จิตร ภูมิศักดิ์ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

จิตร ภูมิศักดิ์ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
Column: Cover Story
ผู้เขียน: กอง บ.ก.


[] ตูใช่กวีไกร กวิน ฯ  (พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๙๓)

ช่วงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เกิด (พ.ศ. ๒๔๗๓) ประเทศสยามกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทำให้ราษฎรไทยเดือดร้อนกันมาก

จิตร ภูมิศักดิ์ เดิมชื่อ “สมจิตร” เป็นบุตรชายของ นายศิริ ภูมิศักดิ์ และ นางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ (ฉายาวงศ์) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กันยายน ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๒๔๗๓ ที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อ “ภิรมย์” นายศิริ ภูมิศักดิ์ ผู้บิดารับราชการเป็นเสมียนสรรพสามิต

สมจิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มเรียนประชาบาลที่ปราจีนบุรี ต่อมาบิดาถูกย้ายไปอยู่จังหวัดกาญจนบุรี เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนสตรีกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ๒๔๘๓ บิดาถูกย้ายไปประจำจังหวัดสมุทรปราการได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนชายประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายให้พลเมืองไทยใช้ชื่อให้สมกับเพศ สมจิตร ภูมิศักดิ์ จึงต้องเปลี่ยนชื่อ เขาเลือกใช้ชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์”

บิดาจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกย้ายไปทำงานที่จังหวัดพระตะบอง จิตรอาศัยอยู่กับพระที่วัดพิชัยสงคราม (วัดนอก) เรียนหนังสือที่สมุทรปราการจนจบชั้น ม. ๓ ระหว่างอยู่ที่วัดได้เรียนอักษรขอมเพื่อช่วยพระอาจารย์เขียนตะกรุดและเลขยันต์ จิตรเริ่มมีความรู้พื้นฐานภาษาขอม และพบเห็นพระสงฆ์ทุศีล

พ.ศ. ๒๔๘๗ จิตร ภูมิศักดิ์ เข้าเรียนต่อชั้น ม.๔ ที่โรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบอง

จิตรสัมผัสกับลัทธิชาตินิยม รับรู้ว่าชาวเขมรต้องการอิสรภาพ และเขาถูกลอบยิงครั้งหนึ่งแต่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๔๘๘ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ไทยต้องคืนดินแดนให้ฝรั่งเศส คนไทยต้องอพยพกลับประเทศไทย จิตรมาเข้าเรียนชั้น ม. ๕ และ ม. ๖ ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๔๙๐ ระหว่างนี้ มารดาของจิตรไปประกอบอาชีพตัดเสื้อผ้าที่จังหวัดลพบุรี

พบหลักฐานบทกวีที่จิตรประพันธ์ชิ้นแรก ๆ ชื่อ “อาฆาตานุสรณ์” (พ.ศ. ๒๔๘๙) และ “นิราสอพยพ” (พ.ศ. ๒๔๘๙) ดูจากฝีมือการประพันธ์ที่ห่างไกลจากระดับเตาะแตะฝึกหัดไปมากแล้ว เช่น

๏ สหัสสนัยภูวนารถท้าว….ทัศนา ใดฤๅ
จัตุพักตร บ เบือนมา……สู่พื้น
กฤษณนิทรเลอ วา-…….สุกรีหลับ ฤๅ พ่อ
สองวิโยคโศรกสะอื้น……ต่างท้าว ทำเมิน ๏

แสดงว่า จิตรได้อ่านวรรณคดีมามาก และฝึกหัดแต่งกวีมาก่อนหน้า พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้ว

จิตรมีคุณลักษณะพิเศษที่เมื่อสนใจเรื่องใดแล้วจะทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่ ในช่วงนี้ จิตรเริ่มสนใจค้นคว้าความรู้ด้านอักษรศาสตร์ อักษรโบราณ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดีจนสามารถเขียนบทความเรื่อง “กำเนิดลายสือไทย” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “เยาวศัพท์” ข้อเขียนชิ้นนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทแรกของเขา

ช่วงต่อเนื่องระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๔๙๓ จิตรเข้าเป็นนักเรียนแผนกอักษรศาสตร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สังกัดกลุ่มสีแสด ช่วงนี้เขาเล่นดนตรีไทยเก่งแล้ว และเมื่อเรียนชั้นเตรียมปีที่สองได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ “กลุ่มสีแสด”

พ.ศ. ๒๔๙๓ จิตรสอบไล่ได้ด้วยคะแนน ๖๕% แล้วเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้รับเลือกเป็นหัวหน้านิสิตชั้นปีที่ ๑ ช่วงนี้มีผลงานส่วนใหญ่ในรูปบทกวี ลีลากวีและเนื้อหาทางความคิดยังเดินตามขนบเดิมของกวีไทยโดยทั่วไป ยังไม่มีเนื้อหาทางการเมือง แต่สำหรับด้านวรรณศิลป์นั้น จิตรฉายแววว่าจะเป็นยอดกวีคนหนึ่ง แม้เขาจะเขียนอย่างถ่อมตัวว่า

๏ ใดผิดพลาดคณะบาทฤขาดครุลหุหาย
ปราชญ์ศรีกวีสาย อภัย
๏ อย่าหยันเย้ยเยาะหะเหย ฤ เปรย ณ หฤทัย
ตูใช่กวีไกร กวิน ฯ

สรุปลักษณะนิสัยในวัยเยาว์ของจิตร ภูมิศักดิ์
๑. เป็นคนยึดมั่นกับเหตุผล ไม่ยอมลงใครง่าย ๆ ถ้าหากผู้นั้นไร้เหตุผล
๒. เกลียดการดูถูกคนยากจน
๓. เป็นคนช่างสังเกต ช่างจดจำ ชอบอ่านหนังสือ
๔. เริ่มสนใจการเมือง ชาตินิยม
๕. เริ่มสนใจศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เห็นความอดอยากขาดแคลนในชนบท
๖. เป็นคนรักษาคำมั่นสัญญา ตรงต่อเวลา

[๒] ศิลปะทั้งผองต้องเกื้อเพื่อชีวิต (พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๕๐๑)

พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อจิตรเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์แล้ว มีผลงานทั้งร้อยกรองและร้อยแก้วได้รับการตีพิมพ์มากขึ้น

เดือนตุลาคม ร่วมแรงร่วมทุนกับเพื่อน ๆ ทำหนังสือ “ทรรศนะ”

จุดที่หักเหชีวิตของจิตรมากจุดแรกน่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ นั่นคือการได้สนิทสนมและร่วมงานกับ ดร.วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ (Dr. William J. Gedney) จิตร ได้ย้ายไปอยู่กับ ดร.เก็ดนีย์ ที่ซอยร่วมฤดี ถนนสุขุมวิท ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกไกล ชาวอเมริกัน ช่วงแรก ดร.เก็ดนีย์ จ้างจิตรเดือนละ ๓๐๐ บาท ให้สอนภาษาไทยและวรรณคดีไทย ต่อมามีผู้ว่าจ้างให้ ดร.เก็ดนีย์ แปลเอกสารภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย จิตรเป็นผู้ช่วยและแบ่งรายได้กันคนละครึ่ง

ผู้ที่ว่าจ้างให้แปลเอกสารนั้นเป็นชาวอเมริกันทำงานให้ซีไอเอ บทที่แปลหลายบทเป็นคำปราศรัยที่ทางสหรัฐอเมริกาเขียนมาให้ผู้นำฝ่ายไทยพูดตามที่สหรัฐต้องการ บางเรื่องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซิสต์และพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกา จิตรเขียนบันทึกส่วนตัวแสดงความไม่พอใจที่สหรัฐอเมริกาก้าวก่ายและบงการรัฐบาลไทย

พ.ศ. ๒๔๙๔ การทุ่มเทศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่เขาสนใจทำให้เขามีความรู้มาก เริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานวิชาการ แต่เขาก็สอบตกชั้นปีที่ ๒ ต้องเรียนซ้ำชั้น ระหว่างนี้เขามีผลงานทางวิชาการตีพิมพ์สม่ำเสมอ

พ.ศ. ๒๔๙๖ จิตรเป็นสาราณียกร ทำหนังสือ “มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลา ฉบับปี พ.ศ.๒๔๙๖” ระหว่างการจัดพิมพ์ พนักงานตรวจปรู๊ฟเห็นว่ามีเรื่องไม่เหมาะสมจะเผยแพร่ จึงนำเสนอต่อ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ หนังสือถูกระงับการพิมพ์ เรื่องนี้เกิดเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ วันที่ ๒๘ ตุลาคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประชุมนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ เลขาธิการมหาวิทยาลัยชี้แจงสาเหตุการระงับหนังสือ “มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลา” แล้วออกจากห้องประชุมไป แล้วหัวหน้านิสิตวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นบนเวทีสูงประมาณ ๕ ฟุต อภิปรายโจมตีจิตร เมื่อจิตรขึ้นไปแถลงถึงเหตุผลของตนบ้างก็ถูกนิสิตวิศวกรรมสามคนบุกเข้าไปรวบตัวจับ “โยนบก” ลงมาจากเวที จิตรต้องพักรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ ๔ เดือน และสืบเนื่องจากกรณีนี้ สภามหาวิทยาลัยมีมติให้พักการเรียนจิตร ๑๒ เดือน อันทำให้จิตรไม่มีโอกาสสอบไล่ ๒ ปีติดต่อกัน อีกทั้งยังต้องรายงานตัวกับตำรวจสันติบาลเป็นระยะอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ กองบังคับการสันติบาลจึงออกหนังสือรับรองความบริสุทธิ์ให้จิตร

