เสน่ห์อีสานบ้านสาวะถี (ตอนที่ 1) ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมนำวิถีสุข
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “หมู่บ้านสาวะถี” ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 20 กิโลเมตร แต่อาจจะยังไม่เคยมาเยือนหรือมาท่องเที่ยวที่นี่ สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง อาจจะเป็นเรื่องการพัฒนาที่ใช้ สื่อศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการพัฒนาจนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะจิตกรรมฝาผนังหรือคนอีสานเรียกว่า “ฮูปแต้ม” จากวรรณกรรมเรื่อง “สินไซ” หรือ “สังข์ศิลป์ไชย” ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ได้มีการจัดแข่งขันกีฬา “ซีเกมส์”ในปี 2009 ได้มีการใช้ตัวละคร “สินไซ” ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้ยิงธนูแผลงศรเพื่อจุดคบเพลิงการแข่งขัน รวมไปถึงการที่ประเทศสปป.ลาวประกาศใช้วรรณกรรมเรื่อง “สินไซ เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ” ทำให้คนในพื้นที่ภูมิภาคอีสานตื่นตัวกับวรรณกรรมเรื่องนี้เนื่องเพราะมีรากเหง้าจากที่เดียวกัน และมีคนศึกษาเรื่องวรรณกรรมสินไซอย่างแพร่หลาย ในทุกแง่มุม
หรือหลายคนอาจจะเคยมาเยือนเมืองขอนแก่นแล้วเห็นเสาไฟแปลก ๆ ที่ติดตั้งไปทั่วทั้งเมืองและสอบถามพบว่าจุดกำเนิดมาจากบ้านสาวะถีแห่งนี้ หรือ หลายคนคงได้ยินชื่อโครงการ “สินไซโมเดล” ที่มีผลผลิตเป็นหมอลำหุ่นสินไซน้อยร้อยปีที่โด่งดังไปทั่วประเทศ หรือจากหลาย ๆ สาเหตุที่ได้ยินได้ฟังมาแต่อาจจะยังไม่รู้ว่าที่ไปที่มาของบ้านสาวะถีที่เชื่อมโยงกับการใช้ศิลปวัฒนธรรมในการพัฒนานั้นเป็นอย่างไร
แต่วันนี้จะพาผู้อ่านนิตยสาร “ทางอีศาน” ไปรู้จักบ้านสาวะถีในแง่มุมของ “เสน่ห์แบบอีสาน” และนำไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับชุมชน” โดยการใช้ศิลปวัฒนธรรมประเพณีเป็นตัวขับเคลื่อนจนได้รับรางวัลทั้งด้านผู้นำและเป็นที่รู้จักในนามของ “ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ที่หลายคนอยากมาเยือน โดยขอเล่าเป็นตอน ๆ และใช้หลักการพัฒนาเป็นกระบวนการ “ฟื้นฟู รักษา พัฒนา ต่อยอด และยั่งยืน” มาคลี่ขยายให้ฟัง เริ่มต้นตอนนี้ด้วย “ฟื้นฟู” ที่นำเอาศิลปวัฒนธรรมในชุมชนแบบอีสานมาขับเคลื่อน โดยมีพระครูบุญชยากรเจ้าอาวาสวัดไชยศรี บ้านสาวะถี ผู้เป็นคีย์แมนสำคัญในการดำเนินการในยุค “ฟื้นฟู” มาเป็นผู้เชื่อมโยง
เมืองโบราณบ้านสาวะถี
บ้านสาวะถีเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่ คือหมู่ 6 , 7 , 8 และ 21 มีประชากรกว่า 16,466 คน มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ยุคทวารวดี ซึ่งปรากฏหลักฐานร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้สืบค้นมากมาย โดยเฉพาะโนนเมืองหรือเมืองโบราณที่อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ห่างจากวัดไชยศรีไปประมาณ ๔๐๐ เมตร ซึ่งกรมศิลปากรเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า แหล่งโบราณคดีบ้านสาวะถี จากการสำรวจพบหลักฐานสำคัญ ประกอบด้วยภาชนะและเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ได้แก่ แบบผิวเรียบ แบบลาย เขียนสี แบบเคลือบน้ำโคลน แบบลายเชือกทาบ และแบบลายกดประทับ ภาชนะและเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูง ใบเสมา ประติมากรรมหินทราย สันนิษฐานว่าอาจเป็นฐานศิวลึงค์ และเศษอิฐซึ่งเป็นชิ้นส่วนโบราณสถาน
