ไหว้ตาแฮกที่ปลายนา : หัวใจบุญข้าวสาก

ไหว้ตาแฮกที่ปลายนา : หัวใจบุญข้าวสาก

ตาเทียน – ยายพาว ผลาผล ไหว้ตาแฮก ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ที่แปลงนา

บุญข้าวสาก เป็นงานบุญเดือนสิบของคนอีศาน นอกจากทำบุญอันเป็นพิธีทางศาสนาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีความเชื่อถือถึง วิถีชีวิต การทำมาหากิน รวมอยู่ในงานประเพณีที่สำคัญของบุญเดือนสิบ – บุญข้าวสากอีกด้วย

ที่บ้านหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ยังมั่นคงศรัทธาในพระศาสนาและยังยึดมั่นในประเพณีของชาวอีศานอยู่อย่างเหนียวแน่น ที่ศาลาวัดชมพูหนองหินในตอนเช้าวันงานบุญข้าวสาก ได้มีพิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ถวายสังฆทานและอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่างคนต่างกลับบ้าน พร้อมที่จะมาทำบุญที่สำคัญในตอนกลางวัน คือทำบุญเพลอีกครั้ง

เมื่อใกล้เวลาต่างคนต่างหิ้วตะกร้าข้าวของมาใส่บาตรทำบุญเช่นเดียวกับตอนเช้า แต่ในตะกร้าที่นำของมาทำบุญในตอนกลางวันต่างจากในตอนเช้า จะมีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่และมีฉลากที่ทำมาจากบ้านเรียบร้อย ไปทำบุญรวมกันที่ศาลาเรือนไม้หลังเก่า ซึ่งบ่งบอกความเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ที่สะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ ชี้ให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติกำลังทางเศรษฐกิจ ที่ยังใช้ไม้มาก่อสร้างทำเป็นศาลาทำบุญร่วมกัน ด้วยบันไดไม้ พื้นไม้ ที่พิเศษธรรมาสน์ไม้ที่เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านช่วยกันทำศาลาจึงเป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่เป็นโรงบุญโรงทานศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน

ในตะกร้าที่นำไปทำบุญที่วัด จะมีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ และมัดใบตองที่เป็นริ้ว ๆ

คือ ฉลากหรือสลาก

ฉลาก ห่อข้าวน้อยใหญ่ หัวใจทำบุญ

ห่อข้าวน้อย เป็นห่อข้าวที่ห่อด้วยใบตองข้างในก็จะมีอาหารพื้นบ้าน ที่หามาได้จากท้องไร่ท้องนา แม้ในปัจจุบันจะหาจากท้องนาได้ยากแต่ก็ซื้อหามาได้จากการเลี้ยงของคนพื้นบ้านนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นปลา เป็นกบ มาย่างพร้อมกับข้าวเหนียวที่ปลูกจากนาของตน มาห่อรวมกันกลัดด้วยไม้กลัด

ห่อข้าวใหญ่ ก็ไม่ต่างกันสำหรับลักษณะของห่อข้าว ห่อด้วยใบตอง ของข้างในห่อเหมือนกับห่อข้าวน้อย ปลา กบ ย่าง เช่นกัน แต่เป็นห่อที่มีขนาดใหญ่ ห่อข้าวใหญ่ถวายพระ ห่อข้าวน้อยไว้เอาไปไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่ปลายไร่ปลายนา

ฉลาก หรือสลาก ตัวฉลากทำจากใบตองฉีกเป็นริ้ว ๆ ขนาดไม่ใหญ่ กว้างสักประมาณครึ่งนิ้ว นำมามัดที่ด้านบนรวมกัน ส่วนด้านล่างปล่อยไว้เป็นริ้ว ๆ เป็นมัดเล็ก ๆ

เมื่อมาถึงศาลาที่ทำบุญต่างก็มาไหว้พระและนำห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ฉลาก มารวมกัน ที่ถวายพระก็จัดไปถวายพระ เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ลงศาลาก็ดำเนินการพิธีทางศาสนาเป็นปกติ จนพระฉันเพลเสร็จเรียบร้อย พระสงฆ์ให้พร ผู้มาร่วมบุญบนศาลาต่างกรวดน้ำรับพรพระหรือหยาดนํ้าอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นเสร็จพิธีทางศาสนา

ก่อนจะกลับบ้าน ทุกคนต่างมารวมกันตรงที่ห่อข้าวน้อย ฉลาก ที่นำมารวมกันไว้หน้าพระต่างมาหยิบไปเป็นจำนวนที่พอกับที่จะนำไปไหว้ตาแฮกยังที่ไร่นา ต่างทยอยหยิบใส่ตะกร้า เป็นภาพคนมารุมมารวมกันหนาแน่น แต่เมื่อหยิบได้ครบ ก็ทยอยแยกย้ายลงจากศาลาไปทำหน้าที่ของตน

