เขาบอกว่า “เสี้ยวจันทร์” เป็น “นักปั้นซีไรต์”
ทางอีศานฉบับที่๔ ปีที่๑ ประจำสิงหาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: คนบนที่ราบสูง
column: People of the Plateau
ผู้เขียน : แดง ชบาบาน
ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตนักศึกษา ฉันมีโอกาสพบเจอกับนักเขียนหลายคน โดยการไปร่วมกิจกรรม “วรรณกรรมสัญจร” ที่มีอาจารย์นักเขียนซีไรต์อย่าง “ไพฑูรย์ ธัญญา” หรือ ธัญญา สังขพันธานนท์ เป็นผู้คอยชักนำโอกาสมาให้
นักเขียนที่ได้พบเจอ มีทั้งนักเขียนหนุ่ม นักเขียนอาวุโส หรือแม้แต่คนที่อยากจะเป็นนักเขียนก็ได้พานพบ โดยหนึ่งในนั้นคือนักเขียนหนุ่ม(สมัยนั้น) ที่ชื่อ “เสี้ยวจันทร์ แรมไพร” หรือ กนก สงิมทอง
ครั้งแรกที่ได้พบเจอ ฉันมองว่าเขาแปลก และดูจะหลุด ๆ ด้วยซ้ำ แต่พอได้พูดคุย ได้ซักถาม เขาก็เป็นผู้ชายที่น่ารักคนหนึ่ง และจากนั้นมีหลายโอกาสที่ได้พบเจอ สมัยฉันทำงานหนังสือพิมพ์แรก ๆ อาจารย์ธัญญา เคยพาเขา (เสี้ยวจันทร์)และ พี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) มาเยี่ยมที่สำนักงาน ในสมัยที่เขาทำงานอยู่นิตยสาร “ชีวิตต้องสู้”
หลังจากนั้นอีก ได้มีโอกาสเจอ “พี่เสี้ยว” บ่อยขึ้น ทั้งจากงานสัมมนานักเขียน งานนักเขียนสัญจร และงานอื่น ๆ และเขายังครองตน “แปลกแตก และต่าง” จากนักเขียนทั่วไป
ฉันมีโอกาสได้อ่านงานของเขาหลายเล่ม ทั้ง “โลกเฉพาะ” และ “ขับขานข้างใน” และสิ่งที่สะท้อนออกมาเป็นตัวหนังสือทำให้รู้ว่าเขาเป็นคนขี้เหงา มีโลกส่วนตัวสูง และการที่ได้รู้ประวัติว่าเขาเป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ แต่มาเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น เพราะต้องมาอยู่กับพี่สาว ทำให้ยิ่งสนใจมากยิ่งขึ้น “เพราะอย่างน้อย ก็มีคนอีสานที่มีดีอีกคนหนึ่งที่ฉันได้รู้จัก”
เสี้ยวจันทร์เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวที่มีพี่น้องถึง ๖ คนโดยเขาเป็นคนที่ ๕ และฉันเองมีโอกาสได้พบเจอกับพี่สาวและหลานสาวของเขาหลายครั้ง ทำให้รู้ว่าเขาเป็นคนน่ารักและเป็นน้องชายที่พี่สาวทั้ง ๔ และน้องสาวอีก ๑ รักมาก และหลายครั้งที่วีรกรรมของเขามักจะถูกเล่าออกจากปากพี่สาวอย่างชื่นชม
ตอนที่เขาเรียนอยู่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยนั่นเอง เขาได้มีโอกาสเจอกับครูนักเขียน “แรคำ ประโดยคำ” ซึ่งเป็นคนที่อ่านงานที่เขาเขียน โดยเฉพาะบทกวี ใครจะไปเชื่อว่า จากนั้นอีกหลายปีครูของเขาคนนี้ มีผลงานได้รับรางวัลซีไรต์ จากฝีมือการควบคุมและเป็นบรรณาธิการของลูกศิษย์อย่างเขา
