ฮีตเดือนสิบ เกิดจากคติเรื่อง “เมียหลวงอิจฉาเมียน้อย”

ฮีตเดือนสิบ
เกิดจากคติเรื่อง “เมียหลวงอิจฉาเมียน้อย”

คำว่า ข้าวสลาก หรือ ข้าวสาก หรือข้าวกระยาสารท แปลว่า ของกินในฤดูสารท และคำว่า หม้อข้าว ข้าวทิพย์ ข้าวปายาส (ปายาด) ข้าวมธุปายาส ข้าวปาด ข้าวสัปปิยาคู ก็มีความหมายเดียวกันแต่เรียกต่างกัน คำว่า ข้าวสลาก มาจากคำว่า สารท (ศรทฺ) ในภาษาสันสกฤต (ภาษาบาลีมาจากคำว่า สรท) ต่อมาออกเสียงสากหรือสาด สาระทะเป็นชื่อฤดูนักขัตฤกษ์ แปลว่า ระดูดอกบัวบาน หรือระดูเป็นที่ยินดีแห่งหมา ได้แก่ระดูเดือนสิบ (หมาติดเซิงยามเดือน ๙) และเป็นฤดูใบไม้ร่วง (สารทฤดู) เริ่มต้นในเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในศาสนาฮินดู สารท แปลว่า ผู้มีศรัทธา ฤดูไม้ร่วง ประจำปี ใหม่ สด และเมล็ดพืช ได้แก่ การเซ่นสรวงบุพบุรุษฝ่ายบิดาผู้ล่วงลับไปแล้ว และพิธีพัทรบทถือว่าเป็นฤกษ์ล้างบาป บรรพบุรุษอีสานเอาคติความเชื่อทั้งสองรวมกันจึงเรียกว่า บุญข้าวสาก คำว่า สารท เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน ๑๐ โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยว มาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์

พระมหาสันติ อุนจะนำ, การศึกษาหลักคำสอนเรื่องเปรตในพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเชื่อและการปฏิบัติในวันสารทเดือนสิบของชาวพุทธ : ศึกษาเปรียบเทียบเฉพาะกรณี การชิงเปรตในจังหวัดนครศรีธรรมราช และ การตานก๋วยสลากในจังหวัดลำพูน”, วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดลกรุงเทพมหานคร, ๒๕๔๑), หน้า ๔๙.

การทำบุญข้าวสาก หรือพิธีสารท เป็นการฉลองความสำเร็จในการทำนาอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือบุญข้าวประดับดินเป็นพิธีฉลองปักดำนาแล้ว ส่วนบุญข้าวสากเป็นพิธีบุญฉลองผลที่ได้รับครั้งแรก เอาข้าวพอเป็นน้ำนมมาตำปั้น เอาน้ำข้าวอ่อนมาทำเป็นของหวานเรียกว่า มธุปายาส พวกพราหมณ์นิยมเอาไปลอยบาป นับว่าเป็นการฉลองผลสำเร็จขั้นต้นในการทำนา แล้วก็พากันเล่นมหรสพนักขัตฤกษ์ จะเห็นได้ว่า บุญข้าวสากเป็นประเพณีเก่าแก่ของพราหมณ์ ไม่ใช่พิธีอุทิศหาผู้ตายหรือทำบุญหาพวกเปรต ต่อมาเมื่อได้นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงประยุกต์ให้เข้าพิธีการบุในทางพุทธศาสนา

สีลา วีระวงส์, ฮีตสิบสอง, (จัดพิมพ์โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุบลราชธานี กรมฝึกหัดครู, ๒๕๒๙), หน้า ๓๒.

ประเพณีทำบุญข้าวสากในเดือน ๑๐ ถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ ทุกภาคของไทยและประเทศใกล้เคียงก็ปฏิบัติเช่นกัน โดยเอาวัตถุไทยทานไปประเคนพระสงฆ์สามเณรซึ่งจะใช้วิธีให้พระจับสลากเอา ภาคเหนือเรียกว่า ก๋วยสลาก ภาคกลางเรียกว่า บุญข้าวสารท พิธีทำบุญข้าวสากไม่แตกต่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ทำบุญไปหาญาติพี่น้องผู้ตายไปแล้ว จัดอาหารและยาใส่ห่อ ไปวางตามดินหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ ให้พวกเปรตมาเอาไปกิน แต่ว่าบุญข้าวสากได้จัดทำหม้อข้าวหรือกวนข้าวทิพย์ (ข้าวมธุปายาส หรือข้าวสัปปิยาคู) เพิ่มเข้าอีก เรียกอีกชื่อว่า บุญห่อข้าวใหญ่ (คือทำใหญ่กว่าบุญข้าวประดับดิน) แล้วเรียกบุญข้าวประดับดินว่า บุญห่อข้าวน้อย

ข้าวสลาก หรือข้าวสาก คือภัตตาหารที่ทายกถวายแด่พระสงฆ์สามเณรตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ในคำสอนนิสัยว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่ง การถวายไม่ได้กำหนดเขตการถวาย แล้วแต่ศรัทธาประสงค์ถวายตอนไหน เวลาใดก็ย่อมทำได้ ตามความสะดวกและสมัยนิยม ในปัจจุบันนิยมทำกันในช่วงเดือน ๑๐ เพราะมีข้าวปลาอาหารและผลไม้อุดมสมบูรณ์

การทำบุญก็เพื่ออุทิศส่วนบุญไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว นิยมจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๐ จัดทำสากและที่สลากจะมีคำอุทิศส่วนบุญกุศล เขียนชื่อผู้ให้ทานแล้วบอกชื่อผู้มารับส่วนบุญ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งดวงวิญญาณของเปรตให้กลับไปที่อยู่ของตนตามเดิม เพราะเชื่อกันว่าในปลายเดือน ๑๐ บรรพบุรุษปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และคนบาปทั้งหลายที่ตกนรกจะถูกปลดปล่อยจากนรกให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้อง ในวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๐ และให้กลับสู่นรกอีกครั้งในวันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๑๐ ซึ่งมารับส่วนบุญตั้งแต่เดือน ๙ บุญข้าวประดับดิน แล้วปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตามคติความเชื่อเรื่องนางยักษิณีเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องสลาก มีเนื้อเรื่องดังนี้

สาร สาระทัศนานันท์, ชีวิตไทยชุดบูชาพญาแถน. พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๑), หน้า ๕๗.
โสพิศ สืบศักดิ์, สารทเดือนสิบสายสัมพันธ์ระหว่างภพ. (การสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยภาคใต้, (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์), ๒๕๕๒), หน้า ๒-๓.

ขอบคุณภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธ์ุ

ประวัติเมียหลวงอิจฉาเมียน้อย

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เนื่องเป็นอสงไขย อันล่วงเลยมาจนกำหนดช่วงเวลา วัน เดือน ปีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ได้ และไม่สามารถกำหนดเป็นศตวรรษได้ โดยเริ่มต้นจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ในจักรวาลนี้ มีโลกเป็นศูนย์กลางแหง่ สรรพสิ่งทั้งหลาย มีหมู่สัตว์หลากหลายชนิดที่เกิดขึ้นมักปรารถนามาสร้างบารมีบนโลกมนุษย์ มนุษย์และสรรพสิ่ง พร้อมทั้งสัตว์ทั้งหลาย ได้อาศัยอยู่ด้วยกันต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาชั่วกาลนาน อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขตามสังคมจักรวาลสืบมา

ในสมัยก่อนพุทธกาลนานมาแล้ว ในคราวนั้นอาณาเขตแถบชมพูทวีป ยังมีเมืองหนึ่งตั้งอยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารหลากหลาย ในกาลครั้งนั้นมีตระกูลเศรษฐีผู้มีอันจะกินอยู่ตระกูลหนึ่งสมาชิกในครอบครัวมีอยู่ ๓ คน พ่อ แม่ และลูก ประกอบอาชีพอย่างสันติสุข สุจริตเรื่อยมา อยู่มาไม่นาน เมื่อบิดาผู้เป็นหลักของบ้านล้มป่วยและเสียชีวิต เหลือเพียงลูกชาย ภรรยาและทรัพย์สินมหาศาลไว้เบื้องหลัง เมื่อบิดาไม่อยู่ลูกชายจึงต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูมารดาด้วยความกตัญญูสืบต่อมา และยังมีหน้าที่ดูแลกิจการของตระกูลทั้งในไร่ นา สวน สืบมา ฝ่ายมารดาเมื่อเห็นลูกชายรับผิดชอบงานคนเดียวเพียงลำพังอย่างลำบากและไม่มีคู่คิดคู่ทำ ด้วยความสงสารลูกจึงบอกว่า “ลูกเอ๋ยตอนนี้เจ้าก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องรับผิดชอบหน้าที่มากมายเช่นนี้ แม่เห็นว่าเจ้าสมควรมีภรรยาได้แล้ว จะได้มาช่วยดูแลเจ้าและแม่บ้างคงจะดีกว่า”

เมื่อฝ่ายลูกชายได้ยินเช่นนั้นก็ไม่ค่อยเห็นด้วยจึงบอกแม่ว่ า “แม่พูดอะไรอยู่ตอนนี้ผมยังไม่พร้อมจะมีคู่ผมอยากอยู่ปรนนิบัติแม่ไปก่อน เรื่องครอบครัวของผมไว้ทีหลังได้ไหม” ลูกได้ทัดทานแม่อยู่หลายครั้ง แต่ว่าผู้เป็นแม่สงสารลูกจึงไม่ได้สนใจคำพูดของลูก อยู่มาวันหนึ่งแม่จึงได้ตระเตรียมของกำนัล และอื่น ๆ เพื่อออกเดินทางไปสู่ขอหญิงสาวที่คู่ควร มาเป็นลูกสะใภ้ของตนเองและให้เป็นภรรยาของลูกชาย ฝ่ายลูกชายเองก็ห้ามไม่ได้แล้ว จึงถามว่า “แม่จะไปหาสาวบ้านไหน จะขอลูกสาวของตระกูลไหนกันรึ…? หากจะให้เอาจริง ๆ ก็แล้วแต่แม่ก็แล้วกัน” เมื่อแม่บอกจะไปทาบทามสาวตระกูลที่ตนไม่ชอบก็ห้ามแม่ไว้ แล้วแนะนำให้ไปทาบทามตระกูลที่ตนชอบพอ แม่จึงได้ดำเนินตาม ได้ไปตระกูลหญิงที่ลูกชายรัก แล้วหมั้นหมายไว้และกำหนดวันแต่งงานพร้อมนำหญิงสาวคนนั้นมาทำหน้าที่เป็นภรรยาในเรือนของลูกชาย แต่อยู่กินกันมาเป็นปีนางก็ไม่ตั้งครรภ์ ทราบภายหลังว่าเพราะนางเป็นหมัน มีลูกไม่ได้จึงไม่เป็นที่โปรดปรานของสามีและแม่เท่าใดนักการเป็นหมันของนางเหมือนว่าฟ้าดินกลั่นแกล้งเป็นต้นเหตุในการก่อเวรกรรม

คิดหาเมียน้อยให้สามีของตน

วันหนึ่งแม่นั่งปรึกษากับลูกชายในห้องลับแต่เพียงลำพังว่า “ลูกรักเจ้าให้แม่ไปขอหญิงสาวที่เจ้ารักมาเป็นภรรยา แต่ว่าตอนนี้นางมีลูกให้ไม่ได้ โบราณกาลท่านถือว่าสกุลที่ไม่มีทายาทนั้น จะอยู่ไม่นานก็จะเสื่อมไป

