เครื่องเบญจรงค์ ๒
ศิลปะเครื่องเคลือบของจีนมีพัฒนาการต่อเนื่อง และเป็นสินค้าออกที่สำคัญของจีนตราบจนถึงยุคล่าอาณานิคม ในสมัยราชวงศ์หมิงเครื่องเคลือบของจีนพัฒนาการจนใช้สีได้ห้าสีและมากกว่า เรียกว่า “อู๋ไฉ่” (五彩) หมายถึงเครื่องกระเบื้องเคลือบห้าสี ได้แก่ สีแดง เหลือง เขียวอ่อน เขียวแก่ และสีม่วงอมดำบางทีมีสีครามเขียนเป็นลายกำกับอยู่ใต้เคลือบอีกทีหนึ่ง เป็นกรรมวิธีเขียนสีประดับเครื่องกระเบื้องจีนที่พัฒนาขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง และคนไทยมักจะเข้าใจผิดว่า “อู๋โฉ่” คือ “เครื่องเบญจรงค์”
แต่เครื่องเบญจรงค์นั้นใช้เทคนิคการเคลือบด้วยเทคนิคสีนุ่มนวลที่เรียกว่า “เฝินไฉ่” (粉彩) ซึ่งได้เริ่มพัฒนาขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正) ต่อเนื่องไปจนถึงรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆) ซึ่งนิยมใช้ลวดลายต่างประเทศโดยเฉพาะโลกตะวันตก
เครื่องเคลือบจีนสกุล Famille Rose
ในวงการศิลปะเครื่องเคลือบ เรียกว่าสายสกุล Famille Rose
“คือเครื่องดินเผาหวาน ๆ แห่งยุคราชวงศ์ชิง เป็นเครื่องกระเบื้องที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้นใน พ.ศ.2265-2278 เป็นการผลิตในประเทศจีน ได้รับอิทธิพลลวดลายจากวัฒนธรรมตะวันตก Revolution เล่นลงเขียนวาดลวดลาย สีสรรหลากหลายของดอกไม้ธรรมชาติ ใช้เทคนิคการวาดและลงสีในสมัยก่อน นักผลิตจะเน้นลงสี แม่สี โทนธรรมชาติไม่ค่อยเน้นมิติความใกล้ ไกล ตื้น ลึก หนา แต่เน้นความมงคลเช่น หงส์-มังกร เมื่ออิทธิพลตะวันตกเผยแพร่เข้ามามีการเล่นสี ผสมสีเพิ่มใช้สีผสมโทนพาสเทลหวาน ๆ มีการไล่แรเงา ไล่สีมีลวดลาย มองมีมิติเพิ่มขึ้น ทุกมุมมองสมจริงแต่ยังคงเหลือกลิ่นอายของความเป็นจีนให้ค้นหานับเป็นการผสมผสานศิลปะ ตะวันออก-ตะวันตก ได้อย่างกลมกลืน และสวยงาม คุ้มค่าแห่งการสะสมเป็นมรดกแห่งกาลเวลา” http://www.storetaetea.com/th/articles/157066
เครื่องเบญจรงค์ไทยที่ทำจากจีนนั้น คุณชาญชัย สุพานิชวรภาชน์ ผู้เชี่ยวชาญเครื่องกระเบื้องของไทย ตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องเบญจรงค์ที่สยามสั่งซื้อสมัยอยุธยาจำนวนมากวาดลายด้วยสีที่นูนออกมาไม่เรียบเป็นเนื้อเดียวกับพื้นภาชนะ เสมือนผสมสีลงในน้ำเคลือบขาวแล้ววาดออกมาเป็นลายเหนือเคลือบชั้นแรกอีกชั้นหนึ่ง อาจเป็นกรรมวิธีเดียวกับการเคลือบสีอ่อนอมขาวเลียนแบบ “เฝินไฉ่” ยุคแรก ๆ ของเตาเอกชน
เครื่องกระเบื้องที่มีสีชมพูอมขาว และสีอ่อนอื่น ๆ ที่ผสมสีขาว ลักษณะสีทึบไม่โปร่งแสงซึ่งเป็นลักษณะของ “เฝินไฉ่” เป็นเครื่องกระเบื้องที่ผลิตแพร่หลายในช่วงรัชศกยงเจิ้งหรือราว พ.ศ. ๒๒๖๓ (ค.ศ. ๑๗๒๐) เป็นต้นมา เครื่องเบญจรงค์ของไทยที่พบในลักษณะนี้จึงเป็นของที่ผลิตในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระลงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
แหล่งผลิตเครื่องเคลือบเฝืนไฉ่ที่มีชื่อเสียงคือ เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี (กังใส) แต่พ่อค้าหรือสำเภาหลวงสมัยอยุธยาก็อาจจะไม่ได้สั่งสินค้าจากจิ่งเต๋อเจิ้น แต่หาสินค้าตามเมืองท่าเพื่อความสะดวก เพราะพบว่าเครื่องกระเบื้องสมัยอยุธยาจำนวนมากเป็นถ้วยชามที่ผลิตในเตาท้องถิ่นหลายแห่งในมณฑลฮกเกี้ยน(ฝูเจี้ยน 福建) เตาหลงฉวน (龍泉) ในมณฑลเจ้อเจียง และจากเตาท้องถิ่นของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งคุณภาพของกระเบื้องที่ผลิตจากเตาท้องถิ่นในมณฑลชายฝั่งทะเลจะไม่ดีเท่าเครื่องกระเบื้องจิ่งเต๋อเจิ้น แต่ก็เป็นสินค้าสำเภาที่นิยมเพราะราคาถูก การขนส่งสะดวก เนื่องจากแหล่งผลิตตั้งอยู่ใกล้เมืองท่าส่งออกที่สำคัญในสมัยนั้น คือฉวนโจว (泉州) เยว่กัง (月港) จางโจว (漳州) เอ้หมึง (เซี่ยเหมิน 廈門) ในมณฑลฮกเกี้ยน และกว่างโจวในมณฑลกวางตุ้ง ระยะเวลาสั่งทำเครื่องกระเบื้องสีที่เมืองกว่างโจวใช้เวลาเพียง ๒-๓ สัปดาห์ ในขณะที่การทำเครื่องกระเบื้องตามแบบต่างชาติที่จิ่งเต๋อเจิ้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓ เดือน เนื่องจากต้องส่งลายไปวาดครามใต้เคลือบถึงเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น ดังนั้นจะพบว่าเครื่องกระเบื้องจีนที่ผลิตเพื่อส่งออกจำนวนมากเป็นเครื่องกระเบื้องที่เขียนลายในเมืองกว่างโจว
การที่เครื่องกระเบื้องหลวงประเภท “เฝินไฉ่” ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในเมืองจีนอยู่มากและได้มีการพระราชทานให้ราชสำนักอยุธยาอยู่หลายครั้งตลอดรัชศกยงเจิ้งและเฉียนหลง เป็นไปได้จะส่งผลต่อรูปแบบของเครื่องถ้วยที่อยุธยาสั่งซื้อจากจีน และอาจนำมาสู่ความต้องการสั่งทำเครื่องกระเบื้องที่มีลวดลายแบบไทยด้วย
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ไทยสามารถผลิตเครื่องเบญจรงค์ได้เอง และพัฒนารุ่งเรืองขึ้นจนถึงปัจจุบัน เป็นสินค้าวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของไทย