กินข้าวป่า (๑)

ลูกเถ้าแก่บ้านนอก (เจ๊กโคก)

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐ | มิถุนายน ๒๕๕๙

เรื่อง สุรินทร์ ภาคศิริ
ภาพ สมศักดิ์ มงคลวงศ์

“กินข้าวป่า” เป็นธรรมเนียม ประเพณีของชาวอีสานมาแต่โบราณ “กินข้าวป่า” คือการนัดแนะเปลี่ยนบรรยากาศไปกินข้าวนอกบ้านโดยจะนัดแนะกันในหมู่เพื่อนฝูงหนุ่มสาว หรือกลุ่มญาติ ๆ ไปจนถึงชุมชน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทำให้สังคมชุมชนได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ ร่วมกิจกรรมให้เกิดความสามัคคีผูกพันในหมู่คณะ ถ้าเปรียบสมัยนี้ก็เหมือนกับนัดกันไปกินข้าวนอกบ้าน หรือไปปิกนิกแบบชาวตะวันตก

แต่การนัดกันไปกินข้าวป่าของชาวอีสานนั้น จะเป็นป่าบรรยากาศธรรมชาติจริง ๆ ในหน้าเทศกาลสงกรานต์ ชาวอีสานจะเลือกเอาวันเนาว์นัดกันไปกินข้าวป่า แต่คงไม่จำกัดเฉพาะสงกรานต์เท่านั้น วันสบาย ๆ วันหยุด วันว่างหรือมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมก็นัดกันไปกินข้าวป่าได้เหมือนกัน

สถานที่ไปกินข้าวป่าส่วนมากจะเป็นตามห้วยหนองคลองบึง หรือทุ่งนา ชายป่าชายเขาที่อุดมสมบูรณ์และบรรยากาศดีพอสมควร อยู่นอกเมืองนอกชุมชน

การไปกินข้าวป่าเขาจะเตรียมเครื่องใช้ไม้สอยเท่าที่จำเป็น อาจเป็นหม้อต้มแกง มีดพร้าครกสาก ส่วนเครื่องปรุงพริกเกลือ นํ้าปลาปลาร้า ข้าวก็คือข้าวเหนียวนึ่งใส่กระติ๊บข้าวเตรียมให้พอเพียงกับจำนวนคน สำหรับอาหารไปหาเอาข้างหน้า จับกุ้ง หอย ปู ปลา กิ้งก่า กะปอม หรือไข่มดแดง ผักก็เป็นผักป่าที่เกิดในหนองนํ้าตามธรรมชาติ ได้อะไรก็ทำสิ่งนั้นแบบง่าย ๆ เรียกว่า หาผักตามท่า หาปลาตามนํ้า” ซึ่งบ่งบอกว่าสมัยก่อนอีสานอุดมสมบูรณ์

เมื่อไปรวมตัวกันที่นัดหมายแล้วจะปูเสื่อปูสาด ตามร่มไม้ ชายนํ้า หรือใช้ใบไม้ ใบตอง ใบหญ้าปูรองพื้นฐานที่ตั้ง ถ้ามีเด็กเล็กลูกหลานไปด้วยก็จะช่วยเป็นลูกมือผู้ใหญ่เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติไปด้วยในตัว ผู้ใหญ่แต่ละคนก็จะออกหาอาหารแยกย้ายกันไปตามถนัด บางคนใช้สวิงลงห้วยหนองช้อนกุ้ง หอย ปูปลา บางคนเข้าป่าเก็บผักที่เกิดตามธรรมชาติ ผักเม็ก ผักกะโดน ผักกะเดา ฯลฯ ผักกินกับนํ้าพริกอีกมากมายหลายอย่าง บางคนก็เอาเชือกทำบ่วงมัดปลายไม้ยาว ๆ ไปคล้องกะปอม บางคนก็หาไข่มดแดงตามต้นไม้ช่วยกันไปล่าไปหาไม่นานได้อะไรมา ก็มาเตรียมปรุงต้มยำทำก้อย ตามแต่ถนัด ฝ่ายหนึ่งก็จะจุดฟืนก่อไฟ สับมะละกอทำส้มตำ กว่าจะเสร็จร่วมเที่ยง กำลังหิวพอดี เก็บใบกุง ใบจาด เป็นไม้พื้นเมืองที่มีใบกลมใหญ่ มาเยอะ ๆ วางปูพื้นแทนเสื่อได้ อาหารปรุงกันง่าย ๆ สด ๆ ร้อน ๆ วางกับพื้นใบตอง หรือใบบัว ล้อมวงกินกัน สรวลเสเฮฮาสนุกกับรสชาติอาหารพื้น ๆ ใต้ร่มไม้ หรือชายนํ้าอร่อยได้บรรยากาศอย่าบอกใคร

