# โอลิมปิกกับมาราธอน

“เสรี พพ”

กีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศกรีกเมื่อปี 776 ก่อน ค.ศ. (ประมาณ 2,800 ปีก่อน) จัดที่เมืองโอลิมเปีย ห่างจากกรุงเอเธนส์ไปต่างตะวันออก 188 ก.ม. 

กีฬาส่วนใหญ่เป็นการวิ่งแข่งระยะสั้น มวยปล้ำ มวย ขว้างจาน พุ่งแหลน ปัญจกีฬา แข่งห้าอย่างในวันเดียว ต่อมารวมเอาแข่งม้า แข่งรถเทียมม้า รวมแล้ว 20 กว่าชนิดกีฬา เป็นที่นิยมมาก จนมีการจัดในเมืองอื่น ๆ โดยใช้ชื่อโอลิมปิก ต่อมาแพร่หลายไปทั่วจักรวรรดิโรมัน

โอลิมปิกกรีกมาถูกยกเลิกเมื่อ ค.ศ. 393 โดยจักรพรรดิ Theodosius ที่ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมัน ที่ถูกยกเลิกเพราะโอลิมปิกไม่ได้เป็นเพียงกีฬา แต่เป็นมหกรรมการเฉลิมฉลอง (festival) มีพิธีกรรมทางศาสนาเกี่ยวกับเทพเจ้าต่าง ๆ  เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างนครรัฐเล็กใหญ่ในยุคกรีก ต่อมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบรรดาผู้นำในอาณาจักรโรมันด้วย

โอลิมปิกยุคใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลเมื่อปี 1894 และมีการจัดการแข่งขันโอลิมปิกยุคใหม่ครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์เมื่อปี 1896 มีนักกีฬา 241 คนจาก 14 ประเทศ ครั้งสุดท้ายที่โตเกียวปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 32 มีนักกีฬาเข้าร่วม 11,656 คน จาก 206 ประเทศ

ความจริง ก่อนที่นาย Pierre de Coubertain ชาวฝรั่งเศสจะริเริ่มโอลิมปิกยุคใหม่ หลายประเทศก็มีการแข่งขันกีฬาหลายประเภท และเรียกว่าโอลิมปิกเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ใช่ระดับ “สากล” อาจจะเพียงแข่งกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น อย่างที่อังกฤษ และที่สวีเดน

ส่วนกีฬาโอลิมปิกคนพิการ (Paralympic Games) เริ่มเป็นทางการเมื่อปี 1960 ปีเดียวกับโอลิมปิกฤดูร้อนที่โรม ส่วนโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อนเริ่มเมื่อปี 2010 ที่สิงคโปร์ และฤดูหนาวที่อินสบรุ๊ก ออสเตรีย เมื่อปี 2012  นับเป็นการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มให้แข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคี มิตรภาพ ภราดรภาพไร้พรมแดน

(เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษาที่ใช้ในโอลิมปิกเป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และภาษาเจ้าภาพ สาเหตุน่าจะเป็นเพราะสองภาษาแรกเป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ หรืออีกเหตุผลหนึ่งเพื่อให้เกียรติ “ฝรั่งเศส” ที่เป็นผู้คิดริเริ่มโอลิมปิกสากลยุคใหม่ เช่นเดียวกับคนที่คิดริเริ่มฟุตบอลโลก ก็เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ Jules Rimet ที่เป็นชื่อถ้วยฟุตบอลโลกด้วย และระหว่างการแข่งขันก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน)

# มาราธอน

มาราธอนเป็นชื่อเมืองในกรีก เป็นที่มาของการวิ่งมาราธอน ซึ่งมี “ตำนาน” ที่แตกต่างกัน แต่ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึก คือ การรบที่ยิ่งใหญ่ระหว่างกองทัพกรีกกับเปอร์เซีย ที่ทุ่งมาราธอน เมื่อปี 490 ก่อน ค.ศ.

มาราธอนอยู่ห่างจากกรุงเอเธนส์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 ก.ม.  เมื่อกองทัพเปอร์เซียด้วยกองกำลังกว่า 100,000 คน ข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งกรีก และมีเป้าหมายจะไปตีกรุงเอเธนส์ กองทัพกรีกซึ่งมีทหารเพียงหมื่นเดียวไม่ได้ตั้งรับที่เอเธนส์ แต่ออกไปประจันหน้ากับข้าศึกที่มาราธอน

ผู้บันทึกประวัติศาสตร์บอกว่า การป้องกันตัวเองดีที่สุดไม่ใช่การตั้งรับ แต่คือการรุก  กองทัพกรีกจึงกล้าออกไปรบ เพราะกลัวว่าตั้งรับที่บ้านอาจโดนคนในหักหลังไปเปิดประตูเมืองให้ข้าศึก และดูเหมือนว่า ทหารกรีกแม้มีกำลังพลน้อยกว่า แต่มีทักษะอาวุธและยุทธศาสตร์ดีกว่า จึงเอาชนะกองทัพเปอร์เซียที่ใหญ่กว่า 10 เท่าได้

ตำนานเล่าว่า ทหารกรีกชื่อ Pheidippides ถูกสั่งให้วิ่งกลับไปเอเธนส์เพื่อบอกข่าวว่า “เราชนะเปอร์เซียแล้ว”  แต่อีกตำนานหนึ่งบอกว่า กองทัพเปอร์เซียล่าถอยไปลงเรือรบ ซึ่งเป็นกองเรือใหญ่ แล้ววิ่งอ้อมแหลมกรีกทางใต้เพื่อไปบุกเอเธนส์แบบตีตลบหลัง  เชื่อว่า กองทัพกรีกจะกลับไปป้องกันเมืองไม่ทัน  แต่ผิดคาดเพราะทหารกรีกไม่ได้เดินทัพ แต่ “วิ่งทัพ” กลับไปถึงกรุงเอเธนส์ก่อนที่กองทัพเรือเปอร์เซียจะมาถึง จึงป้องกันเมืองไว้ได้

อีกตำนานหนึ่งบอกว่า ฟายดิปปิเดส ถูกสั่งให้วิ่งไปยังเมืองสปาร์ตา 212 ก.ม. จากเอเธนส์ เพื่อขอให้ส่งกองทัพมาช่วยเอเธนส์ ทางสปาร์ตาบอกว่า ยังไปไม่ได้ ต้องรอ “ฤกษ์” เสียก่อน  ความจริงอาจจะไม่อยากไปช่วย เพราะสองเมืองนี้เป็นศัตรูคู่แข่งกัน ฟายดิปปิเดสจึงวิ่งกลับไปเอเธนส์เพื่อแจ้งข่าวไม่ดี ทำให้เอเธนส์ต้องสู้คนเดียว

ก็มีคำถามว่า ทำไมถึงใช้คนคนเดียววิ่ง ไม่ใช้หลายคนวิ่งผลัดส่งต่อกัน เพราะระยะทาง 212 ก.ม. คงวิ่งทีเดียวไม่ได้ คงต้องพักหลายครั้ง แต่ไม่ได้พักเป็นวันแน่ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ให้คนเดียววิ่งเพราะมี “ข่าวลับ” ที่จะไปบอกคนอื่นไม่ได้ เพราะเอเธนส์ก็มีศัตรูคู่แข่งในเมืองต่าง ๆ และไม่ใช่ว่าจะมีนักวิ่งทุกแห่งที่ไว้ใจได้

ยังมีคำถามอีกว่า ทำไมไม่ใช้ม้าเหมือนที่เจงกิสข่านใช้วิ่งไปกลับเอเชียไปยุโรป ม้าคงวิ่งทั้งวันหลายวันต่อเนื่องไม่ได้ มีการเปลี่ยนม้าเป็นระยะ ๆ โดยวิ่งไม่หยุด  เจงกิสข่านเป็นจอมยุทธในการรบ จัดการเรื่องการส่งข่าวต่อ ๆ กันจนแม้ระยะเป็นหมื่นกิโลเมตรก็ใช้เวลาไม่นาน ขณะที่กรีกคงไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเมืองต่าง ๆ และมีกองกำลงของตนเองวางไว้เพื่อส่งต่อสื่อสาร จึงต้องอาศัยคนที่วิ่งเก่งคนเดียวให้เป็นคนนำสาร

จะอย่างไรก็แล้วแต่ มาราธอน คือชื่อการวิ่งระยะ 42 ก.ม. แบบต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นไฮท์ไลท์ รายการวันสุดท้ายของการแข่งขันโอลิมปิก และในโอลิมปิกยุคใหม่ครั้งแรกที่กรีกเมื่อปี 1896 นั้น การแข่งขันมาราธอนจัดให้วิ่งระหว่างเอเธนส์กับมาราธอน เส้นทางเดิม ต้นกำเนิดของกีฬานี้

