“เจนละ” ชนะ “ฟูนัน” ยํ่าปราสาทวัดพู จำปาศักดิ์ ต้นกำเนิดอาณาจักรเจนละ
“เจนละ” ชนะ “ฟูนัน” ยํ่าปราสาทวัดพู จำปาศักดิ์ ต้นกำเนิดอาณาจักรเจนละ
ก่อนจะกล่าวถึงจารึกซึ่งเป็นต้นเค้าประวัติศาสตร์นิพนธ์เมืองอุบลราชธานีใน ทางอีศาน ฉบับต่อ ๆ ไป ผู้เขียนขอวกกลับมาขยายความเรื่องปราสาทวัดพู แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว เพิ่มเติม ที่ถูกสร้างขึ้นภายหลังเจนละรบชนะฟูนัน เนื่องด้วยผู้เขียนได้ข้อมูลจากนักวิชาการชาวไทยและต่างชาติเพิ่มเติมในคราวค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องจารึกพระเจ้าจิตรเสนฯ
ผู้อ่านคงคุ้นหูเรื่องราวของฟูนันอยู่บ้าง โดยเฉพาะบทบาทและความสำคัญในฐานะรัฐแรกของอุษาคเนย์โดยเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรฟูนันมีเชิงเทินและเสาระเนียดซึ่งทำด้วยไม้วงล้อมรอบตัวเมือง
การขุดค้นที่เมืองออกแก้วได้พบร่องรอยของเมืองท่าเมืองหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับทะเล โดยมีคูคลองเป็นตัวเชื่อม
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ามิได้ปรากฏหลักฐานของบ้านเรือนซึ่งสร้างด้วยไม้แต่อย่างใดเลย หากแต่ได้พบฐานของโบราณสถานซึ่งก่อด้วยอิฐ ศาสนสถานหรืออาคารที่สาธารณชนใช้ร่วมกัน แผนผังของอาคารเหล่านี้ค่อนข้างแปลก แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์อันใด
ในบรรดาโบราณสถานของประเทศกัมพูชาสมัยโบราณนั้น ไม่มีอาคารซึ่งอาจจัดว่าตรงกับสมัยฟูนันได้สักนิด
ที่พนมดาในบริเวณกลุ่มโบราณสถานของเมืองพระนครบุรี มีศาสนสถานซึ่งขุดเป็นถํ้าเข้าไปในภูเขาประติมากรรมในถํ้าเหล่านี้คงจัดไว้ในสมัยฟูนัน
สำหรับประติมากรรมดังกล่าว ช่างเสริมความมั่นคงด้วยการทำแผ่นเบื้องหลังหรือทำวงโค้งรูปเกือกม้าคํ้าจุนอยู่โดยรอบ
รูปเหล่านี้แสดงถึงอวตารแห่งพระวิษณุ อันได้แก่พระราม พระพลราม และรูปพระกฤษณะ อีกหลายรูปซึ่งกำลังยกภูเขาโควรรธนะเพื่อป้องกันลมฝนแก่ฝูงโคและผู้เลี้ยงโคจากโทสะของพระอินทร์ ประติมากรรมที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ รูปพระวิษณุอัฐภุช (แปดกร) สลักด้วยหินบะซอลต์ ประติมากรรมงหมดในสมัยนี้มีเส้นที่คมชัด และมักแสดงความสง่างามเป็นอย่างมาก
ส่วนชื่อของศิลปะ พนมดา นั้น กำหนดตามชื่อเขาพนมดาอยู่ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชานอกจากมีการค้นพบงานประติมากรรมรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ และปราสาทอาศรมมหาฤๅษี ซึ่งสร้างขึ้นในถํ้าและขุดเจาะโดยฝีมือมนุษย์ นับเป็นศาสนสถานพราหมณ์รุ่นแรกเริ่มในอุษาคเนย์
จากหลักฐานที่ปรากฏผ่านจดหมายเหตุจีนและการขุดค้นที่เมืองออกแก้วหรือที่เมืองพระนครบุรี ทำให้ทราบถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรสำคัญที่สุดในอุษาคเนย์ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖
จากสภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง ซึ่งล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย ก็ดูเหมือนว่าจะทำให้อาณาจักรแห่งนี้มีอนาคตที่แจ่มใส เมื่ออาณาจักรนี้ล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แล้ว อาณาจักรเจนละซึ่งได้รับอารยธรรมของฟูนันก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นทางด้านมรดกทางวัตถุธรรมความฉลาดเฉลียวและศาสนาสืบมา
ประติมากรรมศิลาทรายรูปพระพลราม ศิลปะแบบพนมดาจากตาแก้ว สูง ๑.๗๖ เมตร ศิลปะสมัยฟูนันอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ประติมากรรมรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ศิลปะพนมดา อายุราว พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๑๕๐ (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ห้องสมุด ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตวังท่าพระ)
อาณาจักรเจนละ
อาณาจักรเจนละก็เป็นเช่นเดียวกับอาณาจักรฟูนันที่ได้รับการขนานนามจากชาวจีน
ในความเป็นจริงแล้วอาณาจักรเจนละร่วมสมัยกับอาณาจักรกัมพูชา ก่อนการฟื้นฟูในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ประวัติศาสตร์ของเจนละค่อนข้างซับซ้อนและสับสนเป็นอย่างยิ่งตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน
อาณาจักรเจนะละอาจแบ่งออกได้ ๒ สมัย คือ เจนละที่มีชัยเหนืออาณาจักรฟูนัน และ อาณาจักรที่บรรลุถึงความเจริญสูงสุด
ต่อมาอาณาจักรเจนละแบ่งแยกออกในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งเป็นสมัยที่สิ้นสุดการเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในอุษาคเนย์
จากตำนานกล่าวว่า ราชวงศ์ของอาณาจักรเจนละสืบเชื้อสายลงมาจากฤๅษีกัมพูกับเทพธิดาเมรา กำเนิดของอาณาจักรเจนละ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ในปัจจุบัน ในบริเวณแขวงจำปาศักดิ์ อาณาจักรนี้ครอบครองดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง รวมถึงประเทศลาวและประเทศไทยบางส่วน
ศูนย์กลางสำคัญของศาสนาคงได้แก่ ปราสาทวัดพูใกล้กับตัวเมืองจำปาศักดิ์ เมื่อกษัตริย์แห่งเจนละปราบปรามดินแดนตอนล่างของแม่นํ้าโขงแล้ว พระองค์ยังคงให้ความสำคัญแก่วัดพูสืบต่อมา กษัตริย์เขมรเสด็จไปแสวงบุญและสักการะศาสนสถานแห่งนี้อยู่เสมอ ทรงสร้างศาสนสถานซึ่งยังคงเหลือหลักฐานอยู่ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว ปัจจุบันอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีผ่านทางด่านช่องเม็กเข้าไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ขณะนี้ทาง สปป.ลาว กำลังเร่งก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อไปยังเมืองดานังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ก่อนจะถึงตัวเมืองซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “เมืองปากเซ” นั้น ต้องข้ามแม่นํ้าโขง โดยการนั่งเรือหางยาว หรือไม่ก็แพขนานยนต์ข้ามฝั่งเข้าไป
ส่วนเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นเมืองเก่านั้นอยู่ลึกเข้าไปในดินแดน สปป.ลาว อีกประมาณ ๕๐ กิโลเมตรห่างจากตัวเมืองปากเซไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก่อนต้องข้ามแม่นํ้าโขงที่ท่าแพ บ้านบางม่วง จึงจะเข้าไปถึง “ปราสาทวัดพู” ปัจจุบันมีถนนหนทางสะดวกสบาย
ผนังปราสาทวัดพู มองเห็นหน้าต่างมีเสากลึงหรือลูกมะหวดประดับอยู่สวยงาม
ผนังปราสาทวัดพู มองเห็นหน้าต่างมีเสากลึงหรือลูกมะหวดประดับอยู่สวยงาม
อาณาจักรเจนละ เริ่มต้นที่ปราสาทวัดพู
รองศาสตราจารย์ ดร.ธิดา สาระยา อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกไว้ในหนังสือ เจนละ – ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ ว่า
“ต้นกำเนิดของ เจนละ อยู่ที่วัดพู – จำปาศักดิ์ และเจนละเป็นทายาททางดินแดนสืบต่อจากอาณาจักรฟูนันบริเวณทะเลสาบใหญ่ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าโขง…
ต่อจากเจนละ คืออาณาจักรขอมเมืองพระนครอันยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น เจนละ คือต้นประวัติศาสตร์ขอม”
ปัจจุบันปราสาทวัดพู กลายเป็นแหล่งโบราณสถานร้างที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ อยู่ห่างชายแดนลาวและกัมพูชาทางตอนเหนือเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ปราสาทวัดพูแห่งนี้ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นและต้นแบบของปราสาทขอมในสมัยหลัง ๆ อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน
คำว่า “เจนละ” ซึ่งปรากฏในประวัติศาสตร์นั้นเป็นที่เข้าใจกันว่าคืออาณาจักรกัมพูชา แต่หากพิจารณาตามหลักฐานแล้ว ศูนย์กลางของอาณาจักรเจนละ มีจุดเริ่มต้นและที่ตั้งอยู่เมืองจำปาศักดิ์
หนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ บันทึกไว้เช่นเดียวกันว่า
“ตามประวัติเมืองนครจำปาศักดิ์นั้นว่า เดิมทีเดียวเป็นเมืองของพวกจาม เรียกว่า นครจามปายังมีศิลปวัตถุ
ฝีมือช่างจามอยู่ที่นั่น คือ ปราสาทหินวัดพู มาภายหลังมีพวกเขมรโบราณ (เจิ้นลา) มาตั้งนครอีศานปุระขึ้นที่บริเวณนั้นราว พ.ศ. ๑๒๐๐ เห็นจะปราบปรามพวกจามหรือระแดลง และขับออกไปอยู่ตามป่าเขา ต่อมาเมื่อเขมรสถาปนาอาณาจักรกัมพูชายุคนครหลวงขึ้นแล้ว (พ.ศ. ๑๓๔๕) ก็ทิ้งศูนย์กลางแห่งนี้… และตอนนั้นชื่อนครจำปาศักดิ์ ยังไม่เกิดขึ้น”
บนปราสาทวัดพูมีแท่งหินขนาดใหญ่ ซึ่งศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศดิศกุล ทรงเล่าไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ ว่า มีข้อความซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ๒ พยางค์แรกของคำว่า “ภัทเรศวร” นั้น เป็นนามของเทพเจ้าที่บูชากันอยู่ที่วัดพูนั่นเอง
นามนี้เป็นนามของศิวลึงค์ ซึ่งพระเจ้าภัทรวรมันพระราชาแห่งอาณาจักรจามปา ได้ทรงสร้างขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และอาณาจักรเจนละอาจเลือกใช้ชื่อนี้เพื่อแสดงถึงชัยชนะที่ตนมีต่ออาณาจักรจัมปาก็เป็นได้
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่า ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ มีการค้นพบแล้วสร้างศาสนสถาน รวมทั้งเทวาลัยลึงคบรรพต ณ วัดพูแห่งนี้ด้วย ทั้งในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถัง ก็ยังบันทึกว่า
“รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ซึ่งดูสงบสุขได้คงอยู่เป็นเวลาราว ๓๐ ปี และสิ้นสุดลงหลังพ.ศ. ๑๒๓๕ และอาจจะเป็นพระองค์อีกก็ได้ที่จารึกใน พ.ศ. ๑๒๕๖ ได้ถวายพระนามภายหลังสิ้นพระชนม์แล้วว่า พระราชาผู้เสด็จไปสู่ศิวปุระ”
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ คงทรงไม่มีรัชทายาท เพราะเหตุว่าใน พ.ศ. ๑๒๕๖ นั้น อาณาจักรเจนละก็ปกครองโดยพระราชินี ผู้ทรงพระนามว่า “ชัยเทวี” และพระนางได้กล่าวถึง “โชคร้ายแห่งเวลา” ด้วย
ด้วยเหตุนี้บรรดาพระราชาขอมรุ่นแรก ๆ ที่เมืองพระนคร จึงไม่ยอมรับว่าพระองค์ทรงสืบเชื้อสายลงมาจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ และการที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงนี้ คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาณาจักรเจนละต้องแบ่งออกเป็น “เจนละบก เจนละนํ้า” ในเวลาต่อมา
