ข้าวขวางโลก

ทางอีศาน ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: วิถีไทบ้าน
Column: Thai Folkways
ผู้เขียน: มาโนช พรหมสิงห์

During the influx of Thai workers into other countries in the decade around 1987, the tempting high pay made many heads of family in the northeast of Thailand leave their fields and gardens, their cattle as well as their family, in the hope of gaining some “gold” abroad. The consequences of this phenomenon: all kinds of frauds and cheats on the workers, debt problems, loss of land as a means of livelihood, are inevitable for many farmers. But Papa Daeng had gained a significant conclusion which will change his life forever.

He had left his wife and their three children to go “sell his labour” in Singapore for four years and finally got cheated when he went to work in Taiwan the following year.

One day … he was sent in the company car to work on hinges and bolts repairing job, which he finished in less than an hour. He had to wait for the car until evening to get back as scheduled. The strict rule was : no sleep, no matter what ! Papa Daeng shouted in his mind “I would have survived back then at home, if I had been as industrious ” It was like a pledge to return to homeland in order to embrace the fields and the paddy again and for good.

e-shann2_วิถีไทบ้าน

หมากส้มผ่อสุกสีเหลืองเต็มต้นสูงใหญ่ แดดเที่ยงเดือนห้าสาดประกายอร่ามเรืองดั่งเปลวเพลิงไปทั่วทั้งทาม วงข้าวริมกอไผ่หน้ากระท่อมช่างให้ความหมายอันทรงค่า เมื่อฉากหลังของความอิ่มอร่อยมื้อนี้คือผืนนาในร่องหลุบลาดต่ำลิบลงไป ซึ่งต้นข้าวกำลังผลิรวง ชูช่อถักทอเป็นผืนยาวเหยียด ขับเน้นความหมายแห่งความมั่นคงทางอาหารของชีวิตและพืชพันธุ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียวรวงมิใช่มีค่าเพียงดอกเบี้ยของธกส. หรือเงินในกระเป๋าอย่างที่เคยเข้าใจ

พ่อแดง หาทวี ลุกจากพาข้าว เดินไปล้างมือตรงโอ่งน้ำข้างเพิงครัว แล้วเอื้อมมือเหนี่ยวเก็บหมากส้มผ่อมาใส่ปากเคี้ยว รสเปรี้ยวซ่านลิ้นเผยกลิ่นหอมอวลในจมูก ทำให้ชาวนาวัย ๕๗ ปี ผู้เคยเอ่ยประโยค ‘หากอยู่ที่บ้านถ้าขยันได้เท่านี้ กูจะไม่อดตาย’ เมื่อครั้งแรมรอนไปทำงานในถิ่นห่างไกลจากมาตุภูมิ กระหวัดความคิดหวนกลับไปยาวไกลในดินแดนอดีตกาลตั้งแต่เยาว์วัยของตน

มูนมังของเด็กชาย

ครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่งแห่งบ้านหนองไม้ตาย (ชื่อปัจจุบันคือบ้านสุขสมบูรณ์) มีที่นาทำกินเลี้ยงปากท้องเป็นนาโคกจำนวน ๕๑ ไร่ และนาทามที่บ้านบุ่งมะแลง เลยท่าหินสอไปไม่ไกลนักจำนวน ๓๓ ไร่ ครอบครัวนี้มีลูก ๑๕ คน คนที่สองที่ชื่อ ‘แดง’ เข้าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

เมื่อละจากห้องเรียน แดงก็กระโจนตัวลงสู่ท้องนา เอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่อแม่และพี่ชาย ภาพของความเหนื่อยยากของผู้บังเกิดเกล้า ที่ต้องมุ่งมั่นสู้งานเพื่อเลี้ยงดูลูก ๆ จำนวนมากให้พ้นจากความอดอยากยากแค้น และได้แลเห็นความมหัศจรรย์ของต้นข้าวที่งอก หยัดต้น ผลิรวง กระทั่งเป็นข้าวร้อน ๆ และหอมหวนในกระติบข้าว ได้ผูกพันตัวเขากับท้องทุ่งนาและต้นข้าวเกินกว่าใคร ๆ แหละเปิดรับมันเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของจิตวิญญาณอย่างไม่รู้ตัว อันจะมีผลต่อการเลือกทางเดินชีวิตของเขาในกาลต่อมา ทั้งการต้านการรุกเข้ามาฮุบครองที่ดินของทุน ผนวกกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างไม่หวั่นเกรง และการเลือกปลูกข้าวพันธุ์พืชบ้านโดยไม่พึ่งพาสารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น

