เครื่องเบญจรงค์
เบญจรงค์ แปลว่า ห้าสี
จึงนิยมเรียกเครื่องเคลือบที่มีห้าสี หรือมากกว่า ว่า เครื่องเบญจรงค์
ดั้งเดิมเกิดจากเทคโนโลยีจีนที่พัฒนาขึ้นในราชวงศ์หมิง (ช่วงตรงกับรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถของกรุงศรีอยุธยา)
เชื่อกันว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไทยสั่งทำเป็นสินค้าเข้านำมาใช้ในราชสำนัก ลายที่วาดประดับเป็นลายไทย (ช่างจีนวาด)
เครื่องเบญจรงค์จึงจัดเป็นของชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ห้า (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประเทศไทยจึงผลิตใช้เอง และแพร่หลายให้คหบดีที่มีฐานะดีใช้กันได้ทั่วไป
ถึงปัจจุบัน “เบญจรงค์” มีการพัฒนารูปแบบไปมาก และเป็นศิลปวัตถุอันมีชื่อเสียงของประเทศไทยไปแล้ว
แต่ถึงอย่างไรก็ยังจัดเป็นของมีราคาเป็นของมีค่า เป็นของชั้นสูงสำหรับคนมีฐานะดี
เครื่องเบญจรงค์ เป็นเครื่องปั้นเคลือบที่เขียนลายโดยวิธีลงยา (enamel) เป็นงานที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในรัชสมัยจักรพรรดิซวนเต๊อ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๙๖๙ – ๑๙๗๘) ราชวงศ์หมิง มีการผลิตครั้งแรกใน มณฑลเจียงซี (ที่ไทยเรียกว่า กังไส) และพัฒนาต่อมาจนเป็นที่นิยมอย่างมากในรัชสมัยจักรพรรดิเฉิงฮั่ว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๐๘ – ๒๐๓๐) การเขียนลาย โดยวิธีลงยาดังกล่าว ใช้สีตั้งแต่ ๓ สีขึ้นไป มีชื่อเรียกในภาษาจีนต่าง ๆ กันส่วนที่เรียกว่า เบญจรงค์ เป็นการเรียกตามแบบไทย ในความหมายตามคำเรียกหมายถึง การเขียนลวดลายลงบนงานที่ผลิตด้วยสี ๕ สี ได้แก่สีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีเขียว (คราม) หรือมากกว่า คือ สีแสด สีน้ำตาล สีม่วง (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ไทยนิยมเพิ่มลายเส้นสีทองหรือแต้มทอง เรียกกันว่า “น้ำทอง”)
เครื่องเบญจรงค์ในประวัติศาสตร์ไทย
สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2210 – 2310)
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลวดลายของเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่เป็นที่นิยมกัน ได้แก่ ลายเทพนม-นรสิงห์ หรือเทพนม-ครุฑ เขียนบนพื้นดำ แทรกด้วยลายกนกเปลว ลวดลายอื่นที่พบได้แก่ราชสีห์ กินรี ฯลฯ ด้านในของเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว ส่วนรูปแบบได้แก่ จาน ชามฝา และโถทรงสูง เป็นต้น
สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310 – 2325)
ในสมัยนี้ได้มีการสั่งผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์จากประเทศจีน โดยใช้ของสมัยอยุธยาเป็นต้นแบบเครื่องถ้วยสมัยธนบุรี จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เครื่องถ้วยเลียนแบบสมัยอยุธยา”แต่ในการผลิตไม่มีช่างของไทยไป
ควบคุม เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลา รูปแบบและลวดลายจึงดูค่อนไปทางแบบจีน และการเคลือบด้านในเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาว
สมัยรัชกาลที่ 1
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายประจำยาม
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พ.ศ.2325 – 2352
เครื่องถ้วยในสมัยนี้มีลวดลายหลากหลายและมีสีสันสวยงามกว่าสมัยอยุธยา ลวดลายที่พบได้แก่ลายดอกไม้ ก้านต่อดอก และพ่มุ ข้าวบิณฑ์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มสีทอง ในการตกแต่งลวดลาย
สมัยรัชกาลที่ 2
เครื่องถ้วยลายน้ำทองลายกุหลาบ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พ.ศ. 2352 – 2367
สมัยนี้เป็นสมัยที่เครื่องถ้วยเฟื่องฟูที่สุดทั้งเบญจรงค์และลายน้ำทอง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงสนพระทัยในเครื่องถ้วย ได้ทรงคิดรูปแบบและลวดลายด้วยพระองค์เอง แล้วส่งไปผลิตในประเทศจีน พร้อมช่างศิลป์ไทย ลวดลายที่เป็นที่นิยมได้แก่ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ลายนกไม้ ลายก้านแย่ง ลายก้านต่อดอก และลายกุหลาบน้ำทอง สำหรับลายครุฑยุดนาค ถือเป็นลายประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สมัยรัชกาลที่ 3
เครื่องถ้วยลายน้ำทองเขียนลายในช่องกระจก
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พ.ศ. 2367 – 2394
ในรัชกาลนี้ยังสั่งเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจากประเทศจีน เครื่องถ้วยบางชิ้นมีเครื่องหมายอยู่ที่ก้นชามทำให้ทราบว่าเป็นของที่สั่งมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ลวดลายที่นิยมกันก็คล้าย ๆ กับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่งดงามเท่า เนื่องจากแหล่งเตาเผาในประเทศจีนเสื่อมโทรม สำหรับสีพื้นของเครื่องถ้วยนิยมใช้เป็นสีขาว
สมัยรัชกาลที่ 4
เครื่องถ้วยลายครามลายนกไม้นำเข้าจากประเทศจีน
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พ.ศ. 2394 – 2411
ในสมัยนี้เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง ได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากมีการนำเข้าเครื่องถ้วยและเครื่องแก้วจากประเทศทางยุโรป นอกจากนั้นยังนิยมสั่งเครื่องลายครามแบบจีน รวมทั้งเครื่องลายครามที่เขียนลายไทยจากประเทศจีนด้วย
สมัยรัชกาลที่ 5
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายเทวดาผลิตในประเทศญี่ปุ่น
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พ.ศ. 2411 – 2453
เป็นยุคสุดท้ายของเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง เป็นสมัยที่นิยมเครื่องถ้วยที่สั่งเข้าจากประเทศทางยุโรป จีน และญี่ปุ่นนอกจากนี้ ยังมีการสั่งชามขาวเข้ามาเขียนลายเอง โดยเผาที่เตาเผาของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ส่วนลายที่นิยมเขียนมักเป็นเรื่องราวตามวรรณคดี ไทย พระอภัยมณี มัจฉาณุ อุณรุท เป็นต้น