“เสียงแคน” ในการเมืองสยาม-ลาว
ทางอีศาน ฉบับที่๑๐ ปีที่๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: บทความพิเศษ
Column: Special Article
ผู้เขียน: อดิศร เสมแย้ม*
(*ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ หลังจากสงครามเจ้าอนุสิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๒๓๗๐ กองทัพสยามได้กวาดต้อนครอบครัวชาวเวียงจันและเมืองอื่น ๆ บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมาเป็นเชลยศึก โดยโปรดเกล้าฯให้อพยพเชลยศึกชาวลาวไปไว้ตามเมืองต่าง ๆ เช่น ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครชัยศรี และ พนัสนิคม เชลยศึกเหล่านี้ได้นำ “แคน” พร้อมกับศิลปะการขับลำติดตัวมาด้วย เพื่อปลอบประโลมใจยามคิดถึงบ้าน ศิลปะดังกล่าวจึงเข้ามาแพร่หลายในสยามนับตั้งแต่บัดนั้น ศิลปะดนตรีและการละเล่นของลาวที่สยามเรียกว่า การเล่นลาว” หรือ “ลาวแคน” เป็นการขับลำที่มีการเป่าแคนประสานเสียง มี “หมอลำ” ทำหน้าที่ขับร้องและออกท่ารำประกอบ และ “หมอแคน” ทำหน้าที่เป่าแคนประกอบเป็นท่วงทำนองเพลง
การเล่น “แอ่วลาวเป่าแคน” ขยายอิทธิพลเป็นอย่างมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ไม่เว้นแม้แต่ในราชสำนักพระอนุชาของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการแอ่วลาวเป่าแคนมาก ทรง “…ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญถ้าไม่ได้เห็นพระองค์ก็สำคัญว่าลาว…” นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทแอ่วลาว เรื่อง “นิทานนายคำสอน” ขึ้น อาจเป็นเพราะทรงมีพระสนมเป็นชาวลาว และที่วังสีทา เมืองสระบุรี ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับบ่อยครั้งนั้น เล่ากันว่ามีนางสนมฝ่ายในที่เก่งในทางแอ่วลาวมาก
“หมอปลัดเล” หรือ แดน บีช แบรดลีย์ นายแพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้บันทึกไว้ว่า ใน พ.ศ. ๒๓๗๘ ขณะที่ตนและภรรยาคือ นางเอมิลี่ รอยส์ แบรดลีย์ ไปเฝ้า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าฟ้าจุฑามณี หรือ “เจ้าฟ้าน้อย” ได้ทรงพาตนและภรรยาไปชมเครื่องดนตรีลาวชนิดหนึ่ง ซึ่งหมายถึงแคน ที่ทรงเป่าให้ฟัง และยังโปรดให้บ่าวไพร่ชาวลาวผู้หนึ่งแอ่วลาวให้ฟัง
เหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือวังหน้า ทรงโปรดแอ่วลาวเป่าแคนนี่เอง ทำให้เจ้านายในราชสำนักกรุงเทพฯ อื่น ๆ พากันนิยมตาม ตัวอย่างเห็นได้จากบันทึกของ เซอร์ ยอห์นเบาริง ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ที่บันทึกว่า หลังจากรับประทานอาหารที่วังของกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงให้หาพวกลาวมาแอ่วลาวเป่าแคนให้ชม
การที่เจ้าฟ้าน้อย ซึ่งภายหลังรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์โปรดแอ่วลาวมาก ทำให้เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงพระประชวร และก่อนสวรรคตได้ตรัสกับขุนนางผู้ใหญ่ คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าผู้ที่จะสืบต่อราชบัลลังก์ขึ้นเป็นกษัตริย์นั้นก็มีแต่เจ้าฟ้าใหญ่หรือเจ้าฟ้ามงกุฎ และเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งทรงเห็นว่า เจ้าฟ้าน้อยรู้จักวิชาการช่าง และการทหารอยู่ แต่ทรงตำหนิว่า “ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุก” ทรงเกรงว่าเจ้านายและข้าราชการจะไม่พอใจ ทั้ง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงดำรงพระยศขณะนั้นเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศก็ตาม
การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดแอ่วลาวมากยังเป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๔ ทรงไม่พอพระทัยถึงความนิยมในการเล่นแอ่วลาวเป่าแคนในสมัยนั้น เนื่องจากทรงเห็นว่าชาวไทยพากันละทิ้งการละเล่นของไทย เช่น ปี่พาทย์ มโหรี เสภา ปรบไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เพลงเกี่ยวข้าว และละครร้องเสียหมด แม้แต่ในงานโกนจุก บวชนาคก็มีแต่ลาวแคนเล่นเสียหมดทุกแห่ง และยังปรากฏทัศนะ “ชาตินิยม” ที่ทรงเห็นว่า “…ไม่สู้งามสู้ควรที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย ลาวแคนเป็นข้าของไทย ไทยไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร…” โดยทรงออกประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ทรงอ้างด้วยว่า เมืองที่เล่นลาวแคนมาก ๆ ฝนจะแล้ง และทรงคาดโทษของการเล่นลาวแคนว่า “…จะให้เรียกภาษีให้แรงใครเล่นที่ไหนจะให้เรียกแต่เจ้าของที่และผู้เล่น ถ้าลักเล่นจะต้องจับปรับให้เสียภาษีสองต่อสามต่อ..” ทำให้ต้องมีการนำซออู้มาใช้แทนแคนที่รัชกาลที่ ๔ ทรงห้ามจนเกิดเป็นแอ่วเคล้าซอขึ้นในเวลาต่อมา
การที่รัชกาลที่ ๔ ทรงอ้างว่า การเล่นลาวแคนจะทำให้ประสบภัยธรรมชาติซึ่งกระทบต่อการเพาะปลูกนั้น ค้านกับลักษณะส่วนพระองค์ที่ทรงมีแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ โดยการยึดหลักเหตุและผล การกล่าวอ้างดังกล่าวอาจเป็นเพราะรัฐบาลสยามขณะนั้นเล็งเห็นถึง “เนื้อใน” ของกลอนลำที่มีนัยของการปลุกระดมให้เชลยศึกชาวลาวลุกขึ้นต่อสู้ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเพลง “ลาวแคน” หรือ “ลาวแพน” ดั้งเดิม ซึ่งเป็นเพลงของเชลยศึกชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ หลังสงครามเจ้าอนุ ที่ถ่ายทอดความเคียดแค้น ความทุกข์ระทม ความเร่าร้อน และความปวดร้าว บางตอนมีลักษณะโกรธแค้นฮึดสู้ จากการถูกกระทำทารุณตามอำเภอใจ ออกมาเป็นบทเพลง
“…ฝ่ายพวกลาวเป่าแคน แสนสะเหนาะ มาเสบเลาะ เข้ากับแคนแสนสะท้าน เป็นใจความยามยากจากเวียงจัน
ตกมาอยู่เขดขันแคว้นอะโยทะยา แสนอดแสนทน เหมือนดั่งคน ตกนารก มืดมนฝนตก เที่ยวหยก ๆ ถือข้องหนองคบ เทียวไล่จับกบทุ่งพระเมน เปื้อนเลนเปื้อนตม เหม็นคบเหม็นคาว จับทังอ่างท้องขึง จับทังอึ่งท้องขาว จับทังเหนี้ยวจับทังปู จับทังหนูท้องขาว จับเอามาให้สิ้น เอามาต้มกินกับเหล้า เป็นกัมของเฮา แล้วเป็นเพาะเจ้าลาวอ้ายเพื่อนเอ๋ย”