ซากปรักหักพังของปราสาทวัดพู บริเวณทางขึ้นภูเขาซุ้มประตูที่เหลืออยู่ของปราสาทวัดพูภาพสลักลอยตัวบนหน้าผาหินหลังปราสาท เป็นเทพ ๓ องค์ องค์กลางคือ พระสฑาศิวะ ศิลปะสมัยนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ต้นจำปาที่ปราสาทวัดพู
ปราสาทวัดพู ร่องรอยที่เหลืออยู่
นอกเหนือจากเรื่องราวของอาณาจักรเจนละที่สัมพันธ์กับหลักฐานวัดพูแล้ว ร่องรอยของอารยธรรมนับพันปี และเป็นต้นแบบของศิลปะขอมในสมัยต่อ ๆ มายังหลงเหลือให้เราได้ศึกษา ประการหนึ่ง เพราะผู้คนที่จะเข้าไปศึกษาโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ยังมีน้อยมากประกอบกับทาง สปป.ลาว เริ่มมองเห็นความสำคัญที่จะต้องหาทางบูรณะขึ้นใหม่ จึงทำให้ปราสาทวัดพูมีความสำคัญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งที่ในความเป็นจริง ปราสาทวัดพูได้กลายเป็นศาสนสถานที่พี่น้องชาวลาวได้ใช้ประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนามาโดยตลอด แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง และแม้ว่าปราสาทวัดพูแห่งนี้จะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ก็ตามที
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานและร่องรอยอย่างชัดเจนว่าปราสาทวัดพู มีศาสนสถานอะไรบ้างแต่เท่าที่ปรากฏซากปรักหักพังที่เหลืออยู่ เป็นร่องรอยของปราสาท ๒ หลังใหญ่ตั้งบนเชิงเขา แล้วมีบันไดเป็นทางเดินขึ้นบนปราสาทวัดพูอีกหลังหนึ่งบนยอดเขา ทางเดินขึ้นบนปราสาทสร้างด้วยศิลาแลงและหินดินดานวางเรียงสลับเป็นขั้นบันไดขึ้นไป
วัดความสูงจากพื้นดินถึงยอดปราสาทและเพิงหน้าผาก็ประมาณเท่ากับตึก ๕ ชั้น ระหว่างบันไดขึ้นไปถึงปราสาทหลังบนยอดเขา จะมีต้นจำปาดอกสีขาวโพลน ซึ่งชาวลาวถือว่าเป็นต้นไม้ประจำชาติด้วย จึงไม่แปลกที่จะมีพี่น้องชาวลาวจากทางเหนือ ตั้งแต่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ลงมาสักการะและร่วมประกอบพิธีกรรม ณ ปราสาทวัดพูแห่งนี้เป็นประจำทุกปี
ปราสาทหลังที่อยู่บนยอดเขานั้นค่อนข้างจะสมบูรณ์ แม้หลังคาจะยุบหรือพังทลายลงมาบางส่วนก็ตาม เพราะซุ้มประตูทั้ง ๔ ด้าน ๔ ทิศ ยังคงร่องรอยภาพสลักลอยตัวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทับหลัง หรือแม้แต่ลวดลายสลักริมเสาซุ้มแต่ละด้าน ก็ยังคงมีรูปแบบศิลปะอันงดงาม ซึ่งสร้างขึ้นตามคติความเชื่อของลัทธิพราหมณ์
บนยอดปราสาทมีหลังคามุงสังกะสี สร้างขึ้นเพื่อบังแดดและฝนสำหรับพระประธาน ที่พี่น้องลาวยังเคารพ ศรัทธา สักการะตามความเชื่อในพุทธศาสนา
จึงไม่แปลกที่จะกล่าวว่า ปราสาทวัดพูแห่งแขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว แห่งนี้ สร้างขึ้นตามความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ และเป็นต้นแบบของปราสาทขอมในเวลาต่อมา แต่ปัจจุบันใช้เป็นที่เคารพสักการะ ตลอดจนประกอบพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา
ใกล้ปราสาทแห่งนี้ยังมีศาลา และกุฏิของพระสงฆ์ที่ใช้จำพรรษาและประกอบพิธีกรรม เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย
ส่วนด้านหลังปราสาทที่ติดกับเพิงผาหินนั้น มีภาพสลักลอยตัวเป็นเทพเจ้า ๓ องค์ เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระพรหม พระอิศวร (พระสฑาศิวะ) และพระนารายณ์ เชื่อกันว่าสร้างขึ้นตามบัญชาของพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระองค์
