เมืองเพีย ชุมชนโบราณในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
จากข่าวท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่นระบุว่า มีนักโบราณคดีอิสระได้ทำการขุดหลุมเพื่อวางเครื่องมือในการเดินท่อน้ำมันของบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งตามแถวถนนสายมัญจาคีรี – ขอนแก่น บริเวณบ้านเมืองเพีย หมู่ 8 ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขุดลึกลงไปประมาณ 2 เมตร พบภาชนะไหโบราณบรรจุกระดูกมนุษย์ และเศษภาชนะจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ในสำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดขอนแก่น
เมืองเพียเป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี ซึ่งปรากฏผังเมืองรูปกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.5 -2 กิโลเมตร เป็นผังเมืองที่ยังเห็นเด่นชัด ซึ่งมีการขุดปรับเป็นสระน้ำมีชื่อเรียกต่างๆ โดยชาวบ้านได้แก่ สระบัวใหญ่ สระน้อย สระจอก สระหิน สระขี้ลิง เป็นต้น นอกจากนี้บริเวณทั่วไปยังสามารถพบโบราณวัตถุ เช่น ใบเสมา แท่นฐานศิวลึงค์หินทราย ภาชนะบรรจุกระดูก แท่งหินบดยา แม่พิมพ์แหวนหรือกำไลดินเผา พระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยหินทราย เครื่องมือเหล็ก ตลอดไปจนถึงเครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว และหินต่างๆ
ชื่อบ้าน “เมืองเพีย” มีข้อสันนิษฐานว่า อาจมาจากคำว่า “เพีย” หมายถึงตำแหน่งเจ้าเมือง หรือ เพียเมือง หรือ เพีย อาจจะเป็นตำแหน่งขุนนางก็เป็นได้ ในเอกสารใบบอกต่างๆ ปรากฎชื่อเป็น เมืองเพีย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ บ้านเมืองเพีย ถือว่าเป็น “บ้านกกบ้านเค้า” หรือภูมิสถานดั้งเดิมของเมืองชนบทและเมืองขอนแก่น ทั้งสองเมืองนี้ล้วนอ้างประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองตนว่ามาจากบ้านโนนกะยอมหรือดอนกะยอม โดยในส่วนของเมืองชนบท เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าบรรพบุรุษอพยพโยกย้ายมาจากบ้านโนนกะยอมหรือดอนกะยอม หรือเมืองเพียนี้ เพราะมีระยะทางห่างกันเพียง 5-6 กิโลเมตร เท่านั้น และเป็นเส้นทางผ่านมาจากเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันอยู่ในร้อยเอ็ด) ถือได้ว่าบ้านเมืองเพียนั้นมีความสำคัญ เพราะก่อนที่จะเป็นชุมชนในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ตั้งเมืองเก่าโบราณมาก่อน ดังที่กล่าวถึงการพบคันดิน สระน้ำ และหลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นดังข้อมูลข้างต้น
สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยให้ความเห็นไว้ว่า หากมองตามประวัติการสร้างบ้านแปงเมือง บ้านเมืองเพียถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ในสมัยปลายธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีอาณาบริเวณเชื่อมต่อระหว่างโคราชกับหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก การเปลี่ยนชื่อจากเดิมคือ โนนกะยอม หรือ ดอนกะยอม เป็นเมืองเพีย นั้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและพัฒนาการของเมืองที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรักษาหรืออ้างถึงชื่อดั้งเดิมเก่าแก่ที่สืบกันมาเสมอในผญา เกี่ยวกับภูมิบ้านนามเมือง เพราะเป็น บ้านกกบ้านเค้า ของ ท่านท้าวพญา เพียเมืองแสนและเพียเมืองแพน ที่สืบสายตระกูลมาจากเมืองท่ง (สุวรรณภูมิ) นครจำปาศักดิ์ และนครเวียงจันทน์ เป็นลำดับ เพราะคำว่า เพีย ในชื่อ บ้านเมืองเพีย นั้นเป็นตำแหน่งเจ้าเมือง ก่อนที่จะถูกลดฐานะลงเป็นตำแหน่งขุนนาง
เมืองเพียยังเป็นพื้นที่ใกล้กับแหล่งทำเกลือขนาดใหญ่คือบริเวณบ่อกระถิน บ่อเกลือซึ่งมีพื้นที่ราว 400 ไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ด้านทิศใต้ บริเวณถนนสายบ้านไผ่-เมืองเพีย มีสภาพเป็นลานดินเค็มราวพันไร่
บ่อกระถิน หรือ กฐินแห่งนี้มีประวัติศาสตร์บอกเล่าในท้องถิ่นว่า เมื่อนานมาแล้วมีคนมาตั้งกองกฐินแล้วแห่ขบวนฟ้อนรำมาทางนี้เพื่อจะนำไปถวายอยู่วัดอีกฝั่งซึ่งต้องข้ามทุ่งไป ปัจจุบันถูกเรียกว่า “โนนฟ้าระงึม” แต่เกิดเหตุไม่คาดฝันมีลมหัวกุดพัดกองกฐินพัง ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ทุ่งกฐิน” หรือ บ่อกฐิน
ตัวบ่อเองอยู่ห่างจากชุมชนไม่ไกล มีลักษณะเป็นเนินดิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลปู่ฟ้าระงึม และบริเวณดังกล่าวพบใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเศษภาชนะดินเผาด้วย
แหล่งทำเกลือขนาดใหญ่มักพบอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงขยายตัวมาในช่วงสมัยทวารวดี ส่วนบ่อกระถินที่บ้านไผ่นี้ก็เป็นแหล่งเกลือที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบมาแต่โบราณ ซึ่งการมีคูน้ำคันดินนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง (ศรีศักร 2533)
ขอบคุณบทความจาก เฟซบุ๊ก Field – feel
ภาพถ่ายโดย
อาจารย์อมฤต หมวดทอง
สุทธิพงค์ มิสา
ที่มาข่าว https://www.khonkaenlink.info/read/25994/?fbclid=IwAR3-jpPwWSmlKyCILe7oGMtrMFkDi9xs9VKRN2ZRU_VDrybxIYVBzpc_DZ4
อ้างอิง
บำเพ็ญ ไชยรักษ์ บรรณาธิการ. 2561. นิทานธรณีเกลือ เล่าความลับใต้ดิน. นนทบุรี: โรงพิมพ์คลังวิชา
ศรีศักร วัลลิโภดม.2533.แอ่งอารยธรรมอีสาน : แฉหลักฐานโบราณคดีพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน