นก็สามารถบรรเทาสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเขตนครเวสาลี เจ้าลิจฉวีพร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย ก็พากันมาสักการะถวายการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ดีกว่าที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็แสดงอาการทำให้เมฆฝนตั้งเค้า สายลมทั้งหลายก็พัดหอบเอาเมฆมารวมไว้บนท้องฟ้า อยู่บริเวณเหนือนครเวสาลีนั้น ครั้นพระพุทธเจ้าย่างพระบาทเหยียบยืนบนแผ่นดินแดนเวสาลีแล้ว เม็ดฝนก็ตกลงมาทันทีหากใครต้องการให้เปียกก็เปียกไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก อยากให้เย็นก็เย็นไม่อยากให้เย็นก็ไม่เย็น เมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ภายในพระนครเวสาลีเป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เคยขาดไปนานมากกว่าเจ็ดปีแล้ว เม็ดฝนนั้นก็โปรยปลายลงมาอย่างไม่หยุดหย่อน จนท่วมภาคพื้นแผ่นดินไปทั่วปฐพี บางที่ถึงขนาดเข่า บางที่ท่วมถึงเอวหรือบางที่ท่วมถึงคอก็ยังมี กระแสนํ้าได้พัดพาเอาซากที่ไม่ดีทั้งหลาย และสิ่งปฏิกูลมูลกลิ่นเหม็นทั้งหลายก็ไหลลงสู่แม่นํ้าคงคาไปจนหมดสิ้น
ครั้นเมื่อสายฝนหยุดตกลงแล้ว หมู่เทพเทวดาทั้งหลายก็ได้เสด็จมาเข้าเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้าฝ่ายพวกอมนุษย์ผีสางนางไม้ทั้งหลาย พอเห็นเทพเทวดาทั้งหลายได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ต่างก็รู้สึกเกรงกลัวพระเดชานุภาพ กลัวจะเกิดอาเพศเวรร้ายแก่พวกตนจึงได้พากันหลีกหนีไป
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงประตูเมือง เห็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับแล้ว จึงได้ตรัสเรียกพระอานนท์ให้เตรียมเครื่องพลีกรรม เพื่อทำพิธีกรรมในการเชิญพวกผีร้ายต่างให้ออกไป ในเวลาต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงรัตนสูตร เพื่อโปรดเทพเทวดาทั้งหลาย เมื่อทรงแสดงธรรมเทศนาจบลง พระพุทธเจ้าก็ได้สาดนํ้ามนต์ขึ้นไปบนท้องฟ้าพวกอมนุษย์ผีสางนางไม้ที่ยังไม่หนีไป ที่อาศัยอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น กองขยะ ตามบ้าน ตามต้นไม้เป็นต้น ก็ได้พากันหนีออกไปตามประตูเมืองทั้งสี่แห่งแต่ก็ไม่พอกันออก ก็ได้พากันทะลุกำแพงเมืองออกไป เมื่อสิ่งเลวร้ายออกไปหมดแล้ว ความเป็นมงคลก็บังเกิดแก่ชาวเมืองเวสาลีทั้งปวง ความไม่เป็นมงคล หรืออุปัทวันตรายทั้งหลายก็หยุดระงับหมดทุกอย่าง พวกมนุษย์และเทพเทวดาทั้งหลายมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
หลังจากที่เทพเทวดาได้รับพระธรรมแล้วก็ได้พากันเสด็จกลับไป กลุ่มมหาชนต่างก็พากันติดตามสักการะพระอานนท์ ด้วยดอกไม้และของหอมต่าง ๆ ในบริเวณท่ามกลางนคร แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงมีพระกรุณาแสดงธรรมเทศนาเรื่องรัตนสูตร๕ เพื่อโปรดชาวพระนครเวสาลีอีกคำรบหนึ่ง และได้แสดงพระสูตรนี้เพื่อฉลองศรัทธาติดต่อกันเป็นเวลา ๖ วัน จึงยุติการแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ หลังจากพระองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์สามเณรได้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ภายในพระนครเวสาลีเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน จึงได้เสด็จกลับสู่เมืองราชคฤห์ตามเดิม ในระหว่างการเดินทางในช่วงเสด็จมาถึงริมแม่นํ้าคงคาพญานาคและบริวารได้เฝ้าคอยรักษาความปลอดภัยและความสะดวกสบายต่าง ๆ ด้วยการเนรมิตกายให้เป็นเรือพระที่นั่งถวาย พร้อมถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งหลายด้วย ในช่วงเวลาที่เดินทางกันอยู่นั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงธรรมเทศนา เพื่อโปรดพญานาคและบริวารด้วยจนเสด็จถึงกรุงราชคฤห์
เมื่อมาถึงแล้วชาวพระนครราชคฤห์พร้อมพระเจ้าพิมพิสาร ต่างก็ได้มารอรับและถวายเครื่องสักการะต้อนรับ อย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้วันที่มาส่งเช่นกัน
นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นความศรัทธา มีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะ ปราชญ์ชาวอุษาคเนย์จึงนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับชาวพุทธ จึงได้คิดริเริ่มงานบุญซำฮะร่วมกันขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเลือกเหตุการณ์ที่ผีสางเทวดาพวกภูมิเจ้าที่ก่อความเดือดร้อน ซึ่งเป็นภัยที่มองไม่เห็นในครั้งนั้น ซึ่งเหมาะกับช่วงเวลาฝนตกลงมา และมีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วงเดือนนี้ จึงเรียกว่า บุญเดือนเจ็ด
๔ กรุงราชคฤห์ ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดนาลันทาซึ่งอยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ ๑๓ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากพุทธคยาประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ในเขตรัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย
๕ รัตนสูตร หมายถึง พระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องของพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ หรือรัตนปริตรบทสวดเพื่อความร่มเย็นในชีวิต เป็นบทที่ว่าด้วยคุณค่าและอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย ตามคติโบราณนิยมถือว่าหากสวดเป็นประจำแล้ว สามารถที่จะขจัดโรคภัยต่าง ๆ ภูตผีปีศาจจะไม่มารบกวน ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ประกอบอาชีพใด ๆ ก็จะได้รับความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับไป
เวสาลี หรือไวศาลี ชื่อเมืองหลวงของแคว้นวัชชี ตั้งอยู่ทาง ทิศตะวันออกของลำนํ้าคัณธกะ เป็นเมืองโบราณในสมัย พุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของกษัตริย์ ราชวงศ์ลิจฉวีภาพวาดสีนํ้าแสดงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับภัยร้ายเมืองเวสาลี ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
พระพุทธรูปปางประทับเรือขนาน แสดงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงประทับเรือไปดับทุกข์ให้ชาวเมือง เวสาลี ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ระเบียงรอบองค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐมพระพุทธ ปางห้ามพยาธิ ที่แสดงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหารย์ โดยยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่า พระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม ทำให้ภัยต่าง ๆ เช่น โรคร้ายหายสิ้นไปจากพระนครด้วยพุทธานุภาพ
ประวัติผีโกรธเมืองมนุษย์
เมื่อครั้งเทพบุตรมาเกิดเป็นผู้ชายมีลักษณะรูปร่างคล้ายสุนัข และเทพธิดาเกิดมาเป็นผู้หญิงมีรูปร่างสวยงาม ถือได้ว่าเป็นมนุษย์คู่แรกผู้ให้กำเนิดผู้นำที่เฝ้ารักษามวลมนุษย์ และเป็นต้นตระกูลเจ้าปกครองเมืองหรือเป็นเจ้ามหาชีวิต ได้ตายจากเพศมนุษย์นี้ไปแล้ว ลูกหลานเหลนหล่อนก็ได้นำร่างไปบรรจุไว้ที่ถํ้าหินภูเขากล้า ใกล้ ๆ กับบริเวณวังนํ้าวนแห่งหนึ่งชื่อว่า วังสามหมอ เมื่อลูกหลานเสียชีวิตก็นำศพมาไว้ตรงนี้แล้วกลายเป็นบริวารไป อยู่ต่อมาก็มีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ ดวงวิญญาณเทพและเทพธิดานั้นก็กลายเป็นเจ้าตนที่พิเศษ และมีอิทธิปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจเหนือกว่าสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ สามารถจำแลงแปลงกายหายตัวไปไหนมาไหนได้ แต่ไม่ปรากฏกายให้ใครได้เห็นง่าย ๆ คอยให้ความช่วยเหลือลูก ๆ หลาน ๆ หรือผู้คนทั่วไป
เวลาต่อมาผู้คนทั้งหลายได้เรียกเจ้าตนวิเศษมีชื่อใหม่ว่า มเหศักดิ์ เป็นชื่อที่ทรงเกียรติ เป็นครูหลวงครูต้นเค้าในยุคต้น ๆ นั้น เมื่อไมมี่ที่อยู่ชาวบ้านชาวเมืองจึงได้พร้อมใจกันจัดสร้างหอขึ้นให้ใหม่ ที่บริเวณภูเขากล้าเป็นอาคารหลังแรก ประดับตกแต่งอย่างสวยงามที่บริเวณภูเขากล้าเป็นอาคารหลังแรกพร้อมด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างครบครัน เมื่อจัดแต่งเครื่องสักการบูชาพร้อมทั้งสิ่งของเซ่นไหว้ต่าง ๆ แล้วจึงอัญเชิญองค์มเหศักดิ์ให้เสด็จมาประทับอยู่ที่หอนั้น จึงถูกเรียกว่า หอมเหศักดิ์
ในเวลาต่อมาเมื่อเจ้าแผ่นดินได้ให้ลูก ๆ ออกไปสร้างบ้านแปงเมือง นอกจากจะอัญเชิญผีมเหศักดิ์มาเป็นผีมิ่งเมืองกับการปกครองบ้านแล้ว ก็ยังนิยมสร้างหลักชัยมงคลกลางบ้านเมืองขึ้นมา เพื่อให้เทพเจ้าและดวงวิญญาณได้ปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองด้วย เรียกว่า หลักคำ หรือหลักเมือง เป็นการบ่งบอกถึงอาณาเขตของลูก ๆ หลาน ๆ ของพญาแถนได้ขยายมาสู่ที่บริเวณแห่งนี้ การมีหลักคำเป็นเขตของอาณาจักรปกครองบ้านเมือง เป็นวัตถุสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องให้การเคารพ
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในยุคนั้นมีพระยาองค์หนึ่งทรงนามว่า พาละราช ผู้สืบเชื้อสายมาจากพญาแถน ได้เสวยราชสมบัติอยู่เมืองจักรพรรดินคร พระเจ้าพาละราชมีธิดาหนึ่งองค์ชื่อว่า นางประพาพาน มีอยู่ปีหนึ่งช่วงฤดูฝน ปีนั้นฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจนเกิดนํ้าท่วมเมือง พระเจ้าพาละราชจึงเอาธิดาขึ้นเรือพร้อมทั้งบริวาร ๒ นาง และอาหารพร้อมด้วยสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น แล้วเอาเชือกยาวประมาณร้อยวามัดเรือเอาไว้ พอนํ้าท่วมมาเรือของนางลอยขึ้นตามระดับนํ้า และนํ้าบางส่วนก็ไหลมาจากบนเขาอย่างแรงจนทำให้เชือกขาด แล้วเรือก็ไหลตามกระแสนํ้าไปไกลจากเมืองของตนมาก จนไปหยุดค้างอยู่ฝั่ง ใกล้ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง เผอิญว่าไปติดกับเขตประเทศของผีสาง คราวนั้นมีพระยาปีศาจตนหนึ่งชื่อว่า กัลป์ปะลัย เจ้าผู้ปกครองเมืองผีแห่งนี้มาพบนางอยู่ในเรือพร้อมบริวาร จึงนำพานางเข้าในเมืองแล้วรับเอาเป็นเมีย แล้วปลูกหอให้นางอยู่ในป่านั้น
