หลวงพ่อคูณ : เทพเจ้าด่านขุนทด ในความทรงจำ
แม้ว่าร่างกายสังขารวิญญาณ พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จะสลายร่างลับล่วง แม้เถ้าถ่านก็ละลายไปกับสายแม่น้ำโขง ทำไมพระบ้านนอกธรรมดา ๆ องค์หนึ่งจึงยังคงอยู่ในหัวใจอยู่ในความทรงจำของพุทธศาสนิกชน
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ นามเดิมของท่าน คูณ ฉัตรพลกรัง เป็นคนบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเด็ก ๆ เรียนหนังสือกับหลวงพ่อที่วัดบ้านไร่ ท่านสอนหนังสือไทย หนังสือขอม และคาถาอาคม จึงทำให้ท่านมีความรู้ ถึงเวลาครบบวชได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน และได้ไปจำพรรษาเรียนรู้กับพระนักปฏิบัติวิปัสสนาหลวงพ่อแดง วัดหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ ที่ด่านขุนทดนั่นเอง ที่นี่หลวงพ่อคูณได้เรียนรู้ถึงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ทั้งสมถะและวิปัสสนา เมื่อเรียนรู้พอเป็นกำลังในการแสวงหาหนทางธรรมในการปฏิบัติต่อไป
ธุดงควัตร เป็นกิจวัตรที่พระภิกษุนักปฏิบัติพึงยึดถือปฏิบัติ หลวงพ่อคูณก็ออกถือธุดงค์ไปหาความสงบวิเวกในป่าใหญ่ เพื่อฝึกฝนจิตใจให้มีความสงบหนักแน่นมั่นคง ธุดงค์ในป่าเมืองไทย เดินธุดงค์ไปถึงเวียงจันทน์ ไปทุ่งไหหิน ไปจำพรรษาที่เมืองหลวงพระบาง และลงมาทางเขมร ด้านเขาพระวิหาร กลับสู่เมืองไทยใช้เวลาหลายพรรษาในการธุดงค์ แล้วจึงกลับมาวัดบ้านไร่ เห็นวัดบ้านไร่ทรุดโทรม จึงได้หวนมาพัฒนาให้ดีขึ้น ชาวบ้านไร่ ตำบลกุดพิมานจึงได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำขึ้น
หลวงพ่อคูณเรียนรู้วิทยาอาคม จากครูอาจารย์ ถึงวันหนึ่งได้นำวิชาความรู้เหล่านั้นมาใช้ ในปี 2493 ท่านทำตะกรุด ฝังตะกรุด ต่อมา ทำเหรียญรูปของท่าน และทำเรื่อยมา จนโด่งดังเป็นที่รู้จักในเรื่องของขลังของหลวงพ่อ ท่านได้ปัจจัยที่บริจาคเหล่านั้นมาพัฒนาวัด ทำสาธารณประโยชน์ เช่น ในวัยครบรอบ 72 ปีของท่าน ท่านถวายปัจจัยในหลวงรัชกาลที่ 9 72 ล้านบาท เป็นต้น ท่านได้ช่วยวัดต่าง ๆ ที่ขัดสน นิมนต์ให้ไปจำพรรษาดังวัดสระแก้วที่โคราช ดังวัดใหม่พิเรนทร์ที่บางกอกใหญ่ ท่านก็เคยได้มาอยู่ช่วย จนสร้างวัดสำเร็จลุล่วงด้วยดี คือเมตตาบารมีธรรมหลวงพ่อคูณ
เพราะเมตตาบารมีธรรม
หลวงพ่อคูณเป็นพระบ้านนอก สมถะเรียบง่ายแต่ขยันพัฒนาวัด สร้างสาธารณประโยชน์ให้ชาวบ้าน คนจึงศรัทธา เอกลักษณ์หลวงพ่อคือนั่งยอง ๆ ถือบุหรี่และพูดกูกับมึง
