เย็นทั่วหล้ากับอาเซียนฟีเวอร์ พะเรอเกวียน !

เย็นทั่วหล้ากับอาเซียนฟีเวอร์ พะเรอเกวียน !

ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: อุษาคเนย์เห่กล่อม
Column: Southeast Asian Lullaby
ผู้เขียน: จินตรัย


 

แห่งวารดิถีขึ้นปีใหม่ของลุ่มน้ำโขง ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านจงประสพความร่มเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ ประสพแต่ความสุข ความเจริญสุขภาพกายใจได้แข็งแรง อายุยืนนาน

ปีนี้วันมหาสงกรานต์ ตรงกับสุริยคติ วันอาทิตย์ที่ ๑๔ เมษายน เวลา ๑ นาฬิกา ๕๘ นาที ๔๘ วินาที ทางจันทรคติยังถือว่าเป็นวันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนห้า ปีมะเส็ง นางสงกรานต์นามว่า“มโหทรเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายหัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังมยุรา (นกยูง) ปีนี้ศุกร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า แบ่งเป็นตกในจักรวาล ๒๔๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า และตกในโลกมนุษย์เพียง ๖๐ ห่า มีนาคราชให้น้ำเพียงตัวเดียว ฝนแรกปีมาก กลางปีงาม ปลายปีน้อยแลฯ คำทำนาย เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ “ปาปะ” ข้าวกล้าในไร่นาจะได้ ๑ ส่วน เสีย ๑๐ ส่วน คนทั้งหลายจะตกลำบากยากแค้น เพราะเกิดกันดารอาหาร และเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งจะเกิดอันตรายขึ้นกลางเมือง จะเกิดเพลิง โจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแลฯ ปีนี้ถือว่าน้ำน้อย

ปี ๒๕๕๔ น้องน้ำได้มาท่วมอย่างมโหฬาร ปี ๒๕๕๕ ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ความกลัวเกรงน้องน้ำก็ผ่อนคลายลง …มาปีนี้ ๒๕๕๖ สิน้องน้ำคงหายห่วงไปมาก …แต่ลูกพี่สิจะมาแรง พี่แล้งจะมาจองพื้นที่กันดารอย่างถ้วนหน้าทีเดียว แหล่งน้ำ แม่น้ำห้วยธารต่าง ๆ ขอดข้นน่าเป็นห่วง เห็นว่าขณะนี้น้ำประปาของหลายแห่ง หลายเมือง และหลายจังหวัดต้องหยุดจ่ายน้ำไปบ้าง ซึ่งก็เห็นใจ พวกเราเหล่าพารากรุณาดื่ม ใช้ บริโภค อย่างประหยัดอย่างเข้าอกเข้าใจด้วยแล้วกัน โดยเฉพาะการเล่นสาดน้ำ หรือฉีดน้ำสงกรานต์ก็ต้องเอาพอเหมาะ ๆ คงไม่เต็มที่เหมือนอย่างปีก่อน ๆ เสียแล้วล่ะ เย็นทั่วหล้า พากันอบอุ่น หนุนแนะนำไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ๆ ทดแทน

ก่อนอื่น…จะขอแนะนำแหล่งเที่ยวสงกรานต์ที่เป็นชื่อถนนข้าวต่าง ๆ … ในแหล่งภาคอีสานกันพอหอมปากหอมคอ…นอกจากถนนข้าวสารแห่งกรุงเทพมหานครแล้ว…มีถนนข้าวต่าง ๆ จำนวน ๑๐ แห่ง คือ

๑. ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น
ถนนข้าวเหนียว เป็นชื่อเรียกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชื่อจริง ๆ คือ “ถนนศรีจันทร์” ช่วงถนนข้าวเหนียว เริ่มตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงแยกถนนศรีจันทร์ที่ตัดกับถนนหน้าเมือง บรรยากาศคล้ายคลึงกับถนนข้าวสารมาก กล่าวคือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ได้จัดตั้งเวทีคอนเสิร์ต และจัดกิจกรรมหลากหลายที่เสริมสร้างบรรยากาศการเล่นน้ำอย่างมีสีสัน

๒. ถนนข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ถนนข้าวหอมมะลิ หรือชื่อจริงคือ “ถนนเพลินจิต” ตั้งอยู่บริเวณสวนสมเด็จพรเสริมประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น สำหรับเหตุผลที่ตั้งชื่อว่า ถนนข้าวหอมมะลิ เนื่องจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อ มีพื้นที่ปลูกในอำเภอที่ติดกับทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ อำเภอพนมไพร สุวรรณภูมิ ปทุมรัตต์ และเกษตรวิสัย

๓. ถนนข้าวลอดช่อง จังหวัดยโสธร
ถนนข้าวลอดช่อง หรือมักเรียกสั้น ๆ ว่า ถนนลอดช่อง ก็คือ “ถนนรัตนเขต” อยู่ใจกลางเมืองยโสธร ความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร ตั้งอยู่ด้านหลังสำนักงานเทศบาลเมืองยโสธร หน้าสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เหตุที่ตั้งชื่อถนนดังนี้ก็เนื่องด้วยอาหารหวานอย่างลอดช่องเมืองยโสธรนั้นขึ้นชื่อมากในความอร่อย

๔. ถนนข้าวปุ้น จังหวัดนครพนม
ถนนข้าวปุ้น ที่หมายถึงถนนขนมจีน ที่มีชื่อเดิม “ถนนเลาะริมโขง” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเป็นอีกถนนหนึ่งที่ผู้คนเดินทางแวะเวียนมาร่วมเล่น หรือสาดน้ำสงกรานต์ และเหตุที่ใช้ชื่อถนนข้าวปุ้น เนื่องจากจังหวัดนครพนมขึ้นชื่อเรื่องขนมจีน และมีน้ำยาสูตรอร่อยหลากหลาย

๕. ถนนข้าวกล่ำ จังหวัดกาฬสินธุ์
ถนนข้าวกล่ำ หรือถนนข้าวเหนียวดำ ชื่อเดิมคือ “ถนนอนรรฆนาค” ในเขตเทศบาลเมืองใช้เป็นที่จัดกิจกรรมในเทศกาลวันสงกรานต์ ด้วยข้าวเหนียวดำที่นี่อร่อยขึ้นชื่อนั่นเอง

๖. ถนนข้าวเม่า จังหวัดมหาสารคามะ
ศรีนครินทร์ บึงพลาญชัย กลางเมืองร้อยเอ็ด โดยถนนข้าวหอมมะลิ จะเน้นกิจกรรมไปทางด้านส่งถนนข้าวเม่า หรือชื่อจริง “ถนนวรบุตร” อยู่ในเขตเทศบาล เป็นพื้นที่เล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ แยกมาจากถนนบ้านฮ่องอันเป็นพื้นที่เดิมซึ่งมีปัญหาในการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ด้วยสารคามขึ้นชื่อมีข้าวเม่าอร่อยจำหน่ายตลอดปี

๗. ถนนข้าวฮาง จังหวัดหนองบัวลำภู
ถนนข้าวฮาง ได้จัดขึ้นที่บริเวณสนามนเรศวรริมหนองบัว ความยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร เพื่อร่วมสืบสานประเพณีในเทศกาลวันสงกรานต์เนื่องด้วยขนมประเภทเดียวกันกับข้าวเม่าคือ ข้าวฮาง ที่อร่อยขึ้นชื่อ

๘. ถนนข้าวเปียก จังหวัดอุดรธานี
ถนนข้าวเปียก คือ “ถนนเทศาภิบาล” หน้าหน่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเทศบาลนครอุดรธานีจัดงานเทศกาลสงกรานต์ขึ้น โดยมีประชาชนนิยมเดินทางมาเล่นสาดน้ำ รวมถึงลงเล่นน้ำที่หนองประจักษ์ และร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ทุกปี และอาหารจำพวกข้าวต้ม หรือข้าวเปียกที่นี่ขึ้นชื่อนัก

