แนะนำหนังสือหายาก “ภารตนิยาย” และ “อาจารย์ผม”
โดย Uthit Siriwan
เป็นหนังสือ “คลาสสิค”
น่าอ่านมาก
ผลงานแปลและเรียบเรียง
โดยอาจารย์ของผมเอง
ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา
ราชบัณฑิต
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
——
หนังสือชุด “ภารตนิยาย”
จำนวน ๑๐๐ เรื่อง
ขาดตลาดไปนานแล้ว
เมื่อวาน พบวางที่ร้านหนังสือช็อปเล็กๆ
ท่ามหาราช ยุคปรับปรุงใหม่
ราคาเล่มละ ๗๐๐ บาท
คนที่ต้องการเขียน ไทย-ไทย เก่ง
แนะนำให้อ่านเล่มนี้
การเขียนภาษาไทยจะแตกฉาน และดียิ่งขึ้น
—–
หนังสือชุดนี้ ผมได้เห็น “เบื้องลึก – เบื้องหลัง”
ก็เลยอยากเล่าไว้
กันลืม
—–
สมัยเรียนปริญญาโทอักษรศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาภาษาบาลี-สันสกฤต
ที่ภาควิชาภาษาตะวันออก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตอนบ่ายๆ แทบทุกวัน ผมก็จะไปนั่งชวน
อาจารย์ศักดิ์ศรี คุย
——
ผมว่าคนเรา “ชะตาต้องกัน”
มีส่วนสำคัญ
คือผมกับอาจารย์ศักดิ์ศรี
คุยกัน “ถูกคอ” และคุยกันได้ “ทุกเรื่อง”
ท่านอาจารย์บอกผมว่า
ปกติท่านคุ้นเคยกับคนยาก
ท่านจะถือตัว ไว้ตัว
มีสไตล์ มีรสนิยม และมีเอกลักษณ์ของท่านอยู่
แต่คนเรา “จริต” คือ “นิสัย”
มีส่วนสำคัญ
ท่านเก่งเรื่อง “พระเบญจภาคี”
และพระกรุเก่าแก่ต่างๆ
ท่านเมตตา เดินพาผมหาแถวกำแพงวัดมหาธาตุ
ท่าพระจันทร์
สอนวิธีสังเกต ดูตำหนิ จุดเป็น จุดตาย พระเครื่อง
แต่ “เข้าหูซ้าย” และ “ทะลุหูขวา”
คนที่ “เก่งจริง” กลับเป็น ศ.ดร. ปรีชา ช้างขวัญยืน
เดินตามแล้ว “ได้ผล”
ดวงชะตาผม จะไม่ได้ดีไปทางเซียนพระ
แต่ผมก็ได้ “พระดี” จากท่าน เยอะมาก
ถ้าเทียบกับบรรดาศิษย์ๆ ของท่าน
ไปเดินกับท่านก็จริง
แต่ผมกลับไปสนใจ “พิมพ์ดีดเก่า”
เรย์มิงตัน โอลิมเปีย ธนบัตรเก่า เหรียญเก่า
ถ้วยชามเก่าๆ ช้อน ซ่อม จาน ถ้วย ชาม ไห
อัญมณี หิน ลูกปัด เทพ ยันต์ เครื่องรางต่างๆ
ส่องพระไม่เป็นเหมือนท่าน
ยุคนั้น มีศาสตราจารย์ ดร. ปรีชา ช้างขวัญยืน
ราชบัณฑิตอีกสำนัก
ชอบแวะเวียนมาคุยและลงพื้นที่เดินกัน
แบบ “ไตรภาคี”
เพิ่งรู้ว่า “ของดี ของถูก” มีจริง
แต่ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ต้องส่องเป็น
ผมเสียดาย
ถ้าผม “อัดเทป” ไว้
จะได้ “ความรู้” เรื่องพระเบญจภาคีดีมาก
———–
อีกเรื่องที่ผมได้เรียนรู้จากท่าน
คือการเขียน “ไทย-ไทย”
คนที่เขียน ไทย-ไทย เก่ง
ผมว่ามีไม่กี่คน
ยกตัวอย่าง
มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ศ. พิเศษ เสฐียรพงศ์ วรรณปก
ศ. ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
วาณิช จรุงกิจอนันต์
ผศ. ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ
ธีรภาพ โลหิตกุล
ชาติ กอบจิตติ
ศ. พิเศษ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา
ศ. พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ
ศ. พิเศษ แสง จันทร์งาม
——-
ท่านแนะนำ เมตตา และตรวจทาน
วิธีเขียน “ไทย-ไทย”
ท่านบอก “เปรียญในวัด”
ชอบแปล “บาลีเป็นไทย” ไม่สละสลวย
ท่านขัดเกลา จนผมเขียน “ไทย-ไทย”
ได้ถูกใจท่านระดับหนึ่ง
เพราะ “คลังคำไทย” มีจำกัด
หลายสิบปีผ่านไป
ผมได้เรียนรู้ว่า
“ภาษาบาลี-ภาษาสันสกฤต-ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ”
มีส่วนช่วยในการเขียน “ไทย-ไทย” ได้ดี
คนจะเป็น “นักเขียน” ที่เขียนหนังสือได้ดี
ไม่มีวิธีอื่น
แนะนำได้สั้นๆ
เขียน อ่าน
อ่าน เขียน
คิด อ่าน และลงมือเขียนเท่านั้น
ไม่มีวิธีอื่น
นักวิจัยจะเก่ง
ก็หลักการเดียวกัน
ทฤษฎี ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมงของฝรั่ง
เป็นความจริง
ผมถาม พลอากาศเอกวิโรจน์ นิสยันต์
ศิษย์ปริญญาโทผม ที่เป็นผบ. โรงเรียนการบินกำแพงแสน
ยุคนั้น
พี่เจ๋งก็ยืนยันว่า
นักบินต้องมีชั่วโมงบิน
๑๐,๐๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป
และต้องฝึกใช้อายตนะ ๖ ให้ครบ
———-
เท่าที่สังเกต คนเขียนหนังสือไทย-ไทยแตก
จะเดินประโยคไม่ยาว
คือต้องแบ่งวรรค ตอน ช่องไฟ ประโยค
ให้พอเหมาะพอควร
ไม่ยาวเกินไป ไม่สั้นเกินไป
ไม่เล่าอะไรยืดยาว
สังเกตสิ อุดม แต้พานิช
พูดทีละท่อน
ไม่ยาวมาก
ท่านว. วชิรเมธี ก็คล้ายกัน
แบบนี้ คนรุ่นใหม่ ชอบ
——
ช่วงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๖
อาจารย์ศักดิ์ศรี กำลังแปล “ภารตนิยาย” พอดี
เล่าเท่าที่สังเกต
อาจารย์จะมาที่คณะ ตึก ๔ ชั้น ๒
ห้องท่านไม่ใหญ่มากนัก
ไม่เกิน ๑๒ ตารางเมตร
มี “เตียงผ้าใบ” เล็กๆ กางนอน งีบยามบ่าย
——-
อาจารย์ศักดิ์ศรีจะแปล “ภารตนิยาย”
ตรงจากฉบับอังกฤษ อ่านสันสกฤตเทียบเคียง
ท่านใช้แค่ปากกาด้ามเดียว สมุดขนาดกระดาษเอสี่
เล่มใหญ่ๆ เขียนวันละไม่มาก ประมาณ ๒๐ หน้า
ลายมือท่านเรียบร้อย สวยมาก เป็นระเบียบ
ว่างๆ ท่านก็หยิบ “มังคลัตถทีปนี”
ที่ท่านปริวรรตจากไทยเป็นอังกฤษบางบท
และวิเคราะห์
ท่านบอกผม จบ ดร. ด้าน Oriental Studies
จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
University of Pennsylvania
