ณรงค์ฤทธิ์ ศักดารณรงค์
ประจำคอลัมน์: นวนิยาย
เรื่อง: กาบแก้วบัวบาน และ ศรีโคตรบูร
ประวัติย่อ:
นักคิด – นักเขียน เจ้าของสมญานาม นักรบสันติภาพแห่งเขาบูโด อดีตข้าราชการครูตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 9 (ครูวิทยฐานะเชี่ยวชาญ คศ.4) เกิดที่อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.2490 ปัจจุบันหนองบัวลำภูยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้านสมัยนั้น ปี พ.ศ.2504 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาต่อ กลับอุดรธานีอีกครั้งในยุคสมัยคนไทยรับจ้างอเมริกาไปรบเวียดนาม ต่อมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนกาญจนาศิลป์ และ โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา นอกจากเป็นครูแล้ว ยังทำอาชีพอื่น เช่น นักมวย โฆษกตลาดสด พิธีกร และนักจัดรายการตามเวทีบันเทิงทั่วไป
ประวัติการทำงาน:
ปี พ.ศ.2518 เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นข้าราชการครูรุ่นแรกที่ถูกส่งไปสอนปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสอนที่ปอเนาะใหญ่แห่งหนี่งที่จังหวัดปัตตานี ชีวิตข้าราชครูเริ่มต้นที่ปอเนาะปัตตานีนี้เอง จึงมีโอกาสใกล้ชิดกับปอเนาะและชาวบ้านในท้องถิ่น ศึกษาประวัติความเป็นมาตลอดทั้งประเพณี ศาสนา วัฒนธรรมของปัตตานีอย่างจริงจัง ร่วมกับชาวปอเนาะพัฒนาการเรียนการสอนของปอเนาะ พัฒนาตนเองด้านงานเขียนทั้งบทความ สารคดี กวี เรื่องสั้น เรื่องยาว วิชาการ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและเป็นคอลัมนิสต์ ศึกษาต่อด้านภาษาไทยระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยครูยะลา ปริญญาโทสาขาวิชาวรรณคดี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าข้าราชการครูในปอเนาะ ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ต่อมาได้ย้ายไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา ทำให้นอกจากได้สัมผัสความเป็นจริงของปอเนาะและชาวบ้านโดยตรงแล้ว ยังได้ทำงานรูปแบบพิเศษที่ ศอ.บต. ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแตกต่างจากหน่วยงานอื่น
สำหรับงานเขียนยังทำควบคู่กันไปกับงานประจำ งานเขียนที่ได้รับรางวัล เช่น รางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดวรรณกรรมระดับอุดมศึกษาจากเรื่องสั้นชื่อ บทเพลงจากปอเนาะ รางวัลชมเชยการประกวดเรื่องสั้นของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (มีเฉพาะรางวัลชมเชย) จากเรื่อง เส้นทางของโต๊ะครูผู้ปฏิวัติ ต่อมาได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดเรื่องสั้นชื่อ จุดเย็นในจุดเดือด ของนิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์ ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ปอเนาะที่รัก ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รวมทั้งได้รับรางวัลและยกย่องด้วยการประกาศเกียรติคุณเกี่ยวกับงานเขียนในโอกาสต่างกัน ทั้งบทความ สารคดี กวีและวิชาการ โดยล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2553 วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง รุ้งสายฝน ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มิ่งมิตร ได้รับรางวัลชมเชยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
ปี พ.ศ.2533 ย้ายไปปฏิบัติราชการที่โรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ.2538 ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อดำเนินการบรรลุผลเป็นไปตามเป้าหมาย ผู้ใหญ่แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารงานการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมทั้งระบบ การปฏิบัติงานในความรับผิดชอบได้อุทิศตนด้วยมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ด้วยดี ตั้งใจปฏิบัติงานอย่างเสียสละมาตลอดชีวิตราชการ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสราภรณ์ชั้นสายสะพาย ได้รับพระราชทานรางวัลและประกาศเกียรติคุณในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ สำหรับงานโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ได้รับรางวัลเทพทองของสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายรางวัล
ความเป็นลูกอีสาน ตั้งแต่เล็กจนโตผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน การเป็นครูโรงเรียนเอกชนและข้าราชการครูโรงเรียนรัฐบาล ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้มากมาย รวมถึงเป็นนักคิดนักเขียนและผู้บริหาร โดยเฉพาะการบริหารปอเนาะ บริหารการศึกษาทางไกลในรูปแบบโทรทัศน์ การปฏิบัติงานตามแนวพระราชดำริ การอุทิศตนเพื่อเจริญรอยตามใต้เบื้องพระยุคลบาท ล้วนแต่เสริมสร้างให้หลากหลายประสบการณ์ สามารถนำมาประมวลเขียนงานวรรณกรรมได้เป็นอย่างดี
ด้านครอบครัว แต่งงานมีคู่สมรสชื่อ นางธีราภรณ์ ศักดารณรงค์ ข้าราชการครูตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 9 (ครูวิทยฐานะเชี่ยวชาญ คศ.4) รองผู้อำนวยการโรงเรียนวังไกลกังวลฝ่ายวิชาการ แต่มรณภาพแล้ว มีบุตร 2 คน บุตรแต่ละคนมีครอบครัวที่อุดมพร้อมด้วยความสุขอย่างอบอุ่นยิ่ง
ผลงานเขียนที่ตีพิมพ์รวมเล่มแล้ว ประเภทนวนิยายได้แก่ ปอเนาะที่รัก หมู่บ้านในหุบเขา ดอกไม้ของแผ่นดิน ฟางเส้นสุดท้าย หยาดน้ำฟ้า รุ้งสายฝน ส่วนเรื่องสั้นได้แก่ แปนเอิดเติด เหยื่อแห่งกาลเวลา แผ่นดินใหม่ พายุจากทะเลใต้ นอกจากนี้ยังมีงานเขียนด้านวิชาการ เช่น เขียนคอลัมน์ โลกสวยด้วยหนังสือ ประจำหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ บทความ สารคดี วิชาการ บทกวี บทวิเคราะห์วิจารณ์การศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยใช้ชื่อจริงและนามปากกา มีงานเขียนปรากฏสม่ำเสมอทางหนังสือพิมพ์ นิตยสารและวารสารทั่วไป