วรรณกรรมลาวหลังสมัยสงครามเจ้าอนุบางชิ้นที่มีเนื้อในต่อต้านอำนาจปกครองรัฐยังได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชนในการต่อสู้ทางการเมืองซึ่งมีลักษณะ “ปิดลับ” เช่น “พื้นเวียง” ที่เรียกว่า “พื้นเวียงสะไหมเจ้าอะนุเวียงจัน” ไม่ปรากฏว่าแต่งขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙ หลังการสวรรคตของเจ้าอนุเนื้อหาของพื้นเวียงสะท้อนให้เห็นว่าผู้แต่งน่าจะอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เนื่องจากใช้ชื่อคนจริง สถานที่จริง รู้เหตุการณ์จริง หรือบางเหตุการณ์อาจฟังมาจากผู้อื่น ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง อาจแต่งหลายคนเหตุที่ใช้ชื่อพื้นเวียงสะไหมเจ้าอนุเวียงจัน ก็เพื่อไม่ให้สับสนกับ “พื้นเวียงท้าวเหลาคำ” ที่คนนิยมมากกว่า และกล่าวถึงเจ้าอนุเช่นกัน เนื้อหาพื้นเวียงสำนวนท้าวเหลาคำ กล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บวกจินตนาการของผู้แต่ง ลักษณะตัวละครบางส่วนมีเค้าโครงจากนิทานชาดกในพุทธศาสนา สำนวนนี้จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
พื้นเวียงเป็นวรรณกรรมประเภทกาพย์กลอนเขียนด้วยอักษรไทยน้อยและตัวธรรม จดบันทึกในใบลานที่เรียกว่า หนังสือผูก รูปแบบเป็นกลอนลำ หรือโคลงสาม ลักษณะใกล้เคียงกับวิชชุมาลีของไทยภาคกลาง แต่ลักษณะที่ต่างกันคือ การไม่เคร่งครัดทางฉันทลักษณ์ ขึ้นต้นด้วยการเชิญให้มาเข้าร่วมฟัง ตัวละครถูกเปลี่ยนแปลงชื่อโดยความจงใจของผู้ประพันธ์ ที่อาจต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับฝ่ายที่มีอำนาจ เนื้อหากล่าวถึงกรณีพะสาเกียดโง้งเข้ายึดเมืองจำปาสักในสมัยรัชกาลที่ ๒ ความรุ่งเรืองของนครเวียงจัน และเหตุการณ์สงครามระหว่างกองทัพล้านช้างของเจ้าอนุ กับกองทัพไทยในช่วง พ.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๒๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ การสวรรคตของเจ้าอนุ และเหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับญวนทางด้านแม่น้ำโขง ที่ให้รายละเอียดและแง่มุมที่แตกต่างไปจากพงศาวดารของไทย แม้จะเป็นวรรณกรรมแต่ก็ให้ข้อเท็จจริงและเรื่องราวในประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์ที่ผู้ประพันธ์ได้ทราบหรือได้ยินมา โดยการเสนอเรื่องราวตามลำดับขั้นตอน และข้อมูลรายละเอียด เช่น ชื่อบุคคล เหตุการณ์ วันเดือนปีในระยะประวัติศาสตร์เดียวกัน และมีข้อปลีกย่อยบางอย่างที่ไม่มีอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปสะท้อนให้เห็นภาพการกดขี่ เช่นการสักเลกเพื่อให้คนลาวเป็นพลเมืองสยาม สร้างความไม่พอใจและความวุ่นวายต่อประชาชนลาวที่พากันหนีมาพึ่งเจ้าอนุ ทำให้เจ้าอนุซึ่งมีความเคียดแค้นต่อสยามอยู่แล้วยิ่งทวีความเคียดแค้น นำไปถึงขั้นจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และถูกปราบอย่างราบคาบ พื้นเวียงยังแสดงให้เห็นว่า เจ้าอนุวงมิได้มุ่งหมายจะก่อกบฏต่อกรุงเทพฯโดยตรง ปัญหาแท้จริงของเจ้าอนุก็คือ การกวาดล้างอำนาจอันไม่เป็นธรรมของเจ้าเมืองนครราชสีมา และการสักเลก แต่เมื่อไม่สามารถควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ได้เจ้าอนุจึงเปลี่ยนใจเป็นการกวาดต้อนชาวลาวกลับเวียงจันเท่านั้น
