ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ฮินดูดราม่า ณ เมืองต่ำ (๓)

เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ มูลนิธิทางอีศาน จัดรายการทัศนศึกษาแหล่งโบราณสถานประเภทปราสาทหิน ซึ่งมีสถานะเป็น “ทิพยวิมาน” หรือ “เทวาลัย” ของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู และพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน

โอกาสนี้ ขอหวนรำลึกถึงทริปท่องเทวาลัยอีสานใต้ ด้วยการรวบรวมภาพในความทรงจำมานำเสนออีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าถึงแม้นครวัด นครธม ในกัมพูชาจะยิ่งใหญ่ปานใด แต่เทวาลัยขนาดเล็กในเขตอีสานใต้ของไทย ก็ไม่น่าพลาดชมด้วยประการทั้งปวง

(ภาพ ๑)

ปรางค์ประธานปราสาทเมืองต่ำ มุมมองจากหน้าต่างระเบียงคด นี่คือเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สร้างโดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อราว ๙๐๐ ปีก่อน คือชุมชนที่สนับสนุนการก่อสร้างปราสาทพนมรุ้ง หรือ “วนัมรุง” จนกล่าวได้ว่า พนมรุ้งจะงดงามตระการตาไม่ได้เลย หากไม่มีชุมชนเมืองต่ำคอยส่งข้าวส่งน้ำให้แรงงานที่สร้างปราสาท ซึ่งนอกจากช่วยงานสร้างพนมรุ้งแล้ว ยังสร้างปราสาทของชุมชนเอง ด้วยแรงศรัทธาสูงส่งต่อองค์พระศิวะ มหาเทพที่บรรดาราชครูพราหมณ์ หนุนส่งให้โดดเด่นแทนพระอินทร์ นับตั้งแต่ชาวพุทธอ้างว่า พระอินทร์ช่วยดีดพิณสามสาย ให้เจ้าชายสิทธัตถะพบทางสายกลาง จนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสำเร็จ 

(ภาพ ๒)

ภาพพระกฤษณะฉีกร่างนาคกาลิยะ ที่ทับหลังเหนือซุ้มประตูทางเข้าปราสาทเมืองต่ำ เป็นภาพเล่าเรื่องที่ถูกตีความว่าเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ (Discredit) พระอินทร์ โดยระบุว่าพระอินทร์พิโรธที่ชาวบ้านไม่นับถือ จึงส่งนาคกาลิยะมาคายพิษลงในแม่น้ำทำชาวบ้านเดือดร้อน จนพระนารายณ์ต้องอวตารเป็นพระกฤษณะมาปราบ

(ภาพ ๓)

แต่ดั้งเดิม ชาวฮินดูนับถือเทพเจ้าองค์หลัก คือพระพรหมผู้สร้างโลก และพระอินทร์ ผู้ประทานน้ำฝนให้โลกอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อศาสนาพุทธเกิดขึ้น และอ้างว่าพระอินทร์ พระพรหมรับรู้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า บรรดาพระครูพราหมณ์จึงเชิดชูพระศิวะขึ้นเป็นมหาเทพ แล้วเล่าเรื่องเพื่อลดความน่าเชื่อถือของพระอินทร์ ปรากฏเป็นภาพแกะสลักในทับหลังที่ปราสาทเมืองต่ำอีกภาพหนึ่ง คือภาพพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะด้วยมือเดียว เพื่อบังพายุฝนที่พระอินทร์บันดาลให้เกิดขึ้นด้วยความโกรธา 

(ภาพ ๔)

จุดเด่นของปราสาทเมืองต่ำคือสระน้ำรูปตัว L กว้างราว 5 เมตร ยาว 10 เมตร ประดับอยู่รายรอบปรางค์ประธานทั้งสี่ด้าน มีความหมายเป็นดั่ง “มหานทีสีทันดร” แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งโลกและจักรวาลตามคติฮินดู

ตรงมุมสระทั้งสี่ด้าน ประดับด้วยนาคห้าเศียร เป็นนาคหัวลิง หรือนาคหัวโล้น ตามแบบฉบับของนาคศิลปะบาปวน (บา-ปวน ศิลปะเขมรยุคก่อนนครวัด) สังเกตว่าช่างจงใจแกะสลักให้นาคตนนี้แสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านดวงตาได้อย่างน่าทึ่ง

(ภาพ ๕)

ภาพนี้แสดงภูมิปัญญาของช่างโบราณในการนำหินมาประดับบันไดทางขึ้นซุ้มประตู ปราสาทเมืองต่ำ เพื่อไม่ให้หินก้อนริมร่วงหล่น จึงแกะหินเป็นรูปครึ่งตัว L แล้วทำลิ่มมาเชื่อมต่อหินสองก้อนเข้าด้วยกัน แต่คนในยุคหลังเข้าใจว่าตรงนี้อาจเป็นที่เก็บเพชรนิลจินดา จึงขุดลิ่มออก เมื่อมีการบูรณะปราสาท ช่างยุคใหม่ก็ทำลิ่มอันใหม่เข้าไป แต่ก็ยังมีคนมาขุดหาสมบัติอีก ภายหลังจึงใช้วิธีเทปูนยึดไว้แทนลิ่ม ดังในภาพนี้

(ภาพ ๖)

ซุ้มประตู หรือ “โคปุระ” ด้านหนึ่งของปราสาทเมืองต่ำ แสดงฝีมือการจำหลักหรือแกะสลักลายประดับเสา เป็นรูปสิงห์คายพวงก้ามปูอันวิจิตรตา ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงปราสาทประจำชุมชนจากฝีมือช่างพื้นถิ่น แต่สะท้อนว่า “เมืองต่ำ” เป็นอีกหนึ่งปราสาทในเขตแดนอีสานใต้ของไทยที่ไม่น่ามองข้าม

ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๑)

ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๒)

(โปรดติดตามตอนต่อไปฉบับหน้า)

อ้างอิง

เว็บไซต์ ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com