‘เบญจมินทร์’ ราชาเพลงรำวง
ผู้สร้างรอยต่อวัฒนธรรมสองฝั่งโขงถึงคาบสมุทรเกาหลี
ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: เสียงเมือง
Column: Sound of the City
ผู้เขียน: มหา สุรารินทร์

รำเต้ย
คำร้อง – ขับร้อง “เบญจมินทร์”
ทำนอง รำโทน

สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง แม้นมีทองจะให้เจ้าแต่ง ครั้นเมื่อถึงยามแลง จะพาน้องแต่งตัวเดิน…

เพลินละก็จริงนะน้อง ไผมองก็ว่างามสม คิ้วต่อก็ยังแถมคอกลม หางตาแม่คม เหมือนจะบาดใจชาย…

อยากฮู้ว่าบ้านอยู่ใส ผู้ใด๋เขาเป็นคู่ซ้อน แม้นยามนอนบ่มีไผกอด สองแขนของอ้ายสิสอด กอดไว้บ่ให้ไผมาตอม…

หอมหลายคือแม่นแก้มนาง หอมต่างกว่าสาวอื่น ๆ หากได้ตัวน้อง มาประคองสักคืน เงินแสนเงินหมื่น ก็บ่ได้ตื่นตามอง

(ซ้ำทั้งเพลง)

ทางอีศาน ในส่วนของ เสียงเมือง ฉบับนี้ขอพูดถึงขุนพลเพลงผู้ใหญ่ ซึ่งสำนักวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประกาศเกียรติคุณให้เป็น “อมตศิลปินมรดกอีสาน” คนแรกของรางวัลนี้มอบแด่ศิลปินผู้ที่มีผลงาน และยังคงมีชื่อเสียงเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนอย่างไม่มีวันเสื่อมคลายได้แก่ ตุ้มทอง โชคชนะ หรือ “เบญจมินทร์” ครูเพลงชาวอุบลราชธานีผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถทั้งการประพันธ์ การขับร้อง อีกทั้งยังเป็นผู้เขียน

บทและกำกับภาพยนตร์อีกด้วย โดยเพลงที่ยังคงเป็นอมตะ และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสมัยได้ตลอดมาอย่าง “โปรดเถิดดวงใจ” ขับร้องโดย ทูล ทองใจ โดยเฉพาะการประพันธ์เพลงรำวง ทำให้ได้รับฉายาว่า “ราชาเพลงรำวง” มีผลงานเพลงจากปลายปากกาไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ เพลง ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว คงไว้แต่ชื่อและผลงานที่ไม่มีวันตาย

“เบญจมินทร์” หรือ ตุ้มทอง โชคชนะ เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี เกิดเมื่อ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกด้วยเพลงชายฝั่งโขง แต่งโดย สกล มิตรานนท์

เพลงชายฝั่งโขงฉบับดั้งเดิม ผมพยายามหาเท่าไหร่ก็ไม่มีให้ฟัง หากท่านใดมีเก็บไว้ ขอความอนุเคราะห์เอามาแบ่งปันกันฟังเป็นบุญหูจักขอขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูง

ที่ได้ฟังครั้งแรกรู้สึกติดใจและชอบแกะมาร้องอยู่สม่ำเสมอเป็นฉบับของ “นิค นิรนาม” หรือคณิต อุทยานสิงห์ ศิลปินเพื่อชีวิตแห่งเมืองโคราชที่หันมาร้องเพลงลูกทุ่งใน “หยิบสิบ” ชุดแรก และเป็นรอยต่อของเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยที่ถูกนำมาทำใหม่มีความเป็น “นิค นิรนาม” แต่มีหางเสียงของต้นฉบับเดิมไว้อย่างไพเราะ

“เบญจมินทร์” เป็นที่รู้จักอย่างมากจากเพลงรำวง อย่าง เมขลาล่อแก้ว, รำวงแจกหมวก, แมมโบ้จัมโบ้, อึกทึก, มโนราห์ ๑-๒, สาลิกาน้อย, รำวงฮาวาย, รำเต้ย, อายจัง

ครูเบญจมินทร์ เป็นนักร้องแนวโทนเสียงที่กังวาน เพลง รำเต้ย เป็นเพลงดังที่ทำให้หลายคนนึกถึงขุนพลเพลงผู้นี้ ในฐานะนักร้องและนักแต่ง