นิยมอ่านพื้นเวียงในงาน “งันเฮือนดี” หรืองานศพ หมอลำจำนวนไม่น้อยนิยมนำมาใช้ขับลำแม้ว่าจะมีสถานะเป็นเอกสารต้องห้ามในสายตาของรัฐบาลสยามก็ตาม ได้รับความนิยมเทียบเท่าเรื่อง การะเกด สินไซ และแตงอ่อน พื้นเวียงนับว่ามีอิทธิพลต่อจิตใจของประชาชนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงในอดีต พบว่ามีผู้สูงอายุในลาวจำนวนมากยังจำเรื่องพื้นเวียงที่เคยฟังหรือผู้ใหญ่เล่า และเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ นักวิชาการลาวบางท่าน เช่น มหาสำลิด บัวสีสะหวัด เห็นว่า พื้นเวียงเป็นวรรณคดีที่มีลักษณะซ่อนเงื่อน และมีเป้าหมายการเมือง จากการที่วรรณคดีมีลักษณะดาบสองคม แล้วแต่จะใช้เป็นคุณหรือเป็นโทษ จุดประสงค์เพื่อให้คนสำนึกว่าความจริงเป็นอย่างไรเหตุที่นำวรรณคดีมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองอาจจะเป็นด้วยคนต่างชาติ (หมายถึงสยาม) ไม่สามารถฟังเข้าใจได้ เนื่องจากการต่อสู้มีหลายวิธีทั้งปิดลับและเปิดเผย การที่พื้นเวียงไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอ่านในที่ประชุมสมัยหลัง ๆ ทำให้การรับรู้เรื่องเจ้าอนุจากพื้นเวียงในปัจจุบันหมดความสำคัญลงโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ปัจจุบันพบว่า ในลาวยังมีหมอลำที่นำพื้นเวียงมาใช้ขับลำอยู่บ้างในภาคใต้ของลาว แถบเมืองจำพอนและสองคอนในแขวงสะหวันนะเขต
นอกจากพื้นเวียงแล้วยังมีเรื่อง “สานลบบ่สูน” โดยสานเป็นวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่คนลาวนิยมแพร่หลายในอดีต เนื้อหาของสานลบบ่สูนมีแนวคิดลึกซึ้ง แหลมคม และใช้สำนวนกลอนอันไพเราะ ทั้งใช้คำผญาและคำสุภาษิต มีอุดมคติเหมาะกับคนทุกชั้นทุกเพศทุกวัย สะท้อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยเจ้าอนุ ในการเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ลงสู่ใต้ดินเพื่อกอบกู้ประเทศชาติโดยใช้กำลังอาวุธ การปลุกระดมจิตใจรักชาติและรวมหมู่เพื่อการต่อสู้ เนื่องจากสานลบบ่สูนเป็นสานการเมือง เขียนขึ้นในสภาพที่ถูกควบคุมและตรวจตราอย่างเข้มงวด จำเป็นจะต้องปิดบังเป็นความลับไม่ให้สยามรู้ จึงไม่สามารถบอกวัน เดือน ปี สถานที่ และชื่อของผู้แต่งได้ แต่นักวิชาการลาวหลายท่าน เช่น มหาสิลา วีระวงส์ เห็นพ้องว่า เจ้าอนุเป็นผู้แต่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้นำให้ประชาชนเห็นถึงการแผ่ขยายอำนาจของสยาม ทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในความมืดมน และระบายความระทมคับแค้นของตนเองออกมา โดยกล่าวถึงสภาพบ้านเมืองในระหว่างปี ๑๗๗๗ ที่เคยรุ่งเรืองต้องมาสูญเสียเอกราช จากเงื่อนไขที่ไม่สามารถต่อสู้อย่างเปิดเผยได้
จากการที่สานลบบ่สูนเป็นวรรณคดีชั้นสูงที่มีลักษณะปิดบังเนื้อหาเป็นปริศนาหรือรหัส (Code) ผู้สามารถเข้าใจได้จะต้องเป็นผู้มีการศึกษา และเข้าใจโดยใช้ปัญญา บางคนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบหลายเที่ยวก็ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของสานได้โดยหมอลำมักนำเอาคำผญาในสานลบบ่สูนที่มีเนื้อหาเกี้ยวพาราสีมาใช้เป็นกลอนลำ ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในแขวงภาคใต้ของลาว เช่น แขวงสะหวันนะเขตเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองโขง แขวงจำปาสัก จนกลายเป็นทำนองเรียกว่า “ลำโสม” หรือ “ลำสมทิคึด”ที่มีทำนองปลุกเร้าอารมณ์ เน้นความหนักแน่นและแค้นคั่ง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกสะเทือนใจ แม้หมอลำและผู้ฟังจะไม่รู้ความหมายที่เป็นเนื้อหาของสานลบบ่สูนก็ตาม รู้แต่เพียงว่าสนุก
เพลง ไม่ว่าจะเป็นคำกลอนหรือคำเซิ้ง ยังได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อเตือนสติไม่ให้ประชาชนลาวที่ถูกกวาดต้อนอพยพจากเวียงจันหลังสงครามเจ้าอนุในฐานะเชลยศึกหลงลืมชาติเช่น คำเซิ้งที่ใช้กล่อมเด็กของชาวพวนที่ถูกกวาดต้อนไปจากเซียงขวางที่ว่า
“…โอ้โล่นซาจำปาสี่ต้น ไผบ่โอ้นซิโอ้นหิ้นผู้เดียว ต้มตับไก่ของกินคนไท ไทกินแล้วเสียแนวไก่ต่อ กินหมากค้ำค่าคอจ่อล่อ…”
หรือเพลงกล่อมลูกที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันต่อเจ้าลาดชะวง
“…บ้างเจ้าบ้าว ปางลาดซะวง ขงเวียงจัน ลาดซะวงเป็นเค้าเวียงจันเส้า สาวเอยอย่าฟ้าวว่า มันสิโป้บาดหล้า แตงข้างหน่วยปาย…”
สะท้อนถึงความทรงจำในประวัติศาสตร์ของชาวพวนที่ยากจะลืมเลือนได้ ไม่ต่างจากประชาชนในภาคอีสานซึ่งพบว่ามีการร้องกาบลาดซะวงเหมือนกัน แสดงให้เห็นความผูกพัน อาลัยอาวรณ์ต่อบ้านเกิดเมืองนอนที่พลัดพรากจากมา
ในประวัติศาสตร์การเมืองอีสาน ยังพบด้วยว่ามีการนำกลอนลำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ในการชักจูงให้ชาวบ้านเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏผู้มีบุญในการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐบาลสยาม ซึ่งมักนำความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ที่ปรากฏในวรรณกรรมทางศาสนามาเป็นอุดมการณ์ในการกบฏ โดยการเผยแพร่อุดมการณ์และข้อความซึ่งเป็นการสรรเสริญผู้มีบุญผ่านหมอลำที่ขับลำตามหัวเมืองต่าง ๆ ในบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง เนื่องจากหมอลำเป็นศิลปะการละเล่นที่ประชาชนนิยมมาก จึงก่อให้เกิดความเลื่อมใสและหลงเชื่อในกลอุบายของกลุ่มผู้มีบุญ เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงอิทธิพลของเสียงแคนและเสียงขับลำอันไพเราะ แต่ปิดลับหรือแฝงไว้ด้วยนัยทางการเมือง.