เฮือนนากับศาลากลาง

สภาพบ้านเรือนในหมู่บ้านอีสานยังคงปลูกสร้างด้วยไม้ มีการปรับปรุงเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้มากขึ้น พอ ๆ กับการสร้างด้วยอิฐปูนทั้งหลัง

ผ่านมาอีกรุ่นอายุคน ประชากรและครัวเรือนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น ถนนหนทางคับแคบ  ปัจจุบันตามหัวไร่ปลายนาจึงมีการสร้างบ้านขึ้นด้วยแบบแปลนสมัยใหม่ ถือเป็นการขยายตัวด้วยความจำเป็นและค่านิยม

แน่นอนการสร้างบ้านใหม่ก็เช่นเดียวกับการซื้อรถใหม่ หรืออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นและไม่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ระบบผ่อนซื้อด้วยการกู้ยืมเงินจากทั้งในระบบและนอกระบบ

ขณะสภาพศาลากลางจังหวัดส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับเมืองมีความแออัดทางกายภาพทุกด้าน หลายจังหวัดจึงต้องย้ายออกไปสร้างใหม่นอกเมือง ซึ่งทุกแห่งใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท เป็นอาคารปูนซิเมนต์ทั้งหลัง ตามแบบแปลนมาตรฐาน รูปทรงสูงใหญ่ถมึงทึงน่าเกรงขาม สำแดงอำนาจกดข่มคนเล็กคนน้อยให้สยบยอม

อาคารศาลากลางเหล่านั้นสร้างด้วยเงินภาษีชาวบ้าน ข้าราชการผู้ประจำทำงานก็กินเงินเดือนจากภาษีชาวบ้าน แต่ประโยชน์จากการใช้อาคารคุ้มค่าราคาค่าก่อสร้างหรือไม่ และบุคลากรผู้ทำงานในอาคารนั้น ๆ ทำงานบริการและอำนวยประโยชน์ให้แก่แผ่นดินคุ้มค่าหรือไม่

เช่นเดียวกับที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลฯ โบสถ์วิหารปราสาทน้อยใหญ่ที่ปรับปรุงและกำลังสร้างเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ คุ้มค่าคุ้มราคากับประโยชน์โพดผลที่จะเกิดแก่ประเทศชาติและประชาชนหรือไม่

เริ่มพิจารณาจากถาวรวัตถุภายนอกก็เห็นแล้วว่า คนส่วนใหญ่เปรียบเสมือนรากหญ้า เกิดมาเพื่อให้เจ้าใหญ่นายโตขุดเกี่ยวไปใช้งาน และรองรับการเหยียบย่ำ  สิทธิ์ ศักดิ์ศรีและศักยภาพแห่งปัจเจกชนพลเมืองยังเป็นเรื่องห่างไกลที่ต้องไปให้ถึง

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๒๐
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 120
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com