ส่วนตัว ดร.เก็ดนีย์ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วยถูกย้ายกลับอเมริกาภายในหนึ่งเดือน เพราะต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังจิตร

จิตรสรุปบทเรียนกรณีนี้ไว้ว่า เขา “ตื่นเต้นต่อสัจธรรมที่เพิ่งพบ และกระโดดออกมาโฆษณาสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้องที่สุดอย่างคนเมา…” และมัน “เป็นการระเบิดรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ขั้นแตกหักระหว่างความขัดแย้งภายในความคิดของข้าพเจ้า ซึ่งความคิดใหม่ชนะความคิดเก่า และสะท้อนออกมาเป็นการเหวี่ยงจากปลายสุดขั้วทางขวามาสู่ปลายสุดขั้วทางซ้าย”

หลังจากนั้น นับว่าจิตรได้ข้อสรุปทางอุดมการณ์ที่แน่วแน่แล้ว

สองปีที่ถูกพักการเรียน จิตรหารายได้จากอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และเป็นมัคคุเทศก์นำพาชาวต่างชาติท่องเที่ยว ได้เดินทางไปนครวัดหลายครั้ง

พ.ศ. ๒๔๙๘ จิตรกลับเข้าเรียนต่อ วิชัย นภารัศมี ให้ข้อมูลว่า ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ นักศึกษาจากธรรมศาสตร์มาจัดตั้ง รวมกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ๗ คน เป็นหน่วยเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า

พ.ศ. ๒๕๐๐ จิตรจบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต จบแล้วเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เป็นอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงนี้จิตรผลักดันให้หนังสือของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตีพิมพ์บทความที่ก้าวหน้าได้สำเร็จ ตัวเขาเองก็เขียนบทความ บทกวีลงในหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก ผลงานที่โดดเด่นในช่วงนี้คือ “ศิลปเพื่อชีวิต” และ “ศิลปเพื่อประชาชน”

๏ ศิลปะต้องเกื้อเพื่อชีวิต
ของมวลมิตรผู้ใช้แรงทุกแห่งหน
ใช่เพื่อศิลปะอย่างที่นับสัปดน
ใช่เพื่อตนศิลปินชีวินเดียว ๏

๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จิตรถูกจับข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์


[๓] คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย (พ.ศ. ๒๕๐๑ – ๒๕๐๙)

จิตรถูกกักขังอยู่ในเรือนจำลาดยาวโดยไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี จนกระทั่งวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ อัยการศาลทหารกรุงเทพจึงฟ้องโดยยกเรื่องการทำหนังสือ “มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลา ฉบับปี ๒๔๙๖” ที่เรื่องผ่านไปสิบปีแล้วมาเป็นคดีฟ้องร้อง วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ศาลได้พิพากษายกฟ้อง จิตรได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ณ บ้านสีฟ้า ถนนงามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรีระยะหนึ่ง

ระหว่างถูกจำขัง จิตรสร้างสรรค์ผลงานเป็นจำนวนมาก ทั้งด้านวิชาการ (“ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวฯ”) ด้านการเมือง ด้านวรรณกรรมบทกวี บทละคร และบทเพลง

จิตรมีความสมารถพิเศษด้านดนตรี เขานำจะเข้ติดตัวเข้าไปในคุกด้วย และได้ใช้จะเข้ในการประพันธ์เพลงหลายเพลงในคุก นอกจากเชี่ยวชาญดนตรีไทยเดิมแล้ว เขายังรู้จักเพลงคลาสสิก เพลงพื้นบ้านของชาติตะวันตกมากมาย

นอกจากนั้นเขายังใช้เวลาว่างเรียนภาษาต่างประเทศ เช่นภาษาจีน จนสามารถอ่านเขียนภาษาจีนได้

