ความยั่งยืนและเป็นธรรม ของการจัดการน้ำขนาดเล็ก

ความยั่งยืนและเป็นธรรม ของการจัดการน้ำขนาดเล็ก

ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: บ้านเมืองเรื่องของเรา
Column: Our Country Is Our Business
ผู้เขียน: สนั่น ชูสกุล


นโยบายการจัดการน้ำของรัฐไทยตั้งแต่ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา เน้นในเรื่องของการจัดหาแหล่งน้ำซึ่งมีคำตอบสำเร็จรูปอยู่ที่การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ การทดน้ำผันน้ำ กล่าวได้ว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้ง “กรมคลอง” ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ มี นาย เย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด วิศวกรชาวเนเธอร์แลนด์ เป็นเจ้ากรมคลองคนแรกทิศทางการจัดการน้ำถูกชี้นำโดยองค์ความรู้จากประเทศตะวันตก ใช้ความรู้สมัยใหม่ที่มองทรัพยากรอย่างแยกส่วนและเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจภาคทุนนิยม

การจัดการน้ำแบบสมัยใหม่เริ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง มีการขุดคลอง ทดน้ำ สร้างเขื่อนและระบบส่งน้ำ สร้างพื้นที่ชลประทานเพื่อปลูกข้าวตอบสนองการขยายตัวของสินค้าเกษตรเพื่อส่งออกที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางรวดเร็ว จากนั้น ในระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับการเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แผนงานการจัดการน้ำก็ขยายไปสู่ภาคเหนือภาคอีสาน โดยผู้บริหารมีจินตภาพของ “เจ้าพระยาโมเดล” เขื่อนขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นได้รับการบันทึกเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของผู้บริหารแต่ละยุคสมัย มีการนำชื่อขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์มาตั้งชื่อเขื่อนมากมาย

เขื่อนต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นแม้จะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่เป็นเหตุสำคัญของการทำลายป่าและตัดตอนระบบนิเวศทางธรรมชาติ พร้อมกับการทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม และไม่เคยมีการประเมินผลหรือทบทวนกันอย่างจริงจังถึงความคุ้มค่า ความเหมาะสมของการสร้างเขื่อนและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ข้อมูลที่มีอยู่บ้าง เช่น ข้อมูลของสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่าเขื่อนต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในลุ่มน้ำมูล มีประสิทธิภาพในการชลประทานสนับสนุนพื้นที่เกษตรเพียงร้อยละ ๒๐ – ร้อยละ ๓๐ เท่านั้นขณะที่ชลประทานขนาดเล็กที่สร้างมาแล้วกว่า ๑,๐๐๐ โครงการมีการใช้ประโยชน์น้อยมาก และข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าหลายร้อยสถานีในภาคอีสานนั้น มีประสิทธิภาพ ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ หรือที่เราพบความจริงที่น่าตกใจในโครงการ โขง ชี มูล ที่ราษีไศล ที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงไปแล้วว่า การจัดการให้มีพื้นที่ชลประทาน ๑ ไร่นั้น ใช้งบมากกว่า ๓ แสนบาท

อย่างไรก็ตาม นโยบายการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โครงการผันน้ำ ยังคงมีต่อไปตราบเท่าที่งบประมาณด้านนี้ของหน่วยงานรับผิดชอบสูงขึ้นทุกปี และกระบวนการสร้างเขื่อนยังถูกชี้นำด้วยกลุ่มธุรกิจการเมืองในภาคอีสาน ซึ่งถูกปั่นกระแสเรื่องความแห้งแล้ง ก็จะมีสารพัดโครงการผุดตามกันมาอย่างชอบธรรม

นานเหลือเกินกว่าคนในสังคมแห่งนี้จะคิดขึ้นมาได้บ้างว่า ที่เราสร้างบ้านแปงเมืองกันมาจนเจริญรุ่งเรืองได้ขนาดนี้ การทำนาอย่างเช่นในภาคอีสานนี้ก็ด้วยการทำนาน้ำฝน ด้วยชลประทานขนาดเล็กของชุมชน ทำขึ้นมาด้วยสมองและมือของชาวนาตัวเล็ก ๆ ถึงปัจจุบันก็ยังคิดเป็นร้อยละ ๙๕ ของพื้นที่

ความจริงที่ถูกค้นพบและยืนยันในภายหลังคือความรู้ท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการน้ำในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคแม่น้ำโขงนั้นมีอยู่มากมาย หลากหลายไปตามสภาพนิเวศและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่ได้เรียนรู้ สั่งสมถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น มาสู่การคิดค้นวิธีการที่จะดัดแปลงสภาพทางธรรมชาติมารับใช้ชีวิตมนุษย์ เพื่อการอยู่รอดมีการดัดแปลงพัฒนา ผลิตซ้ำ ผลิตใหม่เรื่อยมาทุกยุคสมัย มนุษย์เรียนรู้จนสามารถคาดการณ์ฟ้าฝนได้จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ รู้ระดับสูงต่ำและลักษณะของเนื้อดิน ระดับของน้ำหลากท่วมแต่ละช่วงฤดู รู้ธรรมชาติของพืชพรรณธัญญาหารดั่งคำพูดที่ว่า “รู้ใจฟ้า เข้าใจดิน” เช่นนี้ เขาสามารถคิดค้นวิธีที่จะสร้างเงื่อนไขและออกแบบการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเก็บหาผลผลิตจากธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม

ในการจัดการเพื่อหาน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก มีมาตั้งแต่ที่มนุษย์รู้จักปั้นคันนากั้นน้ำเพื่อการทำนาน้ำฝน ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมและเป็นแบบแผนหลักอยู่ในทุกภูมิภาคถึงปัจจุบัน แม้จะมีระบบการชลประทานแบบสมัยใหม่มาเสริมอย่างไรการทำนาก็ยังต้องอาศัยรูปแบบการชลประทานพื้นฐานนี้อยู่ ชาวนาทุกพื้นที่มีการวางระบบเหมืองนาเพื่อกระจายและระบายน้ำในทุ่งนา มีกติกาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรกำกับบอกขอบเขตของสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของนาแต่ละผืน ที่มีหลักประกันว่านาทุกแปลงจะได้รับน้ำอย่างทั่วถึง เป็นแบบแผนของการจัดการร่วมกันของชุมชนที่อยู่บนฐานของการแบ่งปันและร่วมแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

ในลำห้วยเล็ก ๆ ก็ยังมีการปั้นทำนบหรือฝายเพื่อยกระดับน้ำในลำห้วยแล้วทดน้ำเข้าที่นาตามความจำเป็นของการหล่อเลี้ยงต้นข้าว หรือทดน้ำเข้าลำเหมืองสู่การแบ่งปันแก่ผืนนาที่อยู่ต่ำลดหลั่นลงไป ก่อรูปเป็นการจัดตั้งทางสังคมที่มีประสิทธิภาพและอำนวยความเป็นธรรมแก่ทุกคนในกลุ่มในชุมชนให้ได้ “อยู่รอด” ร่วมกัน ดังปรากฏในระบบเหมืองฝายทางภาคเหนือและบางพื้นที่ในภาคอีสาน ในที่สูงต้นน้ำ ชาวนายังได้สร้างระหัดวิดน้ำโดยใช้พลังงานจากการไหลของน้ำหมุนระหัดวิดน้ำทดเข้านา และยังมีเทคโนโลยีที่ผลิตโดยใช้ความรู้ท้องถิ่นอีกมากมาย

เทคโนโลยีพื้นฐานที่เกิดขึ้นควบคู่กับการจัดการทางสังคมเหล่านี้ มีบทบาทในการตอบสนองการอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่มาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในระดับไร่นาและลุ่มน้ำขนาดเล็กเพื่อการตอบสนองเศรษฐกิจครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น และคำนึงถึงมิติต่าง ๆ อย่างหลากหลาย

จากงานศึกษารวบรวมความรู้การทำแหล่งน้ำในไร่นาในภาคอีสาน โดย อรุณ หวายคำ แห่งสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม พบว่ามีการจัดการน้ำในระบบไร่นาที่ใช้ได้ผลหลายระดับ คือ การทำคันดินกั้นน้ำ ฝายน้ำล้นกั้นลำห้วย การขุดสระการขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อบาดาล นั้นคือการจัดการเพื่อจัดหาน้ำ แต่ที่สำคัญคือ การจัดการน้ำในแปลงเกษตรอย่างประณีตนั้นมีเทคนิคมากมายเช่น การจัดระบบพืช ให้มีพืชพี่เลี้ยง การให้น้ำแบบขวด การส่งน้ำตามท่อ ทำน้ำหยด วิธีการและเทคนิคเหล่านี้ได้ประโยชน์ ทำให้มีน้ำเพาะปลูกเพียงพอ มีปลากิน ประหยัดน้ำ ประหยัดเงินสะดวก

ในพื้นที่บุ่งทามหรือที่ราบน้ำท่วมถึงริมฝั่งแม่น้ำก็มีกระบวนการจัดการน้ำที่มีลักษณะเฉพาะเช่นที่ตำบลกุดขาคีม อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในลุ่มน้ำมูนตอนกลาง ที่มีลักษณะพิเศษคือ มีน้ำขังตาม “กุด” ตลอดปี มีหมู่บ้านที่ใช้ประโยชน์จากกุดขาคีม ๙ หมู่บ้าน ๖๖๙ ครัวเรือน ประชากร ๒,๐๐๓ คน มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแห่งนี้อย่างเพียงพอ ทั้งด้านการทำนาทามและนาแซง ๒,๒๕๙ ไร่ โดยสูบน้ำทดไปตามคลองที่ชาวบ้านขุดเองง่าย ๆ นอกนั้นก็ยังใช้ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ อุปโภคและบริโภค ซึ่งชุมชนมีการจัดการ ๔ ระดับ คือ การจัดการระดับครอบครัว ระดับกลุ่มเครือญาติ และกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ การจัดการระดับชุมชนและการจัดการระดับองค์กรท้องถิ่น ได้ประโยชน์สูงสุดโดยมีแบบแผนการใช้ประโยชน์และการแบ่งปันแบบวัฒนธรรมชุมชน ปัจจุบันมีการจัดตั้งองค์กรชาวบ้านอย่างเป็นทางการเพื่อการจัดการ กุดขาคีมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมากขึ้น (งานศึกษาของ รุ่งวิชิต คำงาม, ๒๕๔๘)

ในพื้นที่สูง เช่น ชุมชนแสงภา อำเภอนาแห้วจังหวัดเลย ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ ๔๐๐ ปี ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้าและป่าภูเรือ ชุมชนแสงภามีการจัดตั้งกลุ่มเหมืองฝาย เป็นกลุ่มที่ชาวบ้านตั้งขึ้นเอง เพื่อคอยทำนุบำรุงและใช้ประโยชน์จากเหมืองฝายในการเพาะปลูก มีระบบการจัดตั้งกลุ่มตามพื้นที่และวิถีวัฒนธรรมชุมชน จำนวนทั้งสิ้น ๖ กลุ่ม เป็นกลุ่มเหมืองฝายที่ใช้น้ำจากลำน้ำภา ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มเหมืองนาถ้ำ สมาชิก ๔๒ ครัวเรือน กลุ่มเหมืองนากลาง สมาชิก ๔๓ ครัวเรือน และกลุ่มเหมืองนาหิน สมาชิก ๗๓ ครัวเรือน ส่วนลำน้ำแพร่ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มเหมืองนาทุ่ง สมาชิก ๕๐ ครัวเรือนกลุ่มเหมืองนาป่าคา สมาชิก ๒๕ ครัวเรือน กลุ่มเหมืองโป่งข่าง สมาชิก ๕๓ ครัวเรือน ก่อนถึงฤดูทำนาจะมีการลอกเหมืองฝายทุกปี โดยนายเหมืองจะตีฆ้องรอบ ๆ หมู่บ้านเพื่อประกาศให้สมาชิกมาช่วยกันซ่อมแซมและขุดลอกเหมืองฝายที่เป็นดิน ปัจจุบันฝายทุกแห่งเป็นคอนกรีตหมดแล้ว (ดนุพล ไชยสินธุ์, ๒๕๔๗)

การจัดการน้ำในลำห้วยที่มีน้ำไหลนั้น ชุมชนมีการจัดการโดยการ “กั้น” เพื่อยกระดับน้ำให้ไหลเข้าสู่แปลงนา และเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ต่อมาบางหน่วยงานก็สนับสนุนให้จัดทำเป็น “ฝายหินทิ้ง” ที่ได้ประโยชน์ตามสมควรและไม่มีผลกระทบเช่นการสร้างเขื่อนคอนกรีตกั้นแม่น้ำอย่างที่โครงการโขง ชี มูล ทำ เช่น ฝายหินทิ้งวังบอน บ้านตาดโตน ต.ตาดโตน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นรูปแบบการจัดการน้ำของระบบครอบครัวและชุมชนมีอายุประมาณ ๕๐ ปี ด้วยการทำฝายหินทิ้งในลำห้วยลำปะทาวในพื้นที่เชิงเขาเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ ความยาวประมาณ ๑๐ – ๑๕ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร ทำด้วยหินภูเขา ใบไม้ กิ่งไม้ไม้กระดาน ถุงปุ๋ยใส่ทรายปิดระหว่างซอกหินเพื่อให้น้ำไหลเอ่อสูง ไหลลงสู่เหมืองที่เป็นหินยาวแนวเป็นร่องประมาณ ๓๐๐ เมตร ไหลเข้าสู่เหมืองนาในแปลงนาของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำนาและปลูกพืชฤดูแล้งได้ประมาณ ๓๑ ครอบครัวพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ – ๖๐๐ ไร่ การดูแลรักษาใช้ ลักษณะการลงแรง ลงเงินกันปีละ ๒๐๐ บาท เพื่อเป็นกองทุนซ่อมแซมดูแลรักษาระบบของฝายหินทิ้ง เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ เป็นระบบการจัดการน้ำที่ชาวบ้านช่วยกันจัดการและใช้ประโยชน์กว่า ๕๐ ปีแล้ว (งานศึกษาของ วิเชียร เจริญสุข และพัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์, ๒๕๕๐)

ที่ชุมชนรอบป่าภูถ้ำภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น มีภูมิปัญญาในการจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ดินและใช้ประโยชน์จากการจัดการน้ำอย่างคุ้มค่า มี ๗ ลักษณะคือ
(๑) การจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า บวชป่า ติดตามการเฝ้าระวังการบุกรุกและทำลาย และตัดไม้
(๒) สร้างฝายชะลอความชื้นในป่า ๘ แห่ง
(๓) การทำฝายและบ่อชะลอน้ำฝนในนา
(๔) การขุดบ่อน้ำตื้นในไร่นา
(๕) การทำนาขนาดใหญ่
(๖) ทำการเกษตรผสมผสาน
(๗) การทำฝายหินทิ้งในแม่น้ำชี
(งานศึกษาของ ดิรก สาระวดี, และคณะ ๒๕๕๐)