๙. ถนนข้าวหลาม จังหวัดเลย
ถนนข้าวหลาม เป็นถนนที่เทศบาลเมืองเลยส่งเสริมให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีชื่อจริงว่า “ถนนเสริฐศรี”เนื่องจากข้าวหลามที่นี่อร่อยไม่แพ้ใคร

และ ๑๐. ถนนราชวงศ์สงกรานต์ หรือที่ชาว
บ้านเรียก ถนนข้าวเปียก อันมีชื่อจริงว่า “ถนนราชวงศ์ศึก” เป็นถนนเศรษฐกิจกลางเมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขด ภาคใต้ สปป.ลาว คนไทยสามารถเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ ๒ ที่จังหวัดมุกดาหารได้โดยสะดวก ชื่อถนนคล้าย ๆ กับจังหวัดอุดรธานีในเทศกาลสงกรานต์ เพราะมีร้านขายข้าวเปียกหรือข้าวต้มขึ้นชื่อหลายร้าน

วันสงกรานต์ถือว่าเป็นเทศกาลฉลองปีใหม่ลาว เปลี่ยนปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็น พ.ศ. ๒๕๕๖ ก็ช่วงนี้เอง ส่วนวันที่ ๑ มกราคมที่ผ่านมาลาวฉลองปีใหม่สากล ค.ศ. ๒๐๑๓ ไปแล้ว มีการแห่นางสังขาร (นางสงกรานต์) รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่และทำบุญต่าง ๆ ความจริงการเปิดถนนราชวงศ์สงกรานต์เป็นทางการในเทศกาลสงกรานต์เมื่อปีที่แล้ว โดยท่านเจ้าแขวงฯ ดร.สุพัน แก้วมีไชเพราะปีกลายเป็นปีท่องเที่ยวลาว และจะเป็นประเพณีมีพิธีเปิดถนนราชวงศ์สงกรานต์ และกิจกรรมสาดน้ำที่ถนนสายนี้สืบต่อไปทุก ๆ ปี…

ในเทศกาลสงกรานต์ หรือเดือนเมษายนถือเป็นเดือนท่องเที่ยวของคนไทยและข้าราชการไทยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในช่วงการตื่นตัวกระแสเห่ออาเซียน หรืออาเซียนฟีเวอร์พะเรอเกวียน ! ที่กำลังเห่ออย่างฉาบฉวยจำพวกจดจำคำทักทายต่าง ๆ ของชาติสมาชิกอาเซียนได้คล่อง การแต่งกายประจำชาติได้สวย อะไรเทือกนั้น เดือนนี้จึงออกไปทดสอบใช้อย่างเต็มที่

คนไทยเพิ่งมาเห่ออาเซียนนี้ประมาณ ๒ ปี เห็นจะได้ เพราะอะไรหรือ ? ก็เพราะผู้ใหญ่สั่งมาถ้าไม่สั่งข้าราชการไทยก็ไม่กระดิกกันตามเคยส่วนประเทศอื่น ๆ เขาตื่นมาตั้งนานแล้ว เขาพร้อมแล้วที่จะร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ว่าสาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์มาเลเซีย และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่เป็นเพื่อนบ้านร่วมก่อตั้งอาเซียนเมื่อ ๔๖ ปีก่อนนั้น หากย้อนไป ๓ ปีที่แล้ว มีการประเมินเยาวชนสมาชิกอาเซียนทั้งสิบว่ามีความตื่นตัว มีความรู้เรื่องอาเซียนมากน้อยเพียงใด ผลปรากฏว่า เยาวชนลาวได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเยาวชนไทยนั้นติดอันดับแปด ! (อันดับ ๓ รั้งท้ายของกลุ่ม) จึงเป็นห่วงอยู่ว่า ที่คนไทยเห่ออาเซียนขณะนี้มันเป็นเพียงฟองสบู่ เป็นเพียงกระแสค่านิยมหรือเปล่า โดยที่ไม่ลงลึกในเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง… หรือเพียงได้โอกาสก็อ้างเอางบประมาณมาผลาญเล่นไปอย่างฉาบฉวย

ขอยกตัวอย่างการจัดกิจกรรมลงลึกด้านเนื้อหาที่น่ายกย่องของศูนย์ข้อมูลลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เรียนรู้อาเซียน เรียนรู้เพื่อนบ้าน ผ่านวรรณกรรมลาว” มีปาฐกถาพิเศษ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูตไทย ประจำ สปป.ลาว ต่อด้วยการเสวนาในสาระสำคัญการเชื่อมโยงวรรณกรรมสองฝั่งโขง ไทย-ลาว และประชาคมอาเซียนเข้าด้วยกัน พร้อมกับเชื่อมสายสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมผ่านวรรณกรรม ร่วมเรียนรู้ พร้อมศึกษาข้อมูลของวรรณกรรมจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยนักเขียนซีไรต์จากฝั่งลาว นำโดย ดวงเดือน บุนยาวง และ โอทอง คำอินซู (“ฮุ่งอะลุน แดนวิไล”) ร่วมด้วย “จินตรัย” ศิลปินมรดกอีสานสาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๕๕

ช่วงบ่าย เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละประเด็นโดยการแบ่งกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม ได้แก่ “เรียนรู้อาเซียน เรียนรู้เพื่อนบ้าน ผ่านนักเขียนซีไรต์ลาว” โดย ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ร่วมกับโอทอง คำอินซู “ผู้หญิงกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับวรรณกรรมลาวร่วมสมัย” โดย ดร.อุมารินทร์ ตุลารักษ์ ร่วมกับ ดวงเดือน บุนยาวง “วิเคราะห์ตีความนิทานขุนบรม” โดย ดร.สุเนด โพทิสาน ร่วมกับ ผศ.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ จากนั้นได้สรุปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อคิดเห็นโดยวิทยากรทั้ง ๓ กลุ่ม โดยสาระสำคัญอยู่ที่การสื่อความหมายของวรรณกรรมทั้งลาวและไทย ที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา รากเหง้า และภาษาที่มีความคล้ายคลึงกัน ในการสะท้อนความเป็นอยู่วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศิลปะ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ อย่างน่าสนใจ

ทางเจ้าภาพบอกว่าได้ประชาสัมพันธ์งานนี้ไปทั่วภาคอีสาน เชิญชวนโดยเฉพาะครูอยากให้เข้ามาร่วมสัมมนามาก ๆ เพราะทุกอย่างฟรี เพียงลงทุนเสียค่าเดินทางมาเอง มีเอกสารแจก แถมยังได้เกียรติบัตรเข้าร่วมงานอีกด้วย ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาร่วมประมาณร้อยกว่าคนนิด ๆ เท่านั้นเอง ผู้ที่เข้ามาร่วมงานส่วนมากเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูจังหวัดขอนแก่น พระภิกษุสงฆ์เมืองขอนแก่น และจากที่อื่น ๆ บ้างเล็กน้อย นี่แสดงว่าคนไทยเมื่อจะลงลึกด้านเนื้อหาแล้วไม่ยอมเอา จึงมีคำถามตามมาว่า คนไทยพร้อมที่จะร่วมแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพียงใด หรือคนไทยดีแต่เป็นแค่อาเซียนฟีเวอร์ พะเรอเกวียน !

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
สงกรานต์ ( ສົງການ, សង្រ្កា)
สงกรานต์ “รดน้ำ” สุวรรณภูมิ “ปีใหม่แขก” จากอินเดียสู่อุษาคเนย์

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com