ขณะเดียวกันนักค้นคว้าด้านเพลงลูกทุ่ง เชื่อว่าเพลงลูกทุ่งมีถิ่นกำเนิดในอีสานและสองฝั่งโขง “คุณแวง พลังวรรณ” เชื่อว่าจังหวะ “รำโทน” คือต้นกำเนิดเพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกทุ่งนั้นมาจากภาคอีสาน และผู้ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการนำเพลงรำโทนมาใช้มากที่สุด และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย

สร้างชาติด้วยการเชิดชูวัฒนธรรมของชาติไทย คือท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาท่านผู้นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ผู้เขียนเชื่อตามทฤษฎีของคุณแวง แต่ไม่เชื่อทั้งหมดว่าเพลงลูกทุ่งมีกำเนิดจากอีสาน

โดยเพลงรำโทน บางอย่างอาจสอดคล้องกันบ้างแต่ไม่มากนัก ทั้งนี้ วงดนตรีลูกทุ่งนั้นเครื่องดนตรีส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีสากลไม่ว่าจะเป็นกลอง, ทรัมเป็ต, แซกโซโฟน, แอ็คคอเดียน, กีตาร์, ทรอมโบน

ล้วนเป็นองค์ประกอบหลักของวงดนตรีลูกทุ่งโดยเฉพาะอิทธิพลทางการดนตรีของตะวันตกซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกหัดทหารตามแบบยุโรป ได้ใช้แตรวงบรรเลงประกอบการฝึกทหาร

มีการว่าจ้างนายทหารสองคนที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศอินเดียมาเป็นครูฝึก คือ ร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) เป็นครูฝึกในวังหลวง และ ร้อยเอกนอกซ์ (Knox) เป็นครูฝึกในวังหน้า

เทาเซนต์ แฮรีส ทูตชาวอเมริกันที่เข้ามาในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ บันทึกไว้ว่า วงดนตรีและเครื่องดนตรีของเขานั้นเป็นของแปลกใหม่ที่ดึงดูดความสนใจของคนไทยที่พบเห็นเป็นอันมากจนเกิดวัฒนธรรม แตรวง เป็นวงดนตรีซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ทำด้วยทองเหลืองจำพวกแตรและเครื่องตี เช่นกลอง มีทั้งวงเล็กและวงใหญ่การบรรเลงเพลงจะใช้ผู้บรรเลงหลายคน บรรเลงในลักษณะการนั่งหรือยืนล้อมเป็นวง

ก่อนจะพัฒนาเป็นเพลงตลาด คือ กลุ่มที่มีบรรยากาศ “ชนบท” เพราะมักรวมประเภท “การเมือง” ด้วย แต่บางทีเรียกกันว่า เพลงชีวิตเพราะมักแต่งเพลงสะท้อนชีวิตสามัญชน ภายหลังพ.ศ. ๒๕๐๗ พวกนี้จะถูกเรียกว่า เพลงลูกทุ่ง

คนชนบทที่เข้ามารับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อถนนมิตรภาพตัดผ่านดงพญาไฟซึ่งกลายเป็นดงพญาเย็น คนเหล่านั้นไม่ว่าจะเข้ามาชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม จะเริ่มมีฐานะทางสังคมแล้วเกิดการรวมตัวกันสร้าง “วัฒนธรรม” ของตัวเองขึ้นมาและเป็นกลุ่มหนึ่งที่สร้างเพลงลูกทุ่งมาจนปัจจุบัน

ส่วน รำโทน กลายมาเป็น รำวง ก็เมื่อหลวงวิจิตรวาทการ มาจัดระเบียบการรำสมัยนิยมให้ตีเป็นวงกลม ยุคต่อมาคนจึงนิยมการรำเป็นวงแบบใหม่

สยามประเทศ หรือประเทศไทย ในปัจจุบันตั้งอยู่ในแผ่นดินสุวรรณภูมิผสมผสานกันอยู่แบบที่เรียกว่า “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งประชากรในกรุงเทพฯ มีอย่างน้อย ๆ ๓ กลุ่ม เช่น คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกกลุ่มหนึ่งที่ในปัจจุบันซึ่งสำเนียงพูดต่างจากสำเนียงกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นสำเนียงหลวง สำเนียงเยี่ยงนี้เรียกว่าการพูด “เยื้อง” ไม่ออกสำเนียง “เหน่อ” อย่างสำเนียงสุพรรณบุรี – อยุธยา จังหวัดรอบข้างใกล้เคียงอย่างเพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี เป็นอาทิ