# ตำนานมาราธอน

ในการแข่งขันมราธอนในโอลิมปิกที่กรุงโรมเมื่อปี 1960 ที่แถวนักวิ่งเตรียมออกสตาร์ท มีนักวิ่งผิวดำผอม ๆ อยู่คนหนึ่ง ไม่สวมรองเท้า วิ่งตีนเปล่า  เขาถูกมองอย่างดูถูกจากนักวิ่งคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้ชื่อรู้เสียงว่า นายคนนี้เป็นใครมาจากไหน  แต่วิ่งไปวิ่งมา นายผิวหมึกผอม ๆ ตีนเปล่านี่แหละที่ชนะเลิศได้เหรียญทอง เขาชื่อ อาเบเบ บิกิลา นักวิ่งโนเนมจากเอธิโอเปีย

อาเบเบ บิกิลา ได้เหรียญทองอีกครั้งในโอลิมปิกที่โตเกียวปี 1964 ครั้งนี้เขาสวมรองเท้า และถ้าหากไม่ประสบอุบัติเหตุก่อน เขาน่าจะได้เหรียญที่สามที่แม็กซิโกซิตี้ในโอลิมปิกต่อมา เขาพิการ นั่งรถเข็น แต่ก็ยังฝึกฝนในกีฬาหลายชนิด แข่งขันกีฬาคนพิการ จนเสียชีวิตอายุเพียง 41 ปี จากอุบัติเหตุ

อาเบเบ บิกิลา เป็นตำนานยิ่งใหญ่ของเอธิโอเปีย เขาเป็นทหารองครักษ์ของจักรพรรดิ ได้รับการยกย่องสูงสุดในประเทศและในแอฟริกา ว่าเป็นผู้บุกเบิก หรือเปิดประตูทวีปนี้ให้นักวิ่งระยะกลางและระยะไกลหลั่งไหลออกไปเอาชนะนักวิ่งผิวขาว และประเทศพัฒนาทั้งหลาย ที่เคยเป็นเจ้าการแข่งขันการวิ่งระยะกลางและไกล

นักวิ่งจากเอธิโอเปีย เคนยา ยูกันดา และอื่น ๆ กลายเป็นนักวิ่งน่องเหล็กที่ชนะการวิ่งในการแข่งขันนานาชาติ ไม่ว่ามาราธอนโอลิมปิก หรือมาราธอนใหญ่ ๆ และการวิ่งระยะกลาง  อย่าง Haile Gebrselassie ชาวเอธิโอเปียที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกในการวิ่งระยะ 10,000 เมตร 2 สมัย และแชมป์โลกระยะเดียวกันนี้ 4 สมัย รวมทั้งชนะเลิศมาราธอนเบอร์ลิน ซึ่งเป็นระดับเมเจอร์ถึง 4 ครั้งติดต่อกัน

ในการแข่งขันวิ่ง 10,000 เมตรที่โตเกียวเมื่อวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ชนะเลิศ คือ Selemon Barega ชาวเอธิโอเปีย อายุ 21 ปี เพิ่งแข่งโอลิมปิกครั้งแรก เอาชนะ Cheptegei ชาวยูกันดา เจ้าของสถิติโลก 5,000 และ 10,000 เมตร และแชมป์โลกคนปัจจุบัน ที่ได้เหรีญเงิน

ในโอลิมปิก 1968 ที่แม็กซิโกนั้น แม้อาเบเบ บิกิลา ไม่ได้เข้าแข่ง แต่ผู้ชนะก็เป็นนักวิ่งเอธิโอเปียชื่อ Mamo Wolde  นอกนั้น การแข่งขันมาราธอนใหญ่ทั้ง 7 (โอลิมปิก, โตเกียว, บอสตัน, ลอนดอน, เบอร์ลิน, ชิคาโก, นิวยอร์ค) และการวิ่งระยะกลางต่าง ๆ ผู้ชนะทั้งชายและหญิงก็เป็นชาวแอฟริกันเกือบทั้งหมด พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากอาเบเบ บิกิลา

มีการวิจัยว่า ทำไมคนจากเอธิโอเปีย เคนยา ยูกันดา จึงวิ่งเก่งและชนะเลิศมากมายขนาดนี้  สรุปว่ามีหลายปัจจัย คือ พันธุกรรม การคุ้นเคยกับการเดินวิ่งแต่เด็กทำให้ปอดใหญ่ ค่าเม็ดเลือดแดงสูงกว่าปกติ ระบบการเผาผลาญพลังงานดี โครงสร้างกระดูกที่ใหญ่และแข็งแรง อาหารการกินของประเทศเหล่านี้ การฝึกฝนซ้อมวิ่งบนที่สูงจนเคยชินกับที่อากาศน้อย และที่สุด แรงจูงใจจากรางวัลรายได้ของความสำเร็จ

ที่สำคัญที่สุดคงเป็นจิตใจที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น อดทนในการฝึกฝน อย่าง Julius Yego ชาวเคนยา ที่อยากเป็นนักวิ่ง แต่น้ำหนักมากไป โครงสร้างร่างกายไม่เหมาะ จึงหันไปฝึกการพุ่งแหลน จนเป็นคนแอฟริกันคนแรกที่ได้แชมป์โลกที่ปักกิ่งเมื่อปี 2015 และเหรียญเงินที่โอลิมปิกปี 2016 ถามว่าโค้ชของเขาเป็นใคร เขาบอกว่า “ยูทูปครับ”

# อุลตร้ามาราธอน

มนุษย์เป็นสัตว์ที่วิ่งได้ไกลสุด อึดสุด (ดูตูน บอดี้แสลม นักร้องทิ่วิ่งได้พันกว่า ก.ม.)  ในยุคดึกดำบรรพ์คนวิ่งไล่จับสัตว์เป็นอาหารจนสัตว์เหนื่อย ต่อมาจึงพัฒนาเครื่องทุ่นแรงจับสัตว์ (จนหมดป่า)

นอกจากมาราธอนทั้งใหญ่และเล็ก (แบบครึ่งหนึ่ง) ยังมีแบบ 50 แบบ 100 ก.ม. มีแบบ 50 ไมล์ 100 ไมล์ (160 ก.ม.) มีบนที่ราบ บนภูเขา ทะเลทราย มีแบบหลายร้อยกิโลเมตร ให้เวลาหลายวันก็มี ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่ค่อยสนใจนัก แต่ก็มีนักวิ่งที่มีความสุขกับการวิ่งนาน น่าจะเป็นเอ็นดอร์ฟิน ฮอร์โมนสารสุขที่หลั่งออกมาจากสมอง คุ้มกับความเหน็ดเหนื่อย ที่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ นึกไม่ออกว่าวิ่งได้อย่างไร

เมื่อพูดถึงอาเบเบ บิกิลา แล้ว ก็อยากจบด้วยการพูดถึงนักวิ่งที่เป็นธรรมชาติอีกคนหนึ่ง เป็นเด็กหญิงชาวเนปาล เธออาศัยอยู่บนเขา วิ่งขึ้นลงไปซื้อข้าวของให้พ่อแม่ ไปโรงเรียน จนกลายเป็นเรื่องปกติ วันหนึ่งสวนกับนักวิ่งภูเขาต่างชาติกลุ่มหนึ่งที่ชวนเธอแจมด้วย ปรากฏว่าพวกนั้นกำลังซ้อมวิ่ง แล้วนัดให้เธอไปพบในเมืองกัฎมัณฑุ เมืองหลวงของเนปาลในวันต่อมา

สาวน้อยก็ไปตามนัด โดยไม่รู้ว่าเป็นการแข่งขัน 50 ก.ม. Himalayan Outdoor Festival เธอไม่ได้เตรียมตัวมาเลย ไม่ว่าอาหาร น้ำ เสื้อผ้า รองเท้าวิ่ง แต่เธอก็ชนะการแข่งขันครั้งนั้น  เธอชื่อ Mira Rai วันนี้อายุ 32 ปี ชนะเลิศรายการอุลตร้ามาราธอน การวิ่งบนเขาระยะยาว หรือ trail และ skyrunning มาทั่วโลก

มีอยู่ระยะหนึ่งที่บาดเจ็บ ระหว่างที่พักฟื้น เธอได้พัฒนาเด็กเยาวชนคนเนปาล สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ลูกหลานชาวบ้าน ให้หันมาวิ่งแข่งกับนักกีฬาอาชีพ เพราะด้วยความแข็งแกร่งตามธรรมชาติ ถ้าหากมีการฝึกฝนอย่างเหมาะสมก็เป็นแชมป์ได้

เมื่อปี 2017 เธอกลับมาวิ่งอุลตร้ามาราธอน 120 ก.ม.ที่สก็อตแลนด์ ชนะเลิศด้วยสถิติใหม่ 14 ชั่วโมง 24 นาที  “มีร่า ราย” วันนี้เป็นไอดอลไม่ใช่ของชาวเนปาลเท่านั้น แต่ของเยาวชนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและยากจน ที่เริ่มค้นพบศักยภาพของตนเอง

1 สิงหาคม 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com