ต่อมามีพระยาองค์หนึ่งชื่อว่า กริสนุราช ปกครองเมืองตรีนคร วันหนึ่งได้เสด็จออกไปเที่ยวป่าหาล่าสัตว์เนื้อ เผอิญพลัดหลงหลงเข้าไปในเขตเมืองผีนั้น จึงได้พบกับนางประพาพานอยู่ในหอพร้อมบริวาร จึงได้สนทนากันแล้วรู้ที่ไปที่มาของกันและกัน จึงได้นำพานางลักลอบออกจากเมืองผีกลับมาสู่เมืองมนุษย์ เมืองกลับมาถึงเมืองของตนจึงได้อภิเษกนางเป็นมเหสี
ฝ่ายพระเจ้ากัลป์ปะลัยกลับมาจากปฏิบัติราชกิจแล้วไม่พบเห็นนาง จึงได้สอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาที่ตนไม่อยู่ ก็รู้ว่าพระเจ้ากริสนุราชเข้ามาที่นี้แล้วแอบลักพาตัวนางไปพร้อมกับบริวาร ด้วยความโกรธที่ถูกมนุษย์แย่งคนรัก จึงเกณฑ์กองทัพผีเคลื่อนทัพไปรบกับเมืองตรีนคร เมื่อเดินทางมาถึงแล้วจึงสั่งให้จัดตั้งกองทัพไว้นอกเมือง แล้วพระเจ้าปีศาจมีคำสั่งให้แม่ทัพผี ๔ นาย ไปบันดาลให้คนเมืองตรีนครเกิดความหายนะและภัยพิบัติต่าง ๆ
ในคราวนั้นมีพระฤๅษีตนหนึ่งมีชื่อว่า มหาโคดม ตั้งอาศรมบำเพ็ญธรรมและสอนลูกศิษย์อยู่ริมฝั่งแม่นํ้าโขง อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองนัก เมื่อเห็นเหตุเภทภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นกับผู้คนและลูกศิษย์ของตน จึงเกิดธรรมสังเวชเมตตาสงสารชาวบ้านชาวเมืองมากและได้เดินทางเข้ามาในเมืองแล้วทูลบอกกับพระยากริสนุราชว่า
“ดูก่อนท่านผู้นำ… เหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่เกิดกับชาวบ้านชาวเมืองในครั้งนี้นั้น เป็นเพราะว่าพระองค์แอบไปลักพาตัวเอาเมียของผีชื่อว่ากัลป์ปะลัยมา พวกผีจึงมารบกวนบ้านเมืองทำให้ผู้คนให้เดือดร้อนล้มตายลงอย่างที่เห็น พระองค์จึงควรรีบจัดการเลี้ยงผี และอารักษ์หลักเมือง พร้อมทั้งท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ที่อยู่ในแต่ทิศได้แก่ ท้าวธตรัฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวกุเวร๖ ให้ช่วยคุ้มครองป้องกัน ชาวบ้านจึงจะพ้นภัยร้ายในคราวครั้งนี้ได้…”
เมื่อพระยากริสนุราชได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ไม่ทรงเชื่อตามคำแนะนำของท่านฤๅษี แต่ก็ไม่หลบหลู่ขัดขวางที่ท่านฤๅษีจะจัดการ หรือนำพาชาวบ้านชาวเมืองทำเสียเอง เมื่อผู้นำไม่เห็นด้วยเช่นนั้นท่านฤๅษีจึงเข้าไปหาเสนาบดีคนหนึ่งที่มีความเห็นเช่นกับตนเอง มาเป็นผู้จัดการทำบุญเลี้ยงผีในคราวครั้งนี้โดยปลูกศาลเทพารักษ์ (หอผี) ขึ้นกลางเมือง แล้วให้เสนาบดีคนหนึ่งเอายันต์ไปติดไว้ตามประตูเมืองและบริเวณรอบ ๆ นอกเมือง แล้วจึงจัดพิธีการเลี้ยงผีเหล่านั้นด้วยข้าวปลาอาหารและเหล้ายาทั่วทุกแห่ง ส่วนท่านฤๅษีเองก็ได้ทำพิธีเสกมนต์ใส่ดินทรายและหินแร่ แล้วเอาไปโปรยไว้รอบ ๆ เมืองตรีนคร
