เทพทันใจ ผีอารักษ์ในสังคมพม่า


รูปปั้นโบโบยีนัต ที่เจดีย์โบตาทาวน์ กรุงย่างกุ้ง ที่มีผู้แสวงบุญไปสักการบูชามากที่สุด ในฐานะ “เทพทันใจ”

เทพทันใจ ผีอารักษ์ในสังคมพม่า
บทความโดย: ธีรภาพ โลหิตกุล – Teeraparb Lohitkun

# กรณีมีการอัญเชิญ “เทพทันใจ” จากเมียนมาร์ มาให้คนไทยสักการะที่ท้องสนามหลวงเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เทพองค์ดังกล่าวมีนามว่า “โบโบยีนัต” 1 ในนัตศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมียนมาร์นับถือ แต่ไม่ปรากฏในคติความเชื่อของสังคมไทย จึงน่าสนใจว่า นัตคือใคร มีความสำคัญอย่างไร และเป็นเทพหรือเป็นผีกันแน่ ?

ผศ.อรนุช และผศ.วิรัช นิยมธรรม แห่งศูนย์พม่าศึกษา ม.นเรศวร อธิบายไว้ในบทความ “นัต: ผีอารักษ์ในสังคมพม่า” ว่า “นัต” คือ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตายโหง” เช่นประสบอุบัติเหตุ ถูกฆ่าตาย ตรอมใจตาย ฯลฯ แต่ต่อมากลายเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้าน

นัตจึงมีสถานะกึ่งเทวดา กึ่งผี คือมีระดับสูงกว่าผีทั่วไป แต่ก็ไม่สูงกว่าเทวดา มีข้อสันนิษฐานว่า คำว่า “นัต”ในภาษาพม่า มาจากคำว่า “นาถ” ในภาษาบาลีที่แปลว่า “ที่พึ่ง” นัตที่ชาวพม่านับถือแต่ดั้งเดิมมี 36 ตน มีหัวหน้าชื่อ “มีงมหาคีรีนัต” เป็นนัตสองพี่น้องซึ่งถูกกษัตริย์ที่โหดร้ายจับมัดกับต้นจำปาแล้วเผาทั้งเป็นจนตาย

ราว พ.ศ.1600 เมื่ออโนรธามหาราชสถาปนาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นครั้งแรกในแผ่นดินพม่า ได้ทำลายลัทธิบูชานัต ทำลายศาลนัตที่มีอยู่ในทุกบ้าน จับคนทรงผีนัตมาประหาร ยกเลิกประเพณีไหว้ผีนัต ลดบทบาทของนัตจากการดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน ให้มาทำหน้าที่ปกปักรักษาพุทธศาสนาแทน เพื่อให้ราษฎรหันมายึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า

นอกจากนั้น ยังลดบทบาทของมีงมหาคีรีนัตให้เป็นเพียงรองหัวหน้า แล้วตั้ง “ตะจังมีง” หรือท้าวสักกะ คือพระอินทร์ เป็นหัวหน้าเหล่านัต พร้อมทั้งย้ายรูปปั้นนัตทั้งหมดไปรวมกันไว้ที่ “หอนัต” ภายในบริเวณเจดีย์ชเวสิกอง เมืองพุกาม เป็นสัญลักษณ์ว่าต่อแต่นี้ไป นัตมีหน้าที่ดูแลปกป้องพระพุทธศาสนา คุ้มครองเมือง แทนการดูแลชาวบ้าน

ส่วน “โบโบยีนัต” เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ผู้ชี้ทางให้เรือของนายวาณิช อัญเชิญพระเกศาของพระพุทธเจ้า มุ่งตรงมาขึ้นฝั่งที่เมืองตะเกิ้ง (ย่างกุ้ง-ปัจจุบัน) รูปปั้นโบโบยีนัตจึงอยู่ในท่วงท่ากำลังยืนชี้ ปัจจุบัน นักแสวงบุญจากหลายประเทศนิยมมากราบไหว้บูชา ด้วยเชื่อว่าอธิษฐานขอสิ่งใดแล้วจะสมปรารถนาทันใจ จึงเรียกขานว่า “เทพทันใจ”

ปัจจุบัน ชาวพม่ายังนับถือนัตเคียงคู่ไปกับศาสนาพุทธอย่างแนบแน่น ประเพณีเซ่นสรวงบูชาผีนัตยังปรากฏให้เห็น กล่าวได้ว่าคติความเชื่อเรื่องนัตของชาวพม่า ใกล้เคียงกับชาวฮินดูบนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ที่กราบไหว้บูชาเทพเจ้า และเซ่นสรวงบูชาภูตผีไปพร้อมๆ กัน เป็นการสร้างโลกดุลยภาพระหว่างผีกับเทวดา โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com