ฮูปแต้ม วัดกลางมิ่งเมือง ร้อยเอ็ด

ฮูปแต้ม วัดกลางมิ่งเมือง ร้อยเอ็ด

เวสสันดร กัณฑ์ชูชกวิถีชีวิตชาวบ้านร้อยเอ็ด

ชื่อวัดกลางมิ่งเมือง บ่งบอกถึงความสำคัญอยู่แล้ว คือเป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง

ตามประวัติวัดนี้เดิมชื่อ “วัดกลาง” สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ สมัยที่พระยาขัตติยะวงศา (ท้าวทน) เป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ด มีสิมขนาดใหญ่เก่าแก่ เขียนฮูปแต้มทั้งผนังด้านในและด้านนอก

แต่กาลเวลาทำให้สิมชำรุดทรุดโทรม ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๔ นายซ่งปิด แซ่เตีย บิดาของนาย วีระวุฒิจำนง (ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดร้อยเอ็ด) ได้บริจาคทรัพย์บูรณะซ่อมแซมสิมและฮูปแต้ม

ฮูปแต้มที่เห็นในทุกวันนี้ เป็นฝีมือของช่างแต้ม “คำหมา แสงงาม” เขียนภาพ ทศชาติ, เทพชุมนุม, เทพสิบสองนักษัตร และพระเวสสันดร ฝีมือเชิงช่างได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง ลักษณะการจัดวางภาพลายเส้น การให้สี รูปร่างหน้าตาตัวละคร ลวดลายต่าง ๆ ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางกับวัฒนธรรมภาคอีสานได้อย่างลงตัวและเหมาะสม

ส่วนองค์ประกอบทางศิลปะนั้น ช่างแต้มไม่ยึดคติหรือกฎเกณฑ์ทางศิลปะมากนัก มีความอิสระในการเขียน และถ่ายทอดออกมาโดยเขียนภาพเรียงลำดับเป็นตอน ๆ ไปรอบ ๆ สิม การจัดวางภาพมีการผสมระหว่างภาพหลักและภาพรอง เป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาและสะท้อนเรื่องราวของชาวบ้านซึ่งแฝงไว้ด้วยคติความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีชาวอีสาน

สำหรับเทคนิคการวาด ลักขณา จินดาวงษ์ ผู้เรียบเรียงหัวข้อ “ฮูปแต้มวัดกลางมิ่งเมือง” ใน “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน (ฉบับเพิ่มเติม) เล่ม ๓” เขียนไว้ว่า

“ใช้สีพื้นของผนังเป็นสีพื้นของฮูปแต้ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีขาวนวลเพื่อช่วยกระจายแสง ทำให้เห็นภาพเด่นชัดขึ้น สีที่ใช้มี สีฟ้า คราม เขียว เหลือง ดำและขาว การใช้สีส่วนใหญ่ไม่ใช้สีฉูดฉาด ดูเคร่งขรึมและมีความสง่างาม เทคนิคและการใช้สีนั้นช่างเขียนได้ใช้ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงทฤษฎีการผสมผสานของสีตามกฎเกณฑ์ทางศิลปะการใช้สีเป็นเอกลักษณ์พิเศษของฮูปแต้มวัดกลางมิ่งเมือง

วิธีการเขียนฮูปแต้มของช่างพื้นเมือง จะแต้มภาพลงไปก่อนที่จะลงสีเข้มของเครื่องประดับตัวละคร และตัดเส้นตอนสุดท้าย ภาพที่ต้องการเน้นให้เป็นจุดเด่นสะดุดตาหรือตัวเอกของภาพจะมีขนาดใหญ่ ใช้เส้นขอบและท่าทางแสดงอารมณ์แทนการแสดงทาสีหน้า คนในภาพหน้าตาเหมือนกันหมด ใช้ท่าทางบอกความรู้สึก เช่น โกรธก็จะแสดงอาการชี้นิ้วและกระทืบเท้า อาการโศกเศร้าก็จะยกมือขึ้นมาอย่างระทดระทวย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังใช้สีดำหรือสีตรงกันข้ามมาตัดเส้น เช่น สีครามตัดเส้นด้วยสีนํ้าตาลหรือดำ โดยเฉพาะสีดำจะใช้ในการตัดเส้นมากที่สุด ฮูปแต้มวัดกลางมิ่งเมืองส่วนใหญ่ใช้สีครามเป็นตัวระบายพื้นที่ไม่ให้เกิดความว่าง ตัวละครและส่วนประกอบต่าง ๆ นิยมใช้สีดำในการตัดเส้น นับเป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่สวยงามทั้งด้านองค์ประกอบและรายละเอียด

ด้านหน้าของสิม ผนังหุ้มกลองเหนือกรอบประตูเขียนเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก ด้านหลังของสิม ผนังหุ้มกลองเหนือกรอบประตูเขียนพุทธประวัติตอนมารผจญ ส่วนล่างลงมาระหว่างกรอบประตูเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก ตอนนครกัณฑ์ และสอดแทรกสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น เช่น การแต่งกาย ประเพณีการละเล่นขบวนแห่และเครื่องดนตรีในขบวนแห่

เผาศพขบวนช้างเตมีย์ชาดก

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม
ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com