(4) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (23/3/20)
#โลกพร้อมรบ แต่ไม่พร้อมรับโรคระบาด
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด19 ยังพุ่งไม่หยุด โดยรวมทั่วโลกใกล้ 340,000 ตายเกือบ 15,000 คน ที่อิตาลี 60,000 เพิ่ม 6,000 ตายรวม 6,000 ที่สหรัฐอเมริกาเกือบ 34,000 เพิ่มวันเดียวเกือบ 10,000 คน ตาย 420 ที่สเปนเกือบ 30,000 เพิ่มวันเดียวกว่า 3,000 ตาย 1,750 ที่เยอรมัน 25,000 ตาย 92 นักระบาดวิทยาเยอรมันบอกว่า ตัวเลขจริงในหลายประเทศน่าจะมากกว่าที่ประกาศถึง 3-4 เท่า
ที่เยอรมัน สหพันธรัฐมีมาตรการร่วมกัน ไม่ได้ “ปิดประเทศปิดเมือง” แต่ปิดสถานที่ต่างๆ ที่คนไปชุมนุมกันทั้งหมด ห้ามชุมนุมกันนอกบ้านเกิน 2 คน ยังออกไปทำงาน ไปตลาด ซื้อยาหาหมอ ไปประชุมสำคัญ รวมทั้งไปเดินเล่นออกกำลังกาย “คนเดียว” ได้ เพราะประเมินแล้ว คนเยอรมันส่วนใหญ่รับรู้สถานการณ์และร่วมมือดี
สถานการณ์น่าห่วง คือ สหราชอาณาจักรที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เพิ่งออกมาตรการเข้มงวดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปิดบาร์ปิดพับร้านอาหาร ฯลฯ เพราะโดนวิจารณ์หนักว่า อังกฤษ “รู้สึกช้า” กว่าประเทศอื่น และน่ากลัวว่า ตัวเลขเกือบ 6,000 วันนี้จะพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน คนตาย 280 คนก็ไม่น้อย น่าจับตาประเทศนี้ที่ออกจากอียู มีปัญหาเรื่องบุคลากรสาธารณสุข หยูกยา อุปกรณ์ต่างๆ ที่เคยซื้อขายไปมากันสะดวก
อีกที่หนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกา ที่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนนายทรัมป์ยังดูแคลนสถานการณ์ว่า ไข้หวัดใหญ่ยังหนักกว่านี้ วันนี้กลายเป็นผู้นำงานต้านการแพร่ระบาดเอง เพราะถ้าเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจถดถอยหนัก คนตกงาน เลือกตั้งเดือนพฤศจิกานี้จะได้เป็นประธานาธิบดีอีกหรือ
แต่ก็ยังคุยโม้ว่าจัดการได้ หาอุปกรณ์สำหรับโรงพยาบาลได้พอ ยังตอกย้ำเรียก ”ไวรัสจีน” อยู่นั่น และไม่ลืมโทษจีนว่า ที่อเมริกาหนักวันนี้เพราะจีนปิดบังข้อมูล ทำให้เราเตรียมตัวไม่ทัน เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นตามเคย
มลรัฐต่างๆ ในอเมริกาเริ่มมาตรการเข้มงวดไล่ตามๆ กัน วันนี้คนอเมริกัน 80 ล้านคน “ถูกกักตัว” อยู่ในบ้าน ออกได้ด้วยเหตุผลจำเป็นต่างๆ เหมือนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก วันก่อนเห็นแพร่ภาพนักศึกษาปิดเทอมไปเที่ยวทะเลที่ไมอามีกันแน่นหาด พอมีข่าวคนหนุ่มคนสาวติดเชื้อและตาย หาดก็ถูกปิด งานเลี้ยงสังสรรค์ถูกห้าม
นักระบาดวิทยาเยอรมันคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อและคนตายยังจะสูงขึ้นไปอีกอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จากนั้นน่าจะทรงตัวและลดลง แต่ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ เพราะโควิด19 เป็นเรื่องใหม่ ไม่อาจมั่นใจได้เท่าใดนัก แต่เนื่องจากมีตัวอย่างจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ทำให้เบาใจได้ว่า มาตรการต่างๆ ที่ทำกันน่าจะ “เอาอยู่” ได้
โดยทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า การทดสอบเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ยิ่งเทสท์มาก ค้นพบผู้ติดเชื้อมากก็ยิ่งควบคุมการระบาดได้เร็ว โดยไม่รอให้เจ็บป่วยหนักจนต้องไปโรงพยาบาล เพราะช้าเกินไป และจะไม่มีเตียงรองรับพอ ให้ “กักบริเวณ” ในบ้านเองดีที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันตั้งแต่แรก คือ หน้ากากอนามัย ซึ่งจีนและประเทศในเอเชียต่างก็ใช้กัน ไม่เพียงแต่แพทย์พยาบาลและผู้ป่วย แต่ทุกคนที่ออกไปในที่สาธารณะใส่หน้ากากอนามัยกันจนผลิตไม่ทัน แต่ที่ยุโรปอเมริกาคิดว่า หน้ากากป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดจากผู้ติดเชื้อไปสู่ผู้อื่น แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันคนปกติ จนกระทั่งวันนี้มีประกาศออกมาจากนักระบาดวิทยาว่า ป้องกันได้ และควรสวมใส่
และยังให้รายละเอียดอีกว่า ไวรัสนั้นระบาดทางลมหายใจ ในอากาศ ส่วนติดในของเหลวจากการจามการไอของผู้ป่วยจะคงคิดอยู่กับพื้น กับวัตถุสิ่งของได้นานหลายชั่วโมง จนที่เยอรมัน ผู้สูงอายุเมื่อได้รับหนังสือพิมพ์มาจากหน้าบ้าน ก็เอาไปเข้าไมโครเวฟ ให้เชื้อตายแล้วค่อยเอามาอ่าน (คนโบราณยังอ่านนสพ.กระดาษ คนยุคใหม่อาจจากเน็ต)
#โรคระบาดกับบิลล์ เกตส์
เหตุการณ์ระบาดโควิด19 วันนี้มีการ “ทำนาย” ไว้โดยหมอดู คนสื่อคนทรง คนมีพลังจิต เวลาพูดผิดไม่มีใครทักท้วง พอพูดถูกก็เอามาออกสื่อกัน เหมือนคนซื้อหวย คนถูกกินไม่มีใครพูดถึง ถูกรางวัลที่หนึ่งเป็นข่าว มีหมอดู “ดำน้ำ” กับ “ตามน้ำ” เยอะ รวมทั้งพวกที่ทายถูกเมื่อหวยออก ประเภท “กูว่าแล้ว”
บิลล์ เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ คงไม่ต้องแนะนำมาก ที่ต้องพูดถึงเขาวันนี้เพราะเขา “ทำนาย” ได้แม่นเรื่องโรคระบาด เขาพูดไว้ใน Ted Talk เมื่อปี 2015 ว่า อีกไม่นาน จะมีคนตายเป็น 30 ล้าน ไม่ใช่เพราะนิวเคลียร์ แต่เพราะ “จุลินทรีย” (ไวรัสหรือเชื้อโรค)
เขาบอกว่า โลกลงทุนอาวุธยุทโธปกรณ์ มีการซ้อมรบทั้งจริงและในห้อง ด้วยแอปต่างๆ พร้อมที่จะรบ แต่ไม่พร้อมที่จะรับโรคระบาด เพราะลงทุนน้อยในการสร้างระบบสาธารณสุข บุคลากรไม่พร้อม อุปกรณ์เครื่องมือไม่พอ ประมาท ไม่นึกว่าจะเกิดโรคระบาด ทั้งๆ ที่เกิดมาแล้วหลายครั้ง
