แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อุบลราชธานี

แหล่งโบราณคดี บ้านก้านเหลือง มีพื้นที่ขนาดใหญ่ราว ๆ 3 ตร.กม.พิกัด 15°16’42.4 “N 104°51’18.7” E

อยู่ในพื้นที่วัดบ้านก้านเหลือง ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  ติดกับทางเลี่ยงเมืองอุบลฝั่งเหนือ เยื้องกันกับสวนรุกขชาติอุบลวนารมย์

ในอดีตถูกขุดทำลายเป็นจำนวนมาก จากการขยายตัวของชุมชนเมืองอุบลราชธานี และการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ เหลือเพียงพื้นที่ภายในวัดบ้านก้านเหลืองที่ยังไม่ถูกรบกวน กรมศิลปากรร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นจึงได้ร่วมกันขุดค้นศึกษา จำนวน 2 หลุม และจัดแสดงหลุมขุดค้นเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสำหรับท้องถิ่นและบุคคลทั่วไป

ผลจากการขุดค้นของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2535 สรุปได้ว่าบริเวณบ้านก้านเหลืองมีประวัติการใช้พื้นที่ 2 สมัยใหญ่ ๆ ดังนี้

ชั้นวัฒนธรรมที่ 1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยเหล็ก อายุประมาณ 2,800-2,500 ปีมาแล้ว หลักฐานที่สำคัญคือ เศษสำริด เศษเหล็ก ตะกรันที่เหลือจากการถลุงโลหะ กระพรวนสำริด ลูกปัดแก้ว ดินเผาไฟ แท่งดินเผาไฟ แกลบข้าว ถ่านไม้ มีกิจกรรมการใช้ไฟ หินดุ เศษภาชนะดินเผาที่กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างและซ้อนกันเป็นชั้น ๆ พบว่าใต้เศษภาชนะดินเผาลงไปเป็นชั้นของภาชนะดินเผาใบใหญ่ที่น่าจะบรรจุกระดูกมนุษย์อยู่ภายใน พบจำนวน 11 ใบ 7 รูปแบบ โดยภาชนะในกลุ่มรูปทรงรีพบอยู่ในชั้นดินลึกที่สุด (เก่าที่สุด) ต่อมาเปลี่ยนแปลงไปใช้ภาชนะรูปทรงกลมแทน เพราะพบอยู่ในชั้นดินที่สูงกว่า (ใหม่กว่า) ภาชนะทั้ง 2 ทรง เป็นภาชนะที่มีฝาปิด


แม้ว่าในภาชนะขนาดใหญ่ดังกล่าวจะไม่พบชิ้นส่วนกระดูกอยู่ภายในก็ตาม แต่กรมศิลปากรได้นำตัวอย่างดินที่พบในภาชนะไปให้นักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบว่าดินในภาชนะมีปริมาณของฟอสเฟตและแคลเซียมมากกว่าดินนอกภาชนะ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากการสลายตัวผุพังของกระดูกคน เนื่องจากกระดูกมีองค์ประกอบหลักทางเคมีคือฟอสเฟตและคาร์บอเนตของแคลเซียม

ประเพณีการปลงศพโดยการบรรจุกระดูกผู้ตายลงในภาชนะดินเผาหรือการฝังศพครั้งที่ 2 ที่บ้านก้านเหลืองนี้ พบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี

การดำรงชีวิตสมัยนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนเกษตรกรรมและมีช่างชำนาญเฉพาะทาง รู้จักการเพาะปลูกข้าว การถลุงโลหะ และการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเหล็กและสำริด รู้จักการปั้นภาชนะดินเผา

ชั้นวัฒนธรรมที่ 2 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องกับสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หลักฐานสำคัญได้แก่ พวยกาดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แวดินเผา เศษเหล็ก ตะกรันหรือขี้แร่ หินดุ แท่งดินเผา ลูกปัดดินเผา กระพรวนสำริด และขวานเหล็ก

ชั้นวัฒนธรรมที่ 3 เป็นการใช้พื้นที่ของคนปัจจุบัน

ที่มา : http://sac.or.th/…/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%…

ขอบคุณเว็บไซต์ ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com