คำสอนโลกคดีธรรม ภาษาลาว

คำสอนโลกคดีธรรม ภาษาลาว


ช่วงนี้กำลังค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือภาษาลาว ได้พบ “คำสอนโลกคะดีทำ” ในหนังสือ “คำพี อานาจักและทัมมะจัก แห่งทัมมะสาด กดหมายบูรานลาว” ของท่าน สำลิด บัวสีสะหวัด น่าเสียดายที่ท่านสำลิดไม่ได้บอกแหล่งที่มาของเรื่องนี้ และไม่มีอธิบายข้อมูลอะไรเพิ่มเติมไว้เลย ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นธรรมสอนใจดีมาก ใช้ได้ทั้งใน “วันวาน” และ “วันหน้า”

อย่าเห็นเป็นของโบราณคร่ำครึ จริยธรรมเหล่านี้ คือสิ่งค้ำจุนสังคม จึงขอถ่ายทอดเป็นภาษาไทยเผยแพร่ ดังต่อไปนี้

คำสอนโลกคดีธรรม

๏ ในภายหน้าพุ้น ผ้าสี่แจจักได้เอาเป็นถง (ผ้าถุง) คนหลงเมืองจักได้เอามาเลี้ยงเป็นท้าว
ฝนจะตกบ่ใช่เมื่อ นักปราชญ์เบื่อคลองธรรม คนบ่ยำนักปราชญ์
นักบวชจักละคลองวินัย ไพร่น้อยจักคิดการเมือง ผ้าเหลืองจักคิดการบ้าน
จักมีภายภาคหน้าพุ้นชะแล
เจ้าตนบุญจักตกต่ำคล้อย ไพร่น้อยจักขึ้นเมือบิน พวกข้าคนจักได้กลายเป็นใหญ่
เป็นคนใส่สินไหมในภายหน้า เกิดมาเป็นคนอายุยืนมีน้อย
อายุสั้นแควนหลายก็จักมีภายหน้าแท้ดีหลีแลนา
อันหนึ่งอย่าปลูกกล้วยแกมเลา อย่าจาคำเก่ามันเล่าผิดกัน แลอย่าจาคำเศร้าต่อเจ้าขุน
อันหนึ่งเห็นเหล็กอย่าว่าถ่าน อย่าเอาท่านต่างประเทศมาเป็นขวัญใจ
อย่าละ (รีต) คองภายใน อย่าเสีย (รีต) คองภายนอก
ภายหน้าหมาจิกจอกจักได้เยี่ยวใส่ไตคำมหาเศรษฐี จักมีบ่อย่าชะแล ฯ
นัยยะหนึ่ง อย่าห่อข้าวให้ข้าท่านลักหนี อย่าซื้อขอนมาให้ท่านย่ำ
อย่าป้ำ (โค่น) ไม้ขวางทางหลวง อย่าฟันโลงให้ท่านเข้าอยู่ อย่าแทนที่อี่ปู่บ่ดี
อย่าพากันนอนที่ทางสามเส้นคบกัน อย่านอนที่น้ำสามสบ คบกับด้วยคนขี้คร้าน
อย่ากล่าวต้าน (พูด) คำล่าย (คำเท็จ) เทาะเมีย อยู่ทุ่งอย่าสานวี (พัด) อยู่ดีอย่าถามหาหมอ
อยากด่วนให้รีบการ อยากช้านานให้รีบแล่น อย่าหนีบหมากแมน
อย่าดูแคลนผู้ปากกว้าง อย่าเลี้ยงข้อยข้าท่าน อย่าเอาแม่มานเป็นสหาย
ท่านว่าเสือลายอย่าว่าอี่ปู่ ท่านว่าน้ำเหล้าอย่าว่าน้ำตามเมีย
อย่าฟันครกไม้ทอง อย่าฟันกลองไม้ม่วง อย่าแปลง (ทำ) บ่วงขวางทาง
อย่ากอดนางในน้ำ อย่านอนหงายเล่นดาบ อย่าคายนมเมีย
อย่าอุ่นข้าวแลง อย่าแกงหม้อหนึ่ง อย่าอัดน้ำเหมือง อย่าค้างขั้นได (บันได)
อย่าไปที่มืด อย่าปืด (เปิด) เสื้อให้ท่านเห็นหลัง อย่าชังเจ้าหนี้
อย่าขี้ใส่ทางหลวง อย่าเอาเฟือง(ฟาง)เช็ดขี้
กินข้าวอย่าบิดปาก กินหมากอย่าบิดสบ กินแกงร้อนให้ค่อยเป่า
จงใจเป่าให้คิดดีหลี หมั่นหลับให้หมั่นตื่น อย่าได้ลื่น (ล่วงเกิน, ผิด) คองเมือง
อย่าได้ไขถง (ผ้าถุง) กลางกาด (ตลาด) อย่าประมาทผู้มีสิน อย่าปีน (ขัดแย้ง) คองอย่ามักโทษ
อย่าโกรธกล้าสะหาว (สามหาว) ความ อย่าเอาคนเกียจคร้านมาเลี้ยง
หวังสุขลุกเมื่อเช้า อย่าเอาตีนถีบบันได
อย่าออกปากเสียงแหลม อย่านุ่งผ้าลายให้หมาเห่า อย่าเล่าความเก่ามันเล่าผิดกัน
กินบ่หวานทานบ่ขึ้น ประการหนึ่งเห็นท่านเผาหนังอย่าถามขี้แข้ว(ขี้ฟัน)
เห็นแม่หญิงโลบเลี้ยวอย่าได้ดูแคลนเมีย
ช่างหลับให้ช่างตื่น ช่างกินให้ช่างไว้ ช่างไปให้ช่างมา
บ่ควรเอาอย่าเอา บ่ควรถืออย่าถือ
มือบ่ควรสีนอย่าสีน ตีนบ่ช่างไปอย่าไป ดัง (จมูก) บ่ช่างดมอย่าดม
ตาบ่ช่างดูอย่าดู หูบ่ช่างฟังอย่าฟัง ปากบ่ช่างปากอย่าปาก
ชาติเป็นขุนเป็นเจ้าพระยาเสนาอามาตย์แลคนคะหัด (คฤหัสถ์) นักบวชก็ดี
ให้พิจารณาตรงที่ได้ยินที่หู ได้ดูที่ตา ให้พิจารณาถ้วนถี่ในใจให้คัก
ผักบ่ทันเขียวอย่ารีบกินเป็นอาหาร การบ่ดีอย่าได้กล่าว
แม่น้ำใหญ่อย่าว่าบ่มีฟอง… เห็นหนองบัวอย่าว่าใสสิงแก้ว
เช้าอย่าว่าสาย งายอย่าว่าค่ำ ร้อนลำบากอาบน้ำ อย่าโตนฟองจำจกฮู
อย่าเฮ็ดแขนสั้น จำป้ำไม้อย่าเฮ็ดหลังยาว
จำสงคาวอย่าว่าข้าวัด ปัดกวาดตาดให้ล้างบาตรอย่าว่าเจ็บมือ
ช่างหลับบ่ช่างตื่นก็จิบหาย ช่างย่างบ่ช่างเทียวก็จิบหาย
ช่างกินก็ช่างไว้ก็จิบหาย ช่างไปบ่ช่างมาก็จิบหาย
ช่างปากบ่ช่างเว้าก็จิบหาย
หินะชะนา อันว่าคนทังฝูงใด ฮู้ที่หู บ่ดูที่ตา บ่พิจารณาที่ใจ ก็จิบหาย
ประการหนึ่ง ผ้าบ่ขาดครองได้ผ้าผืนลาย เมียยังบ่ทันตายครองได้เมียผู้ใหม่ ก็จิบหาย
ทังชาตินี้แลชาติหน้า บุคคะละ (บุคคล) ผู้ใดออกปากบ่เป็นมังคะละ (มงคล)
ว่าสว่างเสียในเมื่อพ่อแม่ตายดั่งนั้น ก็จิบหาย
ตาเว็น (ตะวัน) บ่ตกจำให้ตกก็จิบหาย เดือนบ่ตกจำให้ตกก็จิบหาย
ตีนิปัญหามีอันว่า ปัญหาสามประการคือ สนุกอย่าม่วน เมียวอนอย่ายีน เฮ็ดกินอย่าคร้าน
เข้าบ้านอย่าอาย อย่ากายคำผู้เถ้า ขี้คร้านอย่าได้เป็นบ่าวพระยา
อันหนึ่งอย่าสักกะลัน (เร่งตำ) ครกข้าวแต่เช้าให้ผู้เฒ่าตื่นตกใจเป็นบาปหนัก
ขึ้นเฮือนอย่าเอาตีนทืบคันได (บันได) มันจิบหาย
เห็นควายเพิ่นผีข้า เห็นพ่อค้ามักใส่สินไหม ก็จิบหาย
ข้าคนให้เทียวเมือง ก็จิบหาย ทำร้ายแก่ภิกษุสามเณร ก็จิบหาย
ไฟลุกในเฮือนเอาออกนอกเฮือน ไฟดังนอกเฮือนเอาเข้ามาในเฮือนก็จิบหาย
ไฟลุแล้วพลอยเล่าเอาฝอยมาอ่อย ก็จิบหาย
ตักข้าวในเล้าเอาตีนทืบเยีย (เหยียบย้ำ) ก็จิบหาย
กินน้ำเขาะ (เคาะ) แอ่งกินแกงเขาะถ้วย ก็จิบหาย
อย่าม้างกระแส อย่าแปรหนทาง อย่าม้างหน้าจีด อย่าฮีตประเพณี อันนี้ก็จิบหาย แลนา ๏

สุภาษิตคำสอนเหล่านี้เขียนอธิบายขยายความได้อีกมากมาย ต้นเค้าร้อยกรองลาว-ไทก็มาจากคำคล้องจองอย่างนี้ งดงามไพเราะมาก

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: วันวานกับวันหน้า
Column: Days Behind And Days Ahead
ผู้เขียน: โชติช่วง นาดอน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com