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบแสดงให้เห็นว่า ชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นชุมชนที่รับพุทธศาสนา และมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนใกล้เคียง และการที่พบแหล่งภาชนะดินเผาลายเขียนสี ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับภาชนะดินเผาลายเขียนสีที่พบที่บ้านเชียงในชั้นวัฒนธรรมที่ ๕ (๑,๐๐๐ – ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) แต่ลักษณะหยาบกว่า ดังนั้นแหล่งโบราณคดีนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่บ้านเชียง จึงสันนิษฐานได้ว่าชุมชนที่นี่คงมีอายุราวก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓
เมืองโบราณสาวะถี หรือ “โนนเมือง” เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีคูน้ำล้อมรอบ ปัจจุบันพื้นที่ภายในคูน้ำมีสภาพเป็นป่ารกทึบ สำรวจได้เพียงบริเวณชายเนินทางด้านทิศตะวันออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พบหลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา (Earthenware)
พื้นที่ด้านนอกของเมืองโบราณพบหลักฐานทั้งเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา (Earthenware) และเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง (Stoneware) สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง (แหล่งเตาลุ่มน้ำสงคราม) ก้อนดินเผาไฟและเศษอิฐดินเผา เป็นต้น
สันนิษฐานว่าพื้นที่เมืองโบราณสาวะถีและพื้นที่โดยรอบ ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยอย่างน้อย ๓ ยุคสมัยด้วยกัน ประกอบด้วย สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องถึงสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ ๑๑ – ๑๕ และสมัยวัฒนธรรมล้านช้างราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๔ และรูปลักษณะการสร้างเมืองโบราณในยุคนั้นที่จะมีคูน้ำล้อมรอบเขตเมือง ซึ่งปัจจุบันยังมีคูน้ำปรากฎอยู่โดยชาวบ้านเรียกคูน้ำดังกล่าวว่า “หนองโง้ง” ที่มีขนาดล้อมรอบดินบริเวณโนนเมืองเก่าขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้หนองโง้งดังกล่าวมีลักษณะคูน้ำเป็นวงกลมแต่ปัจจุบันมีการถมที่ดินจนทำให้คูน้ำนั้นหายไปบางส่วน
ก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน บ้านสาวะถีที่ยังปกคลุมไปด้วยป่าไม้ มีวัดแยกกัน 2 วัดคือวัดเหนือและวัดใต้ วัดเหนือคือวัดโพธิ์ชัยที่มีชาวบ้านสาวะถี หมู่ 6, 7 และ 21 ไปรวมกันอยู่ที่วัดนี้ในการทำบุญทำทานเรียกว่าเป็นวัดขนาดใหญ่และมีการก่อสร้างก่อนประมาณปี 2404 เจ้าอาวาสในยุคนี้วัดวาอารามได้รับการพัฒนามากทั้งด้านการสร้างศาสนสถาน ด้านการศึกษาปริยัติธรรมด้าน ฮีตคองประเพณี หลวงปู่อ่อนสา ถือเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีส่วนอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวัด โดยเฉพาะในด้านศาสนสถานที่ท่านได้เป็นผู้ออกแบบ และนำพาชาวบ้านร่วมกันสร้างสิม (โบสถ์) วัดโพธิ์ชัย และ วัดไชยศรี สร้างหอแจก วัดโพธิ์ชัย รวมถึงสร้างสรรค์งานประดับต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแกะสลักไม้ที่ท่านเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
ก่อนจะมีการมาก่อสร้างวัดใต้ หรือวัดไชยศรี ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน โดยทั้งสองวัดนี้มีความเหมือนกันคือมีสิมหรือโบสถ์เก่าแก่อยู่ทั้งสองแห่ง แต่ที่วัดเหนือหรือวัดโพธิ์ชัยรูปลักษณะของสิมเป็นแบบโบราณ มีขนาดเล็ก ปัจจุบันทางวัดได้ถมดินปรับพื้นทับส่วนฐานเอวขันไปแล้ว จึงได้ทำการวัดขนาดบริเวณส่วนฐานบัวคว่ำที่โผล่พ้นดินขึ้นมา กว้างประมาณ ๕.๓๐ เมตร ยาวประมาณ ๗.๓๐ เมตร ก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างขนาด ๓๖ x ๘ x ๑๖ เซนติเมตร นับว่ามีขนาดใหญ่กว่าอิฐที่พบใน การก่อสร้างโบราณสถานทั่วไปที่มีอายุการก่อสร้างร่วมสมัยกัน มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า แต่สิมที่นี่ไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้มเหมือนวัดไชยศรี ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมแต่ชาวบ้านยังอนุรักษ์และใช้ทำศาสนกิจอยู่