หลวงพ่อคูณ เป็นพระที่ใจดีมีเมตตา ไปขอให้ทำอะไรก็ไม่ขัดศรัทธา ทำให้ได้ก็ทำให้ ขายที่ดินไม่ได้มาหลายปี ขอความเมตตาให้ท่านเหยียบโฉนดที่ดินฉบับนั้นหวังว่าจะได้ขายที่ดินผืนนั้นได้ ท่านก็เมตตาเหยียบให้และก็ขายได้ในเวลาต่อมา ปรารถนาให้หลวงพ่อเคาะหัวให้เป็นมงคลกับชีวิตก็ไปหา ท่านก็เมตตาเคาะให้เป็นมงคล แล้วก็พูดสั่งสอนให้ทำดี อย่าได้ไปทำชั่ว แม้หลวงพ่อคูณจะมิใช่พระนักเทศน์ที่ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ แต่การพูดสั้น ๆ ให้สติแบบธรรมดา ๆ ของท่านก็โดนใจ คนจำได้เสมอ ๆ
เรื่องเล่าในความทรงจำ
ในช่วงชีวิตของนักบรรยาย มีเรื่องเล่าของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ที่เล่าเมื่อไรก็มีความสุขทั้งผู้ฟังผู้เล่า ดังเรื่องการพูดของหลวงพ่อคูณ
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงพ่อคูณท่านพูดกับใครก็ตามท่านก็ใช้ภาษาสามัญตามแบบฉบับของท่าน เรียกได้ว่าภาษาสมัยพ่อขุนรามคำแหง กูกับมึงโดยตลอด ไม่ว่าคนธรรมดาหรือนายกรัฐมนตรี อย่างเช่นพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ส.ส.โคราช ท้องถิ่นของท่าน
แล้ววันหนึ่งมีข่าวว่าเจ้านายจะเสด็จวัดบ้านไร่ เจ้าหน้าที่ก็เป็นห่วงว่าหลวงพ่อจะพูดกูกับมึงให้รู้สึกไม่ค่อยดี จึงไปกราบขอหลวงพ่อให้หลวงพ่อพูดภาษาอันเหมาะสม หลวงพ่อพยายามพูดเท่าไรก็ไม่คล่องปาก เพราะไม่ใช่วิสัยของท่าน เจ้าหน้าที่บอกอีกว่า ท่านถามอะไรก็ให้นิ่งเฉยไว้ อย่าตอบออกไปเดี๋ยวจะหลุดกูกับมึงออกมา
ครั้นถึงวันเวลาจริง เมื่อเจ้านายท่านมาถึงและสนทนาธรรมกับท่าน ท่านก็นิ่งเฉย เจ้านายก็ซักถาม ท่านก็ไม่ตอบ จนในที่สุดเจ้านายก็ถามว่าหลวงพ่อเป็นอะไรจึงไม่ตอบ
ในที่สุดหลวงพ่อตอบว่า “ก็ไอ้พวกนี้ มันไม่ให้กูพูดกับมึง”
ครั้งหนึ่งในชีวิตที่วัดบ้านไร่
หลวงพ่อคูณไม่ว่าท่านจะเป็นพระธรรมดา เจ้าคุณ หรือเจ้าคุณชั้นเทพ พระเทพวิทยาคม ก็เป็นหลวงพ่อคูณของทุกคน การให้พรมงคลด้วยการเคาะหัวท่านก็ทำให้ทุกคน
“พวกมึงมาขอโชคพร กูก็ให้พรและเคาะหัว แต่เรื่องเลขเด็ด ไม่มีให้ใครด๊อก อย่าไปงมงาย เอาเงินไปซื้อหวยกันเลย เก็บเงินไว้ซื้อกับข้าวดีกว่า” คำหลวงพ่อคูณ
ครั้งหนึ่งในชีวิตประมาณปี 2538 ได้มีโอกาสไปวัดบ้านไร่ เมื่ออาจารย์ไชยพร บุญเพิ่ม แห่งแสงประทีปเดินรถในสมัยนั้น ได้พาตระเวนไหว้พระอีสาน และวัดแรกที่ได้เข้าไปคือวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อกราบขอพรหลวงพ่อคูณ