เพราะไม่มีผู้สืบทอด ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้วแม่จะไปหาหญิงสาวคนใหม่มาให้เจ้าก็แล้วกัน” ถึงแม้ว่าลูกจะห้ามอีกแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะฝ่ายแม่พูดยํ้าอยู่อย่างนั้นบ่อยครั้งมาก ในขณะนั้นเองเผอิญว่าภรรยาแอบฟังอยู่ และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจึงคิดว่า ‘โดยปกติแล้วลูกมักจะไม่ฝ่าฝืนคำสอนของแม่ แม่สามีของเราจะนำผู้หญิงอื่นที่สามารถจะมีลูกได้มาแทน หากเป็นจริง อีกหน่อยเราคงกลายเป็นคนรับใช้ ไม่ต่างจากหมาหัวเน่า สามีเราคงจะมีใจออกห่าง ไม่รักเรา ไม่ได้ เราต้องชิงเอาหญิงสาวมาเป็นภรรยาน้อยด้วยตนเองจะดีกว่า เราถึงจะบริหารได้’ เมื่อคิดได้เช่นนี้จึงรีบไปหาหญิงสาวที่ตนคุ้นเคยรู้จักกันตระกูลหนึ่ง แล้วกลับมาบอกสามี ฝ่ายสามีก็เห็นด้วยว่าภรรยาตนให้ความสำคัญในตระกูลของตน จึงจัดการสู่ขอหญิงสาวที่คู่ควรของตระกูลนั้นกับพ่อแม่ของนาง

เมื่อฝ่ายพ่อแม่หญิงสาวและผู้คนได้รู้เช่นนั้นจึงแปลกใจจึงถามว่า “เจ้าทำอะไรกัน ใครจะไปยอมยกลูกสาวให้ไปเป็นเมียน้อยเล่า…!” หญิงหมันจึงกล่าวว่า “คืออย่างนี้ ตอนนี้ฉันเป็นหมันมีลูกไม่ได้ ท่านคงรู้ว่าตระกูลที่ไม่มีทายาทจะฉิบหาย ถ้าลูกสาวพวกของท่านมีลูกกับสามีฉันได้ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เป็นมรดกของตระกูลเราจะเป็นของใคร ก็ต้องตกเป็นของพวกท่านอย่างแน่นอน ขอท่านโปรดยกลูกสาวให้แก่สามีของฉันเถิดจะเป็นคุณยิ่ง”

ฝ่ายพ่อแม่หญิงสาวได้ยินเช่นนั้นก็เกิดความอยากได้ จึงตอบตกลงยกลูกสาวให้ทันที หลังได้พามาน้องสาวมาเป็นภรรยาน้อยไว้ในเรือนของสามี แต่พอเหตุการณ์เข้าสู่ปกติเมียหลวงก็เริ่มคิดใหม่ ไม่ยอมให้สามีปันใจให้หญิงอื่นโดยที่ไม่สนใจตน เมื่อมาอยู่แล้ว นางก็ใช้ชีวิตเมียน้อยร่วมกันสามคนผัวเมีย วันหนึ่งเมียหลวงได้คิดวิตกกังวลกับอนาคตของตนเองว่า ‘ถ้าหากว่าเจ้าเมียน้อยคนนี้ได้ลูกขึ้นมาแล้วไซร้ มรดกทั้งหลายที่มีอยู่ก็จะตกเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว ต่อไปเราต้องวางแผนไม่ให้นางตั้งครรภ์เลยดีกว่า’

ด้วยความวิตกกังวลปนความอิจฉาริษยาผสานกับไฟเสน่หา วันหนึ่งนางเข้าไปหาเมียน้อยแล้วบอกว่า “น้องรัก ถ้าเธอตั้งครรภ์เมื่อใดขอจงบอกฉันด้วยนะ จะได้ช่วยกันบำรุงรักษาด้วยกัน…” เมื่อเมียน้อยได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจ นางจึงรับปากโดยหารู้ไม่ ว่าเป็นความหวังดีที่ประสงค์ร้าย ต่อมาเมียน้อยตั้งครรภ์ ด้วยหวังดีนางก็บอกตามที่รับปากไว้ โดยปกติแล้ว เมียหลวงจะเป็นผู้จัดข้าวปลาอาหารให้เมียน้อย พอนางตั้งครรภ์แล้วนางจึงแอบหยอดยาให้กิน การตั้งครรภ์ลูกคนแรกของเมียน้อยจึงแท้ง เลือดไหลออกมา ผู้คนในครอบครัวต่างก็เข้าใจว่าเป็นท้องแรกของผู้หญิงซึ่งอาจแท้งได้ ก็ไม่ว่ากระไรจึงเริ่มต้นกันใหม่ กาลต่อมาเมื่อตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ ๒ ด้วยใจซื่อนางก็บอกเมียหลวงอีก จึงแท้งด้วยวิธีการเดิมเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นซํ้าความรู้สึกไม่ปกติในใจก็เกิดขึ้นแก่ใครหลายคนว่า “เหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะแท้งถึงสองหนซ้อนกัน”

ด้วยความไม่สบายใจเมียน้อยจึงเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านพ่อแม่ หลังจากทักทายสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว เพื่อนคนสนิทจึงถามว่า “เธอเป็นอย่างไรบ้างที่บ้านสามีนางเมียหลวงได้ทำร้ายบ้างรึเปล่า…?” เมื่อถูกถามเช่นนั้นจึงได้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟังอย่างละเอียด เมื่อเพื่อน ๆ ได้ฟังแล้วจึงรู้ว่านางถูกแกล้งแล้วบอกว่า “เพื่อนไม่รู้รึว่าเมียหลวงมีพฤติกรรมทำดีเช่นนั้น ก็เพราะกลัวเพื่อนจะมีลูก ก็เลยวางแผนทำให้แท้งลูกไปสองหนแล้ว ต่อไปเมื่อตั้งครรภ์ก็อย่าบอกนางอีกก็แล้วกัน”

