ຂບ ລຳ ລາວ ມາແຕໃສ ? “ขับ-ลำ”ลาว มาจากไหน ?

ຂບ ລຳ ລາວ ມາແຕໃສ ? “ขับ-ลำ”ลาว มาจากไหน ?


ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
รายงาน “ทางอีศาน”
Report : “Esan Ways”
ผู้เขียน: อิน ลงเหลา

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม “อิน ลงเหลา” ติดตามคณะมูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากลข้ามไปเวียงจัน เพื่อประสานงานกับสมาคมนักประพันธ์ลาว มีโอกาสเยี่ยมยามสำนักงาน “ວາຮະສານວນນະສນ” (วารสารวรรณศิลป์) ได้พบ คุณหงเหิน ขุนพิทัก ซึ่งเคยพบปะกันที่จังหวัดเชียงใหม่ คุณหงเหินชอบค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านเพลงเป็นพิเศษ

ท่านได้มอบหนังสือดีมากเล่มหนึ่ง ชื่อ “ຂບລຳ ເພງລາວ ມາແຕໃສ ?” (ขับ ลำ เพลงลาว มาจากไหน ?) เขียนโดย “ไม้จัน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นักประพันธ์ลาว ให้ผู้เขียนเล่มหนึ่ง

ผู้เขียนอ่านแล้วชอบมาก เพราะนอกจากจะเป็นข้อมูลให้ความรู้แก่ชาวลาวแล้ว ก็ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยในภาคอีสาน ผู้เขียนจึงตั้งใจจะแปลเป็นภาษาไทยแล้วหาสำนักพิมพ์ช่วยจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

ใน “ทางอีศาน” ฉบับนี้ ขอแนะนำข้อมูลพื้นฐานบางส่วน เกี่ยวกับคำ “ขับ” “ลำ” “ฟ้อน” ในภาษาลาว และความรับรู้ของนักวิชาการลาวก่อน

“ไม้จัน” อธิบายคำศัพท์เหล่านี้ไว้ดังนี้

“ในการร้องรำ (ทางลาวใช้ ล-ลิง ว่า “ลำ”) ทำเพลง แต่เดิมลาวเราคงจะใช้แต่คำว่า “ร้อง” และ “ขับ” รวมกันเรียกว่า “ขับร้อง” ส่วนการแสดงลีลาท่าทางประกอบการขับร้องนั้นเรียกว่า “เต้น” และ “ฟ้อน” ต่อมาจึงมีการใช้คำว่า “ลำ” ใช้คำว่า “เพลง” (ลาวว่า “เพง”) และคำว่า “ดนตรี” ในภายหลัง โดยมีพยานหลักฐานอ้างอิงพอที่จะเชื่อถือได้ว่า มีมาในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจในแหลมสุวรรณภูมิ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๘ – ๑๒ หรือช้าที่สุดก็คือในกลางศตวรรษที่ ๑๔ สมัยพระเจ้าฟ้างุ่มมหาราชครองอาณาจักรล้านช้างเพราะในสมัยนี้ลาวเราได้รับเอาวัฒนธรรมหลายอย่างจากแขมร์ รวมทั้งภาษา ศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี

“ร้อง” คือการเปล่งเสียงออกมาทางปากโดยที่ไม่มีจังหวะ ทำนอง ส่วน “ขับ”เป็นการเปล่งเสียงออกมาโดยมีการควบคุมจังหวะ ทำนอง ให้เสียงที่เปล่งนั้น สูง-ต่ำ สั้น-ยาว การขับในระยะเริ่มต้นไม่มีเสียงเครื่องเสพ (เครื่องดนตรี) ประกอบใส่ ต่อมาจึงมีการประกอบเสียงเครื่องเสพเข้าใส่

การควบคุม บัญชา สิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามจังหวะ ทำนอง ทิศทาง และจุดประสงค์ที่คนต้องการแบบนี้ ลาวเราล้วนแต่ใช้คำว่า “ขับ” เป็นกิริยา เช่น ขับลำ, ขับเกวียน, ขับรถ, ขับเรือ, ขับยนต์, ขับไล่, ขับหนีตีส่ง และใช้คำว่า “ขับเคลื่อน” กับสิ่งที่เป็นขบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงให้พลังขับเคลื่อนระบบเครื่องจักรในรถยนต์, ใช้แรงงานกรรมกรเป็นพลังขับเคลื่อนขบวนการผลิตในโรงงาน เป็นต้น

การเขียนคำว่า “ลำ” ด้วยพยัญชนะตัว ล – ลิง อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ พาให้เข้าใจได้สองทางคือ

• ລຳ ลำ มาจากภาษาแขมร์ ที่มีรูปเขียนด้วยตัว ร-รัวลิ้น (ร-เรือ ในภาษาไทย)

รำ (คำนี้มาจากภาษาบาลีอีกต่อหนึ่งในคำว่า “ຮມນຍະ – รัมนียะ” อ่านว่า รำมะนียะ) แปลว่าการกระทำที่พาให้สะออนซอนจิต / พาให้ม่วนชื่น กล่าวคือ การฟ้อนหรือการแสดงความม่วนชื่นออกด้วยลีลาท่าทางต่าง ๆ เช่น “รำวง” ก็คือการฟ้อนด้วยความม่วนชื่นเป็นวงอ้อมรอบนั่นเอง (คำว่า ລຳ ลำ ตามจิตสำนึกของคนลาว หมายถึง การโอละนอ เป็นเสียงด้วยกาพย์กลอนประกอบกับเสียงเสพ (แคน) ดังนั้น “ลำวง” ตามรูปคำที่ใช้พยัญชนะตัว ล. มันก็ต้องเป็นการลำโอละนอ… แบบเป็นวง แต่ในความเป็นจริงมันหมายถึงการฟ้อนเป็นวงเท่านั้น แสดงว่ารูปคำว่า “ลำวง” ไม่สอดคล้องกับสภาพจริง)

ເຕນຮຳ (ເຕນລຳ) เต้น รำ คำนี้คนไทยนิยมใช้ส่วนคนลาวไม่ใช้กันมาก มีแต่คนในเมืองที่ชอบไปม่วนชื่นในสถานบันเทิงใช้กัน มันเป็น คำประสมระหว่าง “เต้น ” ที่เป็น ภาษาลาว และ “รำ” ที่เป็น ภาษาแขมร์ เต้นรำก็คือการไปฟ้อน/เต้น ด้วยลีลาท่าทางตามเสียงเพลง (ไม่ใช่การเต้นแล้วลำ โอ่ยละนอ…ไปพร้อมกัน) คนลาวไม่รัวลิ้นเมื่อพูดตัว ร. ก็เลยพูดออกเสียงเป็นตัว ล.ลิง ว่า “ลำ” แทน

ลำ ที่เป็นความลาว (คาดว่าลาวแท้ ๆ) หมายถึงสิ่งที่ลวงยาว (ไกล) เช่น ลำน้ำ ลำไม้ ลำอ้อย ลำคีง (ลำกาย) ลำแข้ง ลำขา และหมายถึงพาหนะที่สามารถใช้บรรจุและเดินทางยาวไกลได้ เช่น ลำรถ ลำเรือ ลำเกวียน… เป็นต้น

กาพย์กลอนที่แต่งเป็นพื้นเป็นนิทานต่าง ๆ และใช้เป็นกลอนลำนั้นก็ (มีลวง) ยาว และบรรจุ เนื้อหาสาระมากมาย เมื่อแต่งแล้วท่านก็มักบรรจุไว้เป็นมัด เป็นผูก เป็นพวง เป็นก้อน หรือเอาไว้ในบั้งไม้ไผ่ ดังนั้นจึงเรียกว่า “ลำ” เช่น ลำพื้นพะเหวด (พระเวส) ลำพื้นการะเกด ลำพื้นสังสินไซ (สังข์ศิลป์ไชย)… และในเมื่อนำเอากาพย์กลอนออกมาเผยแพร่ ด้วยการขับขานจึงเรียกชื่อว่า “ลำ” โดยประสานเสียงเสพ : ปี่ แคน ฆ้อง กลอง… เข้าใส่

หากพิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นว่า รำที่มาจากภาษาแขมร์เป็นคำกิริยา ส่วนลำที่เป็นภาษาลาวนั้น มีสองสถานะ คือ มีเพียงแต่ในบริบทที่หมายถึงการเปล่งเสียงลำ (โอละนอ) เท่านั้น เป็นคำกิริยา

ส่วนลำในบริบทอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นคำบอกลักษณะนาม คือบอกวัตถุสิ่งของประเภทที่มีลวงยาว คือลำไม้ ลำเรือ ลำรถ… ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า ที่แท้แล้ว “ลำ” (โอละนอ) ที่เป็นคำกิริยาในภาษาลาวนั้นอาจยืมมาจาก “รำ” ในภาษาแขมร์ โดยเป็นคำกิริยาเหมือนกัน แต่สื่อความหมายเปลี่ยนจากเดิม คือ “ฟ้อน” ไปเป็น “ขับ”

มีข้อสังเกตเพิ่มอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือคนลาวเราทางภาคเหนือลงมาถึงเขตร่องงึ่ม ยังคงเรียกการแสดงอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณตามคำพูดดั้งเดิมนั้นว่า “ขับ” ไม่เคยพูดว่า “ลำ” เลยเช่นขับงึ่ม ขับพวน (ขับเชียงขวาง) ขับซำเหนือ ขับทุ้ม ขับลื้อ ขับไทดำ… ส่วนคนทางใต้นับแต่แขวงคำม่วนลงไปกลับใช้คำว่า “ลำ” เรียกชื่อการแสดงแบบเดียวกัน นั่นคือ ลำมหาไชย ลำผู้ไท ลำตั่งหวาย ลำคอนสวรรค์ ลำสาละวัน ลำสีทันดร… คำว่า “ขับ” นี้ยังปรากฏในคำโตงโตยที่บอกอาการของคนซึ่งไม่สบายที่ว่า “นอนบ่หลับ ขับบ่ม่วน” อีกด้วย เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า คนทางภาคเหนือสามารถรักษาภาษาลาวแบบดั้งเดิมได้ดีกว่าคนทางใต้

ในวรรณคดีไทยดั้งเดิมก็ใช้คำว่าขับเหมือนกันเช่น “ขับเสภา” เป็นต้น ส่วนคำว่า “รำ” ในภาษาไทยก็หมายถึงฟ้อน เพราะไทยก็รับคำนี้มาจากภาษาแขมร์เหมือนกัน สำหรับคำว่า “ลำ” ที่หมายถึงการโอละนอนั้น ก็มีแต่ในหมู่คน (ลาว) อยู่ภาคอีสานของไทยเท่านั้น และก็มีแต่สำเนียงในภาษาลาวเท่านั้นที่สามารถใช้ลำโอละนอได้ ส่วนสำเนียงไทยนำมาใช้ไม่ได้

การเปลี่ยนจากคำว่า “ขับ” มาเป็น “ลำ” นี้เกิดขึ้นทางดินแดนและผู้คนที่มีการเปลี่ยนคำเรียกชื่อสายแม่น้ำ ระหว่างคำว่า “น้ำ” กับคำว่า “เซ” คือคนที่อยู่ทางเหนือของเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนขึ้นไปทางเหนือ เรียกสายน้ำว่า “น้ำ” เช่น น้ำโดนน้ำหินปูน น้ำกระดิง น้ำซัน น้ำเงียบ น้ำงึ่ม น้ำอู น้ำแบ่ง น้ำทา ส่วนสายแม่น้ำที่อยู่ด้านใต้เมืองดังกล่าวลงไปกลับถูกเรียกว่า “เซ” เช่น เซบั้งไฟ เซบังเหียง เซบังนวน เซโดน เซกอง…

การเปลี่ยนคำว่า น้ำ เป็น เซ นี้ คงมีสาเหตุจากคนและดินแดนทางใต้ได้รับอิทธิพลจากภาษาแขมร์และภาษาจามมาก เพราะคำว่า “เซ” เป็นภาษาจาม โดยมีคำที่ใกล้เคียงคือ : ซำ เซือม เซื่อมส่วนคำว่า “บัง” เป็นภาษาแขมร์ ซึ่งมีคำที่ใกล้เคียงคือ : บวม เบือม บ่อ บาง (บางกอก) บึงบุ่ง… ซึ่งล้วนเป็นคำที่เกี่ยวกับน้ำทั้งนั้น เป็นต้น

โดยปกติแล้วในการแสดงขับก็มีการฟ้อนประกอบด้วย ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า คนทางใต้ก็เลยใช้คำว่า “ขับ-รำ” เรียกชื่อการแสดงนั้น (ทั้งขับทั้งฟ้อน) แต่ลิ้นคนลาวไม่รัวในเวลาพูดเสียงตัว ร. ก็เลยออกเป็น “ขับลำ” แทนที่จะใช้คำว่า “ขับ – ฟ้อน” เหมือนกับคนทางเหนือที่ยังรักษาเอกลักษณ์ทางภาษาไว้อยู่ ขณะเดียวกันก็ใช้คำว่า “รำฟ้อน” (ลำฟ้อน) เมื่อพูดถึงฟ้อน

ดนนานผ่านหลายปี สุดท้ายแล้ว “รำ” แขมร์ที่เดิมมีความหมายว่าฟ้อนก็กลายเป็น “ลำ” ลาวที่หมายถึงการเอ่ยเสียงขับโอละนอ… ขณะที่ฟ้อนยังคงเป็นลีลาท่าทางประกอบการขับอยู่ตามเดิม

เป็นอันว่า “รำ” ในภาษาแขมร์ มาพบพ้อกับ“ลำ” ในภาษาลาว ในงานบุญหรืองานฉลองใดหนึ่ง แล้วทั้งสองก็เข้ากันจนไม่เหลือส้นเหลือเงื่อนให้เห็น อันนี้แสดงให้เห็นชัดว่าผู้คนในภูมิภาคนี้มีการประสมประสานทางภาษา สังคม และวัฒนธรรมอย่างสนิทแน่น”

ข้างต้นเป็นข้อมูลอธิบายคำว่า “ขับ” “ลำ” “ฟ้อน” ได้อย่างชัดแจ้ง

ส่วนคำตอบว่า “ขับ – ลำ” ลาวมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ? “ไม้จัน” ตอบไว้ว่า ขับ-ลำลาวมีมาอย่างน้อยสามพันปีแล้ว โดยอ้างอิงรูปภาพบนกลองมโหระทึกที่พบทั่วไปในยูนนาน, กวางสี, เวียดนาม, ลาว, ไทย ฯลฯ

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com