ในคราวนั้นแม่ทัพผีทั้ง ๔ พร้อมไพร่พล ก็พากันยกพลมาประจำตามบริเวณต่าง ๆ ในเขตนอกเมืองครั้นพอมาถึงที่ท่านฤๅษีหว่านแร่หว่านทรายเอาไว้ ก็ไม่สามารถผ่านเข้ามาในเมืองได้อย่างเช่นที่ผ่านมานอกจากนี้แล้วพวกผีเมืองทั้งหลายเมื่อได้รับเครื่องกินเครื่องใช้ ที่ผู้คนนำมาเซ่นสรวงบูชาก็มีภาคภูมิใจจึงได้ชวนกันออกไปต่อสู้จนจับแม่ทัพผีทั้ง ๔ นายได้ เมื่อถูกจับแล้วอีกทั้งได้รับการเซ่นไหว้จากมนุษย์ก็เปลี่ยนไป มีใจออกห่างจากพระเจ้าเมืองผีด้วย ฝ่ายพระเจ้าปีศาจกัลป์ปะลัยได้ทราบข่าว การเปลี่ยนไปของกลุ่มผีที่ตีตัวออกห่างนั้น ก็ยิ่งพิโรธโกรธแค้นใจเป็นอย่างมาก จึงได้ยกพวกมาเสริมทัพเข้าโจมตีอีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ถูกพวกผีอารักษ์เมืองจับได้ทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมทั้งพระเจ้าผีด้วย แล้วนำพาเอาตัวเข้ามาถวายต่อพระเจ้ากริสนุราชให้ทรงพิพากษา
ฝ่ายพระเจ้ากริสนุราชเห็นผลงานของท่านฤๅษีกับเสนาอำมาตย์พร้อมด้วยชาวเมือง กระทำพิธีการดังกล่าวจนสามารถเอาชนะกองทัพผี ก็มีจิตใจเมตตาปราณีต่อการทำนั้นจึงสั่งไม่ให้ฆ่า เป็นแต่เพียงให้ตกปากรับคำสัญญาสาบานแล้วก็ปล่อยไปหลังจากพระเจ้าผีเดินทางกลับเมืองของตนแล้ว แต่นั้นมาบ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยผีอารักษ์หลักเมืองช่วยคุ้มครองป้องกัน
เวลาต่อมาเมื่อพระเจ้าพาละราชบิดาของพระนางประพาพาน ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้ากริสนุราชลักพาพระธิดาของตนไป แต่ไม่มาบอกเล่าทำให้ถูกต้องตามราชประเพณี เห็นไม่ให้เกียรติตนเองจึงรู้สึกไม่ดีมีความเคียดแค้นขึ้นมา จึงสั่งให้ทหารยกทัพไปตีเอาเมืองของพระเจ้ากริสนุราช โดยยกกำลังเข้าล้อมเมืองเอาไว้อย่างแน่นหนา ฝ่ายพระเจ้ากริสนุราชได้ทราบข่าวว่าข้าศึกมาล้อมพระนคร จึงจัดการเลี้ยงผีขอให้ช่วยคุ้มครองป้องกันเมือง พวกผีอารักษ์หลักเมืองจึงเข้าไปทำให้กองทัพพระเจ้าพาละราชเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยและมีเหตุเภทภัยต่างๆ ที่ไม่คาดคิดได้ ไพร่พลทหารและช้างม้าพาหนะล้มตายลงเป็นอันมาก จนพระเจ้าพาละราชต้องขอยอมแพ้และขอผูกไมตรีเป็นพระสหายกับพระเจ้ากริสนุราชแล้วเลิกทัพกลับไปบ้านเมืองของตนตามเดิม นับแต่นั้นมานครทั้งสองก็เป็นมิตรญาติกันและอยู่เย็นเป็นสุขสืบมา๗
กาลต่อเมื่อเมื่อบ้านเมืองขยายออกไปตามที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นลูก ๆ หลาน ๆ ของชาวบ้านทั่วไปออกไปสร้างหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ นอกจากจะอัญเชิญผีมเหศักดิ์ สร้างหลักเมือง เชิญผีเสื้อเมือง มาเป็นผีมิ่งเมืองกับการปกครองหมู่บ้านแล้วตามหมู่บ้านต่าง ๆ ยังนิยมสร้างศาลผีปู่ตาหรือเจ้าปู่ ซึ่งเป็นผีพ่อบ้านหรือตาแสง (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) เป็นผีผู้คนทั่วไปที่เป็นหัวหน้าคอยรักษาหมู่ ปกปักรักษาผู้คนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขสมหวัง เพื่อให้เทพเจ้า และดวงวิญญาณได้ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน และในระดับบ้านแต่ละหลังก็ยังอัญเชิญผีบรรพบุรุษเข้ามาอาศัยในเรือนด้วย เรียกว่า ผีเรือน หรือผีดํ้า หรือผีเฮือน หรือว่าผีพ่อเลี้ยง๘ เป็นผีประจำครัวเรือน เพื่อให้คุ้มครองป้องกันและรักษาลูกหลานในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ให้ผีป่าหรือผีอื่น ๆ เข้ามาทำร้ายให้เกิดอันตรายใด ๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีผีไร่ผีนาที่มีหน้าที่รักษาต้นข้าวในนา เรียกว่า ผีตาแฮก หรือแม่โพสพ