อยู่ต่อมาเมื่อนางได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สามนางจึงไม่ได้บอก จนกระทั่งท้องเริ่มโตร่วมสี่ห้าเดือน เมียหลวงเห็นอย่างนั้นก็เข้าไปต่อว่า “น้องเป็นอะไรทำไมจึงไม่บอกฉันว่าท้องแล้วลืมไปแล้วหรือ…” ฝ่ายเมียน้อยกล่าวตอบด้วยความไม่พอใจที่นำตนมาในเรือน ยังวางแผนฆ่าลูกในท้องตายไปถึงสองคน ก็ไม่อยากเอาความเพราะถึงอย่างไรลูกก็ตายไปแล้ว จึงพูดต่อว่า “พี่ทำร้ายน้องมามากแล้ว ต่อไปเรื่องอะไรจะต้องบอก” เมื่อเมียหลวงได้ยินเช่นนั้นก็ถึงกับสะดุ้ง ด้วยเป็นวัวสันหลังหวะกลัวความผิดที่ตนทำ จึงคิดหาทางกำจัดเด็กในครรภ์ให้ได้อีก เมื่อได้จังหวะก็ใส่ยาลงในอาหาร ทำให้เด็กในท้องตาย แต่ว่าเด็กในท้องโตเกินไปจึงขับมาออกไม่ได้ อยู่นานเข้าเด็กในท้องก็เน่าจึงเป็นอันตรายต่อแม่

วันหนึ่งนางได้นอนป่วยเจ็บท้องอย่างหนักอยู่บนเตียง ก่อนสิ้นลมหายใจจึงผูกความแค้นไว้ทั้งหมด แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ‘เจ้าเมียหลวงได้พาฉันมาที่นี่ แล้ววางแผนฆ่าลูกในท้องของเราถึงสามครั้งสามครา แค่นี้ยังไม่พอตอนนี้ยังจะมาฆ่าเราอีกด้วย หากชาติหน้ามีจริงแล้วล่ะก็ ขอให้ฉันเป็นยักษ์ ได้กลับมาล้างแค้นด้วยเถิดจะได้กินทั้งแม่ทั้งลูกสามครั้งบ้าง’ เมื่อนางผูกพยาบาทแล้วเลือดพิษตีกลับขึ้นสมองหัวใจหยุดเต้นก็สิ้นใจตายจิตก็ไปเกิดเป็นลูกแมวในบ้าน ฝ่ายสามีได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมียน้อย และได้ฟังข้อเท็จทั้งหมดจากปากเมียน้อยก่อนตาย ความรักที่เคยมีต่อเมียหลวงก็หายไปกลายเป็นความแค้นตามมา ถึงแม้ว่าเมียหลวงจะอธิบายอย่างไรก็ไม่ฟัง ด้วยความโมโหที่ทำร้ายลูกของตน ตัดตระกูลของเราให้ขาดสูญและฆ่าเมียน้อย จึงเข้าไปทำร้ายร่างกายเมียหลวงจนกระอักเลือด ก่อนจะสิ้นใจตาย เมื่อจิตออกจากร่างไปเกิดในท้องแม่ไก่ในบ้านนั้นด้วย

ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม. พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย๕๐๐๐ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔๘. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘), หน้า ๕๓-๕๕.
เริ่มปฏิบัติการทวงแค้นข้ามชาติ

กาลครั้งนั้นเมื่อทั้งสองกลับชาติมาเกิดใหม่ เมียน้อยเกิดเป็นแมว ส่วนเมียหลวงเกิดเป็นไก่ เวลาผ่านไปเมื่อทั้งสองเติบโตขึ้น และเพราะเวรกรรมที่อธิษฐานไว้หลังจากแม่ไก่ตกไข่ออกมาหลายฟอง แมวจึงแอบมากินไข่ในขณะที่แม่ไก่ออกไปหากิน ถึงแม้ว่าจะเห็นแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ มีแต่เก็บความแค้นไว้ จึงได้แต่เฝ้าคอยระวังไม่ให้เกิดเป็นครั้งที่สองอีก แต่ก็ไม่เป็นผล แมวเข้ามากินไข่อีกได้เป็นครั้งที่สอง พอจะถึงครั้งที่สามจึงตัดสินใจใหม่ด้วยการเฝ้ากกไข่อยู่อย่างนั้น ฝ่ายแมวก็เข้ากินอีกจนได้ด้วยแค้นตั้งแต่อดีตชาติ จึงกระโจนเข้าไปที่เล้าไก่กัดคอแม่ไก่กินด้วย ก่อนแม่ไก่จะตายจึงได้อธิษฐานจิตว่า ‘หากชาติหน้ามีต่อไป ขอผูกพยาบาทไว้ ชาตินี้ได้กินเราพร้อมกับลูกถึงสามครา เมื่อเกิดใหม่มาขอกินคืนพร้อมกับลูกทั้งสามหนเช่นกัน’ แล้วไก่กับไข่ก็กลายเป็นอาหารแมว