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิบิลล์และมิลินดาเกตส์ ที่มีเงินมหาศาลที่ระดมจากเศรษฐีทั่วโลกจึงให้การสนับสนุนการวิจัยเรื่องระบบสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะการพัฒนายาและวัคซีน อย่างวัคชีนเอดส์ มาลาเรีย อีโบลา และไข้หวัดใหญ่ ที่พยายามหา “วัคซีนเดียวเอาอยู่” (universal flu vaccine) ซึ่งก็ยังไม่สำเร็จ ได้เพียงบางส่วน บางโรคเท่านั้น
ที่สำคัญ มูลนิธินี้กำลังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด19 ของบริษัท CureVac ของเยอรมัน ก่อนที่อียูจะสนับสนุนเพิ่ม (เพื่อป้องกันนายทรัมป์ “ซื้อ” ไป) ความจริง การพัฒนาวัคซีนเป็นงานใหญ่ที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ บริษัทยายักษ์ใหญ่ เพราะต้องใช้เงินอย่างน้อย 5-6 หมื่นล้านบาท
การที่มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงกำไรสนับสนุนเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันการผูกขาดจากบริษัทยา ซึ่งเมื่อยาหรือวัคซีนสำเร็จก็ตั้งราคาสูงมาก จนคนจนไม่อาจเข้าถึงได้ อย่างกรณียาต้านไวรัสเอชไอวี ทำให้ไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคนี้ได้
บิลล์เกตส์พูดใน Ted Talk ว่า โชคดีมากที่อีโบล่าถูกจำกัดอยู่แต่ในชนบท ไม่แพร่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยชุมชนแออัด และจำกัดอยู่แต่ในสามประเทศในแอฟริการตะวันตก และที่ไม่ระบาดหนักและไปไกล มีคนตาย 11,000 คนเมื่อปี 2013-2016 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ติดเชื้ออิโบล่าป่วยหนักจนลุกเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ จึงไม่แพร่เชื้อไปไกล ถ้าเป็นไวรัสตัวอื่นที่ติดง่าย ไม่แสดงอาการเร็ว เราคงไม่โชคดีเหมือนกรณีอีโบล่า “เราไม่พร้อมที่จะรับกับโรคระบาดครั้งต่อไป” และวันนี้ก็กำลังพิสูจน์ว่า ที่เขาพูดไว้ 5 ปีก่อนนั้นกำลังเกิดขึ้นจริง
ในสารคดีของ Netflix เรื่อง “โรคระบาดโลก” ที่ออกมาเมื่อต้นปี 2019 บิลล์ เกตส์ ทำนายไว้ว่า การระบาดใหญ่ของไวรัสจะเกิดในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน และจะเกิดจากตลาดสดขายเนื้อสัตว์ในเมืองจีน เพราะเขาเห็นว่า ที่นั่นมีสัตว์ป่าตัวเป็นๆ ชำแหละขาย ซื้อไปทำอาหาร สัตว์เหล่านั้นทั้งเป็นและตายปะปนกันหมด น่าจะเกิดการกลายพันธ์ุ และติดต่อคนได้ในที่สุด
โรค SARS เมื่อ 18 ปีที่แล้วก็เกิดที่จีน ติดจากค้างคาวและชะมด วันนี้โควิด19 คาดว่ามาจากค้างคาวและงู เมื่อปี 2015 บิลล์ เกตส์ ทำนายว่า การระบาดครั้งต่อไปอาจมีคนตาย 30 ล้าน อยู่นานเป็นปี วันนี้เขากลับแย้งการคาดการณ์ของนักระบาดวิทยาที่บอกว่า โควิด 19 จะอยู่นานถึง 18 เดือน