เมื่อมนุษย์ต้องการความช่วยเหลือจากพญาแถน จะพากันประกอบพิธีเซ่นไหว้หรือบวงสรวงไหว้วอนขอ ด้วยเหตุนี้จึงได้กลายเป็นฮีตคองปฏิบัติสืบมา เจ้าผู้ครองนครและชาวบ้านชาวเมืองจึงได้ทำพิธีเลี้ยงผี ทำการสักการบูชาสืบทอดกันมา จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงกาลปัจจุบันนี้
จากตำนานภัยร้ายเมืองเวสาลี เป็นมนต์ที่หมู่เทวดาในแสนโกฏิจักรวาลยอมรับเอาซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระปริตร ทำให้โรคภัย อมนุษยภัยและทุพภิกขภัย ในเมืองเวสาลีให้อันตรธานหายไป
การเลี้ยงผีบ้านผีเมืองนั้นก็เพื่อให้ผีช่วยป้องกันบ้านเมือง ป้องกันความเจ็บไข้ได้ป่วย ในระหว่างเดือน ๗ เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงอากาศ โรคภัยต่าง ๆ อาจเกิดตามทางธรรมชาติได้ เช่น โรคอหิวาต์ โรคตาแดง เป็นต้น เมื่อเกิดโรคภัยแล้วก็ว่าเป็นเพราะผีจึงหาวิธีป้องกันโดยทำพิธีเลี้ยงผีฟ้าผีแถน กระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมเลี้ยงผีถือผีสืบมา
๖ สีนํ้า จันทร์เพ็ญ, มูลมังดั้งเดิม. (กาฬสินธุ์ : ประสานการพิมพ์, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์), หน้า ๓๕๙.
๗ สิลา วีระวงส์, ฮีตสิบสอง. (จัดพิมพ์โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุบลราชธานี กรมฝึกหัดครู, ๒๕๒๙), หน้า ๑๔-๑๕.
๘ นพวรรณ พฤตินันท์, “ความเชื่อและพิธีกรรมผีฟ้า”, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๘), หน้า ๑๐.
กาลต่อมาเมื่อถึงฤดูเดือน ๗ จึงให้ทำบุญผีบ้านผีเมือง ตามคติแบบการนับถือผีหรือลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่เป็นฮีตคองประเพณีเก่าที่เคยทำมาก่อนหันมานับถือพระพุทธศาสนา ต้นเหตุให้มีประเพณีเลี้ยงผีบ้านผีเมืองตามคัมภีร์ปีศาจปกรณัม เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาก็ได้นำเอาคติทั้งสองเข้ามาผสมผสานกัน มีการทำบุญด้วยการนิมนต์พระสงฆ์สามเณรมาสวดมนต์ และอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้พวกผีเหล่านี้ด้วย
ผีมเหศักดิ์เป็นผีบรรพบุรุษของเจ้าเมืองที่ตั้งชุมชน (จากภาพ) ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นพิธีเลี้ยงผีปู่ตาของสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคามเหรียญหลักเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่สถิตของวิญญาณ “เสด็จเจ้าหอคำ” ผีมเหศักดิ์ จากเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติผู้ใหญ่หรือตาทวดของเจ้าคำผง ผู้สถาปนาเมืองอุบลราชธานีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์หลักเมือง (ขอบคุณภาพจาก www.guideeubon.com)