หลังจากนั้นสิ้นใจตายแล้วแม่ไก่ (เมียหลวง) ไปเกิดเป็นเสือโคร่งคอยท่าอยู่ก่อนแล้ว อยู่ต่อมาไม่นานแมว (เมียน้อย) ก็ตายตามไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเนื้อทราย อยู่ในเขตป่าที่เสือโคร่งไปเกิดนั้น เมื่อทั้งสองโตขึ้นเนื้อทรายตั้งท้องและตกลูกออกมา ฝ่ายแม่เสือโคร่งได้กลิ่นเลือดก็ตามล่ากินลูกเนื้อทรายเป็นอาหาร ส่วนแม่เนื้อทรายหนีเอาตัวรอดไปได้ จากนั้นแม่เสือโคร่งก็คอยตามรอยแม่เนื้อทรายอยู่ตลอดเวลา ต่อมาเมื่อตกลูกครั้งที่สองแม่เสือโคร่งก็เข้ามาจับกินลูกอีก พอจะเข้าครั้งที่สามแม่เนื้อทรายก็ถูกเสือโคร่งจับกินได้พร้อมกับลูกที่ตกใหม่ด้วยก่อนจะตายแม่เนื้อทรายได้อธิษฐานจิตอาฆาตต่อว่า ‘หากมีชาติหน้าต่อไป เมื่อเกิดมาใหม่ขอให้เราได้กินกลับคืนด้วยเถิด’ เป็นอยู่อย่างนี้ถึง ๕๐๐ ชาติ กระทั่งมาถึงสมัยของพระโคดมพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน

http://www.sookjai.com/index.php?action=dlattach;attach=585;type=avatar

หลังจากแม่เนื้อทรายตายไปแล้ว ผ่านภพชาติประมาณ ๕๐๐ ชาติ ก็ไปจุติในครรภ์ของนางยักษิณี ผู้เป็นบริวารของท้าวเวสสุวรรณในป่าหิมพานต์ หลังจากนั้นไม่นานเสือโคร่งก็ตายตามไปผ่านภพชาติประมาณ ๕๐๐ ชาติเช่นกัน ได้กลับมาเกิดเป็นผู้หญิงในครอบครัวหนึ่ง ในเขตเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ในยุคนั้นมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นเจ้าผู้ปกครอง อยู่ในช่วงที่พระพุทธเจ้าเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาพอดี

การเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพที่ ๓ เมียหลวงและเมียน้อยที่ได้จองเวรกันมา ด้วยการทำร้ายฝ่ายตรงข้ามกินลูกและตนเองมาแล้วข้างละครั้งแล้ว ด้วยเหตุการณ์ที่ผ่านมายิ่งเพิ่มความแค้นให้แก่กันและกันมากขึ้นตามมา เมียหลวงได้กลับชาติมาเกิดเป็นผู้หญิง หลังจากเจริญวัยเติบโตเป็นสาวก็ยิ่งสวยวันสวยคืน เมื่อมีอายุได้ประมาณ ๑๖ ปี นางก็ได้แต่งงานกับคนรัก แล้วไปอยู่บ้านของสามีในฐานะลูกสะใภ้ ที่สร้างบ้านอยู่ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี อยู่กินกันต่อมาไม่นานนางก็ได้ตั้งครรภ์ลูกคนแรก

ฝ่ายนางยักษิณี (เมียน้อย) เมื่อกลับชาติมาเกิดแล้ว ก็เติบโตขึ้นมาเช่นกันด้วยแรงแค้นข้ามภพข้ามชาติมา เมื่อรับรู้ด้วยฤทธิ์ของตนจึงได้ออกจากป่าหิมพานต์มา แล้วแปลงกายเป็นผู้หญิงเพื่อนสนิทของนาง ทำเป็นท่าทีเข้ามาเยี่ยมถามหาหลานที่เพิ่งคลอดใหม่ๆ ด้วยความห่วงหาอาลัย เมื่อเดินทางมาถึง ผู้คนในบ้านจึงสอบถามว่า “หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหนกัน? ฉันเป็นเพื่อนหญิงคนสนิทมาเยี่ยม…” พวกชาวบ้านตอบว่า “ตอนนี้เขากำลังคลอดบุตรในห้องนั่นไง” เมื่อนางยักษิณีได้ฟังคำตอบเช่นนั้นจึงแสร้งพูดว่า “เพื่อนหญิงของฉันคลอดลูกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ฉันอยากจะเห็นหน้าหลานของฉันจัง”

พระครูสุทัศน์ธรรมสุนทร, หัวใจธรรมบท. (เลย : สำนักพิมพ์อนนท์จารย์, ๒๕๕๐), หน้า ๔.

 

หลังจากนั้นเดินเข้าไปในห้อง เมื่อเห็นเด็กจึงจับทารกยกชูขึ้นแล้วยัดใส่ปากเคี้ยวกินต่อหน้าต่อหน้าแม่ของเด็ก และผู้คนที่มาช่วยทำคลอดพร้อมกับญาติใกล้ชิดทั้งหลายก่อนเดินจากไป เมื่อนางเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นถึงกับตกใจเป็นลมวูบไป เมื่อนางฟื้นมาก็ร้องเสียงครํ่าครวญที่เสียลูกซึ่งเพิ่งคลอดไป ต่อมาอีกไม่นานนางก็ตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่สอง ในวันคลอด พวกญาติ ๆ คนในบ้านก็ระวัง เฝ้ายามตลอด ๒๔ ชั่วโมง แต่มนุษย์ก็ไม่อาจต้านทานฤทธิ์เดชของนางยักษิณีได้ นางยักษิณีสามารถเข้ามาลักพาตัวหายไปในกลางดึก นำความเจ็บปวดมาสู่พ่อแม่อีกครั้ง แม้ว่าจะหาวิธีป้องกันอย่างไรก็ตามที โดยไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดนางยักษิณีถึงได้จองเวรนางเช่นนี้