ออกเรือนและการหยั่งรู้ในต่างแดน

พันธุ์ข้าวในนาของครอบครัวหาทวีล้วนเป็นพันธุ์พื้นบ้าน โดยนาโคกก็จะปลูกพันธุ์หมากโพ อีดำด่าง ส่วนนาทามก็จะเป็นพันธุ์อีเตี้ย สายพันธุ์ที่ตอบสนองต่อการบริโภคในครัวเรือนของตน กับการเก็บรักษาเป็นอันดับแรกสุด ก่อนขายให้กับเพื่อนบ้านในชุมชน

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นปีที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำอย่างไม่รู้ลืม เมื่อข้าวในนาขายได้มากที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เงินเก็บกำในบ้านมีมากพอที่หนุ่มแดงจะคิดถึงการสร้างครอบครัวของตนครั้นพูดคุยกับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่แล้ว การสู่ขอสาวคนรักใกล้บ้านที่หมายปองไว้ แล้วแต่งงานอยู่กินด้วยกันจึงดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักฮีตคองของหมู่บ้าน แหละนั่นเป็นจุดผันเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ที่พาเมียออกเรือนไปอยู่กับอาผู้ซึ่งใช้ชีวิตอย่างไร้ลูกหลานช่วยหาอยู่หากินทำไร่ไถนาเป็นการไปช่วยเหลือญาติพี่น้อง แหละลดจำนวนปากท้องพร้อมความสิ้นเปลืองข้าวปลาอาหารของครัวเรือนตัวเอง ซึ่งมีลูกกำลังกินกำลังอยากอยู่ถึง ๑๕ คน

จุดนี้เองที่นำพาพ่อแดงไปสู่การเรียนรู้วิธีคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน โดยอาคนนี้คอยสอนบทเรียนอันยิ่งใหญ่และถือเป็นหัวใจของคนทำนาท่ามกลางการเลือนหายขององค์ความรู้ด้านนี้ในกาลเวลาต่อมา

ช่วงที่แรงงานไทยไหลบ่าออกไปทำงานในต่างประเทศ ในทศวรรษ ๒๕๓๐ ความเย้ายวนของค่าจ้างค่าตอบแทนอันสูงลิ่ว ได้พรากหัวหน้าครอบครัวในดินแดนอีสานจำนวนมากให้เดินทางร้างไกลจากท้องไร่ท้องนา ฝูงวัวฝูงควายและลูกเมีย ไปขุดทองในต่างประเทศ ผลพวงจากปรากฏการณ์นี้ ทำให้เกิดขบวนการหลอกลวงคนงานสารพัดรูปแบบ ปัญหาหนี้สิน การสูญเสียที่ทำกินจึงเกิดกับชาวนาชาวไร่จำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าพ่อแดงกลับได้บทสรุปสำคัญอันจะพลิกผันชีวิตไปตลอดกาล… เมื่อจากเมียและลูก ๆ ๓ คนไปขายแรงงานในต่างประเทศ หลังจากรอนแรมทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ๔ ปี และแล้วก็ถูกหลอกเมื่อเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันในปีถัดมา

วันหนึ่ง… รถของบริษัทขับพามาทำงานซ่อมบานพับและเปลี่ยนกลอนประตู ซึ่งทำแล้วเสร็จในชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมง ทว่าต้องรอคอยรถมารับกลับในช่วงเย็นตามกำหนด โดยต้องรักษากฎระเบียบห้ามนอนเด็ดขาด พ่อแดงรำพึงกู่ก้องในใจว่า ‘หากอยู่บ้าน ถ้าดู๋หมั่นได้ทอนี่ กูกะบ่อดตายดอก’ ดั่งเป็นคำมั่นสัญญาที่จะหวนกลับมาตุภูมิ เพื่ออยู่ในอ้อมกอดของผืนนาและต้นข้าว อย่างยั่งยืนยาวนานตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง

แม้ว่าการกลับคืนผืนนา ณ บ้านเกิดเมืองนอนจะเป็นภาพฝันเล็ก ๆ อันสวยงามของหนุ่มชาวนาผู้เจียมเนื้อเจียมตนคนหนึ่ง ทว่าเขาหารู้ไม่ว่าเมฆหมอกทะมึนแห่งกระบวนการรุกเข้าครอบครองที่ทำกินของชาวบ้านผู้ต่ำต้อยยากไร้ โดยอิทธิพลแห่งทุนและอำนาจการเมือง กำลังก่อตัวขึ้นเป็นกำแพงขวากหนามคุกคามและปิดกั้นเส้นทางสู่ฝันของเขาอยู่ เสมือนเสือร้ายหมอบนิ่งรอคอยอยู่ในความมืดด้วยแววตาประสงค์ร้าย…

พร้าขอในวงล้อมปืน

เมื่อกลับมายืนหยัดทำนาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘ โดยมิได้นำพากับกระแสการไหลบ่าไปขายแรงงานต่างแดน รวมทั้งเงินเดือนค่าตอบแทนสูงลิ่วที่คอยหลอกล่อใจ ประจวบกับในช่วงนั้นทุกหย่อมหญ้าในแถบนี้ กำลังถูกกว้านซื้อจากนักการเมืองของจังหวัด พ่อแดงหลับตามองเห็นที่นามูนมังพ่อแม่ ผืนพรมสีเขียวของต้นข้าวอันศักดิ์สิทธิ์ จะกลับกลายเป็นป่าว่างโหวงของไม้แปลกปลอมนาม ‘ยูคาลิปตัส’…

พ่อแดงตัดสินใจอพยพพาลูกเมียมาสร้างเพิงปลูกบ้านที่ดูไม่ต่างกับเถียงนาน้อยบริเวณนาทาม ๓๓ ไร่ ด้วยหวั่นเกรงว่าผืนดินส่วนนี้จะถูกเล่ห์กลข่มเหงจนสูญเสียไป เมื่อการรุกคืบของการกว้านซื้อที่ไม่เป็นธรรมโอบล้อมประชิดเข้ามาทุกขณะแหละด้วยความคิดที่ต้องการจะเป็นกันชนขวางอำนาจที่โลภเห็นแก่ตัวอย่างไม่หวั่นเกรง เขาละนาโคก ๕๑ ไร่มา ประกาศมอบหมายให้กับน้อง ๆ ปันกันทำกินโดยตนจะออกจากบ้านหนองไม้ตายไปอยู่บริเวณบุ่งกับนาทามที่บ้านบุ่งมะแลง เอ่ยร่ำลาน้องทุกคนก่อนจะจูงลูกเมียจากมาว่า

‘อ้ายจะไปรักษามูนมังของพ่อแม่ อ้ายจะไปขวางอำนาจบาตรใหญ่ที่คอยแต่เหมบเต็งชาวนาชาวไฮ่ยากไร้อย่างหมู่เฮา’

เมื่อไปสร้างบ้านปานเถียงนาอยู่ที่บุ่งทามแล้วพ่อแดงก็ยังออกทำงานก่อสร้างในเมืองเป็นช่วง ๆ เพื่อหากินหาอยาก ด้วยลูกทั้งสามก็กำลังโต และจิตใจยังไม่นิ่งเพียงพอ…