ในขณะที่วัดใต้หรือวัดไชยศรี ก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๐๘ มีสิมโบราณที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก จนกระทั่งมาถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ พระอาจารย์วสันต์ มหาปุญโญ หรือ พระครูบุญชยากร เจ้าคณะตำบลสาวะถีที่ได้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้เมื่อปี 2532 และได้สนใจศึกษาจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนสิมดังกล่าวเนื่องเพราะเห็นว่าสิมหลังนี้แปลกและมีฮูปแต้มเต็มพื้นที่ผนังทั้งด้านนอกและด้านในและอยากรู้ว่าฮูปแต้มดังกล่าวเป็นเรื่องราวอะไร สำคัญอย่างไร และทำไมวัดนี้จึงได้วาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องนี้ จนกระทั่งเทศบาลนครขอนแก่นได้นำเอาไปปเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา
ยุคก่อตั้งบ้านสาวะถี
ประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งบ้านสาวะถีในยุคสร้างบ้านแปลงเมืองนั้นไม่มีหลักฐานจารึกเอาไว้อย่างชัดเจนว่าตั้งขึ้นเมื่อไหร่ ใครเป็นผู้ก่อตั้ง มีเพียงตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาเท่านั้น ว่า… เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปี (ราว พ.ศ. ๒๓๖๐ ) พื้นที่สาวะถีแห่งนี้ยังคงเป็นป่ารกชัฏ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ หมู่บ้านรอบ ๆ อยู่ห่างไกลกันมาก เช่น บ้านทุ่ม บ้านแท่น ชนบท ขอนแก่น ซึ่งใกล้สาวะถีที่สุดนั้นก็คือ บ้านทุ่ม
วันหนึ่งมีชาวบ้านทุ่ม จำนวน ๓ คน นามว่า ปู่มุกดาหาร ปู่คำจ้ำโง่ง และปู่คนิง ได้ไปเลี้ยงช้างที่โคกป่าเหล่าพระเจ้า ในเหล่าพระเจ้านี้มีพระพุทธรูปเก่าองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ขณะที่ ๓ ปู่กำลังเลี้ยงช้างอยู่นั้น ช้างเชือกหนึ่งเกิดตกมันและเอาไว้ไม่ไหว จึงหนีเข้าป่าดงไป ปู่ทั้งสามจึงวิ่งติดตามหา ไปพบช้างยืนอยู่กลางป่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “โนนเมือง” ปรากฏว่าช้างหายจากอาการตกมัน และให้จับอย่างง่ายดาย คล้ายนิมิตมหัศจรรย์เสมือนหนึ่งมีสิ่งบันดาลนิมิตให้เป็นไป ซึ่งนั่นทำให้ทั้ง ๓ ปู่ ได้เห็นว่ามีพื้นที่เหมาะในการเข้ามาอยู่อาศัย เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ และไม่ไกลจากถิ่นที่อยู่เดิมมากนัก เมื่อปู่ได้เล็งเห็นเช่นนั้นจึงชักชวนเพื่อนบ้านให้ย้ายมาอยู่ จนเกิดเป็นชุมชนในระยะต่อมา…
มุขปาฐะดังกล่าวแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล่าปากต่อปาก แต่เรื่องเล่านี้ก็ได้ทำให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการเลือกแหล่งอาศัยของคนในอดีตในการเลือกทำเลที่เหมาะสมในการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพราะในบริเวณโนนเมืองมีคูน้ำล้อมรอบ ตรงกลางเป็นเนินน้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งบริเวณที่เรียกว่าโนนเมืองนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นวัดร้างมาก่อน ด้วยพบมีใบเสมาอยู่หลายแห่ง กระจายอยู่โดยรอบ และนอกจากความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ของวัดเก่าแล้ว ชาวบ้านยังเชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าที่ปกปักดูแลรักษาอยู่ ถ้าใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมในสถานที่แห่งนี้มักจะมีอันเป็นไป เช่นในกรณีที่มีคนเข้าไปขุดหาของเก่าเพื่อหวังได้ของมีค่า เมื่อเอาไปแล้วก็มีเหตุต้องเจ็บไข้ได้ป่วย จนต้องเอากลับมาคืน
