เบิ่งนครพนม
สร้อยประคำโขง เพลงกวีสายสัมพันธ์บ่กั้นขวาง
ทางอีศาน ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: เสียงเมือง
Column: Sound of the City
ผู้เขียน: มหา สุรารินทร์
https://www.youtube.com/watch?v=69eWlkbtcw4
เชิญพี่ไปเที่ยวเล่นเมืองนครพนมเบิ่งจักเถื่อต้องเชื่อคำน้อง สาวนครผิวเหลืองดังทอง ยามสาวลงลอยล่องเบิ่งโขงยามแลง ไหมก็ขาว สาวลาวก็สวยมวยผมดำ น้ำบ่อก็ใส สวยแท้คือสาวผู้ไทสวยบาดใจชายสาวญวนก็งาม
เพลง เบิ่งนครพนม เสียงร้องของ ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(หมอลำ) ฝีมือการประพันธ์ของ สุรินทร์ ภาคศิริ ซึ่งถือว่าเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งเพียงเพลงเดียวของราชินีหมอลำท่านนี้ และเพลงดังกล่าวครูสุรินทร์ได้รับอิทธิพลจากเพลง บ้านพนม ของเฉลิมชัย ศรีฤๅชา
เบิ่งนครพนม เกิดก่อนกาลที่จะแยกจังหวัดมุกดาหารออกจากส่วนหนึ่งของจังหวัดนครพนมในเนื้อเพลงจึงผูกพันเกี่ยวข้องกับภูมิบ้านนามเมืองต่าง ๆ ของสองจังหวัดที่เป็นเมืองแม่กับจังหวัดใหม่ขณะเดียวกันเพลงนี้ก็ถูกหยิบนำมาขับร้องใหม่ไม่ว่าจะเป็น บานเย็น รากแก่น หรือหลังสุด ต่าย อรทัย ลายดนตรีจึงแปลกไปจากต้นฉบับแรกตามความนิยมของเครื่องดนตรี
เพลงลูกทุ่งหลาย ๆ เพลงพูดถึงจังหวัดนครพนม ขณะเดียวก็พูดถึงอำเภอเรณูนครหลายเพลง ๆ หนาวลมที่เรณู ดูเหมือนจะเป็นเพลงแรก ๆ ที่หลายคนระลึกถึง
“ผ้าผวยร้อยผืน ไม่ชื่นเหมือนน้องอยู่ใกล้ดูดอุร้อยไหไม่คลายหนาวได้หรอกหนา ห่าง…น้อง พี่ต้องหนาวหนักอุรา คอยนับวันเวลาจะกลับมาอบไอรักเรา”
รวมทั้งอีกหลายเพลงเช่น “อาลัยสาวเรณู” เทพพร เพชรอุบล ร้องเองแต่งเอง, “คนสวยเรณู” สัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ แต่ง แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ขับร้อง หรือเพลงที่เชื่อมโยงกันระหว่างวัฒนธรรมอย่างเพลง “ตะวันรอนที่หนองหาน” ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ปราชญ์อีสานผู้แต่งเนื้อร้องทำนองให้ ศรคีรี ศรีประจวบ ร้องไว้ท่อนหนึ่ง
“โอ้ละเน้อ โอ โอ โอ โอ้ ละเน้อ ผู้สาวภูไทใช่มีแต่ที่เรณู ได้ฮักแล้วพี่ได้ฮู้ คือสาวภูไทสกลนครครั้นไปเที่ยวงานพระธาตุเชิงชุมได้พบบังอรเหมือนเคยร่วมบุญปางก่อน ที่สุดขอบฟ้าก็มาพบพาน”
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ แต่งเพลง เรณูผู้ไทย ทำนองเพลง เต้ยโขง โดยใช้ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราว
นาน้อย อ้อยหนู อยู่น้ำแท น้ำทาว
หลักแหล่ง เรื่องราว แรกเรียก ผู้ไทย
ผู้ไทย ผู้คน ไม่ใช่ผีภูติไพร
มีบ้าน เมืองใน อุษา คเนย์
บ่อนเบื้อง เมืองแถน เดียนเบียนฟู พื้นเพ
เคลื่อนย้าย ถ่ายเท ถึงสอง ฝั่งโขง
น้ำของ สองฝั่ง เฝ้าธาตุ พนมโยง
นคร พนมโจง จูง เรณูนคร
เรณู ผู้คน ทูนแถน แผ่นอัมพร
คือเรณู นคร ผู้ไทย นครพนม
คุณสุจิตต์ ยังได้เขียนคำอธิบายเนื้อหาเพลงไว้ว่า “นาน้อยอ้อยหนู” ชื่อพื้นที่ในตำบลแถน ให้ผู้คนมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินบนโลกมนุษย์เป็นแห่งแรก ปัจจุบันอยู่ลุ่มน้ำดำ – แดง ในภาคเหนือของเวียดนาม น้ำแท น้ำทาว ชื่อแม่น้ำสองสายในภาคเหนือของเวียดนาม ต่อมาฝรั่งเศสเรียกแม่น้ำดำ กับแม่น้ำแดง ไหลมาจากเขตจีน ผ่านฮานอยลงทะเลจีนที่อ่าวตังเกี๋ย
เมืองแถน บางแห่งเรียก แถง ชาวเวียดนามเรียก เมืองเดียนเบียนฟู เป็นที่สถิตย์ของผีฟ้า – พญาแถน และเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของผู้ไทย มี ๓ พวก คือ ไทยดำ ไทยขาว ไทยแดง
ทั้งหมดนี้ หลายเพลงพูดถึงชาวอำเภอเรณูนคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวผู้ไท แต่ไม่ใคร่กล่าวถึงพระธาตุเรณูนครนัก อาจเพราะว่าความคุ้นชินอยู่กับพระธาตุพนมซึ่งเป็นองค์ประธานของพระธาตุ
บริเวณแถบนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ให้นิยามว่าเป็นเขตสะสม ซึ่งแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง, หนองหานหลวง สกลนคร, ถึงพระธาตุพนมนครพนม มีหลักฐานเก่าแก่มากกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว สืบเนื่องจนรับศาสนาพุทธ – พราหมณ์ แล้วเติบโตเป็นรัฐมีชื่อเรียกในตำนานว่าศรีโคตรบูร
แคว้นศรีโคตรบูรมีในตำนานอุรังคธาตุเขตแดนของแคว้นนี้อยู่ในสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย เวียงจัน นครพนม ลงไปจนจรดเขตจังหวัดอุบลราชธานี โบราณวัตถุสถานที่ยืนยันเห็นถึงวัฒนธรรมเก่าแก่ของดินแดนในแคว้นนี้ได้แก่ ๑. บ้านเชียง ๒. ภูกูเวียน (ภูพาน) และเมืองพาน ๓. เวียงจัน และศรีเชียงใหม่ ๔. พระพุทธบาทเวินปลา ๕. บ้านหลักศิลา ๖. วัดพระธาตุพนม
ตัวอำเภอเมืองนครพนม อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ของ สปป.ลาว ฝั่งฟากโน้นเต็มไปด้วยภูเขาหินปูนลดหลั่นเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามแห่งหนึ่งตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อมองจากฝั่งไทยเห็นว่า “วิวเป็นของเรา ภูเขาเป็นของลาว” หากมองมาจากฝั่งเมืองท่าแขกไล่มาตั้งบริเวณพระธาตุศรีโคตรบองมาฝั่งเมืองนครพนมจะเห็นวัดเรียงราย เมื่อไม่นานมานี้มีการขุดพบโบราณสถาน วัดร้าง หลายแห่ง แต่บริเวณตลิ่งโขงตัวเมืองนครพนมจะเรียงรายไปด้วยวัดอารามต่าง ๆ ตลอดจนถึงโบสถ์คริสต์
เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ เดินทางไปเขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ : ลาว ที่เมืองท่าแขก ให้นิยามบริเวณโขงฝั่งไทยและเขียนบทกวีไว้ว่า สร้อยประคำโขง โดยเฉพาะโขงยามค่ำ
โขงโค้งคาดสองฝั่งเมือง
ฟ้าเมลืองมลังปลั่งสี
แสงคำม่วนคำมุกด์มณี
ยังที่ท่าแขกนครพนม
เรื่อยเรื่อยเฉื่อยข้ามลำโขง
พลิ้วน้ำย้ำโยงประสานสม
สัมพันธ์หนึ่งเดียวเกลียวกลม
ร่วมบรมโพธิญาณธารธรรม
ธาตุพนมคู่ธาตุศรีโคตร
สรงโสรจน้ำมนต์ฝนฉ่ำ
ร่มเย็นอยู่เป็นประจำ
น้ำโขงคือน้ำคำพร
มั่นยืนมั่นยงคงอยู่
เป็นอู่เป็นเหย้าเก่าก่อน
แม่น้ำแม่ดินนิรันดร
มิ่งนครคำม่วนเมืองคำ
ขณะที่บทกวีที่สะท้อนภาพลักษณ์แม่น้ำโขงจากอดีตถึงปัจจุบันสายสัมพันธ์สองฝั่งได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น “นายผี” หรือ อัศนี พลจันทรมหากวีพรรณนาความ “คิดฮอดบ้าน” จากอีกฝั่ง “ของ” ร้อยเรียงเป็นบทเพลงข้ามฝั่งพหุนามนทีอย่างลุ่มลึกและกรีดอารมณ์ในบทกวีที่ชื่อ ของสองฝั่ง
ตลิ่ง “ของ” สองข้างทาง “น้ำของ”
แม้ยืนมองดูยังคอตั้งบ่า
เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา
แต่ตีนท่าลื่นลู่ดังถูเทียน
เหงื่อที่กายไหลโลมลงโซมร่าง
แต่ละย่างตีนยันสั่นถึงเศียร
อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน
ก็วนเวียนอยู่กับ “ของ” สองฝั่งเอย
นี่แหละ เสน่หา ง่าย งาม ความสัมพันธ์สองฝั่งโขงที่มีความ “ม่วนซื่นโห่แซว” ในวันที่ฤดูกาลกำลังจะเปลี่ยนผ่านกับสะพานทอดข้ามน้ำโขงที่รุกหน้าทางเศรษฐกิจ แต่มิติชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง และความงดงามทางวัฒนธรรมเริ่มเป็นการค้ามากขึ้นที่ “วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย”.
หมายเหตุ : บทความนี้ปรับปรุงจากเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ แม่น้ำโขง ณ นครพนม เมื่อ ๒๑ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมนครพนม ริเวอร์วิว จังหวัดนครพนม ห้องเสาร์ทอง หัวข้อสัมมนา “กวี : วรรณกรรมสองฝั่งโขง สายสัมพันธ์บ่กั้นขวาง” จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทยจำกัด ฯลฯ.