เมืองนครจำปาศักดิ์ – ๓ –
เมื่อพ.ศ.๒๓๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง เจ้าหมาน้อย บุตรเจ้าราชวงศ์ (สุริโย) หลานเจ้าสร้อยศรีสมุทฯ เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้ เจ้าธรรมกิติกา บุตรอุปฮาด (ธรรมเทโว) เป็นเจ้าอุปฮาดรักษาเมืองนครจำปาศักดิ์ต่อไป ครั้นอยู่มาเจ้าหมาน้อยกับเจ้าอุปฮาด (ธรรมกิติกา) วิวาทกัน คุมกันลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โปรดเกล้าฯให้แยกเจ้าอุปฮาด (ธรรมกิติกา) ไว้เสียที่กรุงเทพฯ ให้เจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) กลับไปครองเมืองตามเดิม
พ.ศ.๒๓๖๐ เกิดกบฏอ้ายสาเขียดโง้ง ซึ่งเดิมเป็นพระภิกษุอลัชชีอยู่บ้านหลุบเลาเตาปูนแขวงเมืองสาละวัน มีลักษณะรูปร่างขายาวเหมือนขาเขียด จึงมีฉายาว่า อ้ายสาเขียดโง้ง ดังกล่าวแล้วในบทที่ ๙ หน้า ๔๙ มาหยุดพักอยู่เขาลูกหนึ่งทางฝั่งโขงตะวันออก อ้ายสาฯ แสดงตัวว่าเป็นผู้วิเศษมีวิชาฤทธานุภาพมากเป็นต้นว่า เอาแว่นแก้วมาส่องกับแดดให้ติดเชื้อเป็นไฟลุกขึ้น แล้วอวดฤทธิ์ว่าเรียกไฟฟ้าสามารถที่จะเรียกมาเผาบ้านเมืองให้ไหม้ไปทั้งโลกได้ คนในเขตแขวงนี้โดยมากเป็นพวกข่า โง่เขลาพากันนิยมเชื่อถือเข้าเป็นพวกอ้ายสาฯ ประมาณ ๘,๐๐๐ คน อ้ายสาฯ มีใจกำเริบยกไปเป็นกระบวนทัพ เที่ยวตีบ้านใหญ่เมืองน้อยในแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วมาลงเรือที่ปากคลองตะปุงแขวงเมืองสีทันดร จะมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์
ฝ่ายเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ไม่รู้ตัวเตรียมสู้ไม่ทันจึงอพยพครอบครัวหนีเข้าป่าไป อ้ายสาฯ ก็นำกองทัพเข้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๒ เที่ยวเก็บริบทรัพย์สมบัติเอาไฟจุดเผาบ้านเมือง เวลานั้นเจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) กำลังเที่ยวปราบปรามผู้ร้ายอยู่แขวงเมืองโขง จึงมีบอกลงมากรุงเทพฯ เจ้าพระยานครราชสิมากับ พระศรีอัคร์ฮาด พระมโนสาราช เกณฑ์กองทัพมาปราบอ้ายสาเขียดโง้งแตกหนีไปทางเขายาปุ แขวงเมืองอัตบือ
ฝ่ายทางกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) กับ พระศรสำแดง คุมกองทัพไปตามจับอ้ายสาเขียดโง้งหาได้ตัวไม่ พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) จึงได้คุมเอาตัวเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ซึ่งอพยพไปทางแขวงเมืองอุบลฯ ลงมา ณ กรุงเทพฯ และถึงแก่พิราลัยอยู่กรุงเทพฯ นั้นเอง ครองเมืองได้ ๙ ปี มีบุตรชายรวม ๖ คน คือ เจ้าอุ่น เจ้านุด เจ้าแสง เจ้าจุ่น และเจ้าจู
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ทราบเรื่องขอพระราชทานอาสาให้กองทัพเวียงจันทน์ โดยให้ เจ้าราชบุตร (โย่) บุตรเจ้าอนุฯ ยกไปปราบชนะ จับตัวอ้ายสาเขียดโง้งได้ส่งลงมากรุงเทพฯ มีรับสั่งให้จำคุกอ้ายสาเขียดโง้งตลอดชีวิต ส่วนพวกข่าที่เป็นพรรคพวกนั้นให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง เมืองนครจำปาศักดิ์ก็หาตัวผู้สามารถไม่ได้ เจ้าอนุฯ ใคร่อยากจะให้บุตรของตัวเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ จึงได้ทูลขอให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) ทรงเป็นธุระเพ็ททูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาตให้เจ้าราชบุตร (โย่) เมืองเวียงจันทน์เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้าคำป้องเมืองเวียงจันทน์เป็นเจ้าอุปฮาดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๔ แต่นั้นมา
เมื่อเจ้าอนุวงศ์มีกำลังมากขึ้น ก็กำเริบคิดการกบฏต่อกรุงสยามและปราบปรามสงบลงได้ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒[๑]
[๑] ความละเอียดดูบทที่ ๑๐