แปล “มังคลัตถทีปนี” จากไทยเป็นอังกฤษ
แล้ววิเคราะห์
ท่านเล่าขำๆ ปริญญาเอกของท่าน
ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าจับหลักการถูก
แต่ถ้า “เรียนรู้ค้นคว้าไม่จบไม่สิ้น”
แบบ ศ. พิเศษ วิสุทธิ์ บุษยกุล
ซึ่งเรียนถึงทุกรายวิชาของ ๑๖ ปริญญาเอก
แต่ไม่ยอมลงมือ “เขียน” ดุษฎีนิพนธ์
สุดท้าย ก็ได้แต่ความรู้ แต่ไม่มีวุฒิ
ทราบว่าเขียนไม่ทัน เลยชวด ไม่ได้ปริญญากลับไทย
อาจารย์บอกผมว่า
เมืองไทย ถ้าไม่มีวุฒิ คนก็ไม่เชื่อถือ
นี่คือ “คำสอน” ที่เป็น “วรรคทอง”
ซึ่งกาลต่อมา ผมพบว่าเป็น “ความจริง”
คือคนเราไม่มีวุฒิ บินขึ้นที่สูงก็ไม่ได้
———
เท่าที่ผมสังเกต
อาจารย์ผมท่านใช้หลัก
สุ
จิ
ปุ
ลิ
กับท่านเรียนรู้วิธีสืบค้น ค้นคว้า
จากฝรั่งผสมผสาน
ท่านเลยเป็น “ศ.” และ “ราชบัณฑิต”
ได้แต่ไม่ง่าย ต้องทุ่มสุดตัว จึงชนะ
เมืองไทย ตำแหน่งต่างๆ ต้องต่อสู้
โชคดี ได้ท่าน ศ. จิรายุ นพวงศ์ สนับสนุน
ก็เลยขึ้นฝั่งได้สำเร็จ
แต่กว่าจะได้ “ศ.” ก็ได้ “ศ. พิเศษ”
ท่านไมได้ “ศ. ประจำ”
ตามที่ท่านใฝ่และฝัน
แวดวงวิชาการไทยด้านอักษรศาสตร์ยุคนั้น
หรือถึงยุคนี้
ก็ยังคงเป็น “แดนสนธยา” อยู่
———
อีกความรู้ที่ได้เรียนรู้จากท่านคือ
“เมนูเด็ด”
ท่านพาผมไปชิม “ร้านหูฉลามสกาล่า”
แถวสยามสแควร์
ร้านอาหารดัง “ศศินทร์” แห่งจุฬาฯ
ร้านมิ่งหลี แถวหน้าพระลาน
ผมเลี้ยงท่านทุกมื้อ
บอกขอดูแลท่าน
เพราะรู้ว่าท่านอาจารย์เอง
มีภาระผ่อนส่งบ้านอยู่
การรับราชการ
ท่านต้องส่งบ้าน ส่งลูกเรียน
การเงินไม่คล่องตัว
ผมมองว่าราชการมีเกียรติ มีตำแหน่ง
แต่เรื่อง “การเงิน”
ทำงานแบบ “ภาคเอกชน”
คล่องตัวกว่า
ผมยกตัวอย่างเล่นๆ ในยุคนั้น
ปี ๒๕๓๔
เงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาโท ๔ พันบาทเศษ
แต่ถ้าผันตัวไปเขียน “คอลัมน์” ประจำ
หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร หรือวารสารต่างๆ
ตอนหนึ่ง ๒ หน้าก็ได้แล้ว ๒ พันบาท
เดือนหนึ่งเขียน ๘ หน้า
ก็ได้เงินใช้แล้ว ๘ พันบาท
ยกตัวอย่างให้ดู “เล่นๆ” เท่านั้น
ขึ้นอยู่กับ “เส้นสาย” และ “พวกใครพวกมัน”
หรือ “บุญใครบุญมัน”
ผมโชคดีได้เขียน “คอลัมน์” นิตยสาร
ที่ใช้ “เส้นสาย” แนะนำให้ไปทำ
เดือนหนึ่งเขียนได้ถึง ๑๖ หน้า
ก็นับว่าพออยู่ได้
ไม่เดือดร้อนทางการเงิน
บางวัน ก็จัดเวลาไป “เล่นหุ้น” เฝ้าหน้าจอกระดาน
การจะหาเงินใช้วันละ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท
จากตลาดหุ้นยุคนั้น
ถ้าวิเคราะห์ตัวเลขจริงจัง พอได้อยู่