บิลเกตส์มองว่า เป็นการมองที่ลบเกินไป เขาหมายถึงที่อิมพีเรียล คอลเลช ลอนดอนบอกว่า การระบาดครั้งนี้คนอเมริกันจะตาย 2 ล้านคน เขาบอกว่าไม่น่ามากมายขนาดนั้น และจะไม่เกินสองสามเดือน เพราะเขาเห็นการฟื้นของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเชื่อเรื่องยาและวัคซีนที่เร่งทดลองและพัฒนากัน รวมทั้งการวิจัยโมเดลต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการระบาด หน่วยงานการวิจัยที่มูลนิธิของเขาก็ให้การสนับสนุนทุน และเขาเชื่อว่า วัคซีนเยอรมันน่าจะมาเร็ว และผลิตได้เป็นพันล้านโดสทีเดียว รวมทั้งจีนเองก็เร่งวิจัยและพัฒนา ระดมนักวิจัยเป็นพันคนจากทั่วประเทศ มีทุนสนับสนุนไม่อั้น
แต่คนอย่างบิลล์ เกตส์ก็อาจทำนายผิดได้เหมือนกัน เพราะเคยพลาดมาแล้ว เมื่อไม่เชื่อว่า Apple กับ Google จะสามารถทำสมาร์ทโฟนได้ นึกว่าทำเป็นแต่คอมพิวเตอร์ที่แข่งกับเขาตอนนั้นไม่ได้ แต่ปรากฎว่าสองหน่วยงานคู่แข่งของเขาครองตลาดสมาร์ทโฟนไปถึงร้อยละ 95 ขณะที่เขายังคงทำแต่เรื่อง “คอมฯ”
ส่งท้าย
@ ความเอื้ออาทร เพื่อนยามยาก มาจากการกระทำ เมื่อเฮลิคอปเตอร์นำผู้ป่วยหนักจากแคว้นอัลซาซในฝรั่งเศสไปที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฟรบูร์กและไฮเดลเบอร์กในเยอรมัน รวมทั้งอีกหลายคนที่ล้นโรงพยาบาลตามชายแดนฝรั่งเศส ทางเยอรมันก็รับไปช่วยดูแลในรัฐและเมืองต่างๆ น่าประทับใจมาก นี่คือสปิริตของประชาคม
@ มีสื่อนำภาพที่แย้งกันมาฉาย ชายหาดไมอามี่วันหนึ่งที่เนืองแน่นไปด้วยคนหนุ่มสาวนักศึกษาที่ปิดเรียน กับวันต่อมาที่มีแต่หาดทราย เงียบสงบ มีแต่สายลม แสงแดด น้ำทะเลสีครามกับเกลียวคลื่นแตกฟองไล่กันมาชนฝั่งแล้วกลับลงไปในทะเล ขึ้นๆ ลงๆ โดยไม่มีใครไปรบกวน เช่นเดียวกับหาดบอนดี ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ที่วันก่อนคราคร่ำด้วยผู้คน วันต่อถูกปิดตายเป็นหาดร้าง
@ นิวยอร์คเมืองที่ไม่เคยหลับ วันนี้ถนนหนทางว่างเปล่า ไทม์สแควร์จุดนัดพบของผู้คนจากทั่วโลก แม้แท็กซี่สีเหลืองยังหายาก นิวยอร์คขอเวลาพักผ่อนนอนหลับให้สบายสักหลายวัน ไวรัสจะได้ช่วยชำระล้างเมืองให้สะอาด แล้วค่อยกลับมาเดินกันใหม่
@ แฟลซม็อบที่น่ารักมากที่เยอรมัน เมื่อนัดกันเวลา 18.00 น.ของเมื่อวาน เปิดหน้าต่างที่พักเล่นเพลง Ode to Joy (An die Freude) ทำนองที่ทุกคนรู้จักดี ด้วยเครื่องดนตรีที่แต่ละคนถนัด บางคนไม่เล่นก็ร้องไปด้วย น่าจะดังก้องไปทั่วประเทศ อย่างน้อยในเมืองใหญ่ ได้ยินไปทั่วอย่างแน่นอน เป็นเพลงตอนท้ายจากซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน ที่ได้กลายเป็นเพลงประจำประชาคมยุโรปไปแล้ว
@ สถานการณ์บ้านเราเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มาตรการต่างๆ น่าชื่นชม แต่น่าห่วงมาก คือ เศรษฐกิจ หลายประเทศมีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน เพราะคนจำนวนมากอาจไม่ตายเพราะโควิด19 แต่เพราะอดตาย หรือตรอมใจตายมากกว่า ขออย่าให้บ้านเราถึงขึ้นนั้นเลย
ขอบคุณภาพจาก https://www.afro.who.int/fr/node/12206