จังหวะรำวง ถือว่านิยมแพร่หลายของลายเพลงลูกทุ่ง พอ ๆ กับจังหวะสามช่า

จังหวะตีกลอง ป่ะ ป่ะ โทน โทน หรือจังหวะรำโทน นี้เป็นวัฒนธรรมร่วมกันทั้งแผ่นดินสุวรรณภูมิ ไม่เฉพาะภาคอีสาน แต่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง

รำโทน เป็นส่วนหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง แต่ไม่ใช่ต้นกำเนิด เพราะเพลงลูกทุ่งในเริ่มแรกนั้น ไม่มีอะไรตายตัว เป็นกฎเกณฑ์ หรือมาตรฐานแน่นอนแต่เพลงลูกทุ่งเป็นวิวัฒนาการที่สืบเนื่องมาจากการละเล่นที่หลากหลาย

ในมุมมองของผู้เขียนเชื่อว่า เพลงลูกทุ่ง มีกำเนิดในกรุงเทพฯ เฉกเช่น ลิเก ที่มีแหล่งกำเนิดใจกลางกรุงเทพฯ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแหล่งกำเนิดจากถิ่นอื่น หากแต่มีการปรับเปลี่ยนตามวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีการสื่อสาร

สำหรับ ครูเบญจมินทร์ ในฐานะครูเพลงยังแต่งเพลงให้นักร้องท่านอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็น ทูล ทองใจ นอกเหนือจากเพลงโปรดเถิดดวงใจ แล้วยังมีเพลง ในฝัน, เหนือฝัน, ปรารถนา, ไพรระกำ, กลิ่นปรางนางหอม ฯลฯ

จุดที่น่าสนใจหนึ่งในชีวิตของขุนพลเพลงท่านนี้เมื่อสมัครไปสมรภูมิเกาหลี ตามคำชวนของนายทหารกองดุริยางค์ทหารในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ อยู่ที่เกาหลีนาน ๖ เดือน เมื่อกลับมาได้แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีมากมายหลายเพลง ทั้ง อารีดัง, เสียงครวญจากเกาหลี, รักแท้จากหนุ่มไทย และ เกาหลีแห่งความหลัง ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด หลังจากรับราชการทหาร ๕ ปีก็ลาออกจากกองทัพ

ทั้งนี้ มรดกอันล้ำค่าของครูเบญจมินทร์ เกี่ยวกับเพลงเกาหลีในเพลงออกสิบสองภาษา ซึ่งมี ๑ ใน ๑๒ ภาษาสำเนียงเสียงเพื่อนบ้าน เพลงเกาหลีที่นำมาบรรเลงในปี่พาทย์ก็นิยมนำเพลง อารีดังมาใช้ในตับเพลงเกาหลีอีกด้วย

เมื่อความนิยมในผลงานเพลงของเขาสู้กับนักร้องรุ่นใหม่อย่าง สุรพล สมบัติเจริญ ไม่ได้รวมทั้งเกิดกรณีการแต่งเพลงตอบโต้กัน โดย “เบญจมินทร์” เขียนเพลง “อย่าเถียงกันเลย”ต่อว่า สุรพล สมบัติเจริญ กรณีที่ร้องเพลงตำหนิ ผ่องศรี วรนุช ที่ลาออกจากวงไป และสุรพลก็แต่งเพลงตอบโต้เขาชื่อ “สิบนิ้วขอขมา” ซึ่งเสียงตอบรับของแฟนเพลงนั้นหันไปทางสุรพลมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ทำให้ “เบญจมินทร์” ยกกิจการวงดนตรี “เบญจมินทร์และสหาย” ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ให้แก่ลูกศิษย์รักคนที่สอง กุศล กมลสิงห์ เจ้าของฉายา ขุนพลเพลงรำวง และเพลงดังรักกลางจันทร์ (ดูสินั่นพระจันทร์สวยเด่น) จากปลายปากกาของ ครูนิยม มารยาท แล้วหันหลังให้กับวงการเพลงทันทีโดยไม่แยแสในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ก่อนจะหันไปจับงานบันเทิงสาขาใหม่

