1. คีตกาล

จากโกร่ง เกราะ เคาะไม้นัดหมายเสียง สื่อสำเนียงเสียงแผ่นดินจากถิ่นเถื่อน

คือดนตรีชีวิตอยู่ชิดเรือน ผ่านปีเดือนเลื่อนระดับเป็นกรับกลึง

ให้จังหวะแต่ละวรรคสลักถ้อย ผ่านรูปรอยสู่ระนาดที่พาดขึง

ลมระบายไม้ซางอย่างซาบซึ้ง ขลุ่ยและแคนเคล้าคลึงรำพึงเพลง

คือสร้อยเสียงสนทนาภาษาไม้ ทั้งเครือ ใส ไล่ล้อเสียงคลอเปล่ง

ตามรอยทางสร้างสรรค์ร่วมบรรเลง พร้อมทับโทน ป๊ะเท่ง ฉิ่งเร่งเร้า

หลากระนาดชาติเชื้อร่วมเนื้อไม้ ร่วมจังหวะพลิ้วไหวโลกใบเก่า

จำหลักโน้ตโลดเต้นกลายเป็นเรา ข้ามชาติเชื้อเครือเถาเคล้าทำนอง

สื่อสำเนียงเสียงร้องของชาติพันธุ์ ไม้มะเกลือ ชิงชัน ลมผ่านล่อง

ผืนไผ่บง ไม้มะหาด ระนาดพร้อง ตะโพนก้อง สัก ขนุน สนทนา

สื่อสำเนียงเสียงร้องของชาติพันธุ์ หลายหลักแหล่งแบ่งปันความหรรษา

สำเนียงลาว มอญ เขมร แขก ชวา ญวน พม่า จีน ฝรั่ง อย่างไทยเดิม

2. คีตกร

เรือมังกรลอยลำสายน้ำหอม ดนตรีพร้อมอ๋าวหย่ายชุดใส่เสริม

เสียงด่านเบิ่วเศร้าสร้อยชวนคล้อยเคลิ้ม พร้อมด่านตรุงต่อเติมความตื่นตา

หลากทำนองล่องลงกล่อมซงเฮือง เหมือนเล่าเรื่องเมืองเว้เสน่หา

ให้สำเนียงเวียดนามลอยข้ามฟ้า สื่อภาษาสากลของดนตรี

แล้วตัวโน้ตไต่นิ้วก็ลิ่วล่อง ว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสอง…” แล้วน้องพี่

ลอยกระทงลงท่ามหานที วรรควลีที่คุ้นอบอุ่นใจ

ผ่านสำเนียงเสียงโน้ตที่โลดลิ่ว จากปลายนิ้วเวียดนามเสียงถามไถ่

สร้างเอมอิ่มยิ้มหัวลูกทัวร์ไทย คุ้นทำนองล่องไหลอยู่ในเรา

หอมซงเฮืองเมืองเว้เสน่หา กล่อมนาวาท่าน้ำท่ามเมืองเก่า

พิณเวียดนามทำนองไทย คลอสายเคล้า ร่วมบอกเล่าอารมณ์ นั่งชมจันทร์

เพลงแผ่นดินรินหลั่งสองฝั่งท่า ให้คิดถึงเจ้าพระยายิ่งกว่าฝัน

สื่อสำเนียงเสียงร้องผองเผ่าพันธุ์ ร่วมแบ่งปันความบันเทิงรื่นเริงแท้.

อ๋าวหย่าย : ชุดประจำชาติของสตรีเวียดนาม

ด่านเบิ่ว : พิณสายเดี่ยวของเวียดนาม ด่านตรุง ระนาดเวียดนาม ลักษณะคล้ายโปงลางของไทย

ซงเฮือง : แม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองเว้ แปลเป็นไทยว่าแม่น้ำหอม

ขอบคุณภาพจาก /https://pixabay.com/

Related Posts

เมืองนครจำปาศักดิ์ – ๓ –
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 4
ตามรอย “คำพิพากษา” ที่ชุมชนบ้านบ่อ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com