ในครั้งที่สามเมื่อนางได้ตั้งครรภ์อีกครั้งจึงได้บอกกับสามีว่า “นายพวกเราคงคลอดลูกอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้วเพราะนางยักษิณีคงจะมาจับกินลูกเราแน่ คงต้องหลบไปคลอดลูกที่บ้านพ่อแม่ของฉันน่าจะปลอดภัย…” ฝ่ายสามีเห็นดีด้วย จึงพากันเดินทางกลับไปอยู่บ้านเดิมของนางในวันนั้นเลย เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด นางยักษิณีก็รับรู้ได้ด้วยฤทธิ์ของตน แต่เผอิญว่าจะตามไปกินนางและลูกในครานั้นก็ไม่ทัน เพราะในช่วงเวลานั้นนางยักษิณีได้รับหน้าที่เข้าเวรตักนํ้าไปถวายท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งประจำทิศตะวันตกมีหน้าที่ปกครองยักษ์และภูติผีปีศาจ ส่วนยักษิณีแต่ละตนจะได้รับหน้าที่เข้าเวรตักนํ้าคนละสามสี่เดือนหรือมากกว่านั้น นางยักษิณีบางตัวทนต่อการทำงานหนักนี้ไม่ไหวถึงกับล้มตายไปก็มี แต่นางกาลียักษิณีตนนี้พยายามทนเอาไว้ด้วยแรงแค้นที่มี จึงพยายามทำหน้าที่ตนให้ล่วงไปโดยเร็ว เพื่อจะได้กลับไปกินนาง (เมียหลวง) กับลูก

หลังจากนางยักษิณีพ้นวาระหน้าที่แล้ว จึงเดินมุ่งหน้ามาจากป่าหิมพานต์อย่างรวดเร็ว ฝ่ายนาง (เมียหลวง) ได้คลอดลูกเป็นที่เรียบร้อย กำลังอยู่ในช่วงฟักฟื้นร่างกายเห็นว่าคงปลอดภัยแล้วจึงรอเวลาจะเดินทางกลับบ้านสามีตามเดิม

ส่วนนางยักษิณีไม่รู้ว่านาง (เมียหลวง) หลบหนีไปบ้านเดิม เมื่อมาถึงหมู่ก็แปลงกายเป็นเพื่อนหญิงคนรู้จักมักคุ้นกับนาง เข้าไปถามคนในบ้านว่า “นางที่เป็นเพื่อนหญิงสนิทไปไหนเสียล่ะ..!” ผู้คนทั้งหลายต่างพากันตอบว่า “เจ้าไม่รู้รึว่าเวลาคลอดลูกจะมีนางยักษิณีมากินลูกของนางถึงสองครั้งแล้ว นางก็เลยหลบไปคลอดลูกที่บ้านเดิมของนางแล้ว” เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้นนางยักษิณีนึกอยู่ในใจว่า ‘เจ้านางเมียหลวงจะไปในที่ไหนก็หนีไม่พ้นเราดอก ต่อให้ไกลแค่ไหนฉันก็จะตามไปกินให้ได้’ ด้วยกำลังพยาบาทจึงทำให้มีพลังเกิดเพิ่มเป็นสองเท่าจนวิ่งตรงไปยังเมืองสาวัตถีได้ทันที

ได้เวลาพระพุทธเจ้าตัดเวรกรรมให้

ฝ่ายนางกุลธิดากับสามีในวันเป็นที่รับชื่อและอาบนํ้าให้ทารกนั้น หลังจากตั้งชื่อแล้วจึงได้กล่าวกับสามีว่า “นายพวกเราพากันเดินทางกลับบ้านของเราเถิด คงจะไม่มีอะไรแล้วแหละ” ทั้งสองสามีภรรยาจึงพากันอุ้มบุตรกลับบ้าน ในระหว่างนั้นได้เดินมาตามทางแล้วเดินตัดไปในวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อพบสระนํ้าจึงมอบบุตรให้สามีอุ้มไว้ แล้วลงอาบนํ้าในสระข้างวัด เมื่อขึ้นมารับเอาบุตรเปลี่ยนให้สามีลงไปอาบ ในขณะที่กำลังอาบนํ้าอยู่นางก็ยืนให้นมบุตรอยู่ สายตาแลเห็นนางยักษิณีกำลังวิ่งมาซึ่งจำได้เพราะยักษ์มีตาแดงและไม่กระพริบตา วิ่งมาขนาดนี้แต่กลับไม่มีเหงื่อสักหยด และที่สำคัญไม่มีเงาบนพื้นดินด้วย นางจึงแน่ใจคนนี้ไม่ใช่คน คงจะแปลงกายตามมากินลูกเราอีก จึงร้องเสียงดังเรียกสามีว่า “นายขึ้นมาเร็ว ๆ นางยักษิณีตนมานั้นแล้ว” เมื่อนางยักษิณีเข้ามาใกล้และไม่อาจยืนรออยู่จนสามีจะขึ้นมาจากสระน้ำได้ จึงวิ่งอุ้มลูกน้อ ยกลับเข้าไปสู่ภายในวัดพระเชตะวันมหาวิหาร ส่วนสามีรีบกลับขึ้นฝั่งแล้วตามภรรยาไป

http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php?topic=681.0#.Ui23HNJHIuo

ในขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางผู้คนพอดี นางเข้าไปหาแล้ววางลูกน้อยนอนไว้แทบบาทพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้าลูกของหม่อมฉันคนนี้หม่อมฉันถวายแก่พระองค์ ขอพระองค์โปรดช่วยชีวิตลูกหม่อมฉันด้วย” ฝ่ายนางยักษิณีได้วิ่งไล่ตามจะเข้าวัดเชตวันมหาวิหาร แต่เข้าวัดไม่ได้เพราะเทพเทวดาที่สิงสถิตอยู่ โดยเฉพาะสุมนเทพบุตรไดยื้นถือพระขรรค์กันอยูที่ซุ้มประตูหน้าวัด รวมทั้งเทพเทวะ มหาพรหม มาร และพญายักษ์ พญาอสูร ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ามาฟังธรรมเต็มไปหมด นางยักษิณีจึงเข้าไปไม่ได้ ทำได้เพียงยืนมองอยู่ที่หน้าประตู