หลังเรียนจบจากแก่นนครวิทยาลัย เขาเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี ๒๕๒๕ ในคณะรัฐศาสตร์ ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นปลัดอำเภอ เรียนนานถึง ๓ ปี แต่ก็ไม่รอด ขณะที่พี่สาวทั้ง ๔ คนเชียร์ให้เรียนภาษาไทย เพราะบ้านนี้ชอบวิชาภาษาไทยกันหมด และพอเขาตัดสินใจย้ายคณะในปีที่ ๔ เขาก็สามารถเรียนจนจบ ๔ ปี เพราะได้ครูดีอย่าง คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส ทำให้เขามีความรู้เรื่องภาษาไทยอย่างเต็มเปี่ยม
พอเรียนจบเขาไปทำงานในนิตยสารอยู่หลายเล่ม ก่อนจะเขียนงานของตัวเอง ถือเป็นคนอีสานคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในถนนสายวรรณกรรม แม้งานของเขาจะไม่ใช่งานเขียนประเภท ขายดี แต่ การที่เขาพกความแปลกและไม่เหมือนใคร และตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ “สำนักพิมพ์รูปจันทร์” ที่มีผลงานได้รางวัลซีไรต์ถึง ๒ เล่มเมื่อปี ๒๕๔๑ คือ ในเวลา ของ แรคำ ประโดยคำ ปี ๒๕๔๕ บ้านเก่า ของ โชคชัย บัณฑิต และปี ๒๕๔๕ เกือบได้ซีไรต์ จากงานของ ปริทรรศ หุตากูร รวมเรื่องสั้น ชุด แม่มดบนตึก สำหรับฉันแล้วคิดว่าไม่ธรรมดา
ยิ่งมีเสียงร่ำลือว่า “เขาคือบรรณาธิการมือทองที่จับทางซีไรต์ได้” หรือ “นักปั้นซีไรต์” ทำให้วันนี้อยากคุยกับเขาอีกครั้ง
ถาม : ที่ผ่านมาพี่เป็น บก.หนังสือและส่งประกวดซีไรต์ได้รางวัลหลายเล่ม ทำไมไม่ส่งหนังสือตัวเองเข้าประกวดบ้าง
เสี้ยวจันทร์ : ยังไม่มีงานใหม่เลยครับ
ถาม : หยุดเขียนงานตัวเองไปตั้งแต่เมื่อไหร่สาเหตุเพราะอะไร
เสี้ยวจันทร์ : คาดหวังกับตัวเองมากไป เคยลองเขียนแล้ว รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็เลยมีแต่ร่างสเก็ตช์เต็มไปหมด ช่วงหลังมาออกเดินทางไปโน่นไปนี่ กลายเป็นสารคดีไปหมด ตอนนี้พยายามเอาเรื่องบาหลีมาเกลา เพื่อเขียนออกมา
ถาม : มีหลักเกณฑ์คัดเลือกเรื่องและนักเขียนอย่างไร เพื่อจะดูว่าคนไหนเราจะสนับสนุน และงานแบบไหนจะส่งซีไรต์
เสี้ยวจันทร์ : ความล้มเหลวก็มีเยอะนะ ไม่เข้ารอบ ชอบทำงานกับนักเขียนที่คุยกันรู้เรื่อง จะบอกเขาเสมอว่า ให้ทำงานต่อเนื่อง หากมีลายเซ็นมีสไตล์ ทำมาก ๆ จะได้มีงานคัดสรรที่ดี วันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จต่อเนื่อง
ถาม : คำว่าคุยกันรู้เรื่อง หมายถึงเรามีโจทย์ให้เขาไหมว่า งานแนวนี้นะ ถึงจะถูกใจกรรมการซีไรต์
เสี้ยวจันทร์ : ไม่เคยคิดถึงกรรมการเลยครับเพราะรู้ว่าเป็นกลุ่มคนเดิม ๆ ให้นักเขียนเขาเป็นตัวเองมาก ๆ เราเป็นแค่ช่างที่ตกแต่งในส่วนที่มันไม่สมบูรณ์ งานที่ส่งไปก็แล้วแต่วาสนา สิ่งที่อยากเห็นคืออยากให้มีกรรมการที่มาจากคนนอกวงการมาอ่านงานเขียน มาตัดสินโดยไม่รู้จักนักเขียนเป็นการส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น เอาสถาปนิกมาอ่าน มาเป็นกรรมการ เอาผู้กำกับหนังมาอ่าน เอาครูมาอ่าน เอานักวิชาการมาอ่าน ฯลฯ มาจากหลาย ๆ วงการ