ในพื้นที่สูงต้นน้ำ แต่เดิมมีการสร้างระหัดวิดน้ำ และระบายไปสู่ไร่นา มีอยู่ในเกือบทุกลุ่มน้ำในภาคอีสาน เช่น ที่ลุ่มน้ำลำปะทาว อ.เมือง จ.ชัยภูมิ มีการใช้ระหัดวิดน้ำมานานประมาณ ๒๐๐ – ๒๕๐ ปี ในอดีตเคยมีระหัดวิดน้ำจำนวน ๔๓ ตัว ปัจจุบันคงเหลือ ๑๖ ตัว พื้นที่ใช้ประโยชน์ทั้งสิ้นประมาณ ๔๐๑ ไร่ การทำระหัดวิดน้ำอุปกรณ์ส่วนใหญ่ทำจากไม้และวัสดุธรรมชาติ ระหัดวิดน้ำ ๑ ตัวสามารถใช้ได้กับพื้นที่นาประมาณ ๑๕ ไร่ สำหรับการปลูกข้าวและพืชหลังเก็บเกี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง แตงกวา ถั่วฝักยาวเป็นต้น หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของระหัดวิดน้ำกับเครื่องสูบน้ำ พบว่าตลอดฤดูการปลูกข้าว เกษตรกรมีต้นทุนในการสูบน้ำด้วยเครื่องสูบ ๑,๔๖๕.๗๓ – ๑,๗๕๕.๕๐ บาท ขณะที่ระหัดวิดน้ำมีต้นทุนในการวิดน้ำ ๓๓๓.๓๓ บาทต่อไร่ ซึ่งต้นทุนต่างกันถึง ๔-๕ เท่า หากปัจจุบันราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ความแตกต่างระหว่างต้นทุนในการนำน้ำมาใช้ก็ต่างกันมากขึ้นด้วย ทุกวันนี้มีกลุ่มระหัดวิดน้ำลำปะทาวมีสมาชิก ๑๖ คน เพื่อช่วยเหลือพึ่งพากันในการซ่อมแซมระหัดวิดน้ำและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน (วิเชียร เกิดสุข และคณะ, ๒๕๕๑)

การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของชาวบ้านลิ่มทอง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นความสำเร็จในการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชนที่โด่งดังมากในปัจจุบัน เป็นบทพิสูจน์ว่า ชุมชนสามารถลุกขึ้นมาคิด ออกแบบ เคลื่อนไหวเพื่อจัดการน้ำได้ด้วยพลังของความร่วมมือของชุมชนและหน่วยงานราชการ โดยการสนับสนุนให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ วางแผนบนฐานความพร้อมของระบบนิเวศและศักยภาพของชุมชนเอง มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่นภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง (ไอโอโนส) มาเป็นเครื่องมือในการวางแผนสำรวจการจัดการน้ำร่วมกับความรู้ภูมิปัญญาเรื่องเส้นทางน้ำโบราณของชาวบ้าน ทำให้ชุมชนได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำจนประสบความสำเร็จ ทำให้ชุมชนมีแหล่งกักเก็บน้ำเรียกว่า ระบบแม่ลิง-ลูกลิง ที่มีปริมาณเพียงพอต่อการเกษตรตลอดปี และการจัดการน้ำประปาของชุมชนที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการนี้สนับสนุนโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์

ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า โดยแท้จริงท้องถิ่นไทยมีภูมิปัญญาเพียงพอที่จะจัดการน้ำในระดับชุมชนท้องถิ่น และถ้ามีการสนับสนุนส่งเสริมที่เหมาะสมก็จะเกิดการพัฒนาที่ได้ประโยชน์สูง ค่าใช้จ่ายน้อย มีการกระจายประโยชน์ที่เป็นธรรม และเป็นหนทางที่จะสร้างการพึ่งตนเองพึ่งกันเองของชุมชนอย่างแท้จริง

ที่สำคัญคือ ชุมชนควรต้องปลดปล่อยตัวเองจากการครอบงำทางด้านความรู้และอุดมการณ์ ว่าอีสานแล้ง ยากจน ล้าหลัง เหมือนอย่างที่รัฐและสังคมนี้ใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสร้างโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเราก็มีประสบการณ์กับผลกระทบที่เกิดขึ้นถึงขั้นระบบนิเวศวอดวาย คนบ้านแตกสาแหรกขาด กันมามากพอสมควรแล้ว

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com