มองจากยอดเขาและปราสาทด้านบนลงมาเห็นมีปราสาทใหม่หลังหนึ่งริมสระนํ้า ซึ่งชาวลาวเล่าว่าเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นที่ประทับของเจ้าลาวในระยะหลัง ๆ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปัจจุบันใช้สำหรับเป็นปะรำพิธี ประกอบพิธีกรรมเป็นครั้งคราวเท่านั้น
นครจำปาศักดิ์ ตำนาน – ประวัติศาสตร์
ภายหลังเขมรย้ายศูนย์กลางอำนาจจากจำปาศักดิ์ลงมาอยู่ในดินแดนกัมพูชา หลังสิ้นสุดอาณาจักรเจนละแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ เล่าว่า พวกข่าระแด และข่าตระกูลมอญ – เขมรพื้นเมืองคงจะได้จัดตั้งการปกครองกันเอง
ในระยะนี้เองที่เมืองระแด ส่งบรรณาการต่อท้าวฟ้างุ้มและพระเจ้าอู่ทอง มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชที่เรียกว่า ส่งส่วยสองฝ่ายเจ้า แต่บางครั้งก็ตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ยอมส่งส่วยบรรณาการ พวกข่าระแด และพวกข่าตระกูลมอญ – เขมร เริ่มจัดตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นมา
ในพงศาวดารลาวก็บันทึกไว้ว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ล้านช้าง ยกทัพลงมาหวังขยายอำนาจ แต่ก็ถูกโจมตีแตกพ่าย และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็หนีเข้าป่าหาบสาบสูญไป
แต่ตามตำนานเล่าว่า ผู้นำเขมรคนหนึ่งตั้งเมืองหลวงทับบริเวณเมืองจำปาศักดิ์ แล้วขนานนามว่า “นครกาลจำบากนาคบุรีศรี” แต่ก็ไม่มีความต่อเนื่อง เพราะพวกข่าก็ตั้งเจ้านายปกครองขึ้นแทนอีก จนกระทั่ง พ.ศ.๒๑๘๐ เจ้านครกาลจำบากนาคบุรีศรีเป็นหญิงสืบทอดปกครองกันมาคือ นางเภากับนางแพง
ระยะนี้วัฒนธรรมลาวเริ่มหลั่งไหลลงมาทางใต้ เจ้าชายลาวชื่อ เจ้าปางคำ ลงมาคล้องช้างป่าแล้วได้นางเภาเป็นมเหสี จึงทำให้พวกข่าที่จำปาศักดิ์ขยายบ้านเมืองเข้าสู่ภาคอีสานของไทย
ปี ๒๒๓๗ ทางนครเวียงจันทน์เกิดการรัฐประหารเสนาบดีชิงราชบัลลังก์ได้ พวกเชื้อสายเจ้าหนีลงมาทางใต้อาศัยพวกข่าที่จำปาศักดิ์ ในจำนวนนั้นมีพระครูยอดแก้ว วัดโพนสะเม็ก รวมอยู่ด้วย มีผู้คนและศิษย์ตามลงมาหลายพันคน ในที่สุดเมืองจำปาศักดิ์ก็ตกเป็นของเชื้อสายลาว มีพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเป็นกษัตริย์ปกครอง เมื่อปี ๒๒๕๐ มีการจัดการปกครองเขตลาวใต้เป็นเขตสาละวัน จำปาศักดิ์ อัตตะปือ ตลอดถึงศรีสะเกษในเขตไทยสมัยนั้นด้วย
พวกข่าพื้นเมืองจำปาศักดิ์ก็ตกเป็นไพร่ฟ้าข้าทาสของลาวในเวลาต่อมา
จำปาศักดิ์ภายใต้การปกครองของเชื้อสายเจ้าลาวเป็นรัฐเอกราชไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์และหลวงพระบางมา๖๕ ปี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยกทัพไปยึดจำปาศักดิ์เป็นประเทศราชในปี ๒๓๒๐ มีการอพยพข่าจำนวนหนึ่งเข้ามาทางด้าน จ.สุรินทร์ และจ.ศรีสะเกษ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษชาวเมืองอุบลฯและสัมพันธ์กับการสถาปนาเมืองอุบลฯ ในปี ๒๓๓๕ ต่อมา
จำปาศักดิ์ในยุครัตนโกสินทร์ปกครอง พยายามลุกฮือตั้งตนเป็นอิสระหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ รวมทั้งกรณี “อ้ายสาเกียดโง้ง” ในปี ๒๓๖๒ ซึ่งเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ต้องยกทัพปราบ และให้เจ้าราชบุตร (โย้) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ และขึ้นตรงต่อราชอาณาจักรลาวสืบมาจนกระทั่งถึงยุคฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมในอินโดจีน
จำปาศักดิ์ ในตำนานและประวัติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องราวของชนชาติข่าที่ต้องดิ้นรนเพื่อความเป็นอิสรภาพของท้องถิ่นและดินแดนของตน แต่ก็ถูกผู้ปกครองฝ่ายลาวปราบปรามอย่างราบคาบ
จำปาศักดิ์ – ลาวใต้ วิถีชีวิตชุมชนปัจจุบัน
ตัดตอนประวัติศาสตร์ลาว จากยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส ผ่านสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนเข้าสู่ระบบสังคมนิยม ปัจจุบันจำปาศักดิ์ยังอยู่ในฐานะแขวงสำคัญของลาวเช่นเดิม แม้ว่าอดีตจะเคยเป็นฐานกำลังของเจ้านายมาหลายสมัย และมีเจ้าปกครองเป็นบางช่วงก็ตาม
จำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นแขวงทางใต้ของลาว เขตติดต่อกับกัมพูชาตอนบน ผ่านเมืองอัตตะปือ ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างถนนเชื่อมจำปาศักดิ์กับหัวเมืองทางเหนือของกัมพูชา ระยะทางร่วม ๒๐๐ กิโลเมตร โดยการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น
สองข้างถนนซึ่งกำลังก่อสร้างลงไปทางใต้ ผ่านหมู่บ้านของพี่น้องลาว ส่วนใหญ่เป็นชนชาติข่าที่มีฐานะยากจน ประกอบกับการปกครองแบบสังคมนิยมของสปป.ลาว จึงส่งผลให้ยกระดับและฐานะของครอบครัวได้ลำบาก แม้ทางการ สปป.ลาว จะไม่เข้มงวดนัก กระทั่งต้นไม้สองข้างถนนก็แทบจะไม่มีใครเข้าไปตัดหรือถากถางจับจองที่ดิน ใครไปยํ่าจำปาศักดิ์ ไม่ลงไปสัมผัสนํ้าตกแก่งหลี่ผีและนํ้าตกคอนพะเพ็ง ทางใต้ลงไปร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร
นับว่าไปไม่ถึง สปป.ลาว เพราะนํ้าตกอันงดงามและอลังการทั้ง ๒ แห่ง ถูกนิรมิตขึ้นจากฝีมือมนุษย์โดยบังเอิญ
ทั้งนี้เพราะเล่ากันว่า สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองลาวอยู่เขาต้องการเร่งให้นํ้าในแม่นํ้าโขงไหลลงใต้เร็วขึ้น จึงใช้วิธีระเบิดหินและเกาะแก่งของแม่นํ้าโขงตอนล่างให้ลึกและลดระดับลง ประการหนึ่งเพราะต้องการเสาะหาสินแร่ตามประสาประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องการวัตถุดิบไปสู่ประเทศของตนเอง
นับถึงวันนี้นํ้าตกทั้ง ๒ แห่งได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ทาง สปป.ลาว หวังจะใช้เป็นจุดดึงดูดผู้ค้นหากว่าวันหนึ่งเปิดประเทศให้ผู้คนจากโลกภายนอกได้เข้าไปสัมผัสเสน่ห์ของจำปาศักดิ์อีกอย่างหนึ่ง ชนพื้นเมืองซึ่งนอกเหนือจากชนชาติข่าแล้ว ยังมีชนเผ่ากระตู้ซึ่งมีฝีมือในการทอผ้าด้วยมือได้งดงามยิ่ง ชนเผ่ากระตู้นี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองสาละวัน ห่างจำปาศักดิ์ไปทางทิศตะวันออกไม่มากนัก
วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของชาวกระตู้คือการทอผ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ปลูกฝ้าย เก็บดอกฝ้ายมาปั่นแล้วย้อมจากนั้นก็จะทอด้วยมือ ไม่มีกี่กระตุก โดยใช้เท้าและขาช่วยในการทอด้วย นับเป็นการทอผ้าที่แปลกไปอีกแบบหนึ่ง
นอกเหนือจากการทอผ้าดังกล่าวแล้ว เวลาว่างก็ออกรับจ้างหาเลี้ยงครอบครัวเช่นเดียวกับหมู่บ้านหลายหมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นี่คือวิถีชีวิตชุมชนที่สืบเนื่องเชื่อมโยงมาตามสายธารวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีในแขวงจำปาศักดิ์ เขตลาวตอนใต้ บ้านใกล้เรือนเคียงสยามประเทศของเรา