ถาม : มองว่า กรรมการซีไรต์ที่มีอยู่ทุกวันนี้คือคนเดิม ๆ ที่ยังมองอะไรแบบเดิม ๆ ไหม
เสี้ยวจันทร์ : ใช่แล้ว วรรณกรรมเลยไปถึงแค่คลองตัน ไม่สามารถไปถึงพัฒนาการ ความจริงจะเพลินจิตมากกว่านี้ ทุกวันเหลียวมองไปรอบ ๆ จึงอโศกมาก จริง อโศกมาก
ถาม : แล้วทุกวันนี้ยังอยากจะส่งผลงาน ของนักเขียนที่เรามองว่าสุดยอด ประกวดรางวัลนี้ไหม
เสี้ยวจันทร์ : ส่งครับ แต่ชอบกรรมการในยุคแรก ๆ มากกว่า และมองว่ารางวัลคือส่วนเสริมที่ทำให้หนังสือขายได้
ถาม : หากแวดวงวรรณกรรมเป็นอย่างนี้หนังสือต้องมีรางวัล แต่กรรมการยังเป็นกลุ่มเเดิมจะทำให้นักเขียนรุ่นใหม่ท้อไหม
เสี้ยวจันทร์ : คงท้อ
ถาม : นักเขียนอีสานคนไหนที่ตอนนี้น่าจับตามองมากที่สุด
เสี้ยวจันทร์ : ชอบเรื่องสั้นของ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ชอบกวีของ โกสินทร์ ขาวงาม และ สีสัน ควงตะคองหลง ส่วนนวนิยายนั้นหลังจาก พี่ยงค์ ยโสธร เขียน คำอ้าย แล้ว ก็ยังไม่เห็นใครโดดเด่นออกมา
ถาม : ความเป็นคนอีสานมีอะไรที่โดดเด่นกว่าคนภาคอื่น
เสี้ยวจันทร์ : ความจริงใจ ความเชย ถ้างานเขียนเหมือนหนัง ปัญญา เรณู ที่ บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ กำกับ หนังดีมาก ตลาด ๆ แต่อาร์ตนะ มันออกมาจากข้างใน ชอบตุ๊กกี๊ อยากให้ตุ๊กกี้เขียนบทกวี จะส่งประกวด
ถาม : งานเขียนของคนอีสานนักเขียนอีสานมีอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม
เสี้ยวจันทร์ : ฟ้าบ่กั้น ลาว คำหอม ภูเขาใหญ่ ดอกอะไรก็ไม่รู้ สุรชัย จันธิมาธร
ถาม : จุดอ่อนของงานเขียนของนักเขียนอีสานของเราคืออะไร
เสี้ยวจันทร์ : ขาดความเป็นสากล ซึ่งความเป็นสากลนั้นต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบศิลป์มากมาย เหมือนตัดต้นไม้ทั้งป่า แต่ทำเก้าอี้ได้ตัวเดียว
นี่คือถ้อยคำที่ได้สนทนากัน ผ่านโซเชียลมีเดียที่ทุกวันนี้เอื้ออำนวยให้เราได้พบเจอและพบเห็นคนที่ห่างหาย เพื่อนเก่า พี่ คนคุ้นเคย และเพื่อนใหม่ พร้อมกับอีกหลายคนที่ตามหากันอยู่
แม้วันนี้เขาจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเหนือ สร้างครอบครัว และท่องเที่ยวที่นั่นที่นี่อยู่ตลอดเวลาและเอาเวลาบางส่วนเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสาร POMO ซึ่งเป็นนิตยสารแนวอินดี้ที่มีคนชอบเฉพาะกลุ่ม
แต่อย่างไรก็ตาม นั่นคือสิ่งที่เขาชอบและอยากทำ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เขาก็ยังคงเป็น “เสี้ยวจันทร์ แรมไพร” ที่ฉันเคยเจอเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนเสมอ.