ยี่สิบสี่ มิถุนา…

ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ ประจำเดือนมิถุนาย ๒๕๕๖
คอลัมน์: เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ
Column: Easy… easy
ผู้เขียน: ปกรณ์ ปกีรณัม

ถึงเดือนมิถุนายน ของทุกปี ผมจะนึกถึงเพลง…ยี่สิบสี่มิถุนา…ยน มหาศรีสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ ของรัฐธรรมนูญของไทยฯ…นึกได้ว่าที่ด้านซ้ายของลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าประตูสนามเสือป่าจะมีหมุดฝังอยู่ มีข้อความจารึกว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” เป็นจุดที่หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านคำประกาศให้โลกรู้ว่าสยามประเทศเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญประชาธิปไตย ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานระบอบการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว (ฉบับที่ ๑)

๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว จัดประชุมครั้งแรก ลงมติให้แต่งตั้งอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เรียกชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕) (ฉบับที่ ๒)

๑๔ ปีผ่านไป คณะรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติม เสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และเมื่อทรงพระราชดำริเห็นชอบ จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ (ฉบับ ที่ ๓)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๓ ใช้เพียงปีกว่า ๆ ก็เกิด “คณะรัฐประหาร” ยึดอำนาจ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๐

จากนั้นก็มีคณะบุคคลอีกหลายคณะ ใช้ชื่อหรู ๆ เช่น คณะปฏิรูปฯ, คณะทหาร, คณะปฏิวัติ, สมัชชาแห่งชาติ, เข้ายึดอำนาจล้มล้างแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาใช้ รวมความแล้วประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๑๘ ฉบับ ปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (ฉบับที่ ๑๘)

เห็นกำลังยื้อกันไปยื้อกันมา ฝ่ายหนึ่งบอกว่าจะแก้ อีกฝ่ายบอกว่าแก้ไม่ได้ ต่างก็อ้างเอาราษฎรอย่างพวกผมว่าเป็นฝ่ายของตัวเอง

จะทำอะไรก็ทำเถอะครับ ถึงพวกผมยกมือเห็นด้วยหรือยกมือค้าน พวกท่านก็จะทำอย่างที่พวกท่านตั้งใจอยู่แล้ว และเมื่อทำสำเร็จจะออกหัวออกก้อย พวกท่านก็มีวาทะกรรมมีเหตุมีผลให้พวกผมคล้อยตามได้อยู่ดี

มีอยู่ครั้งหนึ่ง “จี้ให้นายกรัฐมนตรีลาออก” เกิดรัฐประหาร ก็เกิดวาทะกรรมที่ว่า “กิจการต่าง ๆ ไม่ก้าวหน้า ข้าราชการพลเรือนขาดวินัยไปทำงานตามกระทรวง มีแต่สวมเสื้อเชิ้ตและกางเกงตัวเดียว ตลอดจนผู้แทนราษฎรบางคนนุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อเชิ้ตปล่อยชายเสื้ออยู่ข้างนอกกางเกง เข้านั่งประชุมในสภาผู้แทนราษฎร” คณะรัฐประหารจึงขอร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก

และเคยมีเหตุผลที่ว่า “ราษฎรผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมด” จึงต้องมีสมาชิกสภาฯทั้งจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง เหตุและผลเหล่านั้น ก็สมเหตุสมผลดีครับ

กำลังเครียด ๆ เพราะรถติด ขับรถตามหลังสิบล้อ อ่านสติ๊กเกอร์ที่ติดท้ายรถ คลายเครียดไปได้เยอะ “โลกมีไว้เหยียบ ไม่ใช่มีไว้แบก”

Related Posts

ส่องซอด ทางอีศาน ฉบับที่ 14
ซ่างแต้มฮูป อีสาน ล้านนา สู่อารยธรรมสุวรรณภูมิ
ความยั่งยืนและเป็นธรรม ของการจัดการน้ำขนาดเล็ก

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com