ผมเคยไปกินข้าวป่ากับรุ่นพี่รุ่นน้ำมาหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ยังจำได้สมัยที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เพื่อน ๆ นัดไปกินข้าวป่ากันตอนปิดเทอมมีเพื่อนนักเรียนหญิงชายนับสิบคน สถานที่นัดกันอยู่นอกเมืองเป็นหนองน้ำไม่ใหญ่นักใกล้ชายป่า ก่อนวันจะไปกินข้าวป่าเพื่อนคนหนึ่งเขาเอา “เสือดักปลา” เป็นชื่อเครื่องมือดักปลาชนิดหนึ่งสานด้วยไผ่รูปทรงคล้ายหัวเรือครึ่งลำ ถูกตัดเอาเฉพาะท่อนหัวเรือ เอากิ่งไม้แห้งใส่สุม ๆ ไว้ให้รก ๆ เพื่อล่อให้ปลามาอาศัย ลากลงไปในหนองนํ้าไว้ดักปลาไว้ล่วงหน้า

เช้าวันต่อมาพวกเรานัดรวมพลขนหม้อแกง ครกสาก มีด มะละกอ พร้อมเครื่องปรุงอื่นอีกเท่าที่จำเป็นออกเดินทางไปยังหนองนํ้าชื่อ “หนองบัว” เพราะมีบัวอยู่เต็มหนอง ห่างตัวเมืองหลายกิโลฯ ใช้วิธีเดินลัดข้ามทุ่งนา ก่อนถึงชายป่าก็จะถึงหนองบัวเป้าหมาย พวกเราบางคนเป็นเด็กในเมืองลูกคนจีนไม่ค่อยชำนาญคุ้ยเคยกับธรรมชาติ หว้ ย หนอง คอลง บึงมากนัก ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับหนองนํ้าที่ใส มีดอกบัวสวยขึ้นเยอะแยะ บรรยากาศร่มครึ้มของต้นไม้ใหญ่ริมหนองนํ้า ที่เรายึดเป็นที่ตั้งหุงหาอาหารกัน เพื่อนที่เป็นลูกชาวบ้านเจ้าของพื้นที่จะเป็นคนคอยแนะนำให้ไปเก็บใบไม้ใบตองมาปูพื้นเป็นที่พัก

เสร็จแล้วต่างแยกย้ายกันออกหาอาหาร หาผักป่า ที่จะนำมาประกอบอาหารกัน เพื่อนฝ่ายหญิงจะหาฟืนมาก่อไฟ ต้มนํ้า บางคนก็สับมะละกอทำส้มตำ

ผมกับเพื่อนคนที่เอาเสือดักปลาไปไว้ในนํ้าตั้งแต่วันก่อน เราช่วยกันลากเสือดักปลาขึ้นจากหนองน้ำ มีทั้งกุ้งฝอย และปลาหลายชนิด ได้ปลาตัวขนาดย่อม ๕ – ๖ ตัว เพื่อนเขาบอกว่า มีทั้งปลาขาว ปลาสร้อย ปลาซิว เขายังบอกอีกว่าปลา

ตัวโตเอาไว้ต้มใส่มะขาม ส่วนปลาซิวล้างสะอาดเอาไว้ทำ “หมกปลาซิว” ใช้ใบตองห่อโขลกพริกกระเทียม หอม ใบผักกะแยง (ผักพื้นบ้านที่เกิดริมห้วยริมหนองที่มีนํ้าแฉะ ต้นสีเขียว สูงประมาณคืบ มีกลิ่นหอมฉุนใช้ดับกลิ่นคาวปลาได้ หอมอร่อยด้วย) ใส่เครื่องลงคลุกกับปลาซิวห่อด้วยใบตองหรือใบบัวก็ได้ ย่างไฟให้สุกก็จะได้หมกปลาซิวง่าย ๆ ส่วนกุ้งฝอยเอาไว้ทำ “ก้อยกุ้ง” ล้างกุ้งให้สะอาด ใส่พริกป่น ข้าวคั่วหอมแดง นํ้าปลาร้า มะนาว ถ้าไม่มีเขาจะเอามดแดงตัวเป็น ๆ ลงไปคลุกเคล้าจะได้รสเปรี้ยวจากเยี่ยวมดแดง นี่แหละเป็นต้นตำรับกุ้งเต้นของจริง เพราะกุ้งส่วนหนึ่งยังไม่ตายเมื่อคลุกพริกกับข้าวคั่วมันก็จะเต้น ๆ