เมื่อเสร็จจากการปราบเจ้าอนุฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าฮุย (บุตรเจ้าโอ) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ เพราะมีความชอบเมื่อคราวปราบกบฏดังกล่าว ซึ่งเจ้าฮุยเป็นผู้ตามจับเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ได้ที่ป่าปลายน้ำเซบางเหียนฟากโขงตะวันออก ฝ่ายเจ้าอุปฮาด (คำป้อง) คราวที่ครัวไทย, เขมรที่เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) กวาดต้อนไปไว้เมืองนครจำปาศักดิ์นั้น เมื่อเห็นกองทัพกรุงยกมาก็พากันเอาไฟจุดเผาเมืองนครจำปาศักดิ์ลุกลามขึ้น เจ้าอุปฮาด (คำป้อง) หนีภัยไปตายอยู่กลางป่า ให้เจ้านาคผู้พี่เป็นเจ้าอุปฮาดให้ตั้งเงินส่วยปีละ ๑๐๐ ชั่ง กำหนดให้เก็บแก่ชายฉกรรจ์คนละ ๔ บาทสลึง ถ้าชราพิการเก็บคนละ ๒ บาทสลึง เศษสลึงนั้นคือเป็นค่าเผา (หรือค่าสูญเพลิง) และเจ้าฮุยได้แบ่งปันตัวเลขให้แก่ญาติพี่น้องเป็นเจ้าหมู่นายหมวด สำหรับไว้ใช้สรอยการงาน ถ้าคนใดไม่อยากจะให้เจ้าหมู่นายหมวดใช้ก็ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าหมู่นายหมวดอีกคนละ ๔ บาทสลึง ส่วนข้าวเปลือกนั้นก็คงเก็บตามเดิม สำหรับขึ้นฉางไว้จ่ายในราชการบ้านเมือง
อนึ่ง ในสมัยเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) นี้ ได้โปรดฯ ให้จัดตั้งข้อราชการบ้านเมืองใหม่ เพราะได้เกิดมีการกบฏอยู่เนือง ๆ เหตุการณ์กบฏที่จะมีขึ้นได้ ก็เนื่องจากประเทศราชมีกำลังมาก จึงได้กำจัดประเทศราชให้น้อยลงหรือเลิกเสียเลยเช่นเลิกประเทศราชเวียงจันทน์เป็นต้น ส่วนเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นเรี่ยวแรงของพวกก่อการมิดีมิร้ายอยู่เนือง ๆ โปรดฯ ให้ไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครโดยตรงส่วนหัวเมืองขึ้นนครจำปาศักดิ์บางเมืองแต่ก่อนนั้น ก็ทรงแยกไปขึ้นกับหัวเมืองอื่นเสีย เพราะอาณาเขตนครจำปาศักดิ์เมื่อครั้งนั้นไปรวมขึ้นกับเวียงจันทน์ มีอาณาเขตกว้างขวาง เมื่อครั้นถึงสมัยเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เขตนครจำปาศักดิ์ลดน้อยลงมาก หัวเมืองขึ้นนครจำปาศักดิ์ที่แยกไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ นั้นคือ
๑. เมืองโขง เป็น เมืองสีทันดร ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ โปรดฯให้ พระศรีเชียงใหม่ เป็น พระอภัยราชวงศา ปันเขตแดนต่อแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ คือทิศตะวันออกแต่บ้านม่วงหางนา ฝั่งโขงตะวันตกแต่บ้านใหม่นาโดนขึ้นไปถึงภูเขาปะอาว ตั้งแต่หางดอนไทรขึ้นมาเป็นแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์
๒. ให้ตั้งเมืองคำทองใหญ่เป็น เมืองคำทองหลวง ตั้งท้าวเหง้าเป็น พระสุวรรณราชวงศา เจ้าเมืองคำทองหลวงแยก เมืองคง เมืองสะพาด ไปขึ้นเมืองคำทองหลวง
๓. ให้ตั้งเมืองมั่นเป็นเมือง สาลวัน ตั้งเพียเอกราชาเป็น พระเอกราชา เจ้าเมืองสาลวัน
๔. โปรดตั้ง ท้าวบุญจันทร์ บุตรพระเทพวงศา (ก่ำ) เจ้าเมืองเข็มราฐ เป็นพระเทพวงศาเจ้าเมืองเข็มราฐแทนบิดา แยกเมืองโขงเจียง เมืองเสมียะขึ้นเข็มราฐ
ต่อมาเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เห็นเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ลดน้อยลงโดยแยกไปขึ้นกรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ เสียหลายเมือง จึงมีบอกกราบทูลขอตั้งบ้านแก่งน้อยในลำเซโดนเป็นเมืองทองคำน้อย เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๓ ตั้งท้าวสารนายบ้านเป็นพระพุทธพรหมวงศา เป็นเจ้าเมืองคำทองน้อยขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์
ครั้นอยู่มาเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) ขี่ช้างไปนาพลัดตกช้าง ช้างแทงเอาบอบช้ำเลยป่วยเป็นโรคภายในมาแต่ครั้งนั้น และในปีนั้นเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ในเมืองนครจำปาศักดิ์ บ้านเมืองราษฎรเจ้านายตายเสียหายไปในเพลิงครั้งนั้นเกือบหมดทั้งเมือง เจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) จึงได้อพยพจากเมืองเก่าคันเกิง ย้ายเมืองลงมาตั้งที่ตำบลหินรอด (บัดนี้เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เท่านั้น)
ที่ตั้งเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น ได้ย้ายกันไปหลายครั้งหลายหน เมื่อผู้ปกครองเมืองคนหนึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ย้ายไปตั้งที่ใหม่ ส่วนที่ปรากฏหลักฐานที่ตั้งจริง ๆ นั้น ในสมัยเจ้าสุทัศน์ราชา ตอนนี้พงศาวดารอีสาณว่า “ชาวเมืองเหนือได้มาสร้างไม่ปรากฏนาม แต่จะสร้างเมื่อใดไม่ทราบ เมื่อชาวเมืองเหนือผู้นี้ถึงแก่พิราลัยก็ให้โอรสทรงนามว่า เจ้าสุทัศน์สารราชา ครองเมืองแทนต่อมา จะครองมานานเท่าใดก็ไม่ปรากฏอีก มาปรากฏตอนเจ้าสุทัศน์สารราชาทิวงคตแล้ว คือเมื่อราว พ.ศ.๒๑๘๑”
ส่วนในพงศาวดารของพระยามหาอำมาตย์ ความว่า “เมืองนครจำปาศักดิ์เดิมเรียก จำปานคร มีกษัติรย์ปกครองเป็นเอกราช แต่ต่อมาขาดผู้ดำรงวงศ์ตระกูล แล้วมีท้าวพระยาผู้หนึ่งชื่อท้าวคัชนาม ได้เป็นผู้ครองเมืองนี้ และต่อมาก็ไม่มีผู้สืบตระกูลอีกว่างอยู่นาน แล้วจึงมีกษัตริย์เป็นเชื้อแขกองค์หนึ่งทรงนามว่า พระยากรรมทา ได้ยกไพร่พลขึ้นมาสร้างเมืองจำปานครนี้ ฟากฝั่งตะวันตกแม่น้ำโขงตรงข้ามหนองสระลงไป มีป้อมปราการปราสาทราชวังกำแพงแก้วล้วนแล้วแต่ศิลาทั้งสิ้น ครั้นพระยากรรมทาทิวงคตแล้ว เมืองจำปานครก็ว่างมาช้านาน
ต่อมายังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ยกพวกแขกจามลงมาทางใต้ ขึ้นมาสร้างแห่งเดียวกับจำปานคร แต่ขนานนามใหม่ว่า นครกาลจำบากนาคบุรีศรี เมื่อพระเจ้านครจำบากนาคบุรีศรีสวรรคตแล้วราชโอรสทรงนามว่า พระเจ้าสุทัศน์สารราชา สืบราชสมบัติต่อมา นอกนั้นข้อความตรงกัน
ในสมัยพระเจ้าองค์หลวง (ชัยกุมาร) พ.ศ.๒๓๑๕ จึงได้ย้ายไปตั้งห่างเมืองเก่า ๒๐๐ เส้น ครั้น พ.ศ.๒๓๓๙ สมัยเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยะวงศา (หน้า) กลับย้ายเมืองขึ้นมาตั้งทางเหนืออีก คือที่เรียก เมืองเก่าคันเกิง และมาเกิดเพลิงไหม้ในสมัยเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) จึงย้ายเมืองนครจำปาศักดิ์ไปตั้งที่ตำบลหินรอด สมัยเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) พ.ศ.๒๔๐๗ ย้ายจากเมืองเก่าหินรอดไปตั้งทางใต้ระหว่างโพนบกกับวัดลครริมฝั่งตะวันตกแม่น้ำโขง คือที่ตั้งเมืองนครจำปาศักดิ์ในปัจจุบัน
อาการป่วยของเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) แต่คราวตกช้างทรุดลง ครั้นถึงวันจันทร์ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๕ เจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) ก็ถึงแก่พิราลัย ณ เมืองเก่าหินรอด อายุได้ ๖๓ ปี ครองเมืองได้ ๑๓ ปี มีบุตรชาย ๗ คน คือ เจ้าโสม เจ้าอินทร์ เจ้าคำใหญ่ เจ้าคำสุก เจ้าสุย เจ้าน้อย เจ้าพรหม บุตรหญิง ๗ คนชื่อ เจ้านางพิมพ์ เจ้านางเข็ม เจ้านางทุม เจ้านางคำสิงห์ เจ้านางคำไข เจ้านางคำแพง และเจ้านางดวงจันทร์ พร้อมกันก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดไชยเมืองเก่าหินรอด ชาวเมืองเรียกว่า ธาตุเจ้าย่ำขม่อม มาตราบเท่าทุกวันนี้
จุลศักราช ๑๒๐๓ ปีฉลูตรีศก (พ.ศ.๒๓๙๑) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราช (นาค) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบต่อจากเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) ให้เจ้าเสือ (บุตรเจ้าอิน) หลานเจ้าอุปราช (ธรรมเทโว) เป็นเจ้าอุปราช เจ้าเสน เป็นเจ้าราชวงศ์ เจ้าสา เป็นเจ้าราชบุตร ทั้ง ๒ คนนี้เป็นบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (นาค)