อยู่ๆไป ก็จะมีเพื่อนในวงการนั้นๆ
ช่วยกันดู ช่วยกันมอง
เงินทองหาได้ไม่ยาก
แต่แวดวงการลงทุน
จะจับปลาได้
ต้อง Faster
การเอา “กุ้งฝอย” ไปตกเอา “ปลากะพง”
เริ่มจาก
๑. สร้างฝัน
๒. ขายฝัน
๓. ทำฝัน
ให้กลายเป็นจริง
เป็นเรื่องพบเห็นทั่วไป ในตลาดเงิน และตลาดทุน
ถ้าถามผม เป็นเรื่องยาก
แต่ถ้าเข้าใจ และตีแตก
สินค้าและบริการที่ สร้างจริง ขายจริง ทำจริง
ก็พอมีให้เลือกอยู่
แต่มีน้อยมาก ค่อยๆ วิเคราะห์แกะงบ แกะตัวเลขเอาเอง
เคล็ดลับการหาเงิน
ไม่มีให้อ่านในเฟซ และกูเกิ้ลเสียด้วย
——–
ปกติ อาจารย์ผมท่านจะมี “อคติ” คือไม่ชอบ “เปรียญ” ต่างๆ
แต่อาจารย์ท่านก็ “ผ่อนคลาย” และ “รู้สึกดีขึ้น”
เมื่อได้คุยและคุ้นเคยกับผม
ทำให้อาจารย์มีท่าทีปรับและเปลี่ยนไป
ทราบว่ารุ่นต่อๆ มา เรียนกันสบายและคล่องตัว
“ทัศนคติ” ต่อกัน เป็นเรื่องสำคัญ
ท่านมหาสิริ วัดปทุมคงคา แถวทรงวาด
ซึ่งเรียนร่วมรุ่น แต่จบทีหลัง เพราะท่านไปเรื่อยๆ สบายๆ
ได้ถามผมว่าใช้เคล็ดลับอะไร?
หลายคนคิดว่าท่านไม่จบ สุดท้ายท่านหักปากกาเซียน
จบจนได้
ผมตอบท่านว่าเคล็ดลับการจัดการง่ายนิดเดียว
และใช้มาแต่ไหนแต่ไร
คือ “ตามใจ”
ผมปกติเป็นคน “ตามใจ” คน
มากกว่า “ขัดใจ” “ขัดคอ”
คนใน “วงการ” จะรู้กัน
ผมเป็นคน
ไม่เค็ม
ไม่เหนียว
ไม่เขี้ยว
ไม่เบี้ยว
แต่ไหนแต่ไร
ก็เลยมี “เพื่อน” มาก
หลากหลายวงการ
ไม่ “เอาเปรียบ” คน ด้วย
ท่านหัวเราะ และท่านก็อดทนร่ำเรียน
จนจบปริญญาโท
อย่างน้อยหลังจากนั้นท่านมหาสิริก็ขวนขวาย
รู้จักเอาของดีเมืองพิจิตรบ้านเกิดท่าน
“พระพิจิตรใบมะขาม ของดีเมืองพิจิตร”
ติดย่ามฝากครูบาอาจารย์ และฝากเจ้าหน้าที่เป็น
จากท่านไม่ค่อยพูด ไม่ทักทายใคร
ท่านก็ยิ้มแย้ม และทักทายคนเป็น
จากเมื่อก่อน ไม่เคยทำ ไม่เคยทัก ไม่เคยให้
พอทำ ทัก ให้ บรรยากาศรอบตัวก็ดีขึ้น
อย่างเจ้าหน้าที่แผนกถ่ายเอกสารห้องสมุด
ถ้าคุ้นเคยกัน ระบบ Faster ก็ทำงานทันที
เพราะทุกคนอยากรับใช้ และมีความสุขที่จะบริการ
ถือว่าได้ทำบุญไปด้วย
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ผู้นำไม่พึงมองข้าม
เช่นเดียวกับ รศ.บุญเรือง ชื่นสุวิมล
เพื่อนรุ่นพี่อีกราย สนิทกันมากเหมือนกัน
ท่านเรียนปริญญาเอก “ภาษาศาสตร”
ที่คณะอักษรศาสตร์
ตอนนั้น ท่านทุกข์ใจมาก
ชอบแวะเวียนคุยกันกับผม
คือคุยกันถูกคอ คุยได้ทุกเรื่อง
ท่านบุญเรือง เป็นคนตรง เด็กเรียน เก่งทั้งพี่น้อง
น้องก็ รศ. ดร. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ภายหลังเรียนจนจบ ดร.
