เฮ็ดกิ๋นแซบ
ผู้คนในภาคอีสาน มีฝีมือในการปรุงอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นได้อย่างยอดเยี่ยม การปรุงอาหารของคนในภาคอีสาน จะมีการถ่ายทอดสืบต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น แม่บ้านบางคนคิดสูตรเด็ดจนสามารถเปิดร้านขายอาหารอีสาน สร้างฐานะให้ครอบครัวได้ มีร้านอาหารบางแห่งคิดสโลแกนเขียนขึ้นป้ายให้ผู้ที่เข้าไปในร้านได้อ่านและเข้าใจ มีตัวอย่างที่เคยพบ เช่นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีร้านอาหารแห่งหนึ่งเขียนว่า “ได้ดื่มน้ำเย็น ได้เห็นรอยยิ้ม ได้อิ่มอาหาร ได้รับบริการประทับใจ” ก็นับว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจอีกอย่างหนึ่ง
บักอ้น ลูกเขยหัวหมอของพ่อเฒ่าพุฒ มันเป็นนักชิมอาหารอีสานตัวยงคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นก้อยลาบ ต้มขม อ่อมเพี้ย บักอ้นจะรู้หมดว่า ร้านไหนมีกุ๊กฝีมือระดับขั้นเทพ แบบแซบติดดาว!
“อ้นเอ้ย!…โต๋พาพ่อไปหากินก้อย กินอ่อมเพี้ยที่ร้านเขาปรุงแซบ ๆ แหน่น๊า! พ่อสิเป็นเจ้ามือดอก!”พ่อเฒ่าพุฒชวน
บักอ้นก็พาพ่อเฒ่าของมันไปกินก้อยกับอ่อมเพี้ยที่ร้าน “เจ๊นางลาบแซบ” เมื่อไปถึงร้าน พ่อเฒ่าพุฒเห็นเจ๊นางคนสวย แถมยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายลูกค้าได้ดีเยี่ยม
“เชิญค่ะพี่อ้น…เชิญเลือกที่นั่งได้เลยค่ะ!”
บักอ้นพาพ่อเฒ่าพุฒเข้าไปนั่งมุมที่มันคุ้นเคย
“โต๋มาเรื่อยติ่อ้น? เห็นเจ้าของงามบ่ได้ล่ะเนาะ?”
“ธรรมดาแหละพ่อ!” บักอ้นยอมรับ
เมื่อรายการอาหารที่สั่งเสร็จ พนักงานสาวก็นำมาเสิร์ฟพร้อมเครื่องดื่มล้างคาว ที่พ่อเฒ่ากับลูกเขยชอบ
“ลองชิมฝีมือเจ๊นางเบิ่งดู้พ่อ!” บักอ้นว่า
พ่อเฒ่าพุฒลงมือชิม พร้อมยกแก้วเพื่อล้างคาว
“โอ้…ฝีมือปรุงของเจ๊นางนี่สุดยอด! แซบเป็นแซบ!”
“แหม่น…ข้อยก่ะว่าแซบ ร้านอาหารอีสานประเภทลาบก้อย ข้อยว่าสู้เจ๊นางบ่ได้สักแห่ง!”
“เออ…แหม่นความโต๋แหละอ้นเอ้ย!” พ่อเฒ่าพุฒเสริม
“ข่อยได้ยินเขาว่า…” บักอ้นพูดค้างไว้ แล้วยกแก้วเหล้าขึ้นดื่มช้า ๆ
“เขาว่าหยังอ้น?” พ่อเฒ่าพุฒใจฮ้อนอยากให้บักอ้นเล่าต่อ
บักอ้นเห็นพ่อเฒ่าสนใจคำพูดของมัน ก็พูดเบา ๆ พร้อมชำเลืองไปที่เจ๊นาง ว่า…
“เขาว่า ผู้หญิงคนไหนเฮ็ดกิ๋นแซบ ผู้หญิงคนนั้นในร่มผ้าจะมีขนด๊ก!”
เมื่อพ่อเฒ่าพุฒได้ยินคำเว้าของบักอ้น แกหลงแย้งบักอ้นขึ้นมาทันทีว่า
“มึงอย่าเชื่อเขาเด้ออ้น! แม่เฒ่ามึงขนด๊กป่านหนวดเสือ! ยังเฮ็ดกิ๋นบ่แซบ บ๋างมื้อจ๋าง บ๋างมื้อเค็ม!”