เมื่อพระพุทธเจ้ารับรู้เช่นนั้นแล้ว จึงได้ให้พระอานนท์ผู้ใกล้ชิดออกไปเรียกนางยักษิณีที่ยืนอยู่หน้าประตูวัด ให้เข้ามาภายในวิหารได้ตอนนี้เลย แล้วพระเถระก็ออกไปเรียกนางยักษิณีนั้นเข้ามา เมื่อนางยักษิณีมาถึงแล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสกับนางทั้งสองต่อเฉพาะพระพักตร์ว่า “เหตุใดพวกเธอจึงได้จองเวรกันแบบนั้น หากว่าพวกเธอไม่ได้มาหาเราแล้ว เวรกรรมของพวกเธอจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกัป ผลัดกันกินตัวเองและลูก ๆ เช่นนี้ เหมือนเวรของงูเห่ากับพังพอน เหมือนเวรของกากับนกเค้า และเหมือนเวรของหมีและไม้ตะคร้อเวรนั้นระงับด้วยการไม่จองเวร ไม่ใช่ระงับด้วยการสร้างเวรตอบไปมาเช่นนี้” แล้วพระพุทธเจ้าจึงแสดงเทศนาตอ่ว่า “ในกาลไหนทั่วพื้นผืนพิภพ หวังจะลบจบเวรด้วยเข่นฆ่า เวรระงับดับได้กระไรนา ต้องเข่นฆ่ากรรมก่อกันต่อไป ในกาลไหนทั่วพื้นผืนพิภพ จะสงบลบถอยเวรน้อยใหญ่ ก็ต้องจบด้วยเมตตาและอภัยต่อกัน”

ขุ.ขุ. ๒๕/๕/๒๖.

หลังจากพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว นางยักษิณีก็ได้เข้าถึงคุณธรรมขั้นต้นเป็นโสดาบัน๑๐ พุทธศาสนิกชนที่อยู่ในเหตุการณ์ภายในวิหารก็ได้รับประโยชน์แก่ชนเป็นจำนวนมากด้วย แล้วพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “เธอจงให้เด็กน้อยคนนี้แก่นางยักษิณีเถิด เธอไม่ต้องกลัวหรอกว่าจะมีอันตรายอีกต่อไป เธออย่าวิตกไปเลยนับแต่นี้เป็นต้นไป นางยักษิณีจะไม่ทำร้ายใครอีกแล้ว จงส่งเด็กให้นางยักษิณีไปเถิดไม่เป็นไรหรอก…” ด้วยความเชื่อและเคารพในตัวพระพุทธเจ้า นางจึงส่งลูกชายให้นางกาลียักษิณี เมื่อนางกาลียักษิณีรับเด็กน้อยมาแล้วกอดจูบแล้วส่งคืนให้แล้วกลับมานั่งร้องไห้อยู่ข้าง ๆ นั้น และจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนหม่อมดำรงชีวิตแบบไม่มีทางเลือก ก็ยังหาอาหารกินให้อิ่มท้องไม่ได้เลย แต่มาบัดนี้หม่อมฉันไม่สามารถแสวงหาอาหารแบบเดิมได้ ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอยู่ได้อย่างไรกันพระเจ้าข้าฯ”

๑๐ http://onknow.blogspot.com/2011/01/blogpost_4497.html

 

ที่มาต้นตำนานข้าวสาก

พระพุทธเจ้าจึงเรียกนางกุลธิดามาแล้วตรัสว่า “เป็นหน้าที่เราแล้วแหละ เธอจงพานางยักษิณีไปอยู่ที่บ้านด้วยจงเลี้ยงดูด้วยอาหารที่มีนั้นจะเป็นข้าวต้มหรือข้าวสวย” นางจึงได้รับปากแล้วกราบลาพระพุทธเจ้ากลับบ้าน พานางยักษิณีกลับบ้านด้วยแล้วนำไปพักที่โรงตำข้าว ปฏิบัติเลี้ยงดูด้วยข้าวต้มและข้าวสวยเป็นอย่างดี แต่ในเวลาตำข้าว สากก็ปรากฏเหมือนกับว่าจะมาเคาะหัวนางยักษิณีนางยักษิณีจึงกล่าวว่า “เวลาพวกเจ้ามาตำข้าวคล้ายกับว่า สากจะตีหัวของฉัน ฉันไมอยู่ที่นี่แล้ว เพราะไม่ดีเลย จงหาที่ให้ฉันอยู่ใหม่เถิด” แล้วนางก็จัดหาที่ใหม่ให้ แม้ไปอยู่ในที่เหล่านั้นนางยักษิณีก็บอกว่า “บริเวณข้างตุ่มน้ำพวกเด็ก ๆ มักจะมาเล่นนํ้ากัน ส่วนในที่รอบ ๆ เตาไฟก็ยังมีฝูงสุนัขมักมานอน สถานที่ริมชายคาข้าง ๆ บ้านก็ยังมีเด็กทำสกปรก ส่วนที่บริเวณกองหยากเยื่อที่อยู่ใหม่ก็มีผู้คนเอาขยะมาทิ้ง ที่บริเวณรอบประตูบ้านก็มีพวกเด็ก ๆ มาเล่นพนันขันต่อกันไม่ขาด” เมื่อนางยักษิณีได้รับความเดือดร้อนเช่นนี้ นางก็พานางยักษิณีไปอยู่ในที่สงัดอันเป็นไร่นาแห่งหนึ่งนอกบ้าน