ผู้เขียนขอทิ้งท้ายไว้ว่าผู้คนของประชาคมอาเซียนคงยากที่จะเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของชาติตนเข้ากับประวัติศาสตร์ของชาติเพื่อนบ้านได้ ตราบใดที่ประวัติศาสตร์ชาติยังอัดแน่นไปด้วยพลังชาตินิยม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสิทธิธรรมและความภาคภูมิใจให้แก่รัฐชาติสมัยใหม่ เป็นไปได้ไหมว่าประวัติศาสตร์ที่สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง นั่นคือการทำความเข้าใจอดีต ซึ่งมิใช่การตัดสินการกระทำของคนในอดีตด้วยทัศนะและค่านิยมของคนในปัจจุบัน
มาร์ตินสจ๊วต ฟอกซ์ ผู้เขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ลาว ได้อภิปรายเอาไว้ว่า การที่จะถือว่าประวัติศาสตร์ของชาวลาวล้านช้างเป็นประวัติศาสตร์ยุคโบราณของประเทศลาวนั้นไม่ผิด แต่ไม่ครบถ้วน เพราะประเทศลาวสมัยใหม่ได้รวมเอากลุ่มชนอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวข่า ชาวม้ง เข้าด้วยเป็นจำนวนมาก ความคิดนี้เหมาะกับประวัติศาสตร์ไทยเช่นกัน หากไม่มีเรื่องของล้านช้างล้านนา ปัตตานี มอญ เขมร หรือแม้แต่เรื่องของชาวจีนโพ้นทะเล คนส่วนใหญ่ของประเทศคงไม่สามารถเข้าใจอดีตที่แท้จริงของตนเอง
คนไทยทั้งหมดคงไม่สามารถเข้าใจความหมายของความเป็นไทย และการเป็นคนไทยได้ รวมทั้งไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่โดยรอบได้
ชาวกระตู้ทอผ้าด้วยมือโรงแรมจำปาศักดิ์พาเลซ วังเก่าเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์นํ้าตกคอนพะเพ็ง ทางตอนใต้ของเมืองจำปาศักดิ์นํ้าตกแก่งหลี่ผี ที่ปรากฏร่องระเบิดหิน ฝีมือฝรั่งเศส
อ้างอิง
แกรนด์ อีแวนส์. (๒๕๔๙). ประวัติศาสตร์สังเขปประเทศลาว. แปลโดย ดุษฎี เฮย์มอนด์. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.
ถนอม ตะนา. (๒๕๓๕). เอกสารประกอบการสอนประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์. มหาสารคาม :ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
มาร์ติน สจ๊วต ฟอกซ์. ประวัติศาสตร์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. แปลโดย จิราภรณ์วิญญรัตน์. กรุงเทพฯ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ธิดา สาระยา. (๒๕๓๕). อาณาจักรเจนละ.กรุงเทพฯ : มติชน.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. (๒๕๔๙). ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ:สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
Briggs, L.P. (1951). The Ancient Khmer Empire.London : Oxford.
James C.M.Khoo. (2003). Art and Archaeology of Funan : The Pre-Khmer Kingdom of the Lower Mekong Valley. New York : Orchid Press Publishing Limited.
Mouhot, H. (1864). Travels in the Central Parts of Indo – China (Siam), Cambodia and Laos.(2 vols.) London : Oxford.
Somkiart Lopetchara. (2000). Lao Buddha : the image and its history. Bangkok :S.O.M. International Co. Ltd.
คอลัมน์ ฮุ่งเฮืองเมืองปราชญ์ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๑| กันยายน ๒๕๕๘
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220