ในสมัยเจ้านครจำปาศักดิ์ (นาค) ครองเมืองนครจำปาศักดิ์นี้ได้มีเมืองตั้งขึ้นใหม่ขึ้นนครจำปาศักดิ์รวม ๓ เมืองคือ.-
๑. ยกบ้านท่ากะสัง ปากเซลำเภาเป็นเมืองเซลำเภา พระณรงค์ภักดี (นักเมืองเป็นชาวเขมร) เป็นเจ้าเมืองคนแรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘
๒. ยกบ้านห้วยทราย ขึ้นเป็นเมืองโพนทอง ตั้งท้าวอินทร์นายครัวเป็นที่พระอินทร์ศรีเชียงใหม่ ใน พ.ศ.๒๓๘๘
๓. ยกบ้านดงกระชู หรือไร่ขึ้นเป็นเมืองบัว หรือต่อมาเรียกบัวบุณฑริก[๒] ตั้งให้ท้าวโสเป็นที่ พระอภัยธิเบศร์วิเศษสงคราม เป็นเจ้าเมืองคนแรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๐ ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง
[๒] คือกิ่ง อ.บุญฑริกขึ้น อ.เดชอุดม จ.อุบลฯ เดี๋ยวนี้
ครั้น พ.ศ.๒๓๙๓ เจ้านครจำปาศักดิ์ (นาค) มีราชการลงมากรุงเทพฯ ก่อนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะเสด็จสวรรคตเพียง ๑ ปี เจ้านครจำปาศักดิ์ (นาค) ป่วยเป็นโรคอหิวาตกโรคถึงแก่พิราลัย ณ กรุงเทพฯ ครองเมืองได้ ๗ ปี อายุได้ ๗๖ ปี มีบุตรชาย ๖ คนคือ เจ้าราชวงศ์ (เสน) เจ้าราชบุตร (สา) เจ้าโพธิสาร (หมี) เจ้าอินทชิด (บุด) เจ้าคำสิง เจ้าคำน้อย และบุตรหญิง ๔ คนคือ เจ้านางดวงจันทร์ เจ้านางอิ่ม เจ้านางเวียง และ เจ้านางเข็ม ในระหว่างนั้นยังมิได้โปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ใดเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์
ลุถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการและเร่งเงินส่วยราชการอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ ครั้นถึง พ.ศ.๒๓๙๕ เจ้าอุปราช (เสือ) เมืองนครจำปาศักดิ์ป่วยถึงแก่อนิจกรรม หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์จึงพาเจ้าบัว (บุตรเจ้านู) กับเจ้าราชวงศ์ (เสน) เจ้าโพธิสาร (หมี) เจ้าแสงคุมเครื่องยศและเงินส่วยราชการเมืองนครจำปาศักดิ์ ลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย ณ กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าบัวเป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ แต่ยังไม่ทันได้รับพระราชทานหิรัญบัฏเจ้าบัวก็ป่วยถึงแก่กรรมอยู่ ณ กรุงเทพฯ
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ (เสน) กับเจ้าแสงชิงกันจะขอเป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ต่างก็กล่าวโทษซึ่งกันและกันจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ กับ หลวงศักดิเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงไปถามความสมัคร์ และจัดราชการอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์
ในระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๖ เจ้านายท้าวพญาเมืองนครจำปาศักดิ์ มีบอกกล่าวโทษหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ และหลวงเสนีพิทักษ์นั้นว่าทำการกดขี่เอาเงินราษฎร จึงมีตราให้ข้าหลวงทั้งสองท่านกลับกรุงเทพฯ และให้นำตัวเจ้าคำใหญ่บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เจ้าจูบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
ครั้นปีมะโรงอัฐศกจุลศักราช ๑๒๑๘ (พ.ศ.๒๓๙๙) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้ง เจ้าคำใหญ่ เป็น เจ้ายุติธรรมสุนทร เจ้าครองนครจำปาศักดิ์ ตั้ง เจ้าจู เป็นเจ้าอุปราช ตั้งเจ้าหมีบุตรเจ้าราชวงศ์ (เกษ) เป็นเจ้าราชวงศ์ ให้เจ้าอินทชิดบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (นาค) เป็นเจ้าราชบุตร ให้เจ้าสุริยะ (บ้ง) น้องเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เป็นเจ้าศรีสุราช กลับไปรักษาราชการเมืองนครจำปาศักดิ์
ครั้นปีมะเมียสัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๒๐ (พ.ศ.๒๔๐๑) วันพุธแรม ๓ ค่ำเดือน ๘ เจ้านครจำปาศักดิ์ (คำใหญ่) ถึงแก่พิราลัย อายุได้ ๒๘ ปี ครองเมืองได้ ๓ ปี มีบุตรหญิง ๒ คน ชื่อเจ้านางคำผิว เจ้านางมาลา และ เจ้าอุปราช (จู) ได้บังคับบัญชาราชการเมืองต่อไป ยังหาทันโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าครองนครจำปาศักดิ์ไม่
จำเดิมแต่เจ้าอุปราช (จู) ได้ว่าราชการเมืองต่อมาแต่ไม่เป็นที่พอใจของพวกแสนท้าวพญา มีผู้ทำเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าอุปราช (จู) จนต้องโปรดเกล้าฯ ให้มีตราพระราชสีห์ไปถึงเจ้าพระยากำแหงสงคราม (แก้ว) ซึ่งตั้งกองสักเลขอยู่ ณ เมืองยโสธรนั้น ให้เลือกหาบุตรหลานเจ้านครจำปาศักดิ์เก่า ซึ่งสมควรจะได้รับเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ต่อไป เจ้าพระยากำแหงสงคราม (แก้ว) จึงมีบอกกราบทูลขอตั้ง เจ้าคำสุก บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ต่อไป
ครั้นจุลศักราช ๑๒๒๕ ปีกุนเบญจศก (พ.ศ.๒๔๐๖) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าคำสุกเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ มีราชทินนามว่า เจ้ายุติธรรมธร อันเป็นต้นสกุล ณ จำปาศักดิ์ สืบมาจนทุกวันนี้
เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) มีภรรยาทั้งสิ้น ๘ คน และมีบุตรชายหญิงทั้งสิ้น ๑๓ คนคือ.- ภรรยาที่ ๑ เจ้านางพิมพ์ มีบุตร ๕ คนลำดับตามพี่น้องคือ.-
๑. เจ้าปุ้ย โปรดฯ ให้เป็นเจ้าราชสัมพันธวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ มีภรรยาชื่อ หม่อมสาหร่าย (ไม่มีบุตร) เจ้าปุ้ยถึงแก่กรรมด้วยโรคคลั่งจริต
๒. เจ้านางทองพันธ์ ภรรยาพระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง บุตโรบล)[๓] มีบุตร ๔ คนคือ เจ้านางพวงแก้ว เจ้าสอน (อดีต ส.ส.นครจำปาศักดิ์ องค์มนตรีลาวปัจจุบัน) ขุนเกษตร์ประศาสตร์ (สิทธิ) และ เจ้านางสมบูรณ์
[๓] บุตรเจ้าราชบุตร (คำ) เมืองอุบลฯ
๓. เจ้านางกอง ภรรยาเจ้าสายคำ มีบุตรคนเดียวคือ เจ้านางเสภาทอง
๔. เจ้านางกุมารี ภรรยาเจ้าราชบุตร (หนูเล็ก) มีบุตรคนเดียวคือ เจ้าทองพูน
๕. เจ้าจุ้ย ณ จำปาศักดิ์[๔] (นายร้อยตรี อดีตผู้ช่วยคลังมณฑลอุบล) ได้กับนางเลื่อนเป็นภรรยาคนแรก มีบุตร ๑ คนคือนางบังอร ภรรยาที่ ๒ คือเจ้านางพันธ์ เจ้าจุ้ยถึงแก่กรรมอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์
[๔] ประวัติละเอียดดูบทที่ ๓๗ หน้า—
ภรรยาที่ ๒ หม่อมเครือ (เรียกตามพื้นเมือง) มีบุตร ๓ คนคือ.-
๑. เจ้านางสด ภรรยาเจ้าอุปราช (คำผาย) มีบุตร ๒ คน คือ เจ้าเชื่อม และ เจ้านางส่อย
๒. เจ้าราชดนัย (หยุย) มีภรรยา ๕ คนคือ.- ก. เจ้านางทองพูน (ไม่มีบุตร) ข. เจ้านางสุดสมร มีบุตร ๓ คน คือ เจ้าบุญอุ้ม (อดีตนายกรัฐมนตรีลาว) เจ้าสมบูรณ์ (ถึงแก่กรรมขณะไปเรียนที่ไซ่ง่อน)[๕] และเจ้าบุญอ้อม (เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ปัจจุบัน) ค. หม่อมนวล มีบุตร ๖ คนคือ เจ้าบุญเอื้อ เจ้านางเนย เจ้านางน้อม เจ้านางบุญล้น เจ้านางบุญหลี และเจ้าสรรพสิทธิ ง. เจ้านางจันทร์ มีบุตร ๙ คนคือ เจ้าบางบุญชู เจ้านางสมบูรณ์ เจ้านางเฮียง เจ้านางบุญโฮม เจ้านางบุญเฮือง เจ้าศรีโรเม เจ้านางนารี เจ้านางบุญเหลือ และเจ้านางสุดาจันทร์ จ. หม่อมจูม มีบุตรคนเดียวคือ เจ้าจิตประสงค์
[๕] หลังจากผู้เขียนไปไซ่ง่อนเพียงเล็กน้อย (พ.ศ.๒๔๖๗) พร้อมเจ้าบุญอุ้ม และเจ้าบุญเอื้อ เมื่อผู้เขียนไปฮานอย พ.ศ.๒๔๖๙ แล้ว ทราบจากเจ้าบุญอุ้มว่า เจ้าสมบูรณ์ถึงแก่กรรม พ.ศ.๒๔๗๐