หลังจากได้ที่อยู่ใหม่นางยักษิณีจึงคิดว่า ‘เพื่อนหญิงเราเป็นผู้มีพระคุณแก่เรามาก เราจะทำอุปการะตอบแทนแก่นางถึงจะถูก’ จึงบอกว่า “เพื่อนรัก ปีนี้ฝนจะดี ขอให้เธอจงทำนาในที่ดอน” ส่วนใดฝนแล้งก็จะบอกว่า “เพื่อนรัก ปีนี้ฝนจะแล้งขอให้เธอจงทำนาในที่ลุ่ม” เมื่อได้รับคำแนะนำเช่นนี้ ปรากฏว่าผลผลิตข้าวของนางในการทำนาได้ผลดีทุกปี ส่วนชาวบ้านทำนาแล้วไม่ได้รับผลผลิตดีกัน เป็นเพราะนํ้าท่วมบ้างหรือนํ้าแล้งบ้าง จึงพากันเกิดความสงสัยว่า ‘นางคนนี้มีอะไรดีกัน จึงรู้ว่าปีนี้ฝนจะดีหรือว่าฝนจะแล้ง’ จึงพากันเข้าไปถามนางแล้วนางตอบว่า “เป็นเพราะนางยักษิณีที่เป็นเพื่อนของฉัน เป็นผู้รู้ว่าฝนจะดีหรือฝนจะแล้งพวกท่านคงจะไม่เห็นสิ่งที่เราได้ทำแก่นางยักษิณีนั้น หากว่าพวกท่านปฏิบัติอย่างเช่นฉันแก่นาง แล้วนางก็จะบอกให้ว่าฝนดีและฝนแล้งแก่พวกท่านเอง “พวกชาวเมืองจึงได้ปฏิบัติกับนางยักษิณีเช่นกันอย่างยิ่งใหญ่ นับตั้งแต่นั้นมาเมืองสาวัตถีก็อุดมไปด้วยข้าวและพืชพันธุ์ต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์

อยู่ต่อมาเมื่อมีผู้คนนำอาหารเครื่องใช้ต่าง ๆ มาให้เพื่อเป็นบรรณาการมากขึ้นตามลำดับ๑๑  ก็มักพากันนำของไปให้นางยักษิณีเป็นการตอบแทน และข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านนำไปมอบให้แก่นางยักษิณีในครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของการเลี้ยงผีตาแฮก หรือแรกนาขวัญ และการจัดอาหารให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เรียกในปัจจุบันว่าพาเวร มีความต่างจากการทำบุญอุทิศแก่เปรต คำว่าพาเวรปรารภถึงนางยักษิณีและนางกุลธิดาที่ได้จองเวรจองกรรมกันมาหลายร้อยชาติ จนมาเกิดในยุคพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล แล้วทั้งสองมีบุญได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ เวรที่มีต่อกันจึงระงับลงได้ ต่อมาทั้งสองต่างรักใคร่กันต่างอาศัยพึ่งพากันและกัน คุณความดีที่นางกุลธิดาและชาวบ้านมีต่อนางยักษิณีนั้น ในปัจจุบันจึงเรียกว่า ‘พาเวร’ หรือพาสำหรับบูชาเวรที่สงบระงับไปนั่น๑๒

๑๑ อุรดินทร์ วิริยะบูรณะ, ประเพณีไทย ฉบับพระมหาราชครูฯ. (กรุงเทพฯ : ประจักรการพิมพ์, ๒๕๑๖), หน้า ๓๖๕.
๑๒ คำว่า พา เป็นภาษาอีสาน ก็คือถาดหรือสำรับใส่อาหารใส่เครื่องเซ่นไหว้ และคำว่า เวร ก็คือความพยาบาท ความปองร้าย บาป เช่น เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เป็นต้น เป็นคำที่แสดงความรู้สึกเดือดร้อน เพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต กรรมเวรหรือเวรกรรม.

หลังจากนั้นนางกุลธิดาเมื่อได้เห็นผู้นำอาหารและสิ่งของเครื่องใช้มาให้นางยักษิณีเป็นประจำ และปฏิบัติอย่างสมํ่าเสมอนั้นนางก็ปรารภที่จะทำบุญ จึงได้คิดนำเอาไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณรวันละ ๘ รูป ด้วยการถวายสลากภัตแก่พระภิกษุสงฆ์ ๘ ที่ หรือชุดสำรับ จัดถวายทุก ๘ วัน หรือทุกวันพระ ๘ คํ่า ๑๕ คํ่า นางจึงนำความเข้ากราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบก็ทรงอนุญาตให้นางทำเช่นนั้นได้ พอถึงวันที่กำหนดแล้วพระภิกษุก็จะจับฉลากเวียนกันไปเรื่อย ๆ ครั้งละ ๘ รูป ไม่ให้ซํ้ากันจนกว่าจะเวียนมาบรรจบอีกวาระใหม่ จึงเป็นจุดเริ่มตั้งสลากภัตและชาวบ้านก็ยังถวายกันมาจนถึงทุกวันนี้

นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นความศรัทธา มีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะ ปราชญ์ชาวอุษาคเนย์ จึงได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้แก่ชาวพุทธ จึงได้คิดริเริ่มงานบุญข้าวสากร่วมกันขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเลือกเอาเหตุการณ์ที่นางยักษิณีกับนางกุลธิดาเป็นผู้ริเริ่มทำสลากในครั้งนั้น ซึ่งเหมาะแก่ช่วงเวลาที่ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูฝน และมีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วงเดือนนี้ จึงเรียกว่าบุญเดือนสิบ

Related Posts

ฮีตเดือนห้า
ฮีตเดือนสิบสอง พระชาวเมืองปาฐาลุยโคลน
ฮีตเดือนสิบเอ็ด (๑) วันปวารณาเปิดโอกาสชี้แนะ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com