หลังจากจิตรออกจากคุกแล้ว เขาคงรับทราบว่าไม่อาจอยู่ในเมืองต่อไปได้ จะต้องเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนเข้าป่าเขานำต้นฉบับเรื่อง “ความเป็นมาของคำ สยาม ไทย ลาวฯ” ไปฝากไว้กับ สุภา ศิริมานนท์

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ จิตรเดินทางเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติที่ดงพระเจ้า ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายปรีชา” ตามกำหนดเดิม จิตรควรจะเดินทางต่อไปประเทศจีน แต่เขาขออยู่ที่ภูพานศึกษางานที่นั่นระยะหนึ่ง ที่นั่นเขาแต่งเพลงปฏิวัติได้อีกหลายเพลง

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ จิตรลงจากภูเขาเพื่อติดต่อมวลชน งานเสียลับถูกเจ้าหน้าที่เข้าโจมตี จิตรและสหายอีกสองคนหลงทางไปเข้าหมู่บ้านที่ไม่มีสายจัดตั้ง จิตรถูกยิงตายที่ชายป่า บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม

เขาตายไปอย่างเงียบ ๆ ชื่อเสียงของเขาก็ค่อย ๆ จางหายไปจากวงงานวิชาการและวงงานวรรณศิลป์

[๔] ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน (พ.ศ. ๒๕๐๙ – ……..)


 

ในชนบท สงครามจรยุทธ์โดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ มีการก่อตั้งเป็นกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) มีการกระจายเสียงของวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) เกิดการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ

ภายในเมือง รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ปกครองแบบเผด็จการมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ จึงมีการเลือกตั้งทั่วไป แล้ว จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จนจอมพลถนอมรัฐประหารตัวเอง หวนกลับไปปกครองแบบเผด็จการอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔

แต่ประวัติศาสตร์ก็เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยยกระดับสู่กระแสสูง แล้วเมื่อรัฐบาลเลือกใช้วิธีจับกุมคุมขัง กระแสต่อต้านรัฐบาลขยายตัว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

ทำให้รัฐบาลต้องล่มคว่ำไป การเมืองกลับมามีบรรยากาศประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ผลงานของนักคิดนักเขียนฝ่ายประชาธิปไตยได้รับการเผยแพร่อย่างเสรี ชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” ได้กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง

ชื่อเสียงของ จิตร ก็ฟื้นคืนกลับมา และขจรขจายไปยิ่งกว่าเก่าหลายเท่า

ต้นทศวรรษ ๒๕๑๐-๒๕๒๐ เริ่มมีการนำผลงานเขียนของจิตรมาตีพิมพ์ใหม่บ้างประปราย พ.ศ. ๒๕๑๕ มีการตีพิมพ์เรื่อง “ศิลปเพื่อชีวิตศิลปเพื่อประชาชน” ในนามปากกา “ทีปกร” หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เรื่องราวของจิตรและผลงานของเขาถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางจิตรถูกเชิดชูให้เป็นวีรบุรุษแบบอย่างของหนุ่มสาวผลงานทุกประเภทของจิตรถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมาก

พ.ศ. ๒๕๑๙ อักษรศาสตร์พิจารณ์ ฉบับเดือนเมษายน-พฤษภาคม นำเสนอเรื่องราวชีวิตและผลงานของจิตรอย่างละเอียด หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หนังสือของจิตรถูกประกาศเป็นหนังสือต้องห้าม

นับแต่ทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ชื่อเสียงของจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่เคยดับมอด มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวชีวิตและผลงานของจิตรมากยิ่งกว่าประวัติชีวิตของนักปฏิวัติสังคมไทยคนอื่น ๆ ผลงานด้านวิชาการของจิตรมีผลสะเทือนสร้างความก้าวหน้าให้วงวิชาการมาก

ภาพลักษณ์ของจิตร โดดเด่นและหลากแง่หลายมุมกว่านักปฏิวัติสังคม ศิลปิน และนักวิชาการคนอื่น ๆ เพราะเขาเด่นในทุกด้าน ทั้งด้านการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมที่ดีงามกว่าเดิม ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ทั้งด้านงานวิชาการ เกี่ยวกับภาษา, ประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์วรรณาวิทยา

และเรื่องราวของ “จิตร” ก็ยังไม่จบลงแม้ในวันนี้ขณะนี้

ปัจจุบันนี้ หัวข้อเกี่ยวกับ “จิตร ภูมิศักดิ์” ยังเป็นเรื่องที่ปัญญาชนนักคิดนักเขียนและประชาชนผู้ใฝ่ความก้าวหน้าสนอกสนใจศึกษาค้นคว้าเขียนพาดพิงถึงอยู่เสมอ

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com