๓. เจ้านางสังวาลย์ ภรรยาเจ้าอุยมีบุตร ๗ คนคือ เจ้านางอุ เจ้านางอ้วน เจ้าอ่าง เจ้านางสำอางค์ เจ้าเอียง เจ้าไอ่ และเจ้านางไห่ฟ้า
ภรรยาที่ ๓ เจ้านางดวงเนตร์ มีบุตรคนเดียวคือ เจ้าบัว ณ จำปาศักดิ์ (นายร้อยตรีและนายร้อยตำรวจตรี อดีตปลัดอำเภอชั้นตรีบางอำเภอในจังหวัดอุบลฯ) สามีนางพวงแก้ว มีบุตร ๑ คนคือเจ้านางสุวรรณะ
ภรรยาที่ ๔ หม่อมพรมมา (บ้านดอนพร เมืองศรีธันดร) มีบุตรคนเดียวคือ เจ้าศักดิ์ประสิทธิ (เบง) เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์มีภรรยา ๒ คนคือเจ้านางตุ่ย มารดาของเจ้าสีใส ภรรยาที่ ๒ คือเจ้านางเรี่ยม มารดาของเจ้าศิริรัตน์ และเจ้านางวิไลวรรณ
ภรรยาที่ ๕ หม่อมเกิดมี (บ้านดอนแดง) มีบุตรคนเดียวคือ เจ้าศักดิ์ประเสริฐ (อุย)[๖] สามีนางแก้วสว่างมีบุตร ๙ คนคือ.- เจ้าอาพร เจ้านางอำไพ เจ้านางอุไร เจ้านางอักษรวดี เจ้านางสร้อยศรี เจ้านางทองเทพ เจ้านางสีสวาท เจ้าอนุศักดิ์และเจ้านางบับภาวดี
[๖] ประวัติละเอียดดูบทที่ ๓๗
ภรรยาที่ ๖ หม่อมนารี (เมืองศรีธันดร) มีบุตรคนเดียวคือ เจ้าราชบุตร (หนูเล็ก) ได้เป็นเจ้าราชบุตรเมืองนครจำปาศักดิ์ในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง ชุดเจ้านครจำปาศักดิ์ (ราชดนัย หยุย) และได้กับเจ้านางกุมารีเป็นภรรยา
ภรรยาที่ ๗ หม่อมใส (เมืองนครจำปาศักดิ์) มีบุตรคนเดียวคือ เจ้านางศิวไล ภรรยาท้าวแก้ว (ป.ร.๕) มีบุตรคนเดียวคือเจ้าเสถียร
ภรรยาที่ ๘ หม่อมบัวพันธ์ (เมืองปาโมกข์) ไม่มีบุตร
พ.ศ.๒๔๐๗ เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) เห็นว่าเมืองนครจำปาศักดิ์เก่า ซึ่งเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลหินรอดคราวเกิดเพลิงไหม้นั้นไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายเมืองนครจำปาศักดิ์มาตั้งใหม่ ระหว่างโพนบกกับวัดลครริมแม่น้ำโขงตะวันตก คือที่ตั้งเมืองนครจำปาศักดิ์ในปัจจุบัน และเวลานั้น เพียเมืองโคตร์ บ้านคันชมซัว แขวงเมืองโขงเจียงขอสมัครขึ้นนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงขอตั้งบ้านคันซมซัวเป็นเมืองนครเพ็ง[๗] ให้เพียเมืองโคตร์เป็นเจ้าเมืองขึ้นนครจำปาศักดิ์[๘]
[๗] ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง
[๘] แต่ภายหลังกลับไปขึ้นเมืองโขงเจียง
ฝ่ายเมืองอุบลฯ ตั้งแต่พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลฯ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖ ยังไม่มีเจ้าเมืองครอบครองมาจนถึง พ.ศ.๒๔๐๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าหน่อคำ หลานเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอุบลฯ ราชธานี มีราชทินนามว่า เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพิมพิสาร (บัวพัน) บุตรเจ้านุด หลานเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์สืบแทนต่อไป ใน พ.ศ.๒๔๐๙ นี้ รัฐบาลฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อนได้จัดให้ ร้อยเอกดูดาร์ทเดอลาเกร เป็นหัวหน้าคณะสำรวจในลำแม่น้ำโขง และได้แวะมาที่เมืองนครจำปาศักดิ์นั้นด้วย
พ.ศ.๒๔๑๐ เจ้านครจำปาศักดิ์ (เจ้ายุติธรรมธร) ได้มีบอกกราบทูลขอตั้ง บ้านผ่านส่องนางขึ้นเป็นเมืองกุสุมาคีรี ตั้งทิดโมกเป็น พระนรินทร์ภักดีศรีสิทธิสงคราม เจ้าเมืองกุสุมาคีรีขึ้นนครจำปาศักดิ์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่ขอ
ในปีนี้ เจ้าอุปราช (แสง) เมืองนครจำปาศักดิ์ถึงแก่กรรมยังไม่ทันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดเป็นแทน
พ.ศ.๒๔๑๒ ท้าวเชียงเกษ บ้านโส้งใหญ่แขวงเมืองคำทองใหญ่ รวบรวมครอบครัวได้หลายร้อยหลังคาเรือนขอสมัครขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงขอตั้งบ้านโส้งใหญ่เป็น เมืองสุวรรณคีรี ตั้งท้าวเชียงเกษเป็นที่พระสุริยะสงศา เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง
พ.ศ.๒๔๑๓ ท้าวทิดภูมี บ้านบึงจวงแดนเมืองคงกับเมืองสะพาดแขวงเมืองคำทองหลวง ขอสมัครมาขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงกราบทูลขอตั้งบ้านบึงจวงเป็น เมืองวาปีไพบูรณ์ ตั้งท้าวทิดภูมีเป็น พระพิศาลสุรเดช เจ้าเมืองขึ้นนครจำปาศักดิ์
ฝ่ายเมืองนครจำปาศักดิ์ตั้งแต่เจ้าอุปราช (แสง) ถึงแก่กรรมยังไม่มีผู้ใดได้รับตำแหน่งแทน ครั้น พ.ศ.๒๔๑๓ จึงโปรดฯ ตั้งให้เจ้าราชวงศ์ (บัวพันธ์) เป็นเจ้าอุปราช ให้เจ้าจุ่น เป็นเจ้าราชวงศ์ ฝ่ายเจ้าราชบุตร์ (อินทชิด) มีความผิดส่งลงมายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ถอดเสีย แล้วเอาตัวจำไว้ โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าศรีสุราช (คำพันธ) บุตรเจ้าอุปราช (เสือ) เป็นเจ้าราชบุตรเมืองนครจำปาศักดิ์ต่อมา
พ.ศ.๒๔๑๔ เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) ได้ขอตั้ง บ้านแก่งไม้เฮี้ย ในคลองจำปีฝั่งโขงตะวันออกเป็น เมืองมธุรสาผล ตั้งให้ท้าวอินซึ่งเกลี้ยกล่อมมาจากเมืองตะโปนเป็น พระจันศรีสุราช เป็นเจ้าเมืองมธุรสาผล ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ และในปีต่อมาเจ้านครจำปาศักดิ์ได้ขอตั้งบ้านท่าคา (คือบ้านทุ่งบัวศรีศิริจำบัง) เป็น เมืองอุทุมธารา ตั้งให้ เจ้าอ้น บุตรเจ้าแก้วเชื้อวงศ์เขมร เป็นที่ พระสุริยวงศา เจ้าเมืองขึ้นนครจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง
พ.ศ.๒๔๑๗ เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ขอตั้ง ขุนโยธาภักดี ชาวเมืองแก่นท้าว ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านดอนสะแบงแขวงเมืองแสนปาง ฝั่งโขงตะวันออกเป็นที่ พระกำแหงพลศักดิ์ภักดี เป็นเจ้าเมือง ตั้งเพียเมืองแสนเมืองเชียงแตงเป็นอุปฮาด ให้ ท้าวทิดพิลา เป็นราชวงศ์ ทิดพรหมมา เป็นราชบัตร์ ยกบ้านดอนสะแบงเป็นเมืองสูตรนครขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์
ครั้นต่อมาเจ้าอุปราช (บัวพันธ์) ได้ถึงแก่กรรม (ไม่ปรากฏวัน เดือน ปี) ยังทันหาได้มีผู้รับตำแหน่งไม่ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงแต่งให้เจ้าราชบุตร์ (คำพันธ์) เจ้าธรรมนุเรศ แลท้าวพญาคุมต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการแลเงินส่วยมาทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ กับได้มีบอกกราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ กับได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งเจ้าราชบุตร์ (คำพันธ์) เป็นตำแหน่งเจ้าอุปราช ขอตั้ง ท้าวคำหมุน (น้องเจ้ายุติธรรมธร) เป็นเจ้าราชภาคิไนย ขอให้ เจ้าปุ้ย บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (คำสุก) เป็นเจ้าราชสัมพันธวงศ์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าราชบุตร (คำพันธ์) บุตร์เจ้าอุปฮาด (เสือ) เป็นเจ้าอุปราช ให้ เจ้าธรรมนุเรศ บุตรเจ้าอินหลานเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เป็นเจ้าราชบุตร ให้ เจ้าคำหมุน เป็นเจ้าราชภาคิไนย และให้ เจ้าปุ้ย เป็นเจ้าราชสัมพันธวงศ์
พ.ศ.๒๔๒๒ เจ้านครจำปาศักดิ์มีบอกกราบบังคมทูลขอพระราชทานตั้งบ้านห้วยหินโกเมืองสระพังภูผา ให้พระอุทัยราชา (ทัน) เป็น พระราชฤทธิบริรักษ์ เป็นเจ้าเมือง ตั้งท้าวศรีวรราช (ยง) เป็นอุปฮาด ตั้ง หลวงเสนาสงคราม (พา) เป็นราชวงศ์ ตั้ง หลวงรามภักดี (ทองดี) เป็นราชบุตร์