อยู่มาวันหนึ่ง มีคนมาเรียกให้ไปเจรจาและชี้เขตที่นาของตน พวกนั้นมากันกลุ่มใหญ่พร้อมรถกระบะคันโต เหลียวมองแต่ไกลก็รู้ไม่ยากว่าในกระเป๋ากางเกงในมือของพวกนั้นมากกว่าหนึ่งคนมีปืน เป็นหยังเป็นกัน- พ่อแดงครางในใจ ก้าวไปคว้าพร้าขอดายหญ้าที่พิงไว้กับโคนต้นส้มผ่อ แล้วก้าวเดินช้า ๆ ตรงไปหาคนกลุ่มนั้น ขณะลูกหล่าส่งเสียงร้องจ้าตามมา เสียงของลูกมันมิได้ทำให้ก้าวของเขาอ่อนแรงละล้าละลัง ทว่ากลับยิ่งเพิ่มความมั่นใจในสิ่งที่จะกระทำยิ่งขึ้น…

วันแห่งการเผชิญหน้ากับอำนาจบาตรใหญ่ผ่านพ้นไปอย่างไม่มีเหตุร้ายใด ๆ หัวใจของชาวนายากไร้คนหนึ่งกลับยิ่งกล้าแกร่ง ปณิธานที่จะพลิกฟื้นผืนนาให้อุดมสมบูรณ์มั่นคงสืบไปชั่วลูกชั่วหลานลุกเจิดจรัสจนสลัดงานก่อสร้างทิ้ง เพื่อจะประกาศว่า ‘กูคือชาวนา’ ได้อย่างเต็มเสียงและหยิ่งทะนง

จับต้นข้าวดัดนิสัย จับตนตั้งสติ

ทุ่มเทเต็มแรง ให้เวลาทั้งวันกับต้นข้าวและแปลงนา ดั่งร่างกายจิตใจของตนเป็นต้นข้าวต้นหนึ่ง ยืนหยัดในหลัก ๒ ประการ คือ ปลูกเฉพาะพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน กับลดต้นทุนลดการทำร้ายตนเองและคนในครัวเรือน ด้วยการไม่ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์กับยาฆ่าแมลง

‘จะทำได้ก็ต้องตรึกตรอง ใช้สติในการทำนาด้วย สติต้องตื่นรู้ตลอดเวลา บ่โลภ บ่หลง บ่ใจเร็วด่วนได้ คือ ทำอย่างไรก็ได้ขอแต่ให้มีเงินเต็มกระเป๋า ต้องดัดนิสัยตัวเอง หัดมันตั้งสติให้เที่ยงจากนั้นก็ดัดนิสัยต้นข้าวในนาของเฮา… ให้มันปรับตัวกับดินที่บ่มีปุ๋ย บ่มีสารเคมี มันอาจจะบ่งามในระยะแรก แต่เมื่อปรับตัวได้ นิสัยดีแล้ว ในปีที่สามมันจะงามจนบ่อยากจะเชื่อ’ พ่อแดงเล่าด้วยอารมณ์ขันบนแคร่ริมกอไผ่ ลมเมษาพัดโชยมาจากทิศเหนือ หอบกลิ่นหอมรวงข้าวและความเย็นชื่นจากทุ่งนามาคลอเคลียร่างผอมสูง อารมณ์ดี แข็งแรงของชายชาวนาวัย ๖๐ ผู้เป็นลูกชายคนที่ ๒ ของพ่อแม่ แต่ทว่ากลับกลายเป็นเสาหลักและเป็นผู้นำให้กับพี่น้องของตน

‘ดัดนิสัยตนเองได้แล้ว ต้นข้าวก็ได้แล้ว คราวนี้ก็ถึงคนใกล้ตัวนี่แหละ… ยากคือกันเด้อ บ่แม้นง่าย กว่าจะดัดให้เข้าใจกันได้’ รอยยิ้มเสียงหัวเราะกลั้วปนในคำพูด เมื่อพ่อแดงเปิดเผยว่าเมียรักที่อยู่กินกันมานานกลับไม่เห็นด้วยกับการปลูกข้าวอินทรีย์พันธุ์พื้นบ้าน จึงต้องใช้ความมุ่งมั่นทำจริงสู้จริงของตนเป็นเครื่องพิสูจน์ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นสุขภาพของคนในเรือนที่ดีขึ้นกว่าเดิม แหละวอนเมียรักให้อดใจรอวันที่ข้าวถูกดัดนิสัยจะกลับมางอกงามอีกครั้ง…

สุดท้ายเมื่อประจักษ์ความจริงของทุกสิ่ง นางจึงหยัดยืนเคียงข้างและเป็นแรงใจให้พ่อแดงเสมอมาไม่แปรเปลี่ยน

คัดพันธุ์

บทเรียนการคัดพันธุ์ข้าว สมัยเมื่อพาเมียออกเรือนไปอยู่ช่วยอาทำนาที่บ้านหนองไม้ตาย ยังจดจำอยู่ไม่รู้ลืม ยังนำมาใช้จวบจนปัจจุบัน

โดยเมื่อปลูกข้าวผ่านไป ๓-๔ ปีก็ควรจะคัดพันธุ์ใหม่ได้ เริ่มตั้งแต่ดูความงอกงามของกอ ของรวง แล้วถอดเฉพาะรวงที่สมบูรณ์เก็บไว้ จากนั้นจึงใช้เท้ายี (ย่ำ) แกะเมล็ดดูลักษณะเรียวยาว ลายสีเปล่งปลั่งตามลักษณะเฉพาะของพันธุ์ อาจจะใช้ฟันขบ หากขบเผาะจะงอกดี จากนั้นจึงนำเมล็ดที่คัดได้มาผึ่งให้ได้ ๒ แดด หรือเกี่ยวรวงที่จะเก็บมาผึ่ง ๒ แดด แล้วใช้เท้ายี เมล็ดพันธุ์ที่คัดแล้วจะเก็บไว้ในกะทอที่ปูใบตองไว้ เก็บรักษาบนร้านสูงจากพื้นคอนกรีต ห่างจากหลังคาสังกะสี ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนจัด ไม่อับชื้น เขียนชื่อพันธุ์กำกับไว้ให้ชัดเจน

สำหรับการตกกล้านั้นต้องเขียนชื่อพันธุ์ปักป้ายไว้ ใช้ตาข่ายกั้นแยกแต่ละพันธุ์ แม้เมื่อนำไปดำ (ปลูกแบบกลีบเดียว) ก็จะต้องปักป้ายไว้ เพื่อสังเกตการเจริญเติบโตทุกระยะ พร้อมกับการจดบันทึก ประดุจนักวิทยาศาสตร์ทำงานในห้องทดลอง จึงจะได้ข้อมูลที่ใช้เปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยของข้าวแต่ละพันธุ์อย่างถูกต้องแม่นยำ

‘สิ่งที่จะทำให้ชาวนาสบายใจบ่วิตกกังวลก็คือมีพันธุ์ข้าวปลูกไว้กับตัว บ่ต้องซื้อหา ตอนนี้นาที่นี่มีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอยู่ ๒๐ กว่าพันธุ์ มันสบายใจจนบ่อยากหนีจากผืนนาทามนี้ไปไหน เกษตรอินทรีย์มันทำให้ระบบนิเวศน์ในท้องนาสมบูรณ์ดีอีหลีสามารถเสาะหาอาหารได้ทุกฤดูกาล ที่สำคัญเมื่ออยู่ติดที่ตลอดทั้งปี จะได้สังเกตและจดบันทึกข้อมูลของผืนนาและข้าวได้อย่างละเอียดในทุกขั้นตอน… หากที่แห่งนี้จะพัฒนาไปในวันข้างหน้ากลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องข้าวอินทรีย์พันธุ์พื้นบ้าน… มันจะเป็นศูนย์ที่บ่มีอาคารอีหยังเลยเพราะอาคารการเรียนรู้อยู่ตรงนี้แล้ว’ พ่อแดงชี้นิ้ววาดไปข้างหน้า… อาคารและบอร์ดนิทรรศการความรู้ คือผืนนาเขียวขจีท่ามกลางแสงแดดสุกปลั่งนั่นเอง ที่นั่นคือ ศูนย์รวมของพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน อาทิ อีเตี้ย อีดำด่าง หมากโพ อีตมหอม ดอหอม เจ้าลอย โสมมาลี หอมดง หอมสามกอ ฯลฯ ‘ปุ๋ย ก็คือใบไม้ ฟางข้าว หญ้า ขี้วัวขี้ควาย บ่ต้องซื้อหาดอก ข้าวงามกินแซบ สุขภาพดี ถ้าจะให้ดีต้องประกันความมั่นใจด้วยการปลูกข้าวก่ำติดนาไว้อย่าให้ขาดเชียว เอาไว้กันผี กันแมลง คุ้มครองข้าวทุกต้นให้ศักดิ์สิทธิ์มั่นคง’ เกริ่นนำก่อนจะเล่าถึงการขายพันธุ์ข้าวปลูก