งานวิจัยท่านได้รับยกย่องเป็น ดุษฎีนิพนธ์ ดีเด่นของคณะ
สายภาษาศาสตร์ เพราะกล้าเขียนเป็นอังกฤษ
ปัญหาของท่านแปลกมาก
อาจารย์ในคณะเป็น ดร. หมด
จบนอกทั้งนั้น
ส่วนท่านบุญเรือง เป็น รศ. จบโท
เวลามาเรียน “ศักดิ์ศรี” ค้ำคอกันอยู่
กอปรกับ Profile ท่านบุญเรืองดีมาก
นักเรียนทุนฟุลไบรท์ เรียนตรีและโทเมืองนอก
สิงคโปร์และออสเตรเลีย
ก็เลยถูก “จับตามอง” เป็นกรณีพิเศษ
แต่สุดท้าย
เคล็ดลับที่ผม “แนะนำ” ท่านนำไปใช้ก็ได้ผล
ผมบอกท่านสั้นๆ ว่า
เคล็ดลับการจัดการ
ไม่เหมือนเคสท่านมหาสิริ
วิเคราะห์ดูจากคณาจารย์ต่างๆ สายภาษาศาสตร์แล้ว
ยอมไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก
โง่ไม่เป็น ก็จบยาก
ต้องพลิกแพลง
บ้า ใบ้ หนวก บอด
อยากแก้อะไร ก็แก้ เชิญ
ท่านคิดแล้วคลิก
พอปล่อยให้แก้จนสาแก่ใจ
ไม่มีอะไรหลงเหลือให้แก้
ก็ได้เป็น รศ. ดร. กระทั่งถึงบัดนี้
ที่สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียณอายุไปแล้ว ทางสวนสุนันทา
ก็ทาบทามไปทำงานต่อ
———-
ส่วนผม อยู่เฉยๆ ไม่ยุ่งกับใคร
ก็ยังเจอ “เปรียญ” จากวัดด้วยกันเขม่น
เหตุผล เรียนก่อน จบทีหลัง
ภายหลัง “เปรียญ” ท่านนั้น ก็เอาดี
ไปเรียนจนจบ ดร. จากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้า
ในทวีปยุโรปได้สำเร็จ
การที่ผมเรียนและจบในยุคที่รุ่นเดียวกันเรียน ๔-๕ปี
แต่ผมจบภายใน ๑ ปีเศษ
แน่นอนว่า “กดดัน”
แต่ผมก็ไม่สนใจ
ควรทราบว่า “งานวิจัยผม”
ถูกแก้และรื้อแหลก
แก้หลายรอบ
ผมใช้ “ไฮเทค” คือใช้ Mac
แก้และรื้อกี่ครั้ง ก็น้อมรับ
สุดท้าย อาจารย์ที่ปรึกษาผม
ก็ยอม และจบตามเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐาน
แต่ผมว่าปราการด่านสุดท้าย
ด้วย “บารมี” ท่านอาจารย์ศักดิ์ศรี คุ้มครอง
มากกว่า ในฐานะ “ประธานสอบ” จบ
ใครก็เกรงใจท่าน
ผมเลยคว้าปริญญาโท อ.ม. จากจุฬาฯ
มาครองไว้ได้ ๑ ใบ
และแปลกใจว่า
ไม่ได้เคยใช้วุฒินี้ ทำงานทำการใดๆ
ที่ไหนๆ ในโลกอีกเลย
——–
ช่วงเรียนที่จุฬาฯ
บอกตรงๆ เบื่อและหน่าย
ผมเป็นคนชอบเรียนวิชาการที่ทันสมัย
ระหว่างเรียนด้วยกัน
เพื่อนอีกคนรายนี้ไบรท์มาก จบเปรียญ ๙ เป็นเณร
ขอไม่เอ่ยนาม รูปหล่อ นิสัยดีอีกต่างหาก
ภายหลังเบื่อหน่าย เรียนด้วยกันเทอมเดียว
สอบติดที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ย้ายหนีผมไปเรียนจบโทรัฐศาสตร์จุฬาฯ
พอจบมาทราบว่าทำงาน ซีพี หายไปจากวงการ
ส่วนผม ก็ยังดิ้นรนไม่หยุด เรียนๆ ก็ยังแอบไปสอบโท
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ บ้าง
แอบไปเรียนพิเศษ สถาบันภาษา จุฬาฯ บ้าง
อ่านๆๆๆๆๆๆๆ อ่านแหลก
สุดท้าย