พ.ศ.๒๔๒๓ นายนู หมอช้างเมืองนครจำปาศักดิ์ คล้องได้ช้างเผือกเอกตัวที่ ๒ แขวงเมืองกุสุมาคีรี เจ้านครจำปาศักดิ์พร้อมด้วยท้าวพญาเมืองคุมต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการและเงินส่วยลงมาถวาย ณ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระราชทานนามช้างว่า พระเสวตร์สกลวโรภาศ และโปรดตั้งให้นายนูหมอเป็น ขุนเสวตร์คชสาร ตั้งนายสีดาควานเป็น หมื่นประสานคชประสม พระราชทานเงินตราและเสื้อผ้าโดยสมควร แลเจ้านครจำปาศักดิ์ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งหลวงชำนาญไพรสณฑ์ (แดง) บุตร์พระเทพวงศา (ก่ำ) เจ้าเมืองเข็มราฐซึ่งขอสมัครมาขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ แลขอตั้งบ้านนากอนจอเป็นเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหลวงชำนาญไพรสณฑ์ พระกำจรจัตุรงค์เจ้าเมือง ยกบ้านนากอนจอเป็น เมืองวารินชำราบ ตั้งท้าวไชย บุตรพระเทพวงศา (บุญเฮ้า) เจ้าเมืองเข็มราฐเป็นอุปฮาด ให้ท้าวสิทธิจางวาง (อุทา) บุตร ท้าวโสดา เป็นราชวงศ์ ให้ท้าว จันบุฮม (อ่ำ) บุตรเพียพรหมมหาไชยเป็นราชบุตร ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์
พ.ศ.๒๔๒๔ พระราชฤทธิบริรักษ์ เจ้าเมืองสะพังภูผา ซึ่งได้แอบเอาชื่อบ้านหินโก อันเป็นไพร่พลของเมืองสีทันดรมาก่อน มาขึ้นนครจำปาศักดิ์แล้วนั้น ฝ่ายพระอภัยราชวงศาเจ้าเมืองสีทันดร จึงได้มีบอกแต่งให้ ท้าวสุริยวงศา กรมการที่อยู่บ้านจาร ถือเข้ามาร้องยังกรุงเทพฯ โดยขอตั้งบ้านจารขึ้นเป็นเมือง ขอให้ท้าวสุริยวงศาเป็นเจ้าเมือง จึงโปรดฯ ตั้งให้บ้านจารเป็น เมืองมูลปาโมกข์ ให้ท้าวสุริยวงศาบุตรท้าวสีวรราชเป็น พระวงศาสุรเดช เจ้าเมืองขึ้นเมืองสีทันดร ครั้นเมื่อพระวงศาสุรเดชกลับไปถึงบ้านเมืองแล้ว จึงมีบอกขอตั้ง ท้าวสุริยะ บุตรพระอภัยวงศาเป็นอุปฮาด ให้ ท้าวสีหาราช บุตรเจ้าจิตราชเป็นราชวงศ์ ให้ท้าว จันทเสน บุตรท้าววรบุตร์เป็นราชบุตร เมืองสีทันดรจึงได้มีเมืองขึ้นแต่นั้นเป็นต้นมา
อนึ่ง ในปีนี้ หลวงมหาดไทย กรมการเมืองเดชอุดม ได้พาครอบครัวตัวเลข ซึ่งตั้งอยู่บ้านจันลานาโดม แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์มาขอขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ได้ตั้งให้หลวงมหาดไทยเป็น พระรัตนเขื่อนขันธ์ นายกองส่วย ครั้นมาให้ปีเดียวกันนี้เจ้านครจำปาศักดิ์ จึงได้กราบทูลมีบอกขอตั้งบ้านจันลานาโดมเป็นเมืองโดมประดิษฐ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระรัตนเขื่อนขันธ์เป็นพระดำรงสุริยเดช เป็นเจ้าเมือง ขึ้นนครจำปาศักดิ์
ฝ่ายท้าวเลื่อน บุตรผู้ช่วยเมืองสาลวันกับ ท้าวจันชมภู ท้าวอินทะแสง กรมการเมืองสาลวันอยู่บ้านคำแก่งเส็ด แขวงเมืองสาลวัน สมัครขอมาทำราชการกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงขอตั้งบ้านคำแก่งเส็ด เป็นเมืองสูตวารี ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง
จุลศักราช ๑๒๔๔ ปีมะแมจัตวาศก พ.ศ.๒๔๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยามหาอำมาตย์ธิบดี แต่ยังเป็นพระยาศรีสหเทพ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) พร้อมด้วยข้าราชการหลายนาย เป็นข้าหลวงขึ้นไปรักษาราชการหัวเมืองตะวันออกตั้งอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์
ต่อจากนี้จะได้เล่าถึงประวัติเมืองอุบลราชธานี เพราะเมืองนครจำปาศักดิ์กับเมืองอุบลฯ นี้ ในสมัยนั้นเปรียบเหมือนเมืองพี่เมืองน้อง ฉนั้นเมื่อการปกครองได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีข้าหลวงขึ้นไปประจำกำกับราชการหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว กิจการงานราชการแผ่นดินย่อมมุ่งประสานแห่งจุดเดียวกัน เมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองอุบลราชธานีจึงได้ร่วมสมัยการปกครอง เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๒๕ ซึ่งจะได้กล่าวในคราวเดียวพร้อมกันต่อไปนี้.
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊กอภิชิต แสนโคตร