ประการแรก หลังลงจากศาลาก็มาเทนํ้าที่กรวดนํ้าหรือกรวดนํ้าอุทิศส่วนบุญกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และเอาห่อข้าวน้อยไปไหว้บรรพบุรุษ ยังเจดีย์ที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษซึ่งอยู่เรียงรายด้านข้างกำแพงของวัด ต่างวางห่อข้าวน้อย แขวนที่ต้นไม้บ้าง แล้วก็เอ่ยคำบอกเล่าให้บรรพบุรุษได้รับรู้ว่าลูกหลานมาทำบุญ แล้วนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงมาให้ ขอจงได้รับรู้และอธิษฐานขอพรจากบรรพบุรุษให้อยู่ดีมีแฮงทำมาหากินให้เจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน

ประการที่สอง เสร็จจากการไหว้บรรพบุรุษแล้ว ต่างคนต่างรีบบึ่งกลับบ้าน มีที่หมายยังที่ไร่ที่นาของแต่ละคน ในอดีตก็คงเดินเท้า ปัจจุบันเป็นมอเตอร์ไซค์ รถปิคอัพ ถนนเส้นทางหลักสายเดียวของหมู่บ้าน จึงเห็นรถราที่แล่นสวนกัน ต่างแยกย้ายไปจุดหมายนาข้าวของตน ซึ่งเป็นที่นาปลูกข้าวหล่อเลี้ยงชีวิต ไปไหว้ตาแฮก ตาแฮก ซึ่งเป็นเจ้าที่เจ้าทางอยู่ที่นา ที่ดูแลให้ทำมาหากินอย่างมีความสุข ปลูกข้าวให้ข้าวงอกงาม ได้ผลอุดมสมบูรณ์ ไม่เสียหาย ซึ่งในอดีตนาที่พึ่งธรรมชาติเป็นหลัก รอเพียงฝนจากฟ้าจากเทวดาอาจทำให้การทำนามีอุปสรรคได้ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล นาแล้ง จึงต้องจุดบั้งไฟบอกพญาแถน และงานบุญข้าวสากก็บอกแก่ตาแฮกให้ช่วยปกปักรักษา คุ้มครองดูแล อำนวยให้ทำนาปลูกข้าวและพืชผลที่ทำได้งอกงามบริบูรณ์ จึงต้องมาเลี้ยงตาแฮกบอกเล่าเก้าสิบให้ตาแฮกได้รับรู้ ทำไมต้องไหว้ตาแฮก ตาแฮกเป็นใคร มาจากไหน

ตำนานตาแฮก

ตาแฮกเป็นผีที่ดูไร่นาของชาวบ้าน ตามความเชื่อของคนอีศาน ที่นับถือผีกันมาก่อนที่จะมีพระพุทธศาสนา และนิทานหรือตำนานตาแฮกก็นำสองเรื่องมาผูกโยงเข้าด้วยกันอย่างดี

เรื่องของตาแฮก ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งเป็นลูกเศรษฐีมีทรัพย์ เมื่อพ่อตายได้ทิ้งมรดกทรัพย์สินไว้ให้มากมาย แม่ก็อยากให้ลูกชายมีคู่ ก็ไปขอสาวมาเป็นเมีย อยู่มานานก็ไม่มีลูกสืบสกุล แม่ก็จัดการหาผู้หญิงคนใหม่มาให้เป็นเมีย คราวนี้ได้เรื่อง ผัวหนุ่มก็เอาใจใส่ดูแลเมียสาวคนใหม่อย่างดี เมียเก่าเมียหลวงก็อิจฉาริษยา แต่ก็ทำดีให้ตายใจ เมื่อเมียน้อยตั้งท้องก็จัดการหายาให้กินจนแท้งลูก และถูกทำเช่นนี้จนท้องที่สามตั้งท้องก็กลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ จะได้ไม่เกิดปัญหา ในที่สุดก็เกิดจนได้ คราวนี้ตายทั้งแม่ทั้งลูก เมียน้อยก็อาฆาตผูกพยาบาทจองเวรเมียหลวงทุกชาติไป ส่วนผัวเมื่อรู้ว่าเมียหลวงเป็นคนทำก็โกรธมาก จัดการฆ่าเมียหลวงให้ตายตกไปตามกัน เมียหลวงแทนที่จะอาฆาตผัวที่ฆ่าตัวกลับเจ็บแค้นขอพยาบาทจองเวรเมียน้อยทุกชาติไปเหมือนกัน จองเวรกันไม่เลิกทั้งสองฝ่ายยังปรับทัศนคติกันไม่ได้

ชาติหนึ่งเมียน้อยเกิดมาเป็นแมว เมียหลวงเกิดมาเป็นแม่ไก่ แม่ไก่ไข่ออกมาทีไร เมียน้อยที่เกิดมาเป็นแมวก็จัดการฟาดไข่เรียบ สุดท้ายก็กินแม่ไก่เสียด้วย

