กิจกรรม “ท่องเทวาลัยอีศานใต้” ผ่านไปแล้วอย่างน่าชื่นอกชื่นใจ เพราะเป็นการบุกเบิกกิจกรรมแนวทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จริง พบของจริง พบผู้คนพื้นถิ่นพื้นฐานจริง เก็บเกี่ยวได้มาทั้งความรู้ใหม่ ๆ และปัญหาใหม่ ๆ ที่ต้องค้นหาคำตอบกันใหม่ (คำตอบไม่มีอยู่ในตำราเรียน !)

การจัดกิจกรรมครั้ง “แฮกหมาน” ครั้งนี้ อาจจะมีขลุกขลักบ้างเล็กน้อย คณะทำงานบกพร่องผิดพลาดอย่างไรบ้าง เรากราบขออภัย

และขอชี้แจงว่า เรามิได้หวังกำรี้กำไรจากกิจกรรมนี้ แค่ไม่ขาดทุน เราก็ถือว่ามีกำไรมากแล้ว

สถานที่การท่องเทวาลัยอีศานใต้ รอบแรกนี้ ยังไม่ครบครัน ยังมีสถานที่และเรื่องราวที่เราอยากจะพาไปทัศนศึกษากันอีกมากมาย

เช่นปราสาทภูมิโปน – ปราสาทอิฐเจนละช่วงต้น (ยุคก่อนพระนคร) ที่เก่าแก่ที่สุดภายในประเทศไทย

เช่น อุทยานประวัติศาสตร์มออีแดงและอุทยานประวัติศาสตร์พระวิหาร (ของกัมพูชา) กับปัญหาใหม่ที่ ดร.กังวล คัชฌิมา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจารึกโบราณ ตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อครั้งมีการอัญเชิญ “พระภัทเรศวร” จากปราสาทวัดภู (พื้นที่ สปป.ลาว) มาประดิษฐานที่พระวิหาร มีการก่อตั้ง “กุรุเกษตร” เป็นศาสนสถานด้วย ปัญหาสำคัญคือ เราจะค้นพบได้หรือไม่ว่า “กุรุเกษตร” ที่ตั้งขึ้นเมื่อพันปีก่อน ตอนนี้อยู่ที่ไหน ?

เช่น ปราสาทปลายบัด แหล่งที่พบพระโพธิสัตว์สำริด ที่งดงามที่สุดในโลก ฯลฯ

หรือแม้ปราสาทหิน ที่เราได้ไปทัศนศึกษารอบแรกกันมา ก็ยังมีคำถามติดสมองอยู่มากมาย ต้องการปราชญ์ผู้รู้ มาอรรถาธิบายให้แจ้งใจ

“ปราสาทสด๊กก๊อกธม” (สตุก กุก ธํ) – สมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมัน พ.ศ.๑๕๙๓ – ๑๖๒๙ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (อยู่ห่างจากจังหวัดศรีโสภณ ของกัมพูชา เพียง ๒๕ กิโลเมตร) แม้จะเป็นศาสนาสถานมรดกอุทิศให้ตระกูลพราหมณ์ผู้เป็นครูของกษัตริย์, เป็นผู้ประกอบพิธีเทวราชาภิเษกกษัตริย์, เป็นโหรดาจารย์ของกษัตริย์ ต่อเนื่องกันมากมายหลายพระองค์นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เป็นต้นมา แต่เนื่องจากที่นี่มีจารึกบันทึกพระนามกษัตริย์ยุคพระนครหลวง และมหาปุโรหิตประจำรัชกาล (ซึ่งสืบทอดกันมาตามสายตระกูลพราหมณ์นี้ – คือ “ศิวไกรวัลย์”) บันทึกไว้ค่อนข้างครบครัน ศิลาจารึกนี้จึงเป็นหลักฐานพยานสำคัญที่สุด ทำให้สามารถร้อยเรียงประวัติศาสตร์ของอาณาจักรพระนคร (Angor) ได้ค่อนข้างชัดเจน

เมื่อเราอ่านศิลาจารึก (จารึกเป็นภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร) ที่แปลเป็นภาษาไทย (หนังสือ “วรรณกรรมเขมร” ของ กรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๕๘ หน้า ๑๒๘ – ๑๕๐) เราเข้าใจว่า พื้นที่รอบ ๆ ปราสาทสด๊กก๊อกธม มีนามว่า “ภัทรนิเกตนะ”

จารึกส่วนนี้ มีเนื้อความที่สำคัญ เช่น

๑. ยืนยันว่า การนับสายสกุลของตระกูลพราหมณ์เขมรนั้น นับตามสายมารดา ดังจารึกสันสกฤต บทที่ ๓๑ (หน้า ๑๑๐) ดังนี้

“ขอให้นักพรต หรือสตรีทั้งหลายผู้อยู่ในวงศ์ตระกูลฝ่ายมารดาของเขาพิธีนี้

และไม่ให้ผู้อื่นเป็นผู้ประกอบพิธี ไม่ว่ากรณีใด ๆ” ข้อความดังกล่าวเป็นกฎของพระเจ้าแผ่นดินและพราหมณ์ในราชสำนัก

๒. อธิบายต้นเค้าคำว่า “กลาโหม” (จารึกภาษาเขมร หน้า ๑๓๖) ดังนี้

“มีผู้เป็นประธานแห่งอาจารย์

เป็นอาจารย์โหมะ อยู่ที่พระกลาโหม (หรือสถานที่ที่สำหรับทำพิธีบูชา) ด้วย”

๓. พบคำว่า “ไต” คือในจารึกภาษาเขมรห้าบทสุดท้าย มีคำว่า “ไต” แต่เราไม่รู้ว่าคำเขมรโบราณว่า “ไต” แปลว่าอะไร ? (ในบทอื่น ๆ พบคำว่า “อชิ ไต” – ซึ่งในหนังสือดังกล่าว แปลว่า “ผู้เฒ่าไต”)

อย่างไรก็ตามในหนังสือ “วรรณกรรมเขมร” เล่มดังกล่าวของกรมศิลปากร ใส่คำว่า “คน” ต่อท้ายเข้าไป จึงอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า หมายถึง คนไต (ยกตัวอย่างมาบทเดียว) ว่า

“ข้าทาสของกัมรเตง ชคัต ศิวลึงค์ ณ ที่

ภัทรนิเกตนะ ในวันข้างขึ้นมีตำรวจ สิ ๑ คน

ในกลุ่มนั้นมี สิ ๒๑ คน ไต ๕๔ คน โขลญ

นัก สิ ๑ คน อัมระ สิ ๒ คน ในกลุ่มนี้

มี สิ ๑๕ คน ไต ๕๐ คน”

แปลอย่างนี้ หมายถึง มีคนไท เป็น “ข้าวัด” (ข้าศิวลึงค์) ที่นั่นด้วย ใช่หรือไม่ ? ตอบว่า “เราไม่รู้”

สงสัยว่า เราต้องจัด “ท่องเทวาลัย” กันอีกหลายรอบ กว่าจะได้คำตอบ…เชิญไปด้วยกันอีกนะครับ


Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 122
ปิดเล่ม
ปิดเล่ม ทางอีศาน 91
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com