ก้อยกุ้งกับส้มตำสด ๆ แถมมีสายบัวที่เก็บจากหนองนํ้าลอกใยข้างนอกออกสด ๆ กรอบ ๆ เป็นผักแกล้มก็แซบนํ้าหูนํ้าตาไหลเลยทีเดียว

อาหารอีกอย่างหนึ่งที่มักจะมีการไปกินข้าวป่าก็คือ “ไข่มดแดง” เขาจะเดินหารังมดแดงตามต้นไม้ในป่า มดแดงจะทำรังโดยเอาใบไม้มาติดกัน ใช้กันใช้ใยสีขาว ๆ จากตัวมดแดงเป็นตัวเชื่อมให้ใบไม้ติดกันห่อเป็นรังกลม ๆ ตัวราชินีมดแดงก็จะไข่ไว้ในรังเป็นร้อย ๆ ใบ สีขาวเล็ก ๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อพบรังมดที่มีไข่เขาก็จะตัดกิ่งไม้ที่มีรังมดแดงลงมาจากต้นไม้ แล้วเอารังมดแดงเคาะให้ไข่ลงไปในถังนํ้า ไข่จะจมลงในนํ้าส่วนตัวมดแดงจะลอยเป็นแพอยู่บนน้ำก็ซาวออกทิ้ง เหลือแต่ไข่เม็ดขาว ๆ รวมทั้งตัวอ่อนสีขาว ๆ ด้วย แช่นํ้าล้างให้สะอาดเสร็จแล้วหาใบบัวอ่อน ๆ ในหนองนํ้ามาเย็บเป็นกระทง ซาวไข่มดแดงลงในกระทงใบบัว ใส่เครื่องปรุง พริก ตะไคร้ หอมแดง ปลาร้า ฯลฯ เอากระทงใบบัวไปตั้งไฟจนเดือดสุกดี กลิ่นหอมฉุย

ต้มปลาใส่มะขามในหม้อแกงร้อน ๆ หมกปลาซิวกลิ่นฉุย ส่วนก้อยกุ้ง กับส้มตำเทใส่ใบบัววางกับพื้น ข้าวเหนียวในกระติ๊บ พวกเรานั่งล้อมวง นั่งขัดตะหมาด หรือนั่งยอง ๆ ตามอัธยาศัย บางคนเดินไปเดินมาหยิบตรงโน้น จิ้มตรงนี้ กินไป คุยกันไป ทั้งอร่อย ทั้งสนุก เป็นบรรยากาศที่ประทับใจจริง ๆ ผักแกล้มก็คือสายบัวผักแว่น ที่เก็บจากหนองบัวนั้นแหละอาหารแต่ละอย่างที่หาได้ง่าย ๆ ปรุงง่าย ๆ แบบอาหารป่าที่ทำสด ๆ จากของที่หาได้ด้วยมือตัวเอง ปรุงเองแบบสูตรใครสูตรมัน ในบรรยากาศธรรมชาติแบบกินข้าวป่าจริง ๆ ประกอบกับถึงเวลาหิวพอดี อาหารทุกอย่างจึงถูกรุมจนเกลี้ยงไม่มีเหลือ

นั่นคือประเพณีกินข้าวป่าที่ชาวอีสานสืบทอดกันมาแต่โบราณ ปัจจุบันถึงจะยังปฏิบัติกันอยู่แต่ก็น้อยลงทุกที บ้านเมืองเปลี่ยนไปสังคมเปลี่ยนไป ประเพณีวัฒนธรรมก็เฉไฉไปด้วย คนอีสานรุ่นปัจจุบันไม่ชอบไปกินข้าวป่าแต่ชอบไปกิน “ข้าวเมือง” มากกว่า มีรถเครื่อง รถมอเตอร์ไซค์ รถปิคอัพ ก็นัดกันไปกินข้าวในเมืองเข้าบาร์ เข้าผับ จิ้มจุ่ม หมูกระทะ ปลาดิบ ในห้องอาหาร พิซซ่า เฟรนฟรายในศูนย์การค้าใหญ่ ๆ แอร์เย็น ๆ แม้แต่คนในหมู่บ้าน ตำบลยังเปลี่ยนมานิยมกินอาหารกล่อง อาหารถุงกันเกือบหมดแล้ว

ต่อไปกลัวว่าคนอีสานจะนึ่งข้าวทำอาหารกินเองไม่เป็นแล้ว…

(ติดตามอ่านตอนต่อไป)

Related Posts

ฮูปแต้มวัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน
มหัศจรรย์บัวหลวง
มะเขือในครัวไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com