พ่อแดงเริ่มขายข้าวปลูกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยจำกัดจำนวนขายให้รายละไม่เกิน ๖ กิโลกรัม กิโลกรัมละ ๓๐ บาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวนาในชุมชนใกล้เคียง และเคยขายข้าวปลูกพันธุ์อีเตี้ยให้กลุ่มชาวนาในภาคเหนือตอนล่างจำนวนถึง ๑ ตัน

ทุ่มเทตนชักชวนและให้ความรู้กับชาวนาทั่วไป รวมทั้งขยายแนวคิดผ่านสื่อต่าง ๆ เสมอมาทว่าก็ไม่อาจเปลี่ยนวิธีการทำนาของชาวนาส่วนใหญ่ได้ เพราะปลูกข้าวอินทรีย์เช่นนี้จะงอกงามไม่ทันอกทันใจ และความเคยชินกับการทำนาในแบบเก่า ซึ่งแค่ได้ยินได้ฟังพ่อแดงพูดก็จะเข้าใจเอาเองว่าเป็นราคาคุยที่มิอาจเป็นไปได้เลยในความเป็นจริง

‘แต่ก็มีคนทำตามพอสมควรแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากเห็นข้อดีว่า ทำแบบเรานี้มันมีข้อดีตรงที่ สุขภาพดี ลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เก็บพันธุ์ข้าวปลูกเอง บ่ต้องวิตกกังวล แล้ววิถีชีวิตโดยรวมเป็นวิถีแห่งธรรม ละลดความอยากได้ใคร่มี บ่โลภโกรธหลง มีสติกับทุกสิ่งในชีวิตประจำวันของอย่างนี้มันต้องลองเบิ่ง เพื่อจะได้เรียนรู้ เพื่อจะก่อเกิดปัญญา ลองทำบ่ต้องมาก ที่พอเหมาะกับคน ๆ หนึ่ง ก็ราว ๆ ๔ ไร่ ซึ่งน่าจะได้ผลผลิตถึง ๖ ตันต่อการปลูกครั้งหนึ่ง…

เห่อตามเงิน เห่อตามกิเลส มันเป็นกระแสบ้าคลั่งทำลายชีวิตทั้งลูกเมียทั้งตนเองและคนกินข้าวในโลกทุกคน… มันต้องลุกขึ้นมาขวางอย่างจริงจังอีหลีอีหลอเสียที’

พ่อแดงกล่าวทิ้งท้าย ก่อนจะเดินลงสู่แปลงนาทดลองของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มีคน ๓-๔ คน กำลังช่วยกันขึงตาข่ายกันนกลงมากินข้าวที่กำลังชูรวงอวบเปล่งปลั่ง ในแดดสีหมากสุกของยามเย็น.

Related Posts

ทนง โคตรชมภู : ความรัก ศิลปะ ที่สุดปลายปีกฝัน
นวนิยาย : กาบแก้วบัวบาน (๒)
การ์ตูนข่วงบักจุก : จุกชายคา ทางอีศาน ๒
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com