ได้สอบแต่ไม่มีชื่อ สอบไม่ติด
คือวาสนาจะจบโทบาลี-สันกฤตอีกใบ
หลายปีต่อมา
ก็เปลี่ยนเส้นทางชีวิต
ไปเรียนอเมริกาจนจบการเงิน การประกันภัย
และการค้าระหว่างประเทศ
ได้เรียนสาขาที่ชอบ เชื่อ และคิดว่าใช่
สมใจ ได้สำเร็จ
และภายหลังได้เรียนและทำงาน
เกี่ยวกับ “ระบบคอมพิวเตอร์” สมใจ
ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ดาต้าเบส ระบบโทรคมนาคม
และเน็ตเวิร์คต่างๆ หลายโปรแกรม
โดยเฉพาะ “ระบบสารสนเทศเพื่อจัดการ”
MIS หรือ Management Information Systems
จึงได้สอน และถนัดวิชานี้มากเป็นพิเศษ
พอๆ กับวิจัยเชิงปริมาณ และคุณภาพ
แต่ไม่ได้ใช้หากินอะไร
เคยใช้ทำงานครั้งเดียว
เป็นบอร์ด SIPA
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
เล่าไว้ เป็นเกร็ดความรู้ว่า
ชีวิตจริงเรา
อาจไม่ได้ทำงาน ตรงตามวุฒิที่มี
แต่ต้องมีวุฒิ เพราะวุฒิ ยังคงจำเป็น
สำหรับคนที่ไม่มีมรดก บ้านยังไม่รวย
———
ห้วงเวลาเรียนโทบาลีสันสกฤตนั้น
ผมชอบเอาบทกวีมาอ่าน
“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวังเก็บ อะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”
กลอนชิ้นนี้แต่งโดย วิทยากร เชียงกูล เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่งขึ้นสำหรับ วันสถาปนาธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2511
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทอง
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511
และถูกตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ในหนังสือชื่อ
“ฉันจึงมาหาความหมาย”
ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานบทกวีของ
วิทยากร เชียงกูล
ในช่วงสมัยที่ยังศึกษาอยู่และช่วงที่เพิ่งจบ
——-
อาจารย์ผม ผ่อนบ้านยังไม่เสร็จ
ก็ลาจากโลกไป ขณะอายุแค่ ๖๐ ปีเศษ
แน่นอนว่าผมเศร้าโศก เสียใจ
และหลังจากนั้น
ผมก็แทบไม่ได้ย่างกรายไป
เทวาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อีกเลย
“ภารตนิยาย” เป็นงานที่อาจารย์ผมรัก
ชีวิตอาจารย์ผม สอนผมให้เรียนรู้ว่า
โลกของอาจารย์
ไม่ได้งดงาม และสวยหรู
อย่างที่เราคิด
ดังนั้น เมื่อถึงคราวตำแหน่งอาจารย์ว่างลง
ผมจึงไม่ได้ไปสมัคร
ดังที่อาจารย์หลายท่านคะยั้นคะยอและชักชวน
ตอนนั้น แม่ผม และญาติๆ ผม
ต่อว่าต่างๆ นานา ว่าผม “คิดผิด”
แต่เมื่อวันเวลาผันผ่านไป
ยี่สิบปีเศษ
ผมพิจารณาจาก “ผลสำเร็จ” ที่เกิดขึ้นจริง
ผมว่าผม “คิดถูก” ลงมือทำในสิ่งที่คิด ฝัน หวัง
จินตนาการ ชอบ เชื่อ และมั่นใจว่า “ใช่”
Widen your World
สุดท้ายผมได้เปิดตัวสู่ “โลกกว้าง”
อย่างที่ผมคิดและฝันเอาไว้