สร้างภาพยนตร์เรื่อง เสือเฒ่า, ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ และ แสนงอน เคยเป็นพระเอกในเพื่อนตาย และพระรองใน สุภาพบุรุษเสือไทยตลอดจนเป็นตัวประกอบใน ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งนำแสดงโดย จตุพล ภูอภิรมย์

เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ไอ้โต้ง, แผลหัวใจ เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง ขุนแผนผจญภัย ซึ่งเพลงประกอบละครเรื่องนี้แต่งโดย ครูมนัส ปิติสานต์ ศิลปินแห่งชาติคนล่าสุด ขับร้องโดยโกมินทร์ นิลวงศ์ นอกจากนี้ก็ยังเคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมทั้งเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง

ครูเบญจมินทร์ สมรสกับ นางทองขาว มีบุตรธิดารวม ๕ คน ได้แก่ เบญจมินทร์, มณเฑียร, ขวัญทิพย์, มณฑล และ อาริยา ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองแม้แต่หลังเดียว จนกระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต ได้ขอเจียดที่ดินจากเจ้าของที่ดินหลังโรงเรียนเรวดีย่านคลองประปา ซึ่งเป็นเจ้าของร้านข้าวแกงที่เขาติดอกติดใจ ปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ บนพื้นที่ขนาด ๓ คูณ ๔ เมตร เพื่อใช้อาศัยอยู่ตามลำพัง แม้ว่าตัวเองจะป่วยเป็นอัมพฤกษ์

๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ครูเบญจมินทร์ล้มป่วย และเสียชีวิตบนรถแท็กซี่ระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ระบุว่าเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุ ๗๓ ปี

ขอกราบคารวะครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ครูตุ้มทอง โชคชนะ หรือ “เบญจมินทร์” อมตศิลปินมรดกอีสาน ด้วยเพลง รำเต้ย และ ชายฝั่งโขง แทนดอกเข็ม หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือมาบูชาครู

ชายฝั่งโขง
คำร้อง – ทำนอง สกล มิตรานนท์
ขับร้อง “เบญจมินทร์”

สาวแม่โขงเอ๋ยเพิ้นฮักงาน บัดนี้มาซ่อยกันโหมแห่ง ลมโชยมา สิว..สิว..เย็นสบาย เพิ้นบ่วายฟั้นฝ้ายซิ่น แล้วจะพากันไปล่องแก่ง ขึ้นจากน้ำหรือก็มาแต่งว่าตัวจะสวยถึงใจ จริงนะเพิ้นเอย

โอ้เจ้าสาวเอย เพิ้นผู้งามบัดข้อยมา เมื่อตามไปเถิงเฮือน หอมอันใด สุย สุยโชยกลิ่นมา เบิ่งสุดตาก็บ่ได้สบหน้าน้อง ข้อยเสียใจมิได้เยือน โอ้ว่าบุญข้อยบ่มี เจ้าจึงหนีเข้าอยู่ในเฮือน จริงนะเจ้าเอย

โอ้เจ้าสาวเอ่ย จงชั่งใจฮักง่ายก็มักเชื่อง่าย…เสียแล้ว หวานลมซายลวงมา สุย สุยบ่เป็นการ เฮาเอางานเหลือ ได้ก็ได้กินบ่เถิงความฮ้อนใจ โอ้แม่สาวคำใบ ก็จงเป็นขวัญเข้าอยู่ในเฮือน จริงนะเพิ้นเอย

โอ้เจ้าสาวเอย เพิ้นผู้งามบัดข้อยมาเมื่อตามไปเถิงเฮือน หอมอันใด สุย สุยโชยกลิ่นมา เบิ่งสุดตาก็บ่ได้สบหน้าน้อง ข้อยเสียใจมิได้เยือน โอ้ว่าบุญข้อยบ่มี เจ้าจึงหนีเข้าอยู่ในเฮือน จริงนะเจ้า

Related Posts

งานสงกรานต์ของคนอีสาน
ผู้หญิงแนวหลัง
บ้าโบก

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com