จนชาติหนึ่งเมียน้อยเกิดมาเป็นมนุษย์ เมียหลวงเกิดมาเป็นยักษ์ การจองเวรก็ยังทำท่าจะดุเดือดไม่สิ้นสุด จนกระทั่งได้พบพระพุทธองค์พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดสัตว์ สั่งสอนโปรดยักษ์ให้เลิกอาฆาตเลิกพยาบาทจองเวรกันเสียไม่มีประโยชน์อะไร อาฆาตไม่จบความสงบก็ไม่เกิด จนนางยักษ์สงบจิตเข้าใจในคำสอน ในที่สุดก็ให้นางยักษ์ไปสิงสถิตอยู่ปลายไร่ปลายนา ไม่ใช่ไปเฝ้าไร่นาอย่างเดียว นางยักษ์นั้นมีความรู้เรื่องฟ้าฝนนํ้ามากนํ้าน้อย จึงช่วยดูแลให้ทำนาไร่ได้ผลดี พอมีงานบุญประเพณี คนอีศานจึงมาเลี้ยงมาไหว้ผีตาแฮกกันด้วยประการฉะนี้

แม้จะเป็นตำนาน แต่เป็นการบอกเล่าถึงความเชื่อเก่าแก่ก่อนที่พระศาสนาจะเข้ามา จนกระทั่งพบพระพุทธองค์นั่นคือพบพระศาสนาพบธรรมะ สอนด้วยธรรมะ ให้มีธรรมมีความเมตตากรุณาอภัย ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรกันและผนวกกับวิถีชีวิตการทำมาหากินด้วยความศรัทธา จึงเป็นประเพณีที่สานสืบต่อกันมา

หลังเสร็จการทำบุญ ต่างลุกมานำห่อข้าวน้อย กลับไป ให้พอจำนวนที่จะไปไหว้ที่นาของตนไหว้เจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษ

ไหว้ตาแฮกที่ปลายนา

ลงจากศาลาตามไปดูยังที่นา ที่มีนาไร่อยู่ใกล้ ๆ ตาเทียน – ยายพาว ผลาผล จัดแจงเอาห่อข้าวน้อยใส่ตะกร้าแล้วรีบขึ้นรถออกไปยังที่นา นั่งรถไปตามถนนสายหลักของหมู่บ้านได้สักครู่ก็ถึงที่นา ลงจากรถเดินหน้ามุ่งเข้าไปยังแปลงนาที่หัวฝายน้อย เลือกทำเลที่เหมาะมีพื้นที่กว้างเอาห่อข้าวน้อยแขวนตามต้นไม้ แล้วก็เปิดห่อข้าว เอานํ้าให้ ระหว่างนั้นสองคนตายายก็เอ่ยปากบอกตาแฮกเจ้าที่เจ้าทางไปด้วย

“วันนี้เป็นวันดี วันขึ้น ๑๕ คํ่าเดือนสิบ มีฉลากอาหาร ให้ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง ไม่มีญาติให้มารับเอาด้วยกัน แบ่งกันกินเด้อ ขอให้ข้าวงามให้ครอบครัวมีความสุขความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ให้เจริญขึ้น ๆ เด้อ”

ก็บอกเล่าเก้าสิบเช่นนี้ จากนาแปลงแรกที่หัวฝายน้อยไหว้เสร็จ รีบบึ่งไปแปลงที่สองที่อยู่อีกทาง นั่งรถต่อกันไปอีกสองกิโลเมตรก็ถึงนาที่บ้านข่อย จากนั้นลงเดินบนคันนา ผ่านแปลงนาคนอื่น ๆ ลึกเข้าไป ผ่านไปสามสี่แปลง จนถึงแปลงนาของตาเทียน ยายพาว พอถึงก็เอาห่อข้าวน้อยแขวนตามต้นไม้ที่นา ปากก็บอกเล่าตาแฮก “ขอให้ข้าวงามงาม ให้ครอบครัวมีความสุขความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บให้เจริญขึ้น ๆ เด้อ” จัดแจงแขวนห่อข้าวน้อยที่ใส่กะละมังมาจนหมด

ตาเทียนบอกว่าทำ กันมาทุกปี เป็นประเพณี ทำบุญที่วัดแล้วก็มาเลี้ยงตาแฮก ไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่นาของเรา มีหลายแปลงก็ต้องไปไหว้ไปบอกทุกแปลง ทำแล้วก็สบายใจ ได้ทำในสิ่งที่ปู่ย่าตายายได้ทำกันมา ยากดีมีจนอย่างไรก็สืบทอดสิ่งดีงามที่ปู่ย่า ตายายทำกันมาไม่เคยขาดสักปี และจะทำกันอยู่ตลอดไป

ลมทุ่งพัดมาเอื่อย ๆ ท้องนาเขียวขจี บุญข้าวสากปีนี้ก็เหมือนปีก่อน มาไหว้บอกเล่าขอพรให้ทำนาได้ข้าวปลาให้อุดมสมบูรณ์ดี เสียงที่บอกเล่าเก้าสิบให้ตาแฮกรับรู้ ยังดังก้องอยู่ที่ท้องนาแดนไกล และพัดผ่านเข้าไปถึงหัวใจ สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจที่ยังเปี่ยมศรัทธาอยู่ไม่มีวันรู้จักจืดจาง

“ยากดีมีจนก็สืบทอดสิ่งดีงามที่ปู่ย่าตายายทำกันมา ไม่เคยขาดสักปี”

***

คอลัมน์  ไผว่าอีศานฮ้าง  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘| กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม
ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com