ส่งผลให้พื้นที่โนนเมือง นอกจากที่มีความสำคัญในฐานะแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่สามารถสืบย้อนหลังไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายแล้ว ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความยำเกรงในลักษณะเดียวกับดอนปู่ตา แต่ขณะเดียวกันพื้นที่โนนเมืองยังเป็นหัวใจของชุมชน คือ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ที่ทำการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ สามารถเลี้ยงดูผู้คนบ้านสาวะถีให้อยู่ดีมีสุขตลอดมา
จากตำนานเรื่องเล่ากำเนิดบ้านสาวะถี ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ก็ทำให้ทราบว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านสาวะถีในยุคแรกนั้นอพยพกันมาจากแถบบ้านทุ่ม ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่บ้านทุ่มเป็นเมืองขอนแก่นแล้ว เมื่อมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมาก ผู้คนส่วนหนึ่งจึงหาทำเลขยายพื้นที่ทำมาหากินไปโดยรอบ (บ้านสาวะถีอยู่ห่างจากบ้านทุ่มประมาณ ๑๐ กิโลเมตร) เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์การขยายเมืองโดยทั่วไป
ตามเอกสารการตั้งเมืองขอนแก่นได้กล่าวว่า เมืองขอนแก่นย้ายที่ว่าการเมืองถึง ๗ ครั้ง และครั้งที่ ๕ ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านทุ่ม ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ คือเมื่อ ๑๓๘ ปีที่ผ่านมา แต่จากหลักฐานของการตั้งวัดในพื้นที่บ้านสาวะถีเอง ได้ระบุเอาไว้ว่าวัดโพธิ์ชัย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ (หนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๒) ส่วนวัดไชยศรีตั้งขึ้นหลังจากนั้น ๔ ปี คือใน พ.ศ. ๒๔๐๘ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นชุมชนสาวะถีก็ต้องตั้งมาก่อนที่บ้านทุ่มจะถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ซึ่งแน่นอนว่าการตั้งชุมชนต้องมีมาก่อนการตั้งวัดอย่างแน่นอน ทั้งนี้อาจจะมีการทยอยเข้ามาเป็นหลายระลอกไม่ได้มาในคราวเดียวกัน ซึ่งกว่าจะเป็นชุมชนที่มั่นคงนั้นคงใช้เวลานานพอสมควร ดังนั้นจึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าบ้านสาวะถีน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า ๑๕๐ – ๒๐๐ ปีอย่างแน่นอน
ยุคฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี
ยุคฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนสาวะถี บุคคลที่เริ่มดำเนินการในยุคนี้คือ พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี ที่ได้ย้ายมาอยู่ที่วัดแห่งนี้เมื่อปี 2532 ที่ผ่านมา โดยที่บ้านสาวะถีแห่งนี้เป็นบ้านเกิด เมื่อท่านกลับมาอยู่ที่นี่ เห็นปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างบ้านและวัด จึงต้องการหาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาร่วมกัน โดยต้องการนำต้นทุนที่ชุมชนมีและเป็นจุดแข็งมาใช้นั่นคือวัฒนธรรม จารีตประเพณี ที่ชุมชนสาวะถีใช้ขับเคลื่อนมาในอดีต แต่ในช่วงเวลานั้นไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรท่านจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนทั้งวัดและหมู่บ้านไปพร้อมกัน “แต่สิ่งเหล่านี้ได้ถูกละเลยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมจารีตประเพณีกับวิถีชุมชนมีน้อยมาก จนต้องหาจุดสำคัญที่จะฟื้นฟูขึ้นมาเป็นศูนย์กลางหรือจุดร่วมเริ่มต้นให้ได้และต้องได้รับการยอมรับจากคนส่วนมากด้วย สิมวัดไชยศรีและฮูปแต้มสินไซคือสิ่งที่วัดและชาวบ้านมีความศรัทธา เชื่อถือและมีความสำคัญต่อวิถีผู้คนอยู่ จึงถูกยกมาสู่การเรียนรู้ ค้นหาภูมิปัญญาองค์ความรู้และถอดรหัส สู่การใช้ในการพัฒนาวัดไชยศรีและชุมชนบ้านสาวะถีอีกครั้ง”พระครูบุญชยากร เล่าให้ฟังเมื่อครั้งถูกถามว่าทำไมถึงได้ใช้ฮูปแต้มที่สิมวัดไชยศรีมาเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในยุคเริ่มต้น
นอกจากนั้นท่านยังเล่าถึงการนำฮูปแต้มสินไซมาใช้ในการพัฒนาชุมชนว่า ใช้ในการปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่นด้วยการสร้างความภูมิใจร่วม เนื่องจากแรกเริ่มเป้าหมายการนำใช้คือเป็นการพัฒนาท้องถิ่นเป็นสำคัญ การเตรียมคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้น ๆ ในการเริ่มพัฒนา การจะให้คนหันมาสนใจพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตนให้มาก จะต้องสร้างความรักท้องถิ่น โดยสร้างความภูมิใจร่วม การพูดถึงสิ่งดี ๆ ที่มีในท้องถิ่นชุมชนจึงถูกเผยแพร่ ถ่ายทอด พูดคุยและนำเสนอ ซึ่งฮูปแต้มสินไซที่สิมวัดไชยศรี คือสิ่งที่เผยแพร่นำเสนอง่าย เพราะคนในชุมชนรู้จักและให้ความสำคัญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ในเชิงพัฒนาอย่างไร ดังนั้น การสร้างความภูมิใจ ความรักในท้องถิ่นจึงเป็นเหมือนก้าวแรกที่จะเปิดประตูไปสู่ความสำเร็จก้าวต่อไป
นอกจากนั้นยังมีการนำฮูปแต้มสินไซสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตโดยผ่านกระบวนการทางประเพณีเนื่องจากชุมชนสาวะถีมีฮีตสิบสอง เป็นประเพณีวิถีศรัทธาอยู่แล้ว การที่จะทำให้สินไซเข้าไปมีบทบาทในวิถีชีวิตกิจกรรมของชุมชนจึงต้องใช้การนำเข้าไปสอดแทรกส่งเสริมประเพณีเหล่านี้ นอกจากจะไม่ขัดแย้งต่อวิถีที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ยังจะเป็นที่สนใจให้ความสำคัญและนำไปใช้อย่างลงตัวยอมรับได้ง่าย แต่ที่สำคัญคือกระบวนการพัฒนาชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ประเพณี “สินไซบุญข้าวจี่วิถีวัฒนธรรมอีสานวัดไชยศรี” จากประเพณีที่คนให้ความสนใจน้อยและในวงแคบ กลับกลายเป็นประเพณีที่มีคนทั้งในและนอกชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี
รวมถึงการใช้ฮูปแต้มสินไซพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน ชุมชนสาวะถีได้ฟื้นฟูพัฒนาแหล่งเรียนรู้ฮูปแต้มสิมวัดไชยศรี จนสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คน ให้เข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมากและเป็นถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน นอกจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเองแล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งสำคัญของชุมชนโดยรอบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เช่น แหล่งประวัติศาสตร์สาวะถี ที่โนนเมือง(ที่ตั้งเมืองเก่า) เหล่าพระเจ้า พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถี ซึ่งแหล่งเหล่านี้ที่อยู่โดยรอบ ก็เหมือนมีแหล่งฮูปแต้มเป็นพี่เลี้ยงคอยส่งเสริมสนับสนุน ดึงดูดผู้คนให้มาสนใจควบคู่ไปด้วย
พระครูบุญชยากร เล่าถึงแนวคิดในการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่เพื่อมาใช้ในการปลูกจิตสำนึกและปลุกพลังให้คนในชุมชนหันมาร่วมมือกันในการพัฒนาชุมชนของตนเองและนี่คือจุดเริ่มต้นของ “เสน่ห์อีสานบ้านสาวะถี”ในตอนที่ 1 นั่นคือ ฟื้นฟูประเพณีวิถีวัฒนธรรม โปรดติดตามตอนต่อไป
…
อ้างอิง : ขอบคุณหนังสือ “ถิ่นฐานบ้านสาวะถี” หนังสือเนื่องในงานทอดกฐินมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2564 รวบรวมเรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ , หนังสือ “สินไซ : ถอดรหัสสินไซสู่โมเดลแห่งการเรียนรู้ของชุมชน” โดยโครงการสินไซโมเดล แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ตีพิมพ์ปี 2561 บรรณาธิการโดย สุมาลี สุวรรณกร.