ไปถึงวัดบ้านไร่ ยังไม่ถึงเวลาที่ท่านจะออกมาพบญาติโยม จึงไปเดินชมโบสถ์ที่กำลังสร้าง ดูบ่อน้ำที่ท่านขุดไว้เก็บน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ เมื่อถึงเวลาท่านออกมา ญาติโยมก็ไปเข้าแถวเรียงต่อกันตามปกติ เดินพนมมือไหว้นึกถึงสิ่งดีสิ่งงามที่จะได้รับจากท่าน สิ่งหนึ่งที่ทำตอนนั้น คือร่วมบริจาคทำบุญสร้างโรงพยาบาลกับหลวงพ่อ ได้ถือธนบัตรเพื่อถวายท่านสองใบ ใบหนึ่งท่านจะรับไป อีกใบท่านจะคืนให้เป็นมงคล ผมก็ทำเช่นนั้น บังเอิญมีสองใบที่ราคาไม่เท่ากัน คือใบละร้อยกับใบละยี่สิบ เมื่อเดินไปให้ท่านเคาะหัว และยื่นปัจจัยถวายท่าน ตั้งใจจะถวายท่านร้อยบาทและเก็บยี่สิบบาทมาเป็นขวัญถุง แต่ปรากฏว่าหลวงพ่อรับใบละยี่สิบบาท และคืนใบละร้อยบาทให้เป็นขวัญถุงเป็นมงคลกับชีวิต แล้วเราก็กราบลาท่านตระเวนอีสานกันต่อไป เป็นการตระเวนอีสานไหว้พระเลาะเลียบริมโขงอย่างมีความสุข และปลอดภัยที่สุด
หัวใจคือไม่ประมาท
“การขับรถอย่างระมัดระวังไม่ประมาท สำคัญกว่าการเจิม อย่างโบราณท่านว่า วิ่งไม่ดูตาม้าตาเรือก็ชนกันตาย การขับรถจะต้องดูทาง ถ้ามันคดโค้งจะต้องระมัดระวัง ถ้าประมาทเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นทำอะไรทุกอย่างทำให้ดีอย่าประมาท อย่าผัดผ่อน ถ้าประมาทแล้วนึกได้ทีหลังจะเสียใจ” คำหลวงพ่อคูณ
อาจารย์ไชยพร บุญเพิ่ม ผู้ขับรถตระเวนอีสานคราวนั้นบอกว่าที่ไม่ขับเร็ว จะเหยียบเร่งแซงก็นึกถึงคำหลวงพ่อ อย่าประมาท ในเรื่องประมาทขับรถเร็วมีเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาอย่างให้สติและอารมณ์ขันเรื่องหนึ่ง
มีชายคนหนึ่งศรัทธาหลวงพ่อ มีพระเครื่องหลวงพ่อคูณห้อยคออยู่ตลอดเวลา แต่นิสัยชอบขับรถเร็ว แล้ววันหนึ่งก็เกิดอุบัติเหตุ จึงไปกราบหลวงพ่อ บอกหลวงพ่อว่า ทำไมหลวงพ่อไม่ช่วยให้เขาได้แคล้วคลาดปลอดภัยเล่า
หลวงพ่อคูณถามกลับไปว่า “แล้วมึงขับมาเท่าไหร่”
คนขับบอก “160 หลวงพ่อ”
หลวงพ่อคูณบอก “เออ พอ 100 กูก็โดดลงไม่อยู่กะมึงแล้ว มึงเหยียบ 160 กูไม่ได้ไปกะมึงดอก”
ความทรงจำมีค่า ถ้านำมาปฏิบัติ
ถึงแม้จะมีเหรียญหลวงพ่อคูณสักกี่ร้อยเหรียญ แต่ถ้าไม่นึกถึงธรรมของพระพุทธองค์และคำสอนของหลวงพ่อเหรียญนั้นก็ไร้ค่า ถึงแม้ไม่มีเหรียญสักเหรียญ แต่มีคำสอนท่านอยู่ในหัวใจ ได้ทำตามคำสอนของท่าน นั่นแหละคือความทรงจำอันทรงคุณค่าที่มีต่อชีวิตและต่อหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเทพวิทยาคม เทพเจ้าด่านขุนทดแห่งวัดบ้านไร่
(ขอบคุณ วิระศักดิ์ แจ่มใส วิระศักดิ์โลหะภัณฑ์ เอื้อเฟื้อให้ถ